Tuesday, 22 April 2025
หัวหน้าพรรค

9 กรกฎาคม เลือกหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่ จับตา เฉลิมชัย-เดชอิศม์-ชัยชนะ อยู่ฝั่งใคร คนนั้นมีสิทธิ์เข้าวิน

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เริ่มมีการเคลื่อนไหวเตรียมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่หลังเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะได้ ส.ส.มาแค่ 24 คน จากเดิมมีอยู่ 52 คน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนพ้นจากหน้าที่ไปด้วย

พรรคประชาธิปัตย์กำหนดว่า จะจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค
สำหรับองค์ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ตามระเบียบพรรค ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งครั้งล่าสุด, อดีตส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค, กก.บห.ชุดรักษาการ, อดีตนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรี, อดีตหัวหน้าพรรค, อดีตเลขาธิการพรรค, ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, หัวหน้าสาขาพรรคหรือตัวแทนประจำจังหวัด, สมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค, อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 

ทั้งหมดนี้คือโหวตเตอร์ที่จะออกเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ในแต่ละกลุ่มจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โดย ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการรับรองมาใหม่ จะมีน้ำหนักมากกว่า มากถึง 70% ส่วนที่เหลือมีน้ำหนักแค่ 30#

สำหรับสมาชิกพรรคที่น่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่น่าจะมีหลายคน ทั้งคนเก่า และคนใหม่ คนเก่าเช่น คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะย้อนกลับมาลงชิงอีกหรือไม่ แต่แรงเชียร์มีแน่นอน

คุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่เคยลงชิงมาแล้ว แต่พ่ายแพ้ไป แต่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้จะเอาอีกรอบหนึ่งหรือไม่

ส่วนคนรุ่นใหม่ ที่ปรากฏชื่อ อย่างนายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ (ไม่รู้ว่าจะนับเป็นคนใหม่ หรือคนเก่า) มี ดร.เด้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หรือใหม่เลยก็จะมีมาดามเดียร์ วทันยา บุนนาค ในวัยแค่ 37 ปี

มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เริ่มมีปัญหากับสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค (วันหลังจะเขียนให้อ่านกัน) แต่ยังไม่รู้ว่สจะกลับคืนรังหรือไม่ และจะลงชิงหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่

กล่าวสำหรับการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างจากพรรคอื่น มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ใครลงสมัครก็ต้องออกแรงแสดงวิสัยทัศน์ต่อบรรดาโหวตเตอร์ทั้งหลาย ง่ายๆคือต้องไปหาเสียง หาคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

อย่างที่บอก ส.ส.ใหม่ 24 คน เป็นกลุ่มที่มีน้ำหนักมากที่สุด ใครลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.ใหม่ โอกาสได้รับเลือกตั้งจึงมีอยู่สูงมาก

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มา 24 คน ส่วนใหญ่ 16-17 คนเป็น ส.ส.จากภาคใต้ และเป็น ส.ส.ภาคใต้ที่อยู่ภายใต้สังกัดของเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าสองคนนี้ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นจึงมีโอกาสชนะ ยิ่งถ้าได้บวกรวมกับพลังของเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรคด้วย ยิ่งจะฉิวเข้าป้าย
 
วิเคราะห์โดยภาพรวม ส.ส.ใหม่ 16-17 คน อยู่ภายใต้การดูแลของ เดชอิศม์ ขาวทอง และชัยชนะ เดชเดโช ส่วนประธานสาขาพรรค และตัวแทนพรรค น่าจะอยู่ในการดูแลของนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค ที่เคยดูแลสาขาพรรค และเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในฐานะอดีตแม่บ้านพรรค

ส่วนผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ก็น่าจะไม่แตกต่างจากประธานสาขา ตัวแทนพรรค ที่น่าจะฟังนิพนธ์ และเฉลิมชัย

ส่วนอดีตนายก อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.คงจะมีความเป็นอิสระสูง ขึ้นอยู่กับการล๊อบบี้ของผู้อาวุโส มากบารมี เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ผู้อาวุโสมากบารมีทั้งสองคนจึงเป็นตัวชีเวัดเหมือนกันว่า ใครจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค

ถ้าวิเคราะห์กันบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ คนที่จะชนะการเลือกตั้ง ต้องได้รับการสนับสนุนจากเดชอิศม์ ขาวทอง ชัยชนะ เดชเดโช เฉลิมชัย ศรีอ่อน นิพนธ์ บุญญามณี รวมถึงชวน-บัญญัติ แต่เป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมดนี้จะเทคทีมกัน และช่วยดันคนใดคนหนึ่ง

โดยสรุป แต่เฉลิมชัย เดชอิศม์ และชัยชนะ ผนึกกำลังกันเชียร์ใคร คนนั้นก็มีสิทธิ์สูงมากแล้ว แต่ถ้าได้นิพนธ์มาเสริมทีมเดียวกัน ยิ่งฉลุยเลย

นายหัวไทร

‘ประชาธิปัตย์’ เลื่อนโหวตหัวหน้าพรรค!! หลังองค์ประชุมมาไม่ครบ 250 คน

(9 ก.ค. 66) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.15 น. ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ได้เริ่มต้นอีกครั้งในวาระการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยสมาชิกได้ทยอยเดินเข้าห้องประชุม แต่ที่นั่งยังคงบางตา ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการทำให้องค์ประชุมครั้งล่มไป

จนเมื่อเวลาผ่านไป 10 นาที คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ในฐานะ กกต. พรรค ได้ประกาศว่า ขณะนี้มีจำนวนสมาชิก 221 คนแล้ว ถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว แต่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ หนึ่งใน กกต. พรรคแย้งว่า ตามข้อบังคับพรรคต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 250 ท่าน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศในห้องประชุมเริ่มมีความตึงเครียด เนื่องจากยังไม่มีสมาชิกทยอยเข้ามาเพิ่ม ขณะที่นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ กล่าวว่า ขอให้ผู้มีสิทธิ์ทุกคนชูบัตรขึ้นเพื่อยืนตัวตนของผู้ที่มีสิทธิ์โหวต ปรากฎว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะได้แค่ 221 ท่าน

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกบางส่วนได้เสนอให้รอองค์ประชุมที่กำลังเดินทางมา เหมือนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ยังให้โอกาส ส.ส. เข้าร่วมประชุม แต่คุณหญิงกัลยา ยืนยันว่า ขณะนี้เวลาเลยนัดหมายไปแล้ว 20 นาที เมื่อสมาชิกใช้เวลารับประทานอาหารและทำธุระแล้วก็ควรเข้ามาร่วมประชุมตามที่นัดหมาย 

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส. นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนได้สอบถาม ทราบว่าสมาชิกหลายคนเดินทางกลับไปโรงแรมกำลังเก็บกระเป๋าเตรียมกลับบ้านและกำลังเดินทางมา ขอให้เลื่อนไปประชุมอีกครั้งเวลา 15.00 น. เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกที่เสียสละเวลามาประชุมในวันนี้ เพราะหลายคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด หากทุกคนรักพรรคจริง ต้องดำเนินตามครรลองของพรรคด้วย พร้อมกำชับให้สมาชิกอยู่ในห้องประชุม ห้ามออกไปไหน แต่ก็ยังมีหลายคนเดินเข้าออกห้องประชุม และมีบางส่วนนั่งอยู่นอกห้องประชุม ไม่เข้าร่วมประชุม 

จากนั้นเวลา 15.00 น. กลับมาประชุมอีกครั้ง โดยนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ประชาธิปัตย์ ในฐานะกกต. พรรค กล่าวว่า ขอให้องค์ประชุมมานั่งที่เก้าอี้ตัวเอง หากองค์ประชุมไม่ถึง 250 เสียงจะเดินต่อไปไม่ได้ และจะได้นัดประชุมครั้งใหม่ต่อไป

ภายหลังเจ้าหน้าที่นับองค์ประชุม คุณหญิงกัลยา แจ้งว่า ขณะนี้ตรวจสอบองค์ประชุมอีกครั้ง โดยขณะนี้มีองค์ประชุมเพียง 201 คน ดังนั้น กกต.พรรค จึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ และขอเชิญหัวหน้าพรรคมารับหน้าที่ดำเนินการต่อ 

ต่อมา นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็ประชุมไม่ได้ หลังจากนี้ตนและเลขาธิการพรรคจะได้หารือต่อไป เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง และขอยุติการประชุมในเวลา 15.09 น.

‘ผู้ช่วยกรณ์’ เปิดข้อกฎหมายเลือกตั้ง เกี่ยวกับคุณสมบัติ สส.ชี้!! หากผู้สมัครไม่ผ่านเกณฑ์ ‘หัวหน้าพรรค’ อาจโดนคุกถึง 5 ปี

‘ผู้ช่วยกรณ์’ เล่าตอนที่นายกรณ์เป็นหัวหน้าพรรค ชพก. ต้องแบกความรับผิดชอบ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร มีคนอยากลงสมัครหลายคน แต่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดสรร ชี้ กฎหมายเลือกตั้งเขียนไว้โหดมาก ‘หัวหน้าพรรค’ อาจโดนคดีได้โดยไม่ต้องมีใครแกล้ง จำคุกถึง 5 ปี

(28 ก.ค. 66) นายพัสณช เหาตะวานิช ผู้ช่วยดำเนินงานนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ “สิ่งที่ ‘หัวหน้าพรรค’ ต้องแบก!?” โดยมีเนื้อหาดังนี้

เล่าให้ฟังครับ ตอนที่คุณกรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij ยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ เรื่องนึงที่ทีมทุกคนต้องระวังมากที่สุดช่วงเลือกตั้งคือ “การตรวจคุณสมบัติผู้สมัคร”

กฎหมายเขียนไว้โหดมาก และผู้รับผิดชอบหนักสุดคนหนึ่งคือ ‘หัวหน้าพรรค’ โดยเฉพาะหากมีการส่งผู้สมัครที่ ‘ขาดคุณสมบัติ’ หรือมี ‘ลักษณะต้องห้าม’ ลงสนามเลือกตั้ง

เชื่อมั้ยครับว่า มีคนอยากลงสมัครกับเราหลายคน ‘ไม่ผ่านเกณฑ์คัดสรร’ เพราะไม่สามารถนำเอกสารราชการมายืนยันคุณสมบัติของตัวเองได้

ตอนนั้นขั้นตอนพื้นฐานในการตรวจสอบคือ
1.) เช็กกับ กกต.ว่า ผู้สมัครทุกคนใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนหน้าครบถ้วนตามเงื่อนไขหรือไม่

2.) เช็คกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีประวัติอาชญากรรม เคยต้องคดีหรือไม่ เคยถูกพิพากษาจำคุกหรือไม่ เคยเข้าไปอยู่ในคุกจริงมั้ย สำคัญสุดคือ ประเภทคดีเป็นคดีอะไร

3.) นอกจากทางกฎหมาย หลายพฤติกรรมเสี่ยงก็ถูกเช็กและประเมินอย่างเป็นระบบเช่นกัน บูโรเป็นยังไง คบคนแบบไหน วุฒิต่างๆ ได้มาจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่

จำได้เลยว่า ผู้สมัครหลายคนต้องไปคัดสำเนาคำพิจารณาคดีจากศาลมาเป็นหลักฐานให้กับพรรคว่า ‘คดีสิ้นสุดแล้วจริง’ ถึงจะได้ลง!!

บางเคสจำได้ว่า ต้องรอสมัครวันสุดท้ายเลย เพราะความเข้มข้นของการตรวจสอบขั้นสุด

หัวหน้าทีมกฎหมายของพรรคทำงานหนักมาก เพราะนอกจากตรวจเอกสารแล้ว ยังมีการ ‘สอบปากคำ’ โดยตรงกับผู้สมัครอีกด้วย

คุณกรณ์เอง ช่วงนั้นต้องนั่งฟังการสอบปากคำ เพื่อความรัดกุมที่สุดด้วยแทบทุกรอบ

สิ่งที่ “หัวหน้าพรรค” แบกไว้นั้นหนักหนามากนะครับ
เพราะนี่คือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำหน้าที่คัดสรรตัวแทนประชาชนที่ดีที่สุดในพื้นที่นั้นๆ มาให้ประชาชนเลือก

และยิ่งไปกว่านั้นหัวหน้าพรรคอาจจะโดนคดีได้โดยไม่ต้องมีใครแกล้งเลย ไม่ว่าจะเป็น..

พรป.พรรคการเมือง ม.56 ม.120
= จำคุกหัวหน้าพรรค 5 ปี

พรป.พรรคการเมือง ม.52 + ม.117
= จำคุก หัวหน้าพรรค + กรรมการบริหารพรรค 6 เดือน

พรป.เลือกตั้ง ส.ส. ม.151
= จำคุกตัวผู้สมัครเอง 1-10 ปี

หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าตรวจคุณสมบัติมาอย่างดี และเข้มงวดแล้วไปเซ็นรับรองให้ใครต่อใครที่มีคุณสมบัติต้องห้าม ให้ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งล่ะก็ น่าจะรอดยาก…

ทั้งนี้ นายนครชัย ขุนณรงค์ สส.ระยอง เขต 3 พรรคก้าวไกล ได้ประกาศลาออกจาก สส. ภายหลังถูกตรวจสอบพบว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 โดยยอมรับเคยต้องโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ขณะที่ กกต.อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานและข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา และมีคำสั่งให้นายนครชัย พ้นจากตำแหน่ง สส. คล้ายกระบวนการของนายสิระ เจนจาคะ อดีต สส.กรุงเทพฯ และมีคำสั่งให้ กกต.จัดการเลือกตั้งซ่อม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างต่อไป

‘บิ๊กป้อม’ ลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ล้างไพ่คณะกรรมการบริหาร แล้วเป็นหัวหน้าใหม่

(29 ก.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐประจำปี ครั้งที่ 3/256 นายไพบูลย์ นิติตะวัน รักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคพ้นทั้งคณะ และจะเลือกหัวหน้าพรรคและกรรรมการบริหารพรรคต่อไป และยืนยันว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่ทิ้งพรรคและจะดูแลพวกเราตลอดไป

นายไพบูลย์ กล่าวว่า บัดนี้จะมีเลือกหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โดยที่ประชุมเสนอ พล.อ.ประวิตร กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

บิ๊กป้อม’ ลั่น!! ไม่ไปไหน ขออยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร พปชร. แจง ยังไม่ได้เจอใคร หลัง ‘ทักษิณ’ ประกาศกลับไทย

(29 ก.ค. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวการลาออกจากหัวหน้าพรรค พปชร.ว่า พรรคบอกให้ตนลาออกก่อน เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคขึ้นมาใหม่ ซึ่งใครจะมาดูตนก็ไม่ทราบ แต่ตนยืนยันว่าจะอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับพรรค พปชร.ต่อไป ไม่ไปไหน

ผู้สื่อข่าวถามถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทย (พท.) จะเสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 4 สิงหาคม พรรค พปชร.จะมีทิศทางการโหวตเป็นอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ยังไม่ทราบ คงรอมติที่ประชุมพรรค

เมื่อถามว่า ได้มีการติดต่อกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังประกาศเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ผมยังไม่ได้เจอใครทั้งนั้น”

‘นิด้าโพล’ ชี้!! ‘อภิสิทธิ์’ เหมาะนั่งหัวหน้าพรรค ปชป. ผลโหวตประชาชน เผย ค้าน ปชป.ร่วมรัฐบาลเพื่อไทย

(13 ส.ค. 66) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ ‘นิด้าโพล’ สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจ เมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 58.63 ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์, รองลงมา ร้อยละ 31.91 ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566, ร้อยละ 9.31 ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 37.48 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, อันดับ 2 ร้อยละ 24.43 ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย, อันดับ 3 ร้อยละ 9.85 ระบุว่าเป็น ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้), อันดับ 4 ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์), อันดับ 5 ร้อยละ 3.05 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, อันดับ 6 ร้อยละ 2.90 ระบุว่าเป็น ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช, อันดับ 7 ร้อยละ 2.67 ระบุว่าเป็น นายอลงกรณ์ พลบุตร, อันดับ 8 ร้อยละ 1.76 ระบุว่าเป็น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, อันดับ 9 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ขณะที่ร้อยละ 1.46 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน, นายเดชอิศม์ ขาวทอง, นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ และร้อยละ 10.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชน หากพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 44.96 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, รองลงมา ร้อยละ 19.54 ระบุว่า เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 18.70 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 16.18 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 0.62 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

‘อุ๊งอิ๊ง’ อุบตอบปมนั่งหัวหน้าพรรค ย้ำ!! พร้อมทำงานเต็มที่ ชม ‘เศรษฐา’ ฟิตมาก อ้อน ปชช.ร่วมให้กำลังใจให้นายกฯ

(19 ก.ย. 66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่พรรคเพื่อไทยย่างเข้าสู่ปีที่ 16 ว่า วันนี้เป็นวันร่วมทำบุญพรรคเพื่อไทย แต่วันเกิดพรรคคือช่วง ก.ค. แต่ช่วงนั้นค่อนข้างยุ่ง และช่วงนี้สามารถจะจัดทำบุญได้ จึงรวบรวมคนในพรรคให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะได้มาทำบุญร่วมกัน

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยเดินหน้ามาถึงวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนคิดว่าวันนี้เราผ่านอะไรกันมามาก ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ก่อตั้งพรรคมา โดนยุบไปแล้ว 2 รอบ และสามารถกลับมาได้ ตนคิดว่าทุกคนมีความเข้มแข็ง ทุกคนประสบความสำเร็จในแต่ละแง่มุมที่แตกต่างกัน และส่วนตัวของพรรคที่ทุกวันนี้เราสามารถมีพรรคอยู่ และคิดนโยบายทำประโยชน์เพื่อประชาชนได้ ตนถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง ส่วนกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ตนตื่นเต้นมาก ที่อยากจะเริ่มทำงาน เพราะโครงการนี้เราคิดเป็นนโยบาย ก่อนที่จะออกแคมเปญในการเลือกตั้ง ซึ่งทำการบ้านเรื่องนี้มาเป็นปี ถ้าได้ทำเมื่อไหร่เราจะทำอย่างเต็มที่ ทั้งทีมงานและที่ปรึกษามีการเตรียมกันมามากพอสมควร เมื่อมีการฟอร์มทีมเป็นที่เรียบร้อยจะเริ่มทำงานทันที หากเริ่มคิกออฟแมตช์แรกเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะทำงานทันที

เมื่อถามว่าจะเข้าไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คงมีโอกาสได้เข้าไปทำงาน แต่ตนคิดว่าต้องดูที่สะดวกทั้งในส่วนของทีมงาน ซึ่งอาจจะต้องมีหลายวงประชุม และทำหลายหน้าที่ ดังนั้นสามารถทำงานได้หมด ในทุกสถานที่ที่สะดวกกับทีมงาน เพื่อให้ได้มีผลงานออกมาเร็วที่สุด

เมื่อถามถึงกรณีที่จะเข้าไปดูที่ทางตำแหน่งอื่นด้วยหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวติดตลกว่า “สื่อมวลชนชอบมอบตำแหน่งให้ตนทุกครั้ง ที่ได้มีการให้สัมภาษณ์ ซึ่งขอขอบคุณ แต่ยังคงไม่มองถึงตำแหน่งอื่น และหากได้มีโอกาสเข้าไป คงรู้สึกตื่นเต้น เพราะเคยเข้าไปทำเนียบตอนเด็ก สมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ คิดว่าหากได้เข้าไปอีก จะต้องดูว่ายังคงเหมือนเดิม เหมือนภาพจำหรือไม่ เพราะตนไม่ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลนานมากแล้ว”

เมื่อถามถึงกรณีที่มีรายชื่อติดโผที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่มีความพร้อมหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่หากถามว่าพร้อมหรือไม่ ส่วนตัวทำเพื่อพรรคอย่างทุ่มเทเต็มที่ ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และวันนี้เป็นวันเกิดพรรคครบ 16 ปี ดังนั้นความรักความผูกพันจึงพร้อมทำเพื่อพรรคอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ก็ตาม การจะเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่เป็น ตนเต็มที่กับพรรคเพื่อไทย

เมื่อถามว่าเหมือนผู้ใหญ่ในพรรคต้องการดันคนรุ่นใหม่ เข้ามาทำงานในพรรค น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ตนพร้อมทำเพื่อพรรคอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเสียงเชียร์สนับสนุนเป็นกำลังใจให้ตน แต่ในช่วงไทม์มิ่งต่างๆ ที่ตนเข้ามาหากเกิดผลดีกับพรรคมากที่สุด รวมถึงกับสส. และทุกคน ดังนั้น ความหมายของตนคือถ้ามีคนที่ดีกว่า และจะนำพรรคได้ดีกว่าตนก็ยอม แต่ถ้าเป็นตนหากคิดว่าดีที่สุดก็ยอมเช่นกัน ซึ่งตนเป็นคนมองที่เป้าหมาย เมื่อมีคนพูดว่าตนควรเป็นหัวหน้าพรรค ตนเต็มที่แม้ว่ามีหรือไม่มีตำแหน่งหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น จะไม่มีการน้อยใจ หากไม่ได้เป็นหรือได้เป็นหัวหน้าพรรค เพราะจุดยืนของเราคือทำเพื่อพรรค

เมื่อถามว่าได้ให้กำลังใจกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จริงๆ ทุกคนก็คงได้วางแพลนชีวิตตัวเองไว้แล้วว่าจะทำอย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรทั้งในสภาฯ หรือนอกสภาฯ ก็รู้จักกันอยู่แล้ว ตนก็ขอให้กำลังใจด้วย

น.ส.แพทองธาร กล่าวถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลังในการทำงานว่า ได้มีโอกาสคุยกับนายกฯ และนายกฯ สู้มาก ซึ่งตนได้แซวนายเศรษฐาว่าเหนื่อยหรือไม่ นายกฯ ตอบว่าไม่เหนื่อย และมีงานเยอะมาก พร้อมบอกให้ฟังว่ามีอะไรบ้าง นอกจากนี้ ตนยังแซวอีกว่าฝากดูทีมงานด้วย เดี๋ยวสลบกันไปหมดแล้ว และตนยอมรับว่านายกฯ สู้ และฟิตมาก ขยันมากจริงๆ จึงอยากขอฝากพี่น้องประชาชนให้กำลังใจนายกฯ ด้วย เนื่องจากอยากทำงานให้เต็มที่ เพื่อจะให้ประเทศไทยไปถึงจุดที่ดีขึ้น

‘สมาชิกปชป.’ ลาออกอีกคน!! ยก 3 เหตุผลฟาด ‘เฉลิมชัย’ ใช้เงินเปลี่ยนอุดมการณ์-ตระบัดสัตย์-สร้างความแตกแยก

(11 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนที่ 9 ปรากฏว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่งได้แสดงความจำนงขอลาออกจากสมาชิกพรรค เช่น นายวิบูลย์ ศรีโสภณ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดชีพตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2541 โดยในหนังสือระบุถึงสาเหตุขอลาออก ว่า

1.อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรคและสส.ในสมาชิกพรรค
2.หัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์ ไม่รักษาคำพูด ไม่สามารถให้การเคารพได้อีกต่อไป
3.หัวหน้าพรรคสร้างทัศนคติให้สส.ในพรรคขาดความเคารพ กระด้างกระเดื่องกับอดีตหัวหน้าพรรค สร้างความแตกแยกในพรรค ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนตลอด 77-78 ปี


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top