Monday, 1 July 2024
หลอก

ตำรวจไซเบอร์ ฝากเตือนภัยเว็บไซต์ธนาคารปลอมซื้อโฆษณา หลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยเว็บไซต์ธนาคารปลอม หลอกให้กรอกข้อมูลทางการเงิน ดังนี้

ตามที่ในปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึง ตรวจสอบข้อมูล หรือขอเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องเดินทางไปยังสถาบันการเงิน หรือธนาคารแต่อย่างใด สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงระบบได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างเว็บไซต์ปลอม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนที่ไม่ทันระวัง เข้ามากรอกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิต/เครดิต รหัสหลังบัตร 3 หลัก รหัส OTP เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปถอนเงินของเหยื่อออกจากบัญชี  หรือไปแฮ็กบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต/เครดิตชำระค่าสินค้า หรือไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมาย เช่น ในกรณีตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายรายหนึ่งได้ขอรายการเดินบัญชีผ่านเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ แต่ได้ไปเข้าเว็บไซต์ธนาคารที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาโดยการซื้อการโฆษณา จากนั้นได้กรอกข้อมูลทางการเงินต่าง ๆ กระทั่งทราบว่าเงินในบัญชีธนาคารของตนถูกโอนออกไปทั้งหมด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไปแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ แก็งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักเรียนนักศึกษาถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่

สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้ มีคดีนักเรียนนักศึกษาถูกคนร้ายหลอกให้เรียกค่าไถ่จากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคดีจึงขอเตือนภัยพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังดูแลบุตรหลานของตนเอง และขอให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษา มิให้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11   ส.ค.2566  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./ หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี ได้แถลงว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) จำนวน 20,000 กว่าเคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 2,000 กว่าเคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีเคสที่น่าสนใจ จำนวน 4 เคส ซึ่งทั้ง 4 เคส มีรูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือคนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่แล้วส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ จำต้องโอนเงินให้ไป ซึ่งหลังจากโอนเงินแล้ว บุตรหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ ซึ่งเบื้องต้น พ่อแม่คาดว่า เป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนลึกๆ พบว่า เป็นคดีที่บุตรหลานถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่บุตรหลานว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และบังคับให้ถ่ายคลิป หรือ ภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มคนร้ายนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีบุตรหลานของตนเองหรือเข้าบัญชีม้า แล้วหลบหนีไป

สำหรับแผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มคนร้ายได้ใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์พื้นฐานของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยคนร้ายได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแต่จะอ้างเพื่อข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน โดยทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) ที่กลุ่มคนร้ายได้จัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป หากนักศึกษาหรือเหยื่อไม่มีเงินกลุ่มคนร้ายก็แนะนำให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อไปย้ายหรือออกจากห้องพักหรือที่พักปัจจุบันที่พักอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และคนร้ายให้เหยื่อหรือผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกมัด ผ้าเทปกาวจากร้านค้าเพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับคนร้าย อีกทั้งคนร้ายยังสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อทำทีปิดโทรศัพท์ และสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อใช้ผ้าเทปและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง และถ่ายคลิปวีดิโอโดยใช้เครื่องของผู้เสียหายหรือเหยื่อเองเก็บเอาไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้คนร้ายทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์ จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ 1.พ่อแม่โอนเงินไปให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อไปให้คนร้าย 2. พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย
ข้อสังเกตุ และข้อควรระวัง  
1. คนร้ายอาจจะหาข้อมูลหรือสุ่มคัดเลือกเหยื่อเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือที่พักใกล้สถานศึกษาโดยเหยื่อเป็นบุคคลที่อยู่หอพักหรือที่พักเพียงคนเดียว ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
2. คนร้ายได้วางแผน และมีสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดหลอกลวง และใช้ถ้อยคำที่มีประสบการณ์มาก เพื่อข่มขู่และชักจูงให้เหยื่อตกใจกลัว (เช่น โทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งว่ามีหมายจับ หรือมีคนเอาข้อมูลไปเปิดบัญชีธนาคารแล้วเอาบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน) ขู่ว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะไม่ได้เรียนต่อ และคล้อยตามคำสั่งของคนร้าย
3. คนร้ายใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Internet (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ซึ่งหมายเลขดังกล่าวจะมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลักและมีเครื่องหมาย +697 +698 ซึ่งสังเกตุได้ว่าน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากต่างประเทศหรือโทรผ่านระบบ Internet หากผู้เสียหายโทรย้อนกลับไปยังเบอร์ของคนร้าย จะไม่สามารถติดต่อได้ และหมายเลขดังกล่าวอาจจะไม่มีอยู่จริง เป็นการที่คนร้ายสร้างหมายเลขโทรศัพท์หรือปลอมเบอร์ (Fake)
4. คนร้ายได้มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยผสมผสานระหว่างแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับแผนประทุษกรรมการเรียกค่าไถ่ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษา เพื่อทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือของแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม
5. คนร้ายเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษา เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ มีการหัดเริ่มลงทุนมีการยุ่งเกี่ยวกับการพนัน จึงทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่ายและข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง ควรระวังไม่ให้เหยื่อที่อยู่หอพักตามลำพัง ควรจะมีบัดดี้อยู่ด้วย

แนวทางการป้องกัน
สำหรับนักศึกษา
1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์
2. สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับแล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่(คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
3. หากคนร้ายข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ วางสายทันที แจ้งเบาะแส กับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ กสทช.
4. หากคนร้ายให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ  ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง
5. โหลดแอปฯ Who’s call ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที      
​6. หากคนร้ายส่งเอกสารมาข่มขู่  ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-8663000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง 
​สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากต้องรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวสำหรับศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติม มีดังนี้

1. หากคนร้ายข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู  ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือ โทรสายด่วน  191 ,1441 และเบอร์ 081-8663000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี
2. ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็คลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่
ผศ.ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ ช่วยราชการสำนักงาน รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับทราบว่ามีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้นักศึกษาจับตัวเองเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองโอนเงินให้คนร้าย จึงมีความห่วงใยนักศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครอง และได้มอบหมายให้มาร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องแผนประทุษกรรมของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นวิธีกลโกง จุดสังเกต และวิธีป้องกัน เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบนี้ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว

พล.ต.อ.สมพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้คนร้ายจะเลือกเหยื่อที่เป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะไม่รู้เท่าทันคนร้าย อีกทั้งเป็นจุดอ่อนไหวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรักความห่วงใยบุตร - ธิดาของตนเองเป็นทุนเดิม โดยมีแผนประทุษกรรม ดังนี้ 

1. หลอกให้เหยื่อย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก ไปหาเช่าที่พักใหม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามหาตัวได้ และหลอกเหยื่อว่ามี
ตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่
2. หลอกให้เหยื่อ ลบแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เช่น Line FB Twitter TikTok เป็นต้น
เพื่อไม่ให้เหยื่อติดต่อกับคนอื่น
3. หลอกให้เหยื่อปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ในการติดต่อกับคนร้าย  

รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line เหยื่อ ผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่อาจตกเป็นเหยื่อกลโกงของแก็งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบนี้ ได้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของคนร้ายที่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ  และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com  Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ คนร้ายออนไลน์โหดร้ายมาก หลอกซ้ำสอง ซ้ำเติมเหยื่อ

สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้มีคนร้ายแอบอ้างทำเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม หลอกผู้เสียหายซ้ำซ้อน อันเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับความเสียหายเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และยังมีคนร้ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนาวิธีการหลอกรูปแบบใหม่โดยอ้างว่าโทรมาจากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล จึงได้ร่วมกันแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่า สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ วันที่ 20 สิงหาคม 2566  ถึง 26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น รับแจ้งทั้งหมด 3,671 เคส  ความเสียหายกว่า 466 ล้านบาท โดยคดีที่มีอัตราเกิดมากที่สุด 5 อันดับแรก อันดับที่ 1 ก็ยังคงเป็น คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ อยู่ที่ 1,781 เคส ยอดความเสียหาย 21,243,102.05 บาท ตามมาด้วย คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 378 เคส ยอดความเสียหาย 53,691,234.94 บาท คดีหลอกลวงให้ลงทุน ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 342 เคส ยอดความเสียหาย 175,573,367.60 บาท คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 304 เคส ยอดความเสียหาย 13,324,870.00 บาท คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ 270 เคส ยอดความเสียหาย 44,105,474.53 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมานี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มได้รับแจ้งพฤติการณ์ใหม่ที่คนร้ายนำมาใช้ ในการหลอกลวงพี่น้องประชาชน อันได้แก่ คนร้ายปลอมเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์แล้วหลอกเหยื่อให้โอนเงินเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหายและพบมุขใหม่แก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างว่าโทรติดต่อมาจากห้องฉุกเฉินโรงพยาบาล เพื่อเป็นการป้องกันและให้ประชาชนได้รับรู้เท่าทันกลโกงของคนร้าย จะให้ พล.ต.ต.ชูศักดิ์  ขนาดนิด ผบก.ตอท. เป็นผู้แถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดในลำดับถัดไป
 
 พล.ต.ต.ชูศักดิ์  ขนาดนิด  ผบก.ตอท. กล่าวว่า  ในช่วงนี้มีเว็บไซต์รับแจ้งความออนไลน์ปลอม โดยคนร้ายโฆษณาผ่านเพจ facebook ปลอม เมื่อเหยื่อเข้าไปค้นหาหน่วยรับแจ้งความออนไลน์  เพจกลุ่มนี้จะซื้อโฆษณาจาก facebook ทำให้เพจขึ้นมาในระบบค้นหาจากเว็บ Search Engines ต่างๆ ทั้ง Google Bing safari เป็นต้น  เมื่อเหยื่อหลงเชื่อกดเข้าเว็บไซต์หรือเพจ facebook ก็จะคุยกับระบบ AI และให้เพิ่มเพื่อนไลน์คนร้าย จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวเป็นทนายความเพื่อหลอกถามข้อมูล แล้วจะอ้างว่า ได้ทำการตรวจสอบเส้นเงินแล้ว พบว่าเงินออกนอกประเทศไปแล้ว และคนร้ายใช้บัญชีม้า ทำให้ตามเงินกลับมาไม่ได้ แต่ว่าเงินยังฟอกไม่สำเร็จ และรู้ว่าเงินเข้าสู่แพลตฟอร์มไหน  จากนั้นส่งต่อให้คนร้ายที่อ้างตัวว่าเป็นทีม IT สามารถโจมตีแพลตฟอร์มนี้ เพื่อนำเงินคืนมาให้ได้  จากนั้นส่งต่อให้หัวหน้าของคนร้ายที่เป็นเจ้าหน้าที่ IT อ้างว่า ขณะนี้เงินของเหยื่อได้เข้าสู่แพลตฟอร์ม เว็บพนันออนไลน์ แต่จะช่วยโจมตีเว็บไซต์ดังกล่าวให้  โดยให้เหยื่อสมัครและเล่นในเว็บไซต์พนัน โดยอ้างว่า ไม่ได้พามาเล่นการพนันแต่เป็นการพามากู้เงินคืนจากเว็บไซต์ โดยจะทำการโจมตีให้เหยื่อ แต่มีข้อแม้ต้องใช้เงินตัวเองยิ่งเติมเยอะยิ่งได้คืนมาก และเร็ว และ ทำได้แต่บางช่วงเวลาของวันเท่านั้น ไม่งั้นเซิร์ฟเวอร์จะตรวจพบ และ ขอหักเงิน 10% เพื่อเป็นค่าทนาย จากรายได้ที่ได้จากการโจมตี  เหยื่อหลงเชื่อเพราะคิดว่าจะได้เงินคืน  สุดท้ายเสียเงินเพิ่ม

ข้อแนะนำ
1. ไม่มีหน่วยงานราชการหน่วยงานใดให้ประชาชนโอนเงินเพื่อเล่นเว็บพนันออนไลน์หรือโอนเงินให้ทำอะไรก็ตาม
เพื่อให้ได้เงินคืน
2. หากต้องการแจ้งความออนไลน์ให้แจ้งความผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com  หรือแจ้งความสถานี
ตำรวจท้องที่ได้ทั่วประเทศ  
3. หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1441 หรือ 191
 
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ฯ  กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้มีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้เบอร์มือถือซิมม้าโทรหาเหยื่อ แจ้งว่ามีคนไข้ถูกส่งมาที่ห้องฉุกเฉิน และมีค่าใช้จ่ายต้องชำระสำหรับการผ่าตัดด่วน เหยื่อปฏิเสธว่าไม่รู้จักบุคคลที่ถูกส่งมาห้องฉุกเฉินดังกล่าว แต่ทางคนร้ายยังคงยืนยันว่าคนไข้คนดังกล่าวระบุชื่อเหยื่อเป็นเบอร์ติดต่อ หากคนไข้เป็นอะไรไปเหยื่อต้องรับผิดชอบ เหยื่อขอคุยสายกับนายแพทย์เจ้าของคนไข้ แต่คนร้ายไม่ยอมจึงได้วางสายไป เหยื่อพยายามโทรกลับไปติดต่อแต่โทรกลับไปไม่ได้ มีเสียงแจ้งว่าไม่สามารถติดต่อเลขหมายดังกล่าวได้ ภายหลังเหยื่อได้นำเบอร์มือถือดังกล่าวมาตรวจสอบกับ Application Whoscall พบว่าเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้ว่าเป็นเบอร์คนร้าย

​จุดสังเกต
1. คนร้ายใช้ซิมม้าโทรตามแนวชายแดนที่มีสัญญาณผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อว่า
เป็นการโทรศัพท์จากโรงพยาบาลจริง
2. หมายเลขโทรศัพท์ที่คนร้ายโทรหา  ไม่สามารถโทรติดต่อกลับไปได้
 
วิธีป้องกัน
1. ให้สังเกตความผิดปกติของปลายสาย  เช่น  ถามชื่อ-นามสกุล จริง การใช้ข้อความอัตโนมัติ  การโอนสายให้เจ้าหน้าที่  หากมีการ VIDEO CALL ให้สังเกตความผิดปกติของเสียงและท่าทาง (คนร้ายใช้โปรแกรมปลอมใบหน้า)
​2. หากคนร้ายอ้างเหตุต่างๆ  หรือข่มขู่ให้โอนเงิน  ให้โทรศัพท์ตรวจสอบหรือโทรสายด่วนหน่วยงานที่มีการแอบอ้าง ก่อนดำเนินการใดๆ
​3. หากมีหมายเลขโทรศัพท์ ที่ไม่ได้บันทึกไว้ในเครื่องโทรหา ไม่ควรรับสายในทันที  และให้ตรวจสอบผ่าน
แอปพลิเคชัน Whoscall ว่าเป็นเบอร์คนร้ายหรือเป็นเบอร์ที่ถูกรายงานไว้หรือไม่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่าปัจจุบันคนร้ายยังคงใช้วิธีการหลอกโดยอาศัยกลโกงเดิมๆ แต่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ ดังนั้นเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top