เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 66 สมาชิกเฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพเตือนภัยลงในกลุ่ม ‘พวกเราคือผู้บริโภค’ หลังไปซื้อซูชิจากร้านแห่งหนึ่งแถวบ้าน และไปเจอซูชิหน้าหมึกที่ลักษณะคล้ายกับ ‘หมึกบลูริง’ ที่มีพิษร้ายแรง โดยระบุข้อความว่า…
“อันนี้จากร้านซูชิแถวบ้านครับ ฝากเตือนกันด้วยนะครับ ค่อนข้างจะชัดว่าเป็นวงที่หนวด ไม่ใช่ที่โคนหนวดครับผม ยังไงถ้าไม่มั่นใจ แนะนำว่าไม่ให้กิน ดีที่สุดครับ”
พร้อมกับโพสต์ภาพของซูชิหน้าหมึกคำดังกล่าว โดยที่หนวกหมึกนั้นมีวงแหวนอยู่ทุกชิ้น ซึ่งลักษณะคล้ายกับหนวดของ ‘หมึกบลูริง’ และได้โพสต์ภาพเปรียบเทียบระหว่างหมึกบลูริง กับ ‘หมึกอิคคิว’ ซึ่งหมึกอิคคิวนั้นมีวงแหวนที่แก้มแค่ 1 วง กินได้ไม่เป็นอันตราย ส่วนหมึกบลูริงนั้นมีวงแหวนที่หนวดหลายจุด มีพิษร้ายแรง
โดยผู้โพสต์บอกว่า “แจ้งทางร้านเรียบร้อยครับ ร้านขอโทษแล้ว คืนเงินมาแล้ว ร้านแจ้งว่าไม่ได้แล่เอง แต่ซื้อที่เค้าสับปนกันมาครับ”
สำหรับ ‘หมึกบลูริง’ จะมีลักษณะลำตัวขนาดเล็ก มีลายวงแหวนสีฟ้าสะท้อนแสงเล็กๆ กระจายอยู่ตามลำตัวและหนวด ตัวเต็มวัยมีขนาด 4-5 เซนติเมตร และหนวดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร อาศัยอยู่ตามซอกหินและชอบหลบซ่อนตัวอยู่ในทรายใต้ท้องทะเล เคลื่อนที่โดยการใช้หนวดเดินจะไม่ใช้การพ่นน้ำเพื่อพุ่งตัวในการเคลื่อนที่เหมือนหมึกกล้วย
พิษของหมึกบลูริงหรือ ‘หมึกสายสีน้ำเงิน’ มีชื่อว่า ‘Maculotoxin’ (มาคูโลทอกซิน) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้าที่มีชื่อว่า ‘Tetrodotoxin’ (เทโทรโดทอกซิน) สามารถพบพิษนี้ได้ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก พิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต ผู้ที่ถูกหมึกบลูริงกัดเปรียบเหมือนการฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือดโดยตรง
โดยพิษจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าพิษจากปลาปักเป้า อาการเริ่มแรกของผู้ที่ถูกกัดหรือกินหมึกบลูริงเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน มองไม่เห็น ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน พูดหรือกลืนน้ำลายไม่ได้ จากนั้นจะเป็นอัมพาตและหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะทำให้ตายในที่สุด