กับภารกิจพิชิตยอด Yasa Thak เชื่อม 65 ปีสายใยไทย-เนปาล พร้อมเสนอตั้งชื่อ 'Echo Peak'ตามเพลงพระราชนิพนธ์ 'แว่ว'
เมื่อวันที่ (20 ม.ค. 68) ที่ประชุมห้องบัวแก้ว กระทรวงการต่างประเทศ นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ได้จัดเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์เรื่อง 'ก้าวสู่ยอดหิมาลัย เชื่อมสายใยไทย-เนปาล' โดยในงานนี้มี พณฯ ธัน พหาทุร โอลิ เอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน
สำหรับงานเสวนาถ่ายทอดประสบการณ์เรื่อง “ก้าวสู่ยอดหิมาลัย เชื่อมสายใยไทย-เนปาล” ได้มีการแบ่งปันประสบการณ์ของ 'หนึ่ง วิทิตนันท์ โรจนพานิช' คนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ถึงประสบการณ์น่าตื่นเต้นของการพิชิตยอดเขา Yasa Thak ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2567 อันเป็นส่วนหนึ่งในกโอกาสร่วมสนับสนุนในโอกาส ครบรอบ 65 ปี ความสัมพันธ์ ไทย-เนปาล
นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ กล่าวเปิดงานเสวนา 'ก้าวสู่ยอดหิมาลัย เชื่อมสายใยไทย - เนปาล' ว่าในปีนี้ ประเทศไทยและเนปาล จะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 65 ปี โดยทั้งสองประเทศ มีสายใยเชื่อมโยงกันผ่านทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน รวมถึงน้ำใจคนไทยที่ช่วยเหลือประเทศเนปาล จากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในระดับประชาชนของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช นายกสมาคมมิตรภาพไทย - เนปาล ชาวไทยผู้มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเนปาลมาอย่างยาวนาน ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการพิชิตเอเวอร์เรสต์เมื่อปี 2551 นั้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงในปี 2567 ที่ได้พิชิตยอดเขายาซ่า ทัก (Yasa Thak) นั้น นอกจากจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไทย-เนปาลแล้ว ยังเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
"ในชีวิตผมใช้ชีวิตโลดโผนมาตลอด ตั้งแต่ดำน้ำ ขับเครื่องบิน แต่ยังไม่เคยปีนเขา จนกระทั่งปีประมาณปี 2551 ได้มีโอกาสทำรายการโทรทัศน์ให้เวียดนาม จนสามารถพิชิตยอดเอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จเมื่อ 22 พฤษภาคม 2551 ตอนนั้นผมรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการ จึงอาศัยจังหวะนี้ขึ้นไปพร้อมกับนักปีนเขาจนสามารถพิชิตยอดเขาได้สำเร็จ เราก็คิดว่าในเมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาสูงที่สุดในโลกได้แล้ว ก็อยากขึ้นไปชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 บนยอดที่สูงที่สุดในโลกเพื่อป่าวประกาศพระเกียรติยศของพระองค์ท่าน"
สำหรับภารกิจล่าสุดเมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมาซึ่ง หนึ่ง วิทิตนันท์ เพิ่งพิชิตยอดเขาแห่งใหม่ เขาได้เผยเรื่องราวในภารกิจการพิชิตยอดเขา Yasa Thak ครั้งล่าสุดนี้ว่า "หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตได้ราวปีเศษ ก็ยังมีความรู้สึกอยากปีนยอดเขาอีกยอดหนึ่งเพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน เราก็อยากปีนยอดเขาที่ยังไม่เคยมีใครปีนพิชิตมาก่อน ในตอนนั้นผมก็นึกถึงประเทศเนปาล ซึ่งเป็นชาติที่เรารู้สึกผูกพันมากที่สุด จึงได้ขออนุญาตหน่วยงานท้องถิ่นของเนปาล ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจากสถานเอกอัคราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย"
หนึ่ง วิทิตนันท์ เผยว่า ภายหลังที่สามารถพิชิตยอด Yasa Thak ได้สำเร็จเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 ตลอดจนสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-เนปาล เขาได้ยื่นต่อ 'Nepal Mountaineering Association' เพื่อขอใช้สิทธิการพิชิตคนแรกเสนอตั้งชื่อยอดเขานี้ว่า 'Echo Peak' หรือ 'เสียงสะท้อน' เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเนปาล และสื่อถึงบทเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 'แว่ว' และยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วย
"ตอนนี้อยู่ระหว่างการเสนอต่อ Nepal Mountaineering Association ในการตั้งชื่อยอดเขา 'Echo Peak' หรือ 'เสียงสะท้อน' ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการโดยคาดจะเสร็จสิ้นกระบวนการตั้งชื่อใหม่ภายในปีนี้"
หนึ่ง วิทิตนันท์ ยังเผยอีกว่า ในฐานะภาคประชาชน เขาอย่างเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความสัมพันธ์ไทย-เนปาล ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเขาได้มองถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่จะขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งด้านความเชื่อและวัฒนธรรมระหว่างกัน การเชื่อมโยงผ่านด้านการท่องเที่ยว 'ภูเขาในเนปาล และทะเลไทย' หรือด้านสิ่งแวดล้อม ในการร่วมกับสมาคมนักปีนเขาแห่งประเทศเนปาล ผลิตโดรนเพื่อเก็บขยะบนยอดเขาต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ และนำขยะเหล่านั้นมาหมุนเวียนเพื่อสร้างประโยชน์ต่อไปได้
