Tuesday, 2 July 2024
หนังสือเดินทาง

‘ไทย’ คว้าอันดับ 63 ‘พาสปอร์ตทรงอิทธิพล’ 2024 อันดับดีขึ้นจากปีก่อน ส่วนอันดับ 1 ครองร่วม 6 ชาติ

(11 ม.ค. 67) ‘ประเทศไทย’ ติดอันดับ 63 ในการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตของเฮนลี่ย์ (Henley Passport Index) ประจำปี 2567 โดยขยับขึ้นจากอันดับ 64 ในปี 2566 และ 70 ในปี 2565

โดยปัจจุบันพาสปอร์ตของไทยสามารถใช้เดินทางสู่จุดหมายต่าง ๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ทั้งสิ้น 82 จุดหมายปลายทาง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ตุรกี อิรัก และบราซิล ซึ่งเพิ่มจาก 79 ประเทศในปีที่แล้ว

ขณะที่อันดับ 1 ในปีนี้เป็นการครองอันดับร่วมกันถึง 6 ประเทศด้วยกันคือ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 4 ประเทศ ได้แก่ ‘ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสเปน’ ซึ่งครองอันดับหนึ่งร่วมกับ ‘ญี่ปุ่น’ และ ‘สิงคโปร์’ ขึ้นแท่นพาสปอร์ตที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก

พลเมืองของประเทศเหล่านี้สามารถเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้มากถึง 194 แห่งจาก 227 แห่งทั่วโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสิงคโปร์นั้น ครองอันดับ 1 ในดัชนีดังกล่าวมา 5 ปีแล้ว

ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวจัดอันดับหนังสือเดินทางทั่วโลก โดยประเมินตามจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือหนังสือเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

ทางด้านเจ้าของสมญานามเสือเอเชียอย่าง ‘เกาหลีใต้’ ตามมาเป็นอันดับ 2 ร่วมกับ ‘ฟินแลนด์’ และ ‘สวีเดน’ ซึ่งสามารถเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า 193 แห่ง

ส่วนอีก 4 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปอย่าง ออสเตรีย เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ครองอันดับ 3 โดยสามารถเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ ได้ 192 แห่ง

ขณะที่อันดับที่เหลือใน 10 อันดับแรกส่วนใหญ่ตกเป็นของประเทศในแถบยุโรป โดยพาสปอร์ตของ ‘สหราชอาณาจักร’ ไต่ขึ้นสองอันดับมาอยู่ที่อันดับ 4 ซึ่งสามารถเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ 191 แห่ง เทียบกับเพียง 188 แห่งในปีที่แล้ว

ผู้ถือหนังสือเดินทางของ ‘ออสเตรเลีย’ และ ’นิวซีแลนด์’ ต่างไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 6 ซึ่งสามารถเดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ 189 แห่ง ส่วนหนังสือเดินทางของ ‘สหรัฐ’ ยังรั้งอันดับ 7 โดยสามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ ได้ 188 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า

ทั้งนี้ นับมาเป็นเวลาถึงหนึ่งทศวรรษแล้วนับตั้งแต่ที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐร่วมกันครองอันดับ 1 ในดัชนีดังกล่าวเมื่อปี 2557

สำหรับ 10 ชาติในกลุ่มประเทศ ‘อาเซียน’ นั้น นำโดยสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ไทย และอินโดนีเซีย 

‘รัดเกล้า’ เผยข่าวดี!! 'ไทย-ติมอร์' เดินหน้าส่งเสริมความสัมพันธ์รอบด้าน ร่วมลงนาม ‘Free visa’ กระชับความร่วมมือ ‘ท่องเที่ยว-ศก.-วัฒนธรรม’

(22 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์–เลสเต เดินหน้ากระชับความร่วมมือและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ผ่านร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ซึ่งได้มีการลงนามในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความมั่นคงของติมอร์ ระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ติมอร์มีความประสงค์จะจัดทำความตกลงฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประชาชนของไทยและติมอร์เพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ ติมอร์จึงได้เสนอขอจัดทำความตกลงฯ เพื่อขอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งที่ประชุม ครม. (18 มิ.ย.67) ได้มีมติเห็นชอบแล้วตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ความตกลงฉบับนี้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคคลสัญชาติไทยและบุคคลสัญชาติติมอร์เดินทางเข้าดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องมีการขอรับการตรวจลงตรา เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 วันนับจากวันที่ได้รับการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้ายโดยคู่ภาคีว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนภายในที่จำเป็นของตนเพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถูกบอกเลิกโดยคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

นางรัดเกล้า กล่าวอีกว่า ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือสาธารณสุข โดยการระงับและการเพิกถอนการระงับดังกล่าวจะต้องทำโดยการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อภาคีอีกฝ่ายหนึ่งผ่านช่องทางการทูตอย่างน้อย 30 วันล่วงหน้า เป็นต้น โดยความตกลงฯ ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยจะมีผลเชิงบวกต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย - ติมอร์ ในภาพรวมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับประชาชน

รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ทั้งนี้ กต. แจ้งว่า ร่างความตกลงฯ มีถ้อยคำและบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างความตกลงฯ จึงเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ขอให้ กต. สามารถดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top