Wednesday, 3 July 2024
สื่อออนไลน์

TOPIC18 : อย่ายึดติดแค่เจ้าเดียว!! ส่องทิศทางโซเชียลมีเดียไทย ในวันที่ใครๆ ก็ล้มหายได้ ถ้าไม่ปรับตัว

อย่ายึดติดแค่เจ้าเดียว!!
ส่องทิศทางโซเชียลมีเดียไทย
ในวันที่ใครๆ ก็ล้มหายได้...ถ้าไม่ปรับตัว

Click on Clear Original 
โดย ปริม THE STATES TIMES (กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา) 

‘ปอท.’ เตือน!! โพสต์-แชร์ข้อมูล เชิงคุกคามในโลกโซเชียล เรียกทัวร์ลงผู้อื่น ข่มขู่ให้หวาดกลัว ระวังโดนคดีทั้งแพ่ง-อาญา

(22 ก.ค. 66) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กล่าวว่าในปัจจุบัน การใช้สื่อสังคมออนไลน์แทบจะถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตประจำวันอย่างหนึ่งของคนไทย ซึ่งมักจะใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รูปภาพ ตลอดจนคลิปวิดีโอต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจมีการด่าทอ หยอกล้อ หรือล้อเลียนผู้อื่น ด้วยความสนุก คึกคะนอง จนอาจเกินเลยสร้างบาดแผลทางจิตใจ หรือสร้างความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับบุคคลอื่น ซึ่งในกรณีดังกล่าวมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของผู้อื่นมิให้ถูกละเมิด 

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จึงขอเตือนพี่น้องประชาชน เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการด่าทอ ล้อเลียน กลั่นแกล้ง กลั่นแกล้ง หรือ ข่มขู่ผู้อื่นทางสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผู้กระทำผิดอาจถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดที่ได้กระทำ ดังนี้

1.) การโพสต์ใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.) การโพสต์หมิ่นประมาทบุคคลอื่นโดยการโฆษณา (การโพสต์เป็นสาธารณะหรือบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้) อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.) การโพสต์ภาพของผู้อื่นที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.) การข่มขู่ ขู่เข็ญ ผู้อื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว ตกใจ อาจเข้าข่ายความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.) การส่งต่อ แชร์ รีทวีต หรือรีโพสต์ ที่เข้าข่ายเป็นความผิด อาจเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเช่นเดียวกับผู้โพสต์ ในฐานะตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือ 86 แล้วแต่กรณี

ซึ่งนอกเหนือจากความผิดที่มีโทษทางอาญาแล้ว หากผู้เสียหายสามารถพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของผู้กระทำผิด ทำให้ผู้นั้นได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน ชื่อเสียง หรือทางทำมาหาได้ ผู้ที่กระทำความผิดอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 หรือมาตรา 423 แล้วแต่กรณีอีกด้วย

ดังนั้น พี่น้องประชาชนจะต้องระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการโพสต์หรือเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจสร้างความเสียหายแก่บุคคลอื่น เพราะหากบุคคลที่ถูกกล่าวถึงไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าว และได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้น ท่านอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือหมิ่นประมาท ทางสื่อสังคมออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือสถานีตำรวจในท้องที่ที่ท่านทราบการกระทำความผิด ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สื่อมองสื่อ!! รุ่นใหญ่ปรับตัวสู่ออนไลน์ ไม่ธรรมดา พกแต้มต่อ 'ความน่าเชื่อถือ-แฟนคลับเหนียวแน่น'

(3 ม.ค. 67) นายกิตตินันท์ นาคทอง ผู้สื่อข่าวเครือผู้จัดการ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Kittinun Nakthong' ในหัวข้อ 'จากทีวีสู่ออนไลน์ เข้าสู่ยุคนีชมาร์เก็ต' ระบุว่า...

ก่อนหน้านี้ วารินทร์ สัจจเดว เคยทำยูทูบช่อง Nomad Media Thailand จัดรายการ Thailand Morning Call ทุกเช้า (ใช้วิธีบันทึกเทปตอนค่ำ แล้วมาเรียบเรียงอัปโหลดพรีเมียร์ 6 โมงเช้า) หลังจากไม่ได้จัดรายการวิทยุ 

ปีนี้ ปรเมษฐ์ ภู่โต (คู่กับ นันทิญา จิตตโสภาวดี) และ ถนอม อ่อนเกตุพล หันมาจัดรายการผ่านออนไลน์ เพราะรายการที่ช่อง NBT หลุดผัง เริ่มทำแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยต้นทุนเล็กๆ น้อยๆ แต่ทำด้วยใจล้วนๆ

แม้มองผิวเผินดูเหมือนว่า ตามหลังคนรุ่นใหม่ ที่สร้างชื่อเสียงจากโลกออนไลน์ แต่จากประสบการณ์ความเป็นคนข่าวมายาวนาน มีความน่าเชื่อถือ และมีฐานคนดูประจำอย่างเหนียวแน่น ก็น่าจะเป็นแต้มต่อที่ดี

ต่อจากนี้อาจจะได้เห็นคนข่าวรุ่นใหญ่ ลงไปอยู่แพลตฟอร์มออนไลน์เรื่อยๆ

‘ก๊อง–ปรเมษฐ์ ภู่โต’ ลุยสื่อออนไลน์เต็มสูบ เปิดช่องใหม่ ‘ถึงแก่น Live’ เสิร์ฟ 4 รายการรวด

(14 ม.ค.67) ที่ผ่านมา ‘ก๊อง – ปรเมษฐ์ ภู่โต’ คนข่าวคุณภาพ อดีตผู้ดำเนินรายการ ‘คุยถึงแก่น’ เดินหน้าลุยสื่อออนไลน์เต็มสูบ ผุดช่องใหม่ ‘ถึงแก่น Live’ ชูคอนเซ็ปต์ ‘สื่อเพื่อประชาชน ทุกคนเป็นเจ้าของ’ เสิร์ฟสาระข่าวสาร ในสไตล์แซบจัดจ้าน ตรงไปตรงมา ถึงผู้ชมทุกวัน จัดงานแถลงข่าวเปิดช่องรายการออนไลน์ท่ามกลาง FC  ที่มาให้กำลังใจและให้การสนับสนุนอย่างอบอุ่นเต็มพื้นที่ห้องจัดงาน

ภายหลังจากรายการ ‘คุยถึงแก่น’ รายการดังเรทติ้งดีของ ช่อง NBT2HD ที่ยืนยงมากว่า 6 ปี แต่กลับถูกปลดออกผังรายการของช่องปี 2567 จนกลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงสื่อ เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา จนมีคำถามว่า เหตุใดผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน จึงปลดรายการที่มีเรตติงดีของช่องออกไป ขัดความรู้สึกของแฟนรายการจำนวนมาก และมีการตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อนของพิธีกร ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของ นายทักษิณ ชินวัตร จนไม่สบอารมณ์ผู้มีอำนาจ 

ล่าสุดวันนี้ นายปรเมษฐ์ ภู่โต ได้จัดงานแถลงข่าวถึงแนวทางการทำงานสื่อของตนและทีมงานจากนี้ไปใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์ ณ KliuqeX Samyan ชั้น 3 ศูนย์การค้า I’m Park สามย่าน ข้างอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่ามกลางแฟนรายการที่มาให้กำลังใจอย่างอบอุ่น 

นายปรเมษฐ์ กล่าวว่า จากการที่ได้จัดรายการ ‘คุยถึงแก่น’ ทางสถานีโทรทัศน์ NBT2HD มายาวนานเกือบ 6 ปี ทำให้มีฐานแฟนรายการจำนวนมาก และมีความเหนี่ยวแน่นมั่นคงกับตัวพิธีกรและทีมงาน โดยเมื่อมีข่าวว่า เราถูกปลดออกจากผังรายการ ของสถานีฯ ทำให้แฟนรายการที่ติดตามเรามานานต่างออกมายืนยันผ่านช่องทางต่างๆ ว่า พวกเราไปไหนก็จะตามไปดูและให้กำลังใจในทุกที่ และยินดีให้การสนับสนุนในทุกรูปแบบ ประกอบกับแนวทางการทำงานของเราที่ต้องการความ ‘เป็นอิสระ’ ในการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา

ทางทีมงานจึงตัดสินใจเดินหน้า ในรูปแบบออนไลน์ตามเสียงเรียกร้องของแฟนรายการ ที่อยากให้เราทำรายการต่อไป โดยก้าวใหม่ของเราในครั้งนี้ จะปรากฏออกมาในรูปแบบช่องข่าวออนไลน์ ชื่อ ‘ถึงแก่น Live’ ภายใต้คำขวัญ “สื่อเพื่อประชาชน ทุกคนเป็นเจ้าของ” 

สำหรับรายการทำงานภายใต้ ‘ถึงแก่น Live’ จะยังมี ก๊อง-ปรเมษฐ์ ภู่โต และ หนิง - นันทิญา จิตตโสภาวดี เป็นผู้ดำเนินรายการเช่นเดิม โดยจะเป็นรายการ Live สดทุกวัน ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook และ Youtube ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของอดีตพิธีกรรายการ ‘คุยถึงแก่น’ ที่ปลดแอกออกจากสื่อดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยจะเน้นการนำเสนิในรูปแบบของการ Live ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook ,Youtube ,Tiktok 

และนอกจากรายการหลัก ช่วงเช้า โดยพิธีกรคู่เดิม แล้ว ช่อง ‘ถึงแก่น Live’ ยังมีรายการอื่นๆ ให้ติดตามถึง 4 รายการ ประกอบด้วย

- รายการ ถึงแก่น Live จันทร์ - ศุกร์ เวลา 07.00–09.00 น. 
- รายการ ถึงแก่น Live สุดสัปดาห์ เสาร์ - อาทิตย์ 18.00–19.00 น.
- รายการ ข่าวต้องคุย จันทร์ - ศุกร์ เวลา 18.00–19.00 น.
- รายการ ไร่ลุงก๊อง วันเวลา ตามใจลุงก๊อง (รายการแนววาไรตี้สบายๆ)

นายปรเมษฐ์ ย้ำว่า ทิศทางของรายการใหม่ทั้ง 4 รายการ จะยังคงไว้ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘สื่อเพื่อประชาชน ทุกคนเป็นเจ้าของ’ ด้วยรูปแบบรายการที่เน้นสาระและข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชม พร้อมสะท้อนความจริงในทุกด้าน ผ่านการนำเสนอเนื้อหาที่ทันสมัย ฉับไว ตรงไปตรงมา และเข้าถึงง่ายเหมือนเดิม และที่สำคัญเราจะยังคงดำรงจุดยืนในการนำเสนอข่าวสารที่สร้างสรรค์ ไม่ทำร้ายสังคม และประเทศชาติเหมือนเช่นเคย

และสุดท้ายต้องขอขอบพระคุณ แฟนๆ รายการทุกท่านที่กรุณาให้กำลังใจ และร่วมระดมทุนในการสนับสนุน ให้เราสามารถเริ่มต้นทำภารกิจส่งข่าวสารเพื่อประชาชน จนก่อรูปนับหนึ่งเป็นช่องข่าวออนไลน์ ‘ถึงแก่นLive’ ขึ้นมาได้

‘จีน’ เอาจริง!! ลุยจัดการ ‘เนื้อหาออนไลน์ผิดกฎหมาย-อันตราย’ หลังได้รับรายงานมากกว่า 18 ล้านกรณี ในเดือน มี.ค.

เมื่อวานนี้ (10 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่า จีนจัดการเนื้อหาออนไลน์ผิดกฎหมายหรืออันตรายที่มีรายงานมากกว่า 18.53 ล้านกรณีในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนกุมภาพันธ์ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

เว็บไซต์รายใหญ่หลายแห่งของจีนดำเนินการจัดการกับเนื้อหาผิดกฎหมายที่ได้รับแจ้งเข้ามา 17.09 ล้านกรณี ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตส่วนกลางและภูมิภาคจัดการกับเนื้อหาดังกล่าวราว 1.45 ล้านกรณี

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า เนื้อหาออนไลน์ที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายที่มีรายงานส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามกอนาจาร การพนัน การละเมิด และข่าวลือ

‘รอยเตอร์ส’ เผย คนตามข่าวจากสื่อออนไลน์มากกว่า ‘สื่อดั้งเดิม’ แพลตฟอร์ม ‘Facebook-YouTube’ ทางเลือกแรกๆ ที่คนเลือกเสพ

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันรอยเตอร์ส เปิดเผยว่า ผู้คนทั่วโลกสนใจข่าวสารน้อยลง พบเกือบ 40% หลีกเลี่ยงการเสพข่าวเป็นบางครั้งหรือบ่อยครั้ง

ผลการศึกษาทั่วโลกโดยสถาบันรอยเตอร์ส (Reuters Institute) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ชี้ว่า ผู้คนทั่วโลกจำนวนมากขึ้นมีความสนใจในข่าวสารน้อยลง โดยมองว่ามีแต่เรื่องที่น่าหดหู่ ไม่จบไม่สิ้น และน่าเบื่อ

รายงานสำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด 94,943 คนใน 47 ประเทศระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2024 และพบว่า ผู้คน 39% หรือเกือบ 4 ใน 10 (39%) กล่าวว่า พวกเขาหลีกเลี่ยงการเสพข่าวเป็นบางครั้งหรือบ่อยครั้ง

ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 29%

รายงานระบุว่า สงครามในยูเครนและตะวันออกกลางอาจส่งผลให้ประชาชนต้องการปิดการรับรู้ข่าวมากขึ้น แต่ข่าวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจคล้ายกัน คือข่าวการเลือกตั้งในประเทศของตัวเอง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มโดยรวมยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มที่สนใจข่าวมากหรืออย่างมากทั่วโลกอยู่ที่ 46% ลดลงจาก 63% ในปี 2017

นิก นิวแมน ผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าวาระข่าวเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณต้องเผชิญกับโรคระบาด และสงคราม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะหันหลังให้กับข่าว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อปกป้องสุขภาพจิตของพวกเขา หรือเพียงต้องการที่จะใช้ชีวิตที่ตามปกติ”

นิวแมนกล่าวว่า ผู้ที่เลือกหลีกเลี่ยงข่าวมักจะทำเช่นนั้นเพราะพวกเขารู้สึกว่า ‘ไม่มีอำนาจ’ โดยกล่าวว่า “คนเหล่านี้คือคนที่รู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิ์เสรีเหนือสิ่งใหญ่โตที่กำลังเกิดขึ้นในโลก”

เขาเสริมว่า บางคนรู้สึกหนักใจและสับสนมากขึ้นกับข่าวที่เกิดขึ้น ขณะที่บางคนรู้สึกเหนื่อยล้ากับการเมือง นอกจากนี้ ผู้หญิงและคนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับจำนวนข่าวสารรอบตัวมากกว่าช่วงวัยอื่น

ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในข่าวยังคงทรงตัวที่ 40% แต่โดยรวมลดลงมา 4% จากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

รายงานพบว่าผู้ที่ชมแหล่งข่าวแบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยคนอายุน้อยเลือกที่จะรับข่าวสารทางออนไลน์หรือทางโซเชียลมีเดียแทน

ในสหราชอาณาจักร ผู้คนเกือบ 3 ใน 4 (73%) กล่าวว่า พวกเขารับข่าวสารทางออนไลน์ ส่วน 50% ยังรับข่าวทางทีวีอยู่และมีเพียง 14% ที่อ่านข่าวในสิ่งพิมพ์

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สำคัญที่สุดสำหรับข่าวสารยังคงเป็น Facebook แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม รอลงมาคือ YouTube และ WhatsApp ขณะที่ TikTok กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และตอนนี้แซงหน้า X (Twitter) ไปแล้วเป็นครั้งแรก โดยผู้คน 13% ทั่วโลกใช้ TikTok เพื่อดูข่าวสารส่วนผู้ที่ใช้ X ดูข่าวมีอยู่ 10%

กลุ่มที่ใช้ TikTok มากที่สุดคือประชากรอายุ 18-24 ปี ทำให้วิดีโอกลายเป็นแหล่งข่าวออนไลน์ที่สำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มอายุน้อย และวิดีโอแบบสั้นมีความน่าสนใจมากที่สุด

“ผู้บริโภคหันมาใช้วิดีโอเพราะใช้งานง่าย และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและน่าดึงดูดมากมาย แต่ห้องข่าวแบบดั้งเดิมหลายแห่งยังคงมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมที่ใช้ข้อความและกำลังดิ้นรนเพื่อปรับการเล่าเรื่อง” นิวแมนกล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top