Sunday, 20 April 2025
สินค้าไม่ได้มาตรฐาน

‘สุริยะ’ กำชับ สมอ. ยกระดับมาตรการเข้มข้น สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภค

‘สุริยะ’ กำชับ สมอ. ยกระดับมาตรการเข้มข้นป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาในประเทศ เตรียมบูรณาการกรมศุลกากรสุ่มตรวจหน้าด่านทั่วประเทศ พร้อมบูรณาการความร่วมมือ สคบ. อย. ตรวจควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภค ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้บริโภค 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ สมอ. เพิ่มมาตรการเชิงรุกในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มีการโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์ ในช่วงที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น อย. และ สคบ. ร่วมกันทำงานเชิงรุกเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวด 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สมอ. ว่า สมอ. จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมไม่ให้สินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาในประเทศเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 

1.) บูรณาการความร่วมมือกับกรมศุลกากรในการสุ่มตรวจสินค้าที่ด่านศุลกากรทั่วประเทศ 
2.) เพิ่มความถี่ในการตรวจติดตามเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 
3.) สมอ. จะตรวจติดตาม ณ โรงงานที่ตั้งในต่างประเทศทันทีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เพราะที่ผ่านมา สมอ. ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจโรงงานในต่างประเทศได้ 

'รมว.ปุ้ย' สั่งเข้ม!! 'สมอ.' ระดม 20 หน่วยงานพระกาฬ 'ร่วมสกัด-ตรวจโรงงาน' บล็อกสินค้าด้อยคุณภาพเข้าไทย

(16 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาชนะพลาสติก และภาชนะเมลามีน ฯลฯ ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับประชาชน ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงยังได้กำชับให้เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

นอกจากนี้ ยังให้เร่งตรวจสอบผู้นำเข้าสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมของ สมอ. ทั้ง 144 รายการ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. รับข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้เชิญหน่วยตรวจ (Inspection Body - IB) ซึ่งเป็น Outsource ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ทั้ง 20 หน่วยงาน เช่น สถาบันยานยนต์, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สถาบันสิ่งทอ, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล อินสเปคชั่น กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด และบริษัท แบงค็อก เซอร์ติฟิเคชั่น จำกัด เป็นต้น 

ทั้งนี้ เพื่อมาประชุมหารือเพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานไม่ให้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้สามารถรองรับกับปริมาณงานตรวจโรงงานที่จะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนมาตรฐานบังคับที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2567 เพิ่มอีกกว่า 40 มาตรฐาน เนื่องจาก IB เหล่านี้ ได้รับการแต่งตั้งจาก สมอ. ให้เป็นหน่วยตรวจโรงงานแทน สมอ. สามารถตรวจติดตามโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้ว เพื่อควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยมาตรฐานในการตรวจโรงงานของ สมอ. และ IB ที่เป็น Outsource ใช้เกณฑ์ในการตรวจที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

‘เอกนัฏ’ เล็งใช้ AI ตรวจจับสินค้าออนไลน์ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำชัด! ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสำคัญที่สุด

เมื่อวันที่ (27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีมาตรฐานก่อนจำหน่ายไปยังผู้บริโภค โดยพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน มักนิยมสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มออนไลน์กันมากขึ้น ซึ่งบางครั้งเกิดการร้องเรียนเรื่องสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่คุ้มค่า คุ้มราคา โดยจากสถิติเรื่องร้องเรียนสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 -2567 เกิดการร้องเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 ได้รับการร้องเรียนจำนวน 209 เรื่อง และในปี 2567 ได้รับการร้องเรียนแล้ว 216 เรื่อง ซึ่งสินค้าที่มีการร้องเรียนเข้ามา ได้แก่ ปลั๊กไฟ สายไฟ พาวแบงก์ หม้อสแตนเลส ภาชนะพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐวางมาตรการในการควบคุมดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์ ป้องกันสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ 

โดย กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน่วยงานในสังกัดที่ดูแลเรื่องร้องเรียนในด้านต่างๆ ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนโรงงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดูแลเรื่องการจดแจ้ง การขออนุญาตมาตรฐานต่างๆ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดูแลผู้ประกอบการจึงต้องมีการกำกับ ดูแล เกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 282/2567 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 แต่งตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมขึ้น โดยมีนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะ ทำหน้าที่ ศึกษา และรวบรวม ข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ จัดทำระบบ ฐานข้อมูล พร้อมเสนอแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในกระทรวง ประสานงานกับหน่วยงานภายนอก เพื่อศึกษา พิจารณา กลั่นกรอง และนำเสนอแนวทางในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปอุตสาหกรรม 

“การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อให้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญร่วมกันเสนอมุมมอง และวิธีการจัดการที่เหมาะสม ควบคุมดูแลร้านค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์อย่างจริงจัง ขอย้ำว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เอาจริง ปรับจริง และจับจริงกับผู้ค้าที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านมาตรฐานตามข้อกฎหมายกำหนด เพราะความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม เป็นการดำเนินการตามแนวตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยและสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งที่ประชุมได้นำเสนอ 2 เทคโนโลยี ได้แก่ 1) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่ใช้ใน Platform e-Commerce เพื่อแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการแอบอ้างนำเครื่องหมาย มอก. มาแสดงบนผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 2) เทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนรายงานสินค้าปลอมหรือผิดกฎหมาย โดยที่ประชุมได้ยังลงความเห็นให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นอีก 2 คณะ คือ

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม โดยมีนายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการ มีหน้าที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และบูรณาการความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ

และ 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาแพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ โดยมี
นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่ ส่งเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียน สนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยี Traffy Fondue มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์แจ้งเรื่องร้องเรียนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ให้การรับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาชนเป็นเรื่องง่ายผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์ 

 “การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะดังกล่าว เรามุ่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ร่วมกันหารือการจัดทำระบบที่เป็นมาตรฐาน มีฐานข้อมูลของผู้ขายและสินค้าที่ขายมีการใช้เทคโนโลยี  AI ในการตรวจสอบตัวตน สามารถตัดระบบผู้ที่ทำผิดกฎได้ในทันที เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าบนแฟลตฟอร์มออนไลน์ มีความปลอดภัย ได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน ทั้งนี้คณะกรรมการฯ แต่ละชุดจะเร่งจัดหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” นายพงศ์พล กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top