Wednesday, 3 July 2024
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

กองสลากฯ ปลดล็อก!! ถูกรางวัลสลากดิจิทัล โอนเงินเข้าบัญชีทุกธนาคารได้ เริ่มงวด 16 ธ.ค.นี้

(24 พ.ย. 65) พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ในงวดวันที่ 16 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป ผู้ถูกรางวัลสลากดิจิทัล ที่เลือกรับเงินรางวัลผ่านแอปฯ เป๋าตัง สามารถที่จะให้โอนเงินรางวัลเข้าบัญชีใดๆ ของทุกธนาคารได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องรับเงินรางวัลผ่านธนาคารกรุงไทยเท่านั้น และในอนาคตอันใกล้ หากผู้ถูกรางวัลที่ยังไม่ได้ทำรายการเลือกรับเงินรางวัล ภายในงวดนั้นๆ หากพ้น 15 วันไปแล้ว ระบบจะโอนเงินรางวัลเข้าบัญชีธนาคารของผู้ถูกรางวัลโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อสลากดิจิทัล ให้สามารถรับเงินรางวัลเข้าบัญชีต่างๆ ได้ทุกธนาคารไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผูกไว้เพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันประชาชนสามารถซื้อสลากได้ทุกหมายเลขที่ต้องการ ในราคา 80 บาท หรือต่ำกว่า 80 บาท ผ่านแอปฯ เป๋าตัง งวดละ 16 ล้านฉบับ และจุดจำหน่ายสลาก 80 กระจายอยู่ทั่วประเทศอีก 1,047 จุด รวมมีสลากที่จำหน่ายไม่เกิน 80 บาท ตามราคาที่กำหนดอย่างน้อย 18.5 ล้านฉบับ ในขณะเดียวกัน ยังคงเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบการจำหน่ายสลากของตัวแทนจำหน่ายและผู้ซื้อจองฯ ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำสลากไปจำหน่ายต่อให้กับแพลตฟอร์มเอกชนต่างๆ หรือไม่ได้จำหน่ายด้วยตนเอง ซึ่งจะมีการตรวจสอบสลากที่ถูกรางวัลจากการที่นำสลากนั้นมาขึ้นเงินรางวัล หากพบว่าเป็นสลากของตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ซื้อจองรายใด จะใช้มาตรการเด็ดขาดในการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายสลาก รวมถึงการเบิกสลากที่ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจำหน่ายสลากของสมาคม องค์กร ให้เป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัย มิจฉาชีพอ้างเป็น จนท.กองสลากฯ หลอกติดตั้งแอปฯ หวังดูดเงิน-ลวงข้อมูล แนะ ควรตรวจสอบให้ดี

(1 เม.ย.66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยประชาชน กรณีมิจฉาชีพอาจฉวยโอกาส แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หลอกลวงประชาชนเอาทรัพย์สิน หรือเอาข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนี้

ตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ประกาศผ่าน https://www.glo.or.th ยกเลิกการให้บริการจ่ายเงินรางวัลเป็นเงินสด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ถูกรางวัลสามารถเลือกรับเงินรางวัลได้ จำนวน 3 วิธีการ ได้แก่ 1.โอนเข้าบัญชีธนาคารได้ทุกธนาคาร ยกเว้นวงเงินเกินกว่า 2,000,000 บาท ขึ้นไป โอนได้เฉพาะบัญชี ธนาคารออมสิน หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เท่านั้น 2.รับเช็คธนาคารกรุงไทย สาขาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยเช็คสั่งจ่ายชื่อผู้ขอรับเงินรางวัล 3.รับเงินรางวัลกับตัวแทน ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขานั้น

มิจฉาชีพอาจฉวยโอกาสดังกล่าวแสวงหาวิธีการมาหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือเอาข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงินของประชาชน ไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบ หรือนำไปกระทำผิดกฎหมาย โดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสร้างความน่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซต์ปลอมให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริง สร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมคัดลอกเนื้อหามาจากเพจจริง หรือส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปยังประชาชน ให้เพิ่มเพื่อนแอดไลน์ หลอกลวงให้ติดตั้งแอพพลิเคชั่นปลอมซึ่งฝังมัลแวร์และดักรับข้อมูลต่างๆ เป็นต้น

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว อาชญากรไซเบอร์จะฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงชื่อหน่วยงาน ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องที่หลอกลวงไปเรื่อยๆ ให้สอดคล้องกับกิจกรรม หรือสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ แต่ยังคงใช้แผนประทุษกรรมในรูปแบบเดิม คือ การหลอกลวงให้เหยื่อติดตั้งแอพพลิเคชั่นปลอม หลอกลวงให้กรอกข้อมูลส่วนตัว กรอกรหัสการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะฉะนั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีชื่อเว็บไซต์ที่คิดว่าจะเป็นเว็บไซต์จริง และพึงระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

​จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกมิจฉาชีพหลอกลวง ดังนี้

1.) ผู้ถูกรางวัลสามารถเลือกรับเงินรางวัลได้ตามประกาศของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวเท่านั้น หากมีการแอบอ้างวิธีอื่นสันนิษฐานว่าคือมิจฉาชีพแน่นอน
2.) การพิมพ์ชื่อหน่วยงานใดๆ เพื่อค้นหาเว็บไซต์ ไม่ได้มีความปลอดภัยเสมอไป ควรเพิ่มความระมัดระวังในการสังเกตชื่อเว็บไซต์ หรือสังเกต URL อย่างละเอียด และไม่หลงเชื่อเว็บไซต์ที่มีการยิงโฆษณาของมิจฉาชีพ
3.) เว็บไซต์ปลอมมีองค์ประกอบของเว็บไซต์น้อยกว่าเว็บไซต์จริง มิจฉาชีพหวังเพียงให้เหยื่อคลิกปุ่ม หรือ Pop-up ติดตั้งแอพพลิเคชั่นปลอมเท่านั้น
4.) เว็บไซต์ปลอมจะไม่สามารถเข้าคลิกเข้าไปสู่ฟังก์ชั่น หรือคลิกเข้าไปสู่หน้าอื่นๆ ของเว็บไซต์ได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top