Tuesday, 22 April 2025
สายสีส้ม

‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายืน ‘ยกฟ้อง’ ปม 'บีทีเอส' เรียกค่าเสียหายประมูล 'สายสีส้ม'

ด่วน!! ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน สั่งยกฟ้องคดี BTS ฟ้องเรียกค่าเสียหาย ปมเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกฯประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 

(1 มี.ค. 66) เวลา 09.30 น. ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาในคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยขอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว 

ซึ่งคดีดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฏ ข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯโครงการดังกล่าว ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการประกาศเชิญชวนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เหตุแห่งความเดือดร้อนหรือ ความเสียหายจากคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จึงหมดสิ้นไปแล้ว จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหา ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนฯที่แก้ไขเพิ่มเติม

'สถานีศิริราช' สถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทย โมเดลต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งแก่โครงการอื่นๆ ในอนาคต

(29 ก.ค. 67) เพจ 'Thailand Update' โพสต์ข้อความเผยความคืบหน้าการก่อสร้าง 'สถานีศิริราช' ว่า...

ได้เวลาสร้างแล้ว!! 'สถานีศิริราช' ที่มีทั้งอาคารรักษาพยาบาลและสถานีรถไฟฟ้าแห่งแรกของไทย โดยจะมีรถไฟฟ้า MRT สายสีส้ม (OR02) อยู่ใต้ดินที่เริ่มก่อสร้างแล้ว กับรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (RWS03) อยู่ชั้น 1 และ 2 ที่คาดว่าจะเริ่มภายในปีนี้ (ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย)

สำหรับ อาคารรักษาพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 55,057 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่โรงพยาบาล 50,741 ตารางเมตร พื้นที่รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และพื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2570

เมื่อแล้วเสร็จ จะสามารถให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การบริการ Ambulatory Unit/ One Day Surgical โดยผู้ป่วยสามารถเดินทางมารับบริการแล้วกลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องพักค้าง รวมถึงบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบายจากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและการบริการสาธารณสุขมากยิ่งขึ้นด้วย

ดังนั้น สถานีศิริราช จึงนับเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางที่สำคัญ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป ผู้เข้ารับบริการรักษา และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ภายในและโดยรอบโรงพยาบาลศิริราชอย่างยั่งยืน

บีโอไอ เคาะส่งเสริม รถไฟฟ้าสีส้ม – ดาต้า เซ็นเตอร์ ลงทุนกว่า 2 แสนล้าน ยกระดับนิเวศดิจิทัลรองรับยุค AI

(18 มี.ค. 68) บอร์ดบีโอไอ อนุมัติส่งเสริมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท 
ทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ Data Center 3 แห่งจากบริษัทไทย จีน และสิงคโปร์ เสริมแกร่งระบบนิเวศดิจิทัล รองรับยุค AI พร้อมสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการโรงพยาบาลของรัฐ ยกระดับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 
17 มีนาคม 2568 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญขนาดใหญ่ 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ได้แก่ 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 109,210 ล้านบาท และโครงการ Data Center 3 โครงการจากประเทศไทย จีน และสิงคโปร์ ได้แก่ (1) บริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ 02 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม Gulf, Singapore Telecommunications และ AIS เงินลงทุน 13,480 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี  (2) บริษัท Beijing Haoyang Cloud Data Technology จากประเทศจีน เงินลงทุน 72,670 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง (3) บริษัทในเครือ Empyrion Digital ประเทศสิงคโปร์ เงินลงทุน 4,720 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 

“Data Center ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับรองรับความต้องการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI การที่มีบริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทยก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน นอกจากจะส่งเสริมให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าถึงบริการของศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ที่มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง และมีความเสถียรในการให้บริการดิจิทัล ลดต้นทุนบริษัทในการทำศูนย์ข้อมูลของตนเอง ช่วยรักษาข้อมูลสำคัญให้ถูกเก็บและประมวลผลในประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคง ช่วยสนับสนุนการใช้แอปพลิเคชันและเทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้งจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม สาธารณูปโภค พลังงาน อุปกรณ์ไอที บริษัทก่อสร้างและวางระบบขั้นสูง System Integrator ด้านต่าง ๆ รวมถึงช่วยสร้างงานที่มีคุณค่าสูงให้กับคนไทย เช่น ผู้ดูแลระบบโครงข่าย งานด้านวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาโปรแกรม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และงานสนับสนุนด้านไอที” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2565-2567) มีโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service จำนวน 27 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท

ส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนในกิจการโรงพยาบาล
ตามที่รัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้นในรูปแบบ PPP (Public-Private Partnership) เพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถทางการรักษาพยาบาล โดยลดภาระงบประมาณภาครัฐ แต่สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนได้จำนวนมาก โดยการผสานจุดแข็งของภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ภาคเอกชนมีความคล่องตัว ในการบริหารจัดการและความพร้อมด้านการลงทุนเทคโนโลยี บอร์ดบีโอไอจึงได้เห็นชอบให้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับกิจการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ 91 เตียงขึ้นไป ในกรณีที่มีการร่วมทุนในรูปแบบ PPP กับหน่วยงานรัฐ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี (โรงพยาบาลทั่วไป จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี) 

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติหลักการในการส่งเสริม “โครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง” ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนรัฐ-เอกชนในรูปแบบ PPP ครั้งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้เป็นโครงการแรกด้วย  

สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก
เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กิจการที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น ลมหรือแสงอาทิตย์ไปแล้ว แต่ต้องการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage System: BESS) และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ของระบบ BESS เพิ่มเติม สามารถขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานทดแทนได้ 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวัสดุ ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามแดน (CBAM) ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ในกลุ่ม Earthenware และกระเบื้องเซรามิกส์ ซึ่งเป็นกิจการที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top