Tuesday, 22 April 2025
สะพานลาดกระบังถล่ม

‘ดร.เอ้’ ชี้!! ต้องเร่งหาเหตุสะพานลาดกระบังถล่มด่วน แนะ!! ชะลอโครงการไว้ ก่อนเกิดเหตุสลดอีกในอนาคต

(12 ก.ค. 66) จากรายการ Meet THE STATES TIMES ประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 เผยแพร่ทาง THE STATES TIMES ได้มีการพูดถึงประเด็นเหตุการณ์สะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม โดยเชิญ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ อดีตนายกสภาวิศวกรรม, อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มาร่วมพูดคุย มีสาระสำคัญ ดังนี้…

จากเหตุการณ์โครงการสะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม เมื่อช่วงเย็นวันจันทร์ ที่ 10 ก.ค.66 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายนั้น ทาง THE STATES TIME ได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ‘ดร.เอ้’ อดีตนายกสภาวิศวกรรม, อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ผ่านรายการ MEET THE STATES TIME ข่าวคุยเพลิน ถึงสาเหตุที่ทำให้ ดร.เอ้ ต้องโพสต์เตือนผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับความน่าห่วงของโครงการดังกล่าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ถึง 2 ครั้ง 2 ครา ระบุว่า…

“ด้วยความที่ผมเป็นวิศวกรและประสบการณ์เกี่ยวกับการวิบัติโครงสร้าง อีกทั้งยังมีฐานะเป็นนายกสภาวิศวกรรม, นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และเคยได้เข้าไปช่วยเหลือเรื่องวิบัติโครงสร้างมามากมาย รวมถึงเป็นประชาชนที่ต้องขับรถผ่านถนนเส้นทางนี้อยู่เป็นประจำนั้น ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 เป็นวันที่ผมได้มองเห็นโครงสร้างของไซด์งานนี้อยู่ในระหว่างหล่อเสาตอหม้อ ซึ่งปกติการหล่อเสาสูงๆ แบบนี้ จะต้องต่อนั่งร้านขึ้นไป แต่เมื่อผมมองไปเห็นนั่งร้านของคนงานแล้วยังคงไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็ห่วง

“เท่านั้นยังไม่พอ ขั้นตอนการหล่อเสาตอม่อที่เห็นไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น และจากประสบการณ์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะเป็นว่าคนงานก่อสร้างจะเสียชีวิตจากนั่งร้านพังระหว่างเทคอนกรีตเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นผมยังเห็นในส่วนของเครื่องจักรต่างๆ ไม่ค่อยเรียบร้อย แหงนหน้าขึ้นไปมองเห็นตัวเครนที่ล้ำเข้ามาในพื้นที่ถนนที่มีการจราจรแออัด นั่นจึงทำให้ผมตัดสินใจเขียนเตือนผ่านเฟซบุ๊กในฐานะประชาชนและวิศวกรอาวุโส  แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“จนเมื่อวันที่ 10 ก.ค.66 ช่วงเที่ยงก่อนเกิดเหตุนิดเดียว ผมยังชี้ให้เพื่อนของผมดูเลยว่า มันน่ากลัวนะ เพราะสัญชาตญาณวิศวกรบอกตนว่า ไซด์งานแบบนี้ดูไม่เรียบร้อย ไม่ปลอดภัย อันตราย พอตกตอนเย็นเกิดเหตุโครงสร้างได้พังถล่มลงมาตนรู้สึกเสียใจมาก ตนมองว่าเหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าเกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยทำโครงการแบบนี้มามากมาย ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ของวิศวกรไทยหรือผู้รับผิดชอบ มันควรมีความปลอดภัย 100% ด้วยซ้ำไป เพราะเป็นสิ่งที่เราทำกันมาอยู่ตลอด”

เมื่อถามถึงสาเหตุที่โครงสร้างสะพานถล่มครั้งนี้เกิดจากอะไร? ดร.เอ้ กล่าวว่า “ไม่สามารถตอบได้ ไม่มีใครจะรู้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด จนกว่าจะได้พิสูจน์ตามหลักวิศวกรรม แต่วิศวกรที่มีประสบการณ์จะต้องตั้งคำถามเพื่อไปแสวงหาคำตอบข้อเท็จจริง ดังนั้นตนจึงขอตั้งคำถาม 3 ข้อ เพื่อที่จะช่วยคนรับผิดชอบ…

1. คานร่วงหล่นมาได้อย่างไร เป็นเพราะโครงสร้างตัวเคนที่หิ้วคานไหม ? อุปกรณ์พร้อมหรือไม่ หรือกระบวนการทำงานถูกต้องหรือไม่
2. เหล็กเสริมถูกต้องได้มาตรฐานหรือไม่ คอนกรีตรับกำลังได้หรือไม่ เสาตอหมอถึงหักขาดสะบั้น
3. เสาเข็มสมบูรณ์หรือไม่

“ดังนั้นการวิเคราะห์ ต้องจากล่างขึ้นบนด้วย ไม่ใช่แค่บนลงล่างเท่านั้น ต้องไปหาคำตอบจาก 3 ข้อนี้ ถึงจะได้คำตอบที่แท้จริงแล้วว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากสิ่งใดกันแน่”

เมื่อถามถึงหลักการทางวิศวกรรม ว่าจะต้องทำอย่างไรกับซากและโครงการที่ยังรันอยู่? ดร.เอ้ ตอบว่า “หลังจากนี้เราต้องไปสำรวจตอหม้อที่เหลืออยู่ทั้งหมดว่ามีปัญหาหรือไม่ รวมถึงเสาเข็มใต้ตอหม้อว่ามีปัญหาแค่ไหน แต่ถ้าเกิดว่าตอหม้อที่เหลือมีปัญหาจริง ก็ยังไม่ต้องเป็นกังวลไปครับ เพราะโดยทางเทคนิคสามารถเสริมเสาเข็มใต้ตอหม้อได้ แต่ต้องรู้ก่อนนะ ไม่ใช่ว่าก่อสร้างต่อ เพราะนั่นจะทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่าสะพานแห่งนี้มีจุดอ่อนตรงจุดไหน แล้วถ้าเกิดสะพานได้รับแรงสั่นสะเทือนมากๆ เช่น จากรถสิบล้อ หรือเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในกรุงเทพฯ มั่นใจได้ว่าคงมีผลกระทบตามมาอีกแน่นอน ซึ่งผมก็ไม่อยากจะจินตนาการเลยถ้าถึงวันนั้นจะเกิดผลกระทบเสียหายอีกมากน้อยแค่ไหน 

“ดังนั้นสิ่งแรกที่อยากแนะนำ คือ ต้องยุติการก่อสร้างชั่วคราว แล้วไปดูองค์ประกอบต่างๆ ของโครงการอย่างละเอียด โดยทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดู ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”

ดร.เอ้ กล่าวเสริมอีกด้วยว่า “สำหรับประเทศไทยผู้ที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ ก็คือ เจ้าของโครงการที่ต้องเข้ามาดูแล แต่ถ้าในต่างประเทศจะมีหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแลและหาสาเหตุของปัญหานี้ และนี่คือ สิ่งที่ประเทศไทยขาดหรือไม่มี

“ฉะนั้นนั้นถึงเวลาหรือยังที่เราจะมี ‘หน่วยงานกลาง’ ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาดูแล ซึ่งผมอยากจะขอฝากไปยังรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ขอให้เข้ามาผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม เราจึงควรทอดบทเรียนอย่างละเอียดจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ตนอยากจะเห็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และพร้อมที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ถ้าเกิดรัฐบาลชุดใหม่ต้องการจะทำในเรื่องนี้”

สุดท้ายในฐานะอดีตนายกสภาวิศวกรรม, นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ขอฝากถึงเจ้าของโครงการต่าง ๆ ดังนี้…

1. ต้องคิดถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้งสำคัญที่สุด
2. ยึดมั่นมาตรฐานความปลอดภัย
3. ต้องจริงใจ จริงจัง ในการถอดบทเรียน

‘เกรียงยศ’ จี้!! กทม. ให้คำตอบ สะพานลาดกระบังถล่ม เร่ง!! เดินหน้าโครงการ คืนวิถีชีวิตให้ประชาชน

(21 ธ.ค. 67) นายเกรียงยศ สุดลาภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 เกิดเหตุการณ์สะพานอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งบาดเจ็บและขาดรายได้ 356 ราย 

จนถึงขณะนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นนานกว่า 1 ปีแล้วแต่กรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสรุปผลถึงสาเหตุของเหตุการณ์อันน่าสลดดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แม้หลังเหตุการณ์จะมีการให้คำสัญญาว่าจะได้รับคำตอบถึงสาเหตุภายใน 7 วัน

ซึ่งประชาชนบริเวณนั้นได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และได้มีการร้องเรียนมายังตน และจากการลงพื้นที่พร้อมกับสมาคมวิศวกร พบว่าสาเหตุสำคัญเกิดจากรอยต่อระหว่างแท่งคอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน จึงมีการหักโค่นและถล่มลงมา นอกจากนี้แม้โครงการดังกล่าวจะมีมูลค่าโครงการมหาศาลแต่ไม่มีการว่าจ้างบริษัทควบคุมงาน 

นอกจากนี้แล้วโครงการดังกล่าวผ่านไปนานกว่า 2 ปีแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน ตอม่อของโครงการที่จะมีการตั้งอยู่ในพื้นที่กรมชลประทานยังไม่มีการขออนุญาตจากกรมชลประทาน และยังไม่มีการลงโทษหรือการปรับผู้รับเหมาของโครงการดังกล่าว แม้ว่าจะมีความล่าช้ามาไม่น้อยกว่า 8 เดือนแล้ว

ดังนั้นจึงขอฝากไปยังกรุงเทพมหานครให้มีการเร่งรัดการดำเนินการโครงการดังกล่าว และชี้แจงถึงความคืบหน้าในโครงการดังกล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top