Tuesday, 13 May 2025
สยามประเทศ

คุ้มครองผู้ใฝ่ดี ‘พระสยามเทวาธิราช’ บุคลาธิษฐาน เทพยดาผู้คุ้มครองสยามประเทศ

ประเทศไทยนั้นมีความหมิ่นเหม่ในการเสียบ้าน เสียเมืองตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาจจะเบาบางการรุกรานจากด้านพม่าแต่กับประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกที่ใช้การค้าขายมาเป็นปัจจัย บ้านเมืองใดไม่รู้ทันเหตุการณ์ภายนอกประเทศว่าทางตะวันตกมีอำนาจจากเรือปืน ใครไม่รู้จักโอนอ่อนผ่อนปรนก็ล้วนแล้วแต่ตกเป็นเมืองขึ้น ทั้งฝั่งซ้ายและขวาของเมืองสยามล้วนไม่มีรอดพ้น (อันนี้ไม่ขอพาดพิงเรื่องของผู้รู้ที่ออกมาแสดงทัศนคติเรื่องเราไม่เก่งภาษาอังกฤษเพราะเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้น น่าตีปากจริงๆ) 

เรามีดีอันใด?  มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งไหน? หรือเราจะมีเทพยดาคุ้มครองประเทศให้ปลอดภัย 

วันนี้ขอเล่าเรื่องเทวดาผู้คุ้มครองประเทศไทยบ้างนะ…

ใช่ครับ!! ผมกำลังจะเล่าถึง ‘พระสยามเทวาธิราช’ แต่เรื่องนี้แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละบุคคลนะครับ ผมไม่ก้าวล่วง 

โดยในช่วงสิงหาคมของปีก่อนมี ‘เพจราษฎรสเปช’ (หรือ ‘เปรต’ ดี) เล่าประวัติศาสตร์ได้ น่าปวดหัวมาก โยง ‘พระสยามเทวธิราช’ เป็น ‘ผี’ เพียงเพราะไปเห็นภาพ พระสยามเทวาธิราช ที่มีรูปร่างคล้ายรัชกาลที่ 4 (อันนั้นเขาเรียกพระป้าย) เลยทึกทักไปเองว่า ‘เป็นลัทธินับถือผีสาง’ โดยส่วนตัว (ซึ่งแล้วแต่วิจารณญาณนะครับ) มันก็ถูกเรื่อง ‘ผี’ แต่มัน ‘ไม่ใช่ลัทธิ’ หากแต่มันคือ ‘ความเชื่อ’ ที่แตกต่างไปจากศาสนาหลัก มันเป็นเฉพาะของภูมิภาค (ที่ไอ้บางพวกยังทะลึ่งไปกราบฝาส้วม กินขี้ เชื่อแต่เรื่องไม่จริงได้เลย แอบแรงเล็กน้อย) ซึ่งนับเป็นเรื่องตลกของคนที่ไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ อะไรเลย 

เรื่องนี้เอง ผมเคยนำมาเล่ามาแล้วครั้งหนึ่งใน Meet THE STATES TIMES โดยไปโยงกับความเรื่องการไหว้ผีบ้าน นับถือผีเมือง (ผีเสื้อเมือง ทรงเมือง หลักเมือง ก็ล้วนแล้วอยู่ในหลักนี้) แต่กระนั้นการไหว้ดังนี้มันก็ไม่ใช่จะเพิ่งเกิดมา แต่มันเป็นความเชื่อที่มีอยู่อย่างยาวนานคู่ดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งคติความเชื่อเรื่องเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมืองนั้นเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และสร้างความร่มเย็นให้เกิดแก่บ้านเมืองนั้นๆ มานับร้อย นับพันปี 

อย่างภาคอีสานนั้นจะมีความเชื่อเรื่อง ‘มเหสักข์’ ซึ่งถือว่าเป็น ‘ผีผู้ทรงศักดิ์’ หรือ ‘เทวดาผู้คุ้มครองบ้านเมือง’ ให้อยู่อย่างร่มเย็น เป็นสุข โดยจังหวัดอย่าง ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด ฯลฯ ก็มีศาลมเหสักข์ ภาคเหนือเขาก็มี ‘ผีเสื้อเมือง’ ในหลายพื้นที่ ในกรุงเทพฯ ก็มี ‘พระเสื้อเมือง’ ในศาลหลักเมืองกรุงเทพ ฯ  โดย ‘มเหสักข์’ ก็คือเทพยดาผู้ให้ความร่มเย็นแก่จังหวัดนั้นๆ ส่วน ‘พระสยามเทวาธิราช’ นั้นก็มีคติที่เหมือนกัน เพียงแต่ท่านเป็นเทวดาที่ยกชั้นสูงขึ้นมาจากเทวดาผู้คุ้มครองเมือง เป็นเทวดาที่รวมเมืองต่างๆ ไว้ด้วยกัน ปกครองเมืองต่างๆ ไว้ด้วยบารมี โดยอาจจะเรียกได้ว่า เป็น ‘มเหสักข์หรือบุคลาธิษฐานแห่งสยามประเทศ’ เป็น ‘เทวดาผู้คุ้มครองประเทศ’ 

‘พระสยามเทวาธิราช’ เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว กว้าง 2 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการศึกษาประวัติศาสตร์ มีพระราชดำริว่า ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงจะมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่ สมควรที่จะทำรูปเทพยดาองค์นั้นขึ้นสักการบูชา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ปั้นหล่อเทวรูปขึ้น ถวายพระนามว่า ‘พระสยามเทวาธิราช”ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรมในหมู่พระที่นั่งพุทธมณเฑียร ในพระอภิเนาว์นิเวศน์’ 

ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อหมู่พระที่นั่งพุทธมหามณเฑียรรวมทั้งพระที่นั่งทรงธรรม โปรดให้อัญเชิญ องค์พระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า ‘ที่สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช’ (暹國顯靈神位敬奉) อยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง จวบจนทุกวันนี้

มีความเชื่อกันว่า ‘พระสยามเทวาธิราช’ ทรงเป็นประมุขของเทพารักษ์ที่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง มีเทพบริวารสำคัญ ได้แก่ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระหลักเมือง เป็นต้น ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเคารพบูชาพระสยามเทวาธิราชเป็นอย่างสูง ทรงถวายเครื่องสักการะเป็นประจำทุกวัน และทรงถวายเครื่องสังเวยทุกวันอังคารและวันเสาร์ก่อนเวลาเพล กับโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสังเวยเทวดาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 อันตรงกับวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติแบบโบราณด้วย ทั้งเป็นที่ร่ำลือกันว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก

พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่ ‘พระสยามเทวาธิราช’ ตามประเพณีกำหนดไว้ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติแบบโบราณ ส่วนเครื่องสังเวยที่ใช้บูชาพระสยามเทวาธิราชตามประเพณีโบราณที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ เมี่ยงส้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ส้มเขียวหวาน องุ่น มะตูมเชื่อม มะพร้าวอ่อน กล้วย หอมจันทร์ ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ผลทับทิม และเทียนเงิน เทียนทอง ความสอดคล้องทางความเชื่อและพิธีกรรมของการบูชาพระสยามเทวาธิราช กับการ ‘ไหว้-พลี’ ให้กับ ‘พระขพุงผี’ ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า การบูชา ‘พระสยามเทวาธิราช’ เข้าลักษณะเป็น ‘พิธีผี’ ประการหนึ่ง…

“...การเซ่นสังเวยพระสยามเทวาธิราช การสังเวยเทพารักษ์ต่างๆ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง เหล่านี้จะเรียกว่าเกี่ยวกับศาสนาใดก็ไม่ได้ เพราะเทวดาเหล่านี้ก็ไม่มีในศาสนาพราหมณ์ ในศาสนาพุทธก็ไม่มี เห็นจะเป็นความเชื่อของคนไทยโดยเฉพาะที่นับถือผีมาตั้งแต่โบราณ...”

ความเชื่อเรื่องผีบ้านผีเมืองเมืองนี้ นับเป็นสิ่งที่แพร่หลายไปทั่วในกลุ่มวัฒนธรรมไทยและใกล้เคียง ซึ่งเป็นการบูชาผีบรรพบุรุษ แต่มิใช่บรรพบุรุษของชาวบ้านทั่วไป หากเป็นผีเจ้าเมืองที่เป็นผู้สร้างเมืองและเคยปกครองเมืองมาก่อน และเจ้าเมืองรุ่นหลังก็อัญเชิญให้ผีเจ้าเมืองผู้ผูกพันกับชุมชนให้ช่วยปกปักคุ้มครองรักษาบ้านเมือง ฉะนั้นเรื่องนี้จบไป แต่มันก็มีเรื่องอื่นที่วุ่นวายกับ พระสยามฯ ท่านไปอีก 

การไปวุ่นวายกับ ‘พระสยามเทวาธิราช’ ท่านนั้นก็มีในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็นประเทศไทย (จอมพล ป. ผู้พิบูลสงคราม นั่นเอง)  และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ก็ ‘ปรีดี พนมยงค์’ นั่นแหละ) ได้หารือกับทางสำนักพระราชวังเรื่องการเปลี่ยนนาม ‘พระสยามเทวาธิราช’ เป็น ‘พระไทยเทวาธิราช’ ในครั้งนั้น โดยไปขอความเห็นจากทางกรมศิลปากร ซึ่งกรมศิลปากรมีความเห็นว่า…

“ให้คงชื่อเดิมไว้ แต่ยกเลิกการสังเวยประจำปีหรืองานพิธีอื่นๆ เกี่ยวกับพระสยามเทวาธิราช แต่ถ้าไม่สามารถยกเลิกพิธีการที่เกี่ยวข้อง กรมศิลปากรก็มีข้อเสนอให้ 2 แนวทางคือ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘พระไทยเทวาธิราช’ หรือสร้าง พระไทยเทวาธิราชขึ้นมาอีกองค์ ในที่สุดคณะรัฐมนตรีลงความเห็นว่า ให้คงไว้ตามเดิมเพราะ ‘พระสยามเทวาธิราช’ ก็ไม่ได้มีการทำพิธีเป็นทางการแต่อย่างใด” (ผมขอกราบกรมศิลปากรและคณะรัฐมนตรี  1 คำรบ !!!) 

แต่กระนั้นพิธีการบวงสรวง ‘พระสยามเทวาธิราช’ ก็ไม่ได้มีอย่างสม่ำเสมอดังเช่น ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่กระมังทำให้ประเทศชาติเต็มไปด้วยความวุ่นวาย คณะราษฎรแก่งแย่งอำนาจกัน มีการใช้ประเทศเป็นเครื่องงัดข้อกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเหตุการณ์ใหญ่อีกหลายต่อหลายครั้งกระทบไปถึงความมั่นคงของชาติและราชบัลลังก์ 

ปรินเซสรอยัล พระเจ้าลูกเธอในล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสิริโฉมงดงามราวกับเทวดา

‘ปรินเซสรอยัล’ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร 
พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสิริโฉมงดงามราวกับเทวดา ผู้เป็นดัง ‘ศรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’

หลังจากเล่าเรื่องหนักๆ มาหลายตอนแล้ว ในตอนนี้ผมจะขอย้ายฝั่งมาเล่าเรื่องของพระเจ้าลูกเธอในล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชธิดาพระองค์นี้ของพระองค์ได้รับการยกย่องเรื่องของความงาม พระกริยาอันเรียบร้อย ทรงเป็นราชเลขานุการิณีในพระองค์พระพุทธเจ้าหลวงและได้มีโอกาสตามเสด็จประพาสต้นหลายครั้ง ผมกำลังจะเล่าเรื่องของ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร’ นั่นเอง 

สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 19 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อเวลา 09.21 น. ของวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2420 ถือเป็นทูลกระหม่อมหญิงพระองค์แรกในเศวตฉัตร (เมื่อทรงครองราชย์แล้ว) ชาววังจึงเรียกว่า ‘ทูลกระหม่อมหญิง’ โดยไม่ต้องเอ่ยพระนามเนื่องจากทรงอาวุโสสูงสุดพระองค์แรก

เล่ากันว่าก่อนที่พระองค์จะประสูตินั้น มีเจ้านายสตรีคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ยังเป็นทาริกาอยู่ เล่าขานนิยมชมชื่นกันในหมู่ชาววังและเจ้านายว่ามีพระรูปโฉมสวยงามนัก ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชธิดาพระองค์นี้ ความที่ทูลกระหม่อมหญิงมีพระรูปโฉมงดงาม ถึงกับพระบิดารับสั่งกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ว่า “ฉันไม่แพ้เธอแล้ว กรมพิชิตฯ” หมายความว่าทรงมี ‘ลูกสาว’ สวยไม่แพ้พระธิดากรมหลวงพิชิตฯ แต่ที่สำคัญคือพระองค์มีพระพักตร์และพระรูปโฉมคล้ายคลึงกับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (อันนี้ผมจะเล่ายืนยันตอนท้าย) 

แต่ความ ‘งามเหมือนเทวดา' ที่แม้จะยังความปีติโสมนัสให้สมเด็จพระบรมชนกนาถและพระชนนีเป็นอย่างยิ่งนั้น ในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ทรงวิตกกังวลอย่างยิ่งเช่นกัน เพราะความงามบริสุทธิ์ พระฉวีผุดผ่องไม่มีไฝฝ้าราคี ในสมัยโบราณมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่เกิดมางดงามมากยากจะเลี้ยงให้รอดชีวิต จนเวลาผ่านมาจนพระชนมายุขวบเศษ ก็มีเหตุการณ์ที่ทำทั้ง 2 พระองค์คลายพระปริวิตก กล่าวคือ ในขณะที่สมเด็จพระบรมชนกนาถกำลังอุ้มส่งให้พระชนนีนั้น ได้ทรงดิ้นไปมาจนพระขนง (คิ้ว) ถูกชามแก้วบนโต๊ะเสวยถึงกับเป็นแผลพระโลหิตตก กันแสงลั่นพระตำหนัก พระบรมวงศ์ฝ่ายในจึงปลอบว่า “ความวิตกกังวลว่าจะมีพระชนมายุสั้นนั้น เป็นอันผ่านไปแล้วเพราะทรงมีบาดแผลแล้ว” (อันนี้เป็นความเชื่อโบราณนะครับ)  

เมื่อพระชนม์ได้ 11 พรรษา ได้รับพระราชพิธีโสกันต์เต็มยศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีสวด 3 วัน สมโภช 3 คืน เสร็จพระราชพิธีแล้วตอนฟังสวดทรงเครื่องขาวพระเกี้ยวยอด สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงรับและส่งพระกรทุกคราว ระหว่างสมโภชทรงแต่งพระองค์สีต่างกันทั้ง 3 วัน เมื่อทรงเครื่องสวมชฏา รัชกาลที่ 5 ถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “ลูกพ่องามเหมือนเทวดา” 

ตามโบราณราชประเพณี พระขัตติยราชนารีต้อง ‘งด’ เสด็จฯ ออกข้างนอกเมื่อทรงโสกันต์แล้ว ต้องเก็บตัวอยู่ฝ่ายในและต้องทรงสะพัก (ห่มผ้า) แต่ทูลกระหม่อมหญิงทรงกันแสง เพราะปรารถนาจะรับใช้สมเด็จพระบรมชนกนาถทางฝ่ายหน้าอีก ถึงกับไปกราบบังคมทูลพระกรุณา ‘รับสั่งให้เป็นเด็กต่อ’ พระองค์โปรดไปตามนั้น แต่ยอมเพียง ‘เมื่ออายุครบ 18 เมื่อใดพ่อจะไม่ยอมลูกหญิงอีก’ ทูลกระหม่อมหญิงจึงได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดมาจนครบเวลา

หลังจากนั้นเป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร ทรงศึกษาและปฏิบัติตนเป็นเจ้านายฝ่ายในตามอย่างโบราณราชประเพณีอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษจาก ‘ครูมีทินและครูทิม’ จนแตกฉาน พระองค์มีพระปรีชาสามารถด้านการถักนิตติง (Knitting) และแท็ตติง (Tatting) ระดับรางวัลงานประกวดเลยทีเดียว พระองค์เป็นผู้ประดิษฐ์พวงมาลัยที่ผูกห้อยจากริบบิ้นเป็นพระองค์แรก พระองค์โปรดการถ่ายภาพ สามารถล้างและอัดภาพได้ด้วยพระองค์เอง โดยภาพถ่ายของพระองค์ก็ได้รับรางวัลจากการประกวดเช่นเดียวกัน (เอาสิ !!!! ) งานพระนิพนธ์ พระองค์มีพระนิพนธ์จำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ "ฉันท์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์" ในรูปแบบอินทรวิเชียรฉันท์ 11 คือเรียกได้ว่า ทรงมีความสามารถครบจบในพระองค์

กลับมาที่ความงามและพระจริยาวัตรของพระองค์ที่ชาววังเล่าต่อๆ กันมานั้น ผมจะยกมาให้ได้อ่านกันสักหลายๆ ตัวอย่างดังนี้…

หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล บันทึกไว้เมื่อครั้งเกษากันต์ว่า “ข้าพเจ้าพอใจจะอยู่กับ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร เมื่ออยู่ในวังเคยทรงเล่าประทานว่า ข้าพเจ้าไปเดินตามทูลกระหม่อมหญิงติดอกต้องใจที่จะอยู่กับท่าน ไปงานในวังครั้งใดก็มุ่งที่จะไปเฝ้าทูลกระหม่อมนี้อยู่เสมอ”

หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล บันทึกไว้ว่า “ในชั่วชีวิต 5 ขวบของข้าพเจ้า ยังไม่เคยเห็นใครที่งามและน่ารักเหมือนพระองค์ท่านเลย”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ บันทึกไว้ใน ‘เกิดวังปารุสก์’ ว่า “ข้าพเจ้าจำได้ว่าท่านงามมาก แต่ค่อนข้างจะน่ากลัว ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าไปเรียกท่านผิดว่าทูลหม่อมป้าหญิง เลยถูกท่านเอ็ดเอาว่า อะไรทูลหม่อมป้าชายมีที่ไหน”

หม่อมราชวงศ์สุดใจ บรรยงกะเสนา ผู้ที่ได้มาพึ่งพระบารมีทูลกระหม่อมหญิงมาตั้งแต่อายุ 11 ปี จนถึงสิ้นพระชนม์ ได้เขียนเล่าถึงทูลกระหม่อมหญิงว่า “พระรูปพระโฉมงดงามยิ่ง พระมรรยาท พระอิริยาบถ ก็ได้ยินแต่คนสรรเสริญ และยอพระเกียรติ ว่าด้วยพระกุศลที่ได้ทรงทำไว้แต่หนหลังบันดาลให้งามพร้อมทั้งพระรูปโฉม พระนิสัย และน้ำพระทัย เป็นยอดขัตติยนารี”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ยังทรงชมว่า “พี่หญิงช่างงามจริง แม้ท่าบ้วนน้ำหมากก็ไม่เหมือนใคร”

งามขนาดที่ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร” ซึ่งพระชันษาเยาว์กว่าเพียงไม่กี่เดือนทรงมีพระหฤทัยผูกพัน เหตุที่มีพระทัยสนิทเสน่หา สืบเนื่องมาจากความใกล้ชิดเมื่อครั้งทรงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระราชชนกด้วยกัน เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 โดยทรงแสดงความในพระทัยออกมาเป็นสักวา ที่หน้าพระที่นั่งคราวหนึ่ง เชื่อว่าเป็น พ.ศ. 2437 ซึ่งเจ้านายและชาววังแอบจำต่อกันมา ความว่า…

ได้ยลพักตร์ลักขณาสุดาพี่        จะหาไหนไม่มีเสมอสอง
เสงี่ยมงามทรามสงวนนวลละออง        ไฉนน้องไร้คู่อยู่เอกา
ถ้าอยู่ได้ก็จะอยู่เป็นคู่ชื่น            สำราญรื่นร่วมจิตขนิษฐา
จะบนบวงสรวงเทพเทวา            ขอให้สมปรารถนาครานี้เอย

๑๐ พระแก้วแห่งสยามประเทศ บารมีคู่บ้าน สิริมงคลคู่เมือง

เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ ผมเลยจะขอเรียบเรียงเรื่องราวดี ๆ ในแต่ละบทความให้ครบ ๑๐ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติในหลวงของเรา โดยในครั้งนี้จะเริ่มต้นด้วยพระแก้วคู่บ้านคู่เมืองแห่งสยามประเทศ ๑๐ องค์ 

จากพระแก้วเมืองอุบลราชธานี มาถึงกรุงเทพมหานครที่เราทราบกันดีว่าพระพุทธรูปองค์สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ‘พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร’ หรือ ‘พระแก้วมรกต’ ซึ่งถ้าเราเจาะลึกลงไปเพิ่มเติม โดยเฉพาะชื่อเต็มของกรุงเทพฯ คือ ‘กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์’ 

คำว่า ‘อมรรัตนโกสินทร์’ หมายถึง เมืองที่ประดิษฐาน ‘พระแก้วมรกต’ และอีก ๑ คำคือ คำว่า ‘ภพนพรัตน์’ อันหมายถึง พื้นดินที่ฝังอัญมณี ทั้งเก้าเอาไว้ ‘นพรัตน์’ หรือ อัญมณีทั้งเก้า ประกอบไปด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน นิล มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

แต่ครั้งนี้ผมคงเล่าได้ไม่ครบแก้วทั้ง ๙ ประการนะครับ แต่จะขอยกเอาพระแก้วสำคัญมาให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักเพิ่มเติมมากกว่า ๙ คือจะเล่าถึง ๑๐ องค์ โดยหวังว่าท่านผู้อ่านคงจะมีโอกาสได้ไปสักการะองค์พระท่าน เพื่อเป็นสิริมงคลของแต่ละท่านนะครับ โดยผมขอเริ่มจากองค์พระที่มีพระวรกายเป็นสีเขียวก่อนนะครับ 

พระแก้วดอนเต้า

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วดอนเต้า’ หรือ ‘พระเจ้าแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ กุฏิพระแก้ว วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบ สลักจากหินหยกสีเขียวซึ่งเชื่อว่าเป็นหินหยกชนิดเดียวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ตามศิลปะแบบเชียงแสนตอนปลาย ไม่มีพระเกตุมาลาเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป โดยที่บริเวณฐานพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้าจะทำด้วยทองคำหนัก ๑๙ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง มีชฎาทองคำเป็นเครื่องสวมเศียร และมีเครื่องทรง ทำเป็นสร้อยสังวาล ซึ่งเป็นเนื้อทองคำรวมน้ำหนักถึง ๗ บาท ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระแก้วดอนเต้านี้สร้างขึ้นจากแก้วของพญานาคแห่งแม่น้ำวังกะนะทีซึ่งนางสุชาดามาถวายพระมหาเถระแห่งวัดดอนเต้า สลักด้วยฝีมือพระอินทร์จำแลง 

พระนาคสวาดิเรือนแก้ว

องค์ที่ ๒ ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สลักจากหยกสีเขียว ศิลปะราวสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ โดยพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้นำพระพุทธรูปศิลาเขียวองค์นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งคำว่า ‘นาคสวาดิ หรือ นาคสวาท’ มาจากสีเขียวขององค์พระ ด้วยความเชื่อที่ว่าสีเขียวนั้นเกิดจากเลือดของนาคเมื่อครั้งถูกครุฑจับฉีกเนื้อ นาคกระอักเลือดออกมาเป็นหินสีเขียว เรียกว่า ‘นาคสวาท’ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นของวิเศษ 

รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริว่าการที่ทรงได้ พระแก้วนาคสวาดิองค์นี้ในปีที่ ๓ ที่ทรงครองราชย์ นับเป็นบารมีเหมือนเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมชนกนาถรัชกาลที่ ๒ ทรงได้พระแก้วผลึกในปีที่ ๓ ของรัชกาลเช่นกัน ภายหลังพระองค์ทรงสร้างเรือนแก้วทองคำลงยาราชาวดีถวายพระพุทธรูปศิลาเขียว และทรงถวายพระนามว่า ‘พระนาคสวาดิเรือนแก้ว’ เป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร

องค์ที่ ๓ ‘พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร’ หรือเรียกกันอย่างสามัญว่า ‘พระแก้วมรกตน้อย’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานไม้จำหลัก ปิดทอง บัลลังก์ประดับพระปรมาภิไธย ‘วปร’ ใต้ฐานพระจารึกคำว่า ‘FABERGE 1914’ โดยพระแก้วองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระดำรัสสั่งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ขณะทรงเสด็จฯ เยือนรัสเซีย ให้ทรงหาซื้อแก้วมรกตก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่จะพึงหาได้ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หาช่างฝีมือทำหุ่นพระพุทธรูปขึ้นตามแบบที่พระองค์ได้ทรงมอบให้  

ซึ่งผู้ที่รับแกะสลักพระพุทธรูปสำคัญนี้คือช่างจาก ‘ห้างฟาแบร์เช่’ ซึ่งเป็นห้างเครื่องทองและอัญมณีประจำราชสำนักรัสเซีย ดำเนินกิจการโดย นายปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช่  (FABERGE) ซึ่งเป็นชื่อที่สลักอยู่ใต้ฐานองค์พระนั่นเอง 

พระแก้วมรกตน้อยมาถึงสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ในหลวงรัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองและทำพิธีพุทธาภิเษกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนสักการบูชาเป็นเวลา ๓ วัน แล้วจึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกตน้อยเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 

พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล

องค์ที่ ๔ ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ หรือชื่อสามัญคือ ‘พระหยกเชียงราย’ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยก มีเครื่องทรงแบบเชียงแสนทำจากอัญมณีและทองคำ ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย พระแก้วองค์นี้สร้างขึ้นในวโรกาสที่ ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา นำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ อดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย จัดสร้างพระแก้วองค์นี้ขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 

โดยหินหยกที่นำมาแกะสลักนั้น เป็นหินหยกจากประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู นครปักกิ่ง ประเทศจีน อัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน 

ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานนามพระพุทธรูปองคนี้ว่า ‘พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล’ มีความหมายว่า ‘พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา’ และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า ‘พระหยกเชียงราย’ ต่อมาคณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้อัญเชิญองค์พระไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ในปีเดียวกัน

จะเห็นว่าเมืองไทยของเรามีพระแก้วที่พระวรกายเป็นสีเขียวหลายองค์ ในลำดับต่อไปก็มาถึงพระแก้วที่มีพระวรกายเป็นเฉดขาวทั้งที่ใสดุจแก้ว องค์พระแก้วที่มีไหมทองเป็นลายในองค์พระและองค์ที่ขาวเย็นเพราะสลักจากศิลาขาว ดังนี้ครับ 

พระเสตังคมณี

องค์ที่ ๕ ‘พระเสตังคมณี’ หรือ ‘พระแก้วขาว’ ประดิษฐานภายในพระวิหาร วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ สลักจากแก้วสีขาวใส ปางมารวิชัย ศิลปะสกุลช่างละโว้ ‘เสตังคมณี’ มาจากคำว่า ‘เสต’ แปลว่า ขาว กับคำว่า ‘มณี’ แปลว่า แก้ว คือ ‘พระแก้วขาว’ อย่างตรงตัว องค์พระใสสะอาด พระเศียรหุ้มด้วยทองคำ ประทับนั่งบนแท่นไม้จันทน์หุ้มแผ่นทองคำ ใต้ฐานจารึกว่า “เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ พระเจ้าอินทวิไชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระราชบิดาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พร้อมด้วยเจ้าแม่ทิพยเกสรและราชบุตร ราชธิดาสร้างถวายแด่พระเสตังคมณี” 

ตามตำนานเล่าว่า องค์พระแก้วขาวนั้นเมื่อแรกสร้างนั้น พระอรหันตเจ้าไปขอ ‘แก้วบุษยรัตน์’ มาจาก ‘จันเทวบุตร’ หาช่างสร้างพระไม่ได้ จนพระอินทร์ต้องมีโองการสั่งพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสร้างจนเป็นองค์พระอันงดงามและประดิษฐานที่ละโว้เป็นแห่งแรก 

ต่อมาพระนางจามเทวีซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงละโว้จะมาครองหริภุญไชย จึงได้ทูลฯ ขอพระแก้วขาวมาประดิษฐานที่เมืองหริภุญไชยเพื่อเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์และสถิตอยู่ ณ หริภุญไชยเป็นเวลาหลายร้อยปี ก่อนที่พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ยกทัพมาเอาชนะหริภุญไชย โดยมีพระราชศรัทธาพระแก้วขาวเป็นอย่างมาก จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานไว้ ณ ที่ประทับส่วนพระองค์ 

ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีในปี พ.ศ.๑๘๓๙ จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐานในพระราชฐานของพระองค์กระทั่งพระองค์สวรรคตพระแก้วขาวก็ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ ณ วัดเชียงมั่นในเมืองเชียงใหม่ตลอดมากว่า ๗๐๐ ปี 

พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย

องค์ที่ ๖ ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’ หรือ ‘พระแก้วผลึก’ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ปางสมาธิ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง มีเพียงเรื่องเล่าว่า มีผู้นำไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาวัดส้มป่อย นครจำปาศักดิ์ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง 

ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลายมีพราน ๒ คน ไปพบ แล้วเชื่อว่าเป็นเทวรูปที่ให้คุณ จึงได้อัญเชิญองค์พระมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน แต่ระหว่างที่อัญเชิญองค์พระมานั้นพระกรรณเบื้องขวาไปกระทบคันหน้าไม้บิ่นไปเล็กน้อย ในสมัย ‘เจ้าไชยกุมาร’ ครองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองประเทศราชของไทย ได้ทราบข่าวเรื่อง ๒ พรานมีพระพุทธรูปแก้วผลึกใส พุทธลักษณะงดงาม จึงได้นำมารักษาไว้ที่นครจำปาศักดิ์ จนมาถึงสมัย ‘เจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา’ เจ้านครจำปาศักดิ์องค์ใหม่ ได้ย้ายนครจำปาศักดิ์มาตั้งทางอีกฝั่งของแม่น้ำโขง 

จนในปี ๒๓๕๔ พระองค์ถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงไปปลงพระศพ ข้าหลวงได้ไปเห็นองค์พระแก้วผลึก ว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวงดงาม ไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อน จึงได้มีใบบอกนำความกราบบังคมทูลฯ ถวายพระแก้วผลึก แล้วจึงอัญเชิญมายังกรุงเทพฯ โดยมีงานสมโภชมาตลอดทาง เมื่อถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมช่างจัดหาเนื้อแก้วผลึกเหมือนองค์พระ เจียระไนแก้วติดปลายพระกรรณขวาที่แตกชำรุดให้สมบูรณ์ และขัดชำระองค์พระให้เป็นเงางามเสมอกัน รับสั่งให้ทำเครื่องทรงอย่างงดงาม แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราลัยพิมาน ทรงสักการะบูชาวันละสองเวลา เช้า-ค่ำ ไม่มีขาด

ว่ากันว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ หลังจากเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเบญจาตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานแก้วมรกตเป็นการถาวรแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อมีงานพระราชพิธีใหญ่ต่าง ๆ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วผลึกตั้งเป็นประธานในพิธีแทนมาจนตลอดรัชสมัยของพระองค์ 

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำเครื่องประดับองค์พระและฐานพระพุทธรูปใหม่ พร้อมทั้งฉัตรกลางและซ้าย ขวา แล้วตั้งการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และถวายพระนามพระแก้วผลึกนี้ว่า ‘พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย’

พระแก้วน้ำค้าง

องค์ที่ ๗ ‘พระแก้วน้ำค้าง’ ประดิษฐานอยู่ ณ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น สลักจากแก้วหินเขี้ยวหนุมาน หรือ ‘แก้วขาวน้ำบุษย์’ ลักษณะ ‘ใส’ ไม่มีมลทิน บางตำราเรียกองค์ท่านว่า ‘พระแก้วขาวบุษย์น้ำค้าง’ คำว่า ‘แก้ว’ ในที่นี้หมายถึง ‘หินกึ่งมีค่า’ หรือ ‘อัญมณี’ ไม่ใช่แก้วที่เกิดจากการหลอมทรายอย่างที่เรียกว่า ‘แก้วประสาน’ ส่วนบนขององค์พระช่วงพระเกศาทำจากทองคำครอบพระเศียรไว้ ฐานทองคำลงยาราชาวดี เชื่อกันว่าแก้วน้ำค้างจะนำมาซึ่งความร่มเย็นเป็นสุข นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ผู้ครอบครองและมีคุณวิเศษด้านปกป้องเภทภัยต่าง ๆ

พระพุทธบุษยรัตน์น้อย

องค์ที่ ๘ ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ ประดิษฐานอยู่ที่ หอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นพระพุทธรูปแบบแก้วผลึกใส ศิลปะแบบล้านนา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ‘นายเพิ่ม’ ไพร่หลวงรักษาพระองค์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยนำองค์พระมาจากพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสว่า "...เนื้อแก้วบริสุทธิ์ดี ลักษณะและส่วนสัดส่วนงามกว่า พระแก้วขนาดเดียวกันบรรดามี..."

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ กับพระรจนารังสรรค์ แก้พระพักตร์ให้งามขึ้นกว่าเดิมพร้อมทำฉัตรกับฐาน ก่อนจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่นมณฑล ในพระราชพิธีตรุษในเดือนมีนาคม โดยทรงพระราชนิพนธ์ว่า  "...ในการพระราชพิธีใหญ่ ๆ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมา ตั้งเป็นประธานในพระราชพิธีแทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนาคสวาดิเรือนแก้ว ซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันทน์ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย..." 

โดย ‘พระพุทธบุษยรัตน์น้อย’ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงถือว่าเป็นพระแก้วประจำรัชกาลพระองค์

พระพุทธสุวรรณโกศัยมัยมณี

องค์ที่ ๙ ‘พระพุทธสุวรรณโกสัยมัยมณี’ หรือ ‘พระแก้วไหมทอง’ ประดิษฐาน ณ วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม จ.กำแพงเพชร เป็นพระปางสมาธิที่แกะสลักจากหินไหมทองจากพม่า โดยพบหินไหมทองนี้ในปี พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นพระที่แกะสลักจากหินไหมทององค์เดียวของไทย มีเส้นทองเดินทั่วองค์ ทรงเครื่องประดับตามแบบ ‘พระเสตังคมณี’ วัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศิลปะล้านนาผสมรัตนโกสินทร์ เมื่อแสงไฟกระทบองค์พระ จะเห็นเส้นไหมทองละเอียดเต็มองค์ ตามปกติทางวัดจะไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะหรือเข้าชม จะอัญเชิญออกมาเฉพาะเทศกาลสำคัญ เช่น วันสงกรานต์

พระพุทธเทววิลาส

องค์ที่ ๑๐ ‘พระพุทธเทววิลาส’ หรือ ‘หลวงพ่อขาว’ ประดิษฐาน ณ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดารามขึ้นใน พ.ศ.๒๓๗๙ คำว่า ‘เทพธิดา’ หมายถึง ‘กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ 

‘พระพุทธเทววิลาส’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ศิลปะเชียงแสนสุโขทัย จำหลักจากศิลายวงสีขาวบริสุทธิ์ประดิษฐานอยู่บนเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย ปิดทองประดับกระจกเกรียบ อัญเชิญองค์พระมาจากพระบรมมหาราชวัง 

ทั้งนี้ไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปรุ่นเดียวกับพระแก้วมรกต เดิมเรียกกันแต่เพียงว่า ‘หลวงพ่อขาว’ จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายพระกฐิน จึงได้ทรงเฉลิมพระนามว่า ‘พระพุทธเทววิลาส’ ตามพระนามของ ‘สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ’ ในหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ 

บทความในครั้งนี้อาจจะยาวสักหน่อย แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจในเรื่องของพระแก้วอันมงคลของไทย คงจะไม่พลาดไปสักการะองค์พระแก้วที่ผมได้เรียบเรียงมาเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ หรือ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ นี้ กันนะครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top