Sunday, 20 April 2025
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ

คนที่เกิดมา มีแต่คนคอยช่วยเหลือ ถือว่าเป็นคนมีบุญ แต่คนที่เกิดมา แล้วได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนที่มีบุญมากกว่า

คนที่เกิดมา มีแต่คนคอยช่วยเหลือ ถือว่าเป็นคนมีบุญ
แต่คนที่เกิดมา แล้วได้ช่วยเหลือคนอื่น เป็นคนที่มีบุญมากกว่า

โอวาทธรรม
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรมเนื่องในวันครู “จงเป็นต้นแบบในการให้ ‘ความรู้-ความดี’ อยู่เสมอ”

(16 ม.ค. 67) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ทรงประทานคติธรรม เนื่องในวันครู 16 มกราคม 2567 ความว่า....
เกียรติยศของความเป็นครู อยู่ที่ความเจริญรุ่งเรืองทางความรู้และคุณธรรมของศิษย์ ครูที่แท้จริง
จึงต้องมีความขยันหมั่นเพียร มีสติรอบคอบ ไม่ประมาท ประกอบ ด้วยความซื่อตรงต่อตนเอง ต่อหน้าที่และต่อคุณความดี เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับศิษย์ในการพัฒนาตนให้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความดีอยู่เสมอ

ผู้ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เฉลียวฉลาดรอบคอบ ไม่สำรวมระวังความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปโดยชอบและไม่มีความหนักแน่นมั่นคงในคุณธรรมจริยธรรม จึงไม่พึงได้รับเกียรติยศยกย่องในฐานะครูผู้เป็นแม่พิมพ์ของชาติได้ สมเด็จพระบรมครู กล่าวคือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงประทานพุทธานุศาสนีสั่งสอนไว้ว่า

สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ 

ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท

เนื่องในวันครู พุทธศักราช ๒๕๖๗ ขออนุโมทนากุศลจริยาของครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคน และขออำนวยพรให้ท่านจงเจริญด้วยเกียรติยศ อันบังเกิดแต่ความขยัน มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท เพื่อเป็นกำลังอุดหนุนค้ำจุนสังคมไทยสืบไป เทอญ

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร)

ความจริงแห่ง ‘สมเด็จพระสังฆราช’ ทรงวางตัวเฉกเช่น ‘หลวงตา-หลวงปู่’ โปรดความเรียบง่าย อยู่อย่างสมถะ เต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 67 ได้มีผู้ใช้ติ๊กต็อกท่านหนึ่ง ชื่อ @Bbow_R โพสต์คลิปวิดีโอสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้ทำหน้าที่ติดตามรับใช้ ‘สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ’ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ของประเทศไทย เกี่ยวกับอุปนิสัยส่วนพระองค์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ โดยระบุว่า…

“ของส่วนพระองค์นั้นทรงสมถะมาก อย่างที่เราเห็น ใครเคยได้ขึ้นไปบนที่ประทับของท่านก็จะเห็นได้ว่า ภายในห้องนั้นไม่มีอะไรเลย เป็นพระตําหนักเปล่าๆ มีพระเก้าอี้และข้าวของที่วางอย่างเป็นระเบียบ เรียบง่าย ท่านรับสั่งว่า “ที่นี่เป็นที่ของหลวงตา” คือท่านวางพระองค์เป็น ‘หลวงตา หลวงปู่’

อย่างพระเก้าอี้ รวมถึงข้าวของอะไรต่างๆ ก็ห้ามปรับเปลี่ยน เพราะท่านไม่โปรดของหรูหราเลย พระเก้าอี้ห้ามปิดทองผ้ากาววาว คือ ในภาษาพระ ‘ผ้ากาววาว’ แปลว่า ‘ผ้ายิบระยับ’ ท่านบอกว่านั่นไม่ใช่ของควรแก่สมณะ ต้องเรียบร้อย

แต่หากถ้าเป็นของบูชาพระ เท่าไรเท่ากัน ต้องประณีตวิจิตรที่สุด และเวลาจัดวาง จะต้องมีความสมดุล สวยงาม ถูกต้อง อย่างจัดวางไม่เรียบร้อย ท่านก็จะจัดใหม่ให้งามที่สุด เพราะนั่นคือของบูชาพระรัตนตรัย

แต่ถ้าของส่วนพระองค์เองจะทรงสมถะที่สุด ในห้องบรรทมของท่านนี้ไม่มีอะไรเลย ที่บรรทมเป็นพระแท่นไม้แบนๆ เรียบๆ ไม่มีความหรูหรา ธรรมดาตามพระวินัยเลยครับ”

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567

“ถ้าคิดได้ ให้ช่วยคิด 
ถ้าคิดไม่ได้ ให้ช่วยทำ
ถ้าทำไม่ได้ ให้ความร่วมมือ 
ถ้าร่วมมือไม่ได้ ให้กำลังใจ
แม้ให้กำลังใจไม่ได้ ให้สงบนิ่ง”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร)

‘สมเด็จพระสังฆราช’ ประทานพระคติธรรม ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ ขอให้เยาวชนไทย หมั่นเจริญสมาธิ จดจ่อต่อคุณค่าของความดีงาม

(20 ก.ย. 67) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๗ ความว่า…

“สังคมโลกทุกวันนี้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว ตัวชี้วัดความสำเร็จเชิงวัตถุเริ่มหลากหลายไกลห่างเกินจะบรรลุได้ เป็นภาวะที่สวนทางกับความสงบ เรียบง่าย และสามัญธรรมดา ทำให้มนุษย์ในยุคใหม่ มีใจหวั่นไหวคลอนแคลนง่ายไปตามโลกธรรมทั้ง ๔ คู่ กล่าวคือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ เผลอหลงยึดมั่นถือมั่นในโลกธรรมเหล่านั้นว่าเป็นของตน พอจับยึดโลกธรรมฝ่ายไม่น่าพอใจ ก็เร่าร้อนนอนทุกข์ อาจดิ้นรนไขว่คว้าแม้โดยทุจริตเพื่อให้โลกธรรมนั้น ๆ พ้นไป พอจับยึดโลกธรรมฝ่ายน่าพอใจ ก็ยึดติดหลงใหล อาจดิ้นรนไขว่คว้าแม้โดยทุจริตเพื่อให้โลกธรรมนั้น ๆ ยังอยู่หรือเข้ามาบังเกิดแก่ตน ภาวะเช่นนี้ทำให้สุขภาวะของผู้คนในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนค่อย ๆ เสื่อมถอยลงทุกขณะ…

“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอบรมสั่งสอนให้มนุษย์แสวงหาความสุขที่เรียบง่ายอันเกิดจากความสงบ ด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ มุ่งสร้างสรรค์สุขให้บังเกิดได้ง่าย ๆ ด้วยการนำจิตตนเองไปจดจ่อต่อสิ่งดีงาม จึงขอฝากข้อคิดให้เด็กและเยาวชน หันมาสนใจอบรมเจริญสมาธิ ทำใจให้สงบ ฝึกระงับจิต ข่มความคิด ให้ทุเลาความฟุ้งซ่าน ปล่อยวางความหวือหวา วางเฉยต่อความรวดเร็วปุบปับฉับไวของกระแสข่าวสาร สมัยนิยม ความหลงใหล ความรักใคร่ และความชิงชัง ผ่อนพักจากความเครียดต่าง ๆ ที่รุมเร้า แล้วหันไปจดจ่อต่อคุณค่าของความดีงาม เช่น การศึกษาเล่าเรียน การทำงานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ การอุทิศตนช่วยเหลือผู้อื่น การทำบุญกุศล การช่วยงานอาสาสมัคร ฯลฯ เพื่อให้เกิดสุขภาวะทางใจ อันจะเกื้อกูลให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งในอนาคต…

“ขออนุโมทนาความดีที่เด็ก เยาวชน และผู้ทำประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนได้บำเพ็ญด้วยดีตลอดมา ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและกุศลธรรมจริยาที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมไว้ ดลบันดาลให้ท่านมีสรรพกำลังพรั่งพร้อม ในอันที่จะบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของสังคมประเทศชาติสืบไป เทอญ”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top