Tuesday, 22 April 2025
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคต

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชนม์มายุ 95 พรรษา 

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ พระนามเดิมคือ สังวาลย์ ตะละภัฏ ในวัยประมาณ 7-8 ขวบ ครอบครัวได้นำพระองค์ไปฝาก คุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ทรงเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น

ทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน พระองค์ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงพบกับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงถูกพระทัย และขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์ 

21 ตุลาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 วันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ‘สมเด็จย่า’ ของปวงชนชาวไทย

วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นอีกหลายวันสำคัญของประเทศไทย พระราชกรณียกิจของ 'สมเด็จย่า' ที่ทรงมีต่อชาวไทยและประเทศชาตินั้น ใหญ่หลวงนัก ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะสูงในการทรงงาน เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ทรงอุทิศพระวรกายและสละเวลาให้แก่ประชาชน ตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากส่วนพระองค์

วันพยาบาลแห่งชาติ

เนื่องด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นำสิริสุขแก่ปวงชนทุกก้าวพระบาทที่เสด็จไปถึง สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตนว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าแก่สังคม ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวแล้วนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2533 เป็นต้นมา

วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ
สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทเป็นทุนริเริ่มการสร้างตึกทำงานของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และได้พระราชทานนามตึกนี้ว่า 'ตึกมหิดล' เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณในด้านสังคมสงเคราะห์ของสมเด็จพระบรมราชชนก โครงการที่สำคัญที่สุดของสภาสังคมสงเคราะห์ฯ คืออุดมการณ์ที่รัฐรับเป็นอุดมการณ์ของชาติ คือ 'โครงการแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง' ซึ่งมีที่มาจากพระบรมราชปณิธานในพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า 'เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม'

10 กันยายน พ.ศ. 2463  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ อภิเษกสมรส กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

พันเอก (พิเศษ) จอมพลเรือ นายแพทย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระนามเดิม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช (1 มกราคม พ.ศ. 2435 - 24 กันยายน พ.ศ. 2472) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นสมเด็จพระบรมราชชนกในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระบรมราชอัยกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ

และในขณะที่กำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 นั้นเอง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยมีพระศิริโฉมงดงาม พระอุปนิสัย และพระคุณสมบัติอื่นๆ ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชมารดา ขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสที่วังสระปทุม และหลังจากได้อภิเษกสมรสแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้ตามเสด็จด้วยกันไปประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรป และ สหรัฐอเมริกา เพื่อทรงไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเอ็มไอที เมืองบอสตัน ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมืองบอสตัน ก่อนจะประสูติพระโอรสและพระธิดารวม 3 พระองค์

10 มีนาคม พ.ศ. 2539 น้อมรำลึกวันคล้ายวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ‘สมเด็จย่า’ ผู้ทรงก่อตั้ง ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ เพื่อช่วยให้ชาวไทยภูเขาได้อยู่ดีกินดี

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 มีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ ทรงเป็นพระชายาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

ตลอดพระชนชีพ สมเด็จย่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมป์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยสมเด็จย่าจะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือน สมเด็จย่าจะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระประชวร โดยมีพระอาการทางพระหทัยกำเริบ และทรงเหนื่อยอ่อน โดยเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2538 จนกระทั่งในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ทรงมีพระอาการทรุดลง เนื่องด้วยมีพระอาการแทรกซ้อนทางพระยกนะ (ตับ) และพระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน พระหทัย (หัวใจ) ทำงานไม่ปกติ ความดันพระโลหิตต่ำทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในพระโลหิต

คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาความผิดปกติของระบบต่าง ๆ แต่พระอาการคงอยู่ในภาวะวิกฤต จนเมื่อเวลา 21.17 น. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุ 94 พรรษา ต่อมาจึงมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

13 มีนาคม พ.ศ. 2553 'ในหลวง ร.9' พระราชทานชื่อ ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เทิดพระเกียรติน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ ’สมเด็จย่า‘

ท่าอากาศยานเชียงรายเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2535 สังกัดกรมการบินพาณิชย์ (บพ.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ชื่อว่า ‘สนามบินบ้านดู่’ ต่อมา บพ.ได้ถูกโอนมาขึ้นอยู่กับการบริหารของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2541 และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ถึงปัจจุบัน

ต่อมา คณะกรรมการ ทอท. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มชื่อท่าอากาศยานเชียงรายเป็น ‘ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย’ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตามที่ได้มีการร้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในจังหวัดเชียงราย ดังนั้น ทอท. จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา

18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’ หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จสวรรคต ผู้ทรงก่อตั้ง ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ เพื่อช่วยชาวไทยภูเขาให้อยู่ดีกินดี

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จสวรรคตที่โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชนม์มายุ 95 พรรษา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ใน พระชนกชู และ พระชนนีคำ พระนามเดิมคือ สังวาลย์ ตะละภัฏ ในวัยประมาณ 7-8 ขวบ ครอบครัวได้นำพระองค์ไปฝาก คุณจันทร์ แสงชูโต ซึ่งเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ ทรงเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนั้น

ทรงเป็นนักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดในรุ่นของพระองค์ซึ่งมีจำนวนเพียง 14 คน พระองค์ทรงเรียนได้ดีและทรงศึกษาสำเร็จภายในสามปี และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช ตามข้อผูกพันของการเป็นนักเรียนหลวง

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้รับทุนให้ไปเรียนวิชาพยาบาลเพิ่มเติมที่สหรัฐอเมริกา ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงพบกับ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระบรมราชชนก) ซึ่งได้ทรงถูกพระทัย และขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับ นางสาวสังวาลย์

จากนั้นได้ทรงจัดพิธีอภิเษกสมรส ที่วังสระปทุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเดินทางไปรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงตั้งมูลนิธิขาเทียมออกจัดทำขาเทียมให้ผู้พิการ

นอกจากนี้ ตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทยอย่างมากมาย อาทิ ทรงให้การอุปถัมภ์ราษฎรชาวไทยภูเขาที่อาศัยในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาชีพ ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนเป็นที่มาของ ‘มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง’ นอกจากนี้ยังทรงเป็นแบบอย่างของความพอเพียง ทรงสอนพระโอรสและพระธิดา ให้รู้จัก ‘การให้’ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยพระองค์จะทรงตั้งกระป๋องออมสินเรียกว่า ‘กระป๋องคนจน’ หากทรงนำเงินไปทำกิจกรรมแล้วมีกำไร จะต้องถูก ‘เก็บภาษี’ หยอดใส่กระปุกนี้ 10% และทุกสิ้นเดือนพระองค์จะเรียกประชุมเพื่อตรัสว่า จะนำเงินในกระป๋องไปทำอะไร เช่น มอบให้โรงเรียนตาบอด มอบให้เด็กกำพร้า หรือทำกิจกรรมเพื่อคนยากจน

25 กันยายน พ.ศ. 2541 วันสถาปนา ‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ รำลึกถึง ‘สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี’

‘มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง’ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐบาลตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ภายหลังการเรียกร้องของชาวจังหวัดเชียงรายที่ต้องการมีมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการระลึกถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงใช้พระราชสมัญญา ‘แม่ฟ้าหลวง’ เป็นชื่อมหาวิทยาลัย

หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ประชาชนชาวเชียงรายร่วมกับหน่วยราชการในจังหวัดเชียงรายเห็นพ้องต้องกันว่า โดยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลต่ออาณาประชาราษฎร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวเชียงรายที่ได้ทรงเลือกจังหวัดเชียงรายเป็นสถานที่สร้างพระตำหนัก หรือบ้านหลังแรกของพระองค์ และทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งได้นำความเจริญรุ่งเรือง มายังจังหวัดและประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง

ฉะนั้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีตลอดจนเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาคน จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายต่อรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงราย ได้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 ให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้

ต่อมารัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีมติใหม่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงราย และได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2541 ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับงบประมาณในการดำเนินการเพื่อการเตรียมการจัดตั้ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541 และงบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2542 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,325 ล้านบาท การก่อสร้างตามโครงการระยะแรกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 5 ปี บนพื้นที่ 4,997 ไร่ ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top