'บิ๊กตู่' จูงมือ 'นายกฯ ลาว' เปิดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 ตอกย้ำความสัมพันธ์สองประเทศที่ไม่มีวันตัดขาด
ไทย-ลาวชื่นมื่น นายกรัฐมนตรีไทย - สปป.ลาว เดินจูงมือกระหนุงกระหนิงวาง ศิลาฤกษ์ เปิดสะพานมิตรภาพไทย- ลาวแห่งที่ 5 ด้าน ‘นายพันคำ‘ ย้ำ ความสัมพันธ์สองประเทศตัดไม่ขาด ‘กินข้าวร่วมนา กินปลาร่วมน้ำ’
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ (28 ต.ค. 65) ที่บริเวณพื้นที่โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 บึงกาฬ - บอลิคำไซ
โดยนายพันคำ กล่าวว่า ตนมีความยินดี ที่ได้รับเกียรติ เป็นประธานร่วมกับนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการวางศิลาฤกษ์ล่าช้า เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ในส่วนของการก่อสร้างได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ และเป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งเกินความคาดหมาย
ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในความพยายามในการพัฒนาของ 2 รัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขอำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมาของประชาชนทั้งสองฝั่ง รวมไปถึงภาคการขนส่งระหว่างประเทศ ส่งเสริมการค้าและการลงทุน การท่องเที่ยว โดยใช้ที่ตั้งยุทธศาสตร์อันสำคัญของทั้งสองประเทศ เกี่ยวกับอนุภาคพื้นลุ่มแม่น้ำโขง และภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เป็นการอำนวยความสะดวกสนับสนุนการเชื่อมโยงการขนส่ง ทั้งฝั่งไทยลาวและอนุภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกให้เกิดผลประโยชน์สูง
นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว กล่าวว่า โครงการนี้ได้มีการวางแผนการปฏิบัติงานว่า ด้วยการเป็นผู้ร่วมยุทธศาสตร์ การเจริญเติบโตและการพัฒนา ในระยะ 5 ปี 2022-2026 ซึ่งได้มีการลงนามข้อตกลง เมื่อ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองต่อเจตนารมณ์ ของประชาชนทั้งสองชาติ ในการเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกัน และสายผูกพันมิตรภาพการร่วมมือ ที่มีมาอย่างยาวนาน พร้อมกันนี้โครงการสะพานมิตรภาพไทย - ลาวแห่งที่ 5 จะเป็นการตอบสนอง ให้แก่กันปฏิบัติเป้าหมายที่ 5 ในการร่วมมือเชื่อมโยง ภายในภาคพื้นสากลให้มีความทันสมัย เข้มแข็ง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติตั้งแต่ปี 2021 - 2025 และยุทธศาสตร์ การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในระยะ 10 ปี 2016 - 2025 โดยการนำเอาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีชายแดนติดต่อกัน เป็นการเชื่อมโยงศูนย์กลางการเชื่อมโยง
