Wednesday, 23 April 2025
สพฐ

สพฐ.เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รองรับองค์กรราชการ 4.0

เมื่อวันที่ 22-24 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ รัชดา กรุงเทพมหานคร  นายนิพนธ์ ก้องเวหา
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาโครงการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล ผอ.สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สพฐ. รายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดพัฒนาในครั้งนี้ 

นายนิพนธ์ ก้องเวหา กล่าวว่า “สพฐ. มีภาระกิจด้านการสนับสนุนส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสนับสนุนความสามารถของครูและผู้เรียนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน จึงได้จัดตั้งกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการ ดำเนินการด้านการใช้เทคโนโลยีในสถานศึกษาที่ประกอบด้วย งานพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศงานระบบคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร งานการส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกล งานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Smart OBEC”

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนไป มีการใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยการจัดการเรียนการสอน และเห็นว่ามีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่จัดการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ โดยใช้องค์ประกอบด้านเทคโนโลยีทั้งสิ้น

ซึ่งจะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลมากด้านการเรียนการสอน สพฐ.โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวและเพื่อเป็นการพบปะชี้แจง แลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับบุคลากรของกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกลเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง  เพื่อขับเคลื่อน ชี้แจงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน/สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เกิดแนว ทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีการรวมกลุ่มการประสานงาน มีเครือข่ายความร่วมมือบุคลากรปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างสำนักงาน” นายนิพนธ์ กล่าว

‘ม.ฮ่องกง’ มอบทุนเรียนฟรี หนุน ‘นักเรียนไทย’ มากศักยภาพ จ่อเดินหน้าขยายความร่วมมืออีก 40 โรงเรียน ภายในปี 66

(8 ต.ค. 66) ศาสตราจารย์เบนเนต ชิ คิน ยิม ผู้บริหารฝ่ายรับนักศึกษาใหม่ ‘The University of Hong Kong’ เปิดเผยว่า ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะ ได้จัดกิจกรรม Thailand Admission Tour 2023 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อรายงานความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 จากการจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทยไปศึกษาที่ The University of Hong Kong จาก 3 แห่ง ประกอบด้วย

1.) กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
2.) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
3.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปัจจุบันมีนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าวได้รับทุนไปศึกษาต่อแล้วกว่า 10 ทุนการศึกษา ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนไทยกำลังศึกษาที่ The University of Hong Kong กว่า 166 คน ผลการหารือ The University of Hong Kong พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยศักยภาพสูง เพื่อรับทุนไปศึกษาต่อที่ The University of Hong Kong และในปี 2566 จะขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนในไทยอีก 40 แห่ง

ทั้งนี้ ‘The University of Hong Kong’ มหาวิทยาลัยอันดับที่ 26 ของโลก จากการจัดลำดับของ ‘QS World University Rankings’ และเป็นอันดับ 1 ของโลกด้าน Most International University in the World จากการจัดอันดับของ ‘Times Higher Education’

'สพฐ.' เดินหน้านโยบาย 'ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้' ย้ำครูช่วยลดปริมาณ หวังให้เด็กๆ ได้เรียนอย่างมีความสุข

(9 ธ.ค.66) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 ได้ลงนามประกาศ ‘แนวทางการมอบหมายการบ้าน’ ตามนโยบาย ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ) โดยเป็นการประกาศหลักการและแนวปฏิบัติในการมอบหมายการบ้าน ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ ที่มุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ให้การบ้านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้และเป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน

หลักการ ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ มุ่งเน้นให้ครูลดปริมาณการบ้านที่ต้องทำนอกเวลาในชั้นเรียนให้เน้นการมอบหมายการบ้านเฉพาะรายวิชาที่จำเป็นทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ให้มีการบูรณาการการบ้าน ซึ่งการบ้านชิ้นงานเดียวอาจตอบโจทย์การเรียนรู้ข้ามรายวิชา และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีเวลาศึกษาค้นคว้าตามความสนใจของตนเองมากขึ้น

“การประกาศแนวทางการมอบหมายการบ้าน ‘ลดการบ้าน เพิ่มการเรียนรู้’ ของ สพฐ. เพื่อให้คุณครู รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจร่วมกันว่า หัวใจของการให้การบ้าน คือ การให้เด็กๆ ได้ทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ ให้ได้ฝึกฝนทำซ้ำจนเกิดทักษะ ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องการเวลาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนไม่เท่ากัน หรือสำหรับเด็กโต การบ้านที่ให้ได้ค้นคว้าอย่างอิสระ จะยิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ช่วยบ่มเพาะความรับผิดชอบในตนเอง จึงขอเน้นย้ำกับคุณครูว่า การให้โจทย์ที่ไม่ยากไม่ง่าย ไม่ใช้เวลามากเกินไป แล้วมีการตรวจการบ้าน อธิบาย ให้ feedback จุดที่ควรพัฒนาอย่างตรงประเด็น จึงจะเป็นการพัฒนานักเรียนอย่างแท้จริง ซึ่งความสุขที่เกิดจากการลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพของการบ้าน เช่น ทำการบ้านหนึ่งชิ้นงานส่งคุณครูเพื่อวัดผลการเรียนรู้ได้หลายวิชา จะสร้างความสุขให้ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูเองด้วย ซึ่งเชื่อได้ว่าจะทำให้เด็กไทย ‘เรียนดี มีความสุข’ ตามเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

สพฐ. ดึงวิทยากรมืออาชีพพัฒนาเข้มนักประชาสัมพันธ์ 4 ภาค เก่งรอบด้านแบบมัลติฟังก์ชัน

เมื่อวานนี้ (16 ส.ค.67) ที่โรงแรมเดอะพาลาสโซ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักประชาสัมพันธ์ยุคใหม่สไตล์มัลติฟังก์ชัน” สังกัด สพฐ. ระหว่างวันที่ 15-17 สิงหาคม 2567 โดยมี นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้เดินทางมาพบปะพร้อมให้กำลังใจกับคณะทำงาน วิทยากรและผู้เข้าร่วมการอบรมอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย นักประชาสัมพันธ์หรือผู้ปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 245 คน และคณะทำงานหลักด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ สพฐ. จำนวน 86 คน รวมทั้งสิ้น 331 คน 

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ “นักประชาสัมพันธ์ยุคใหม่สไตล์มัลติฟังก์ชัน” จัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่สื่อสารประชาสัมพันธ์ทุกสำนักของ สพฐ. และของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานด้วยทักษะความสามารถที่หลากหลาย เช่น การเขียนข่าว การถ่ายภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การพัฒนาบุคลิกภาพ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพงานการสื่อสารประชาสัมพันธ์องค์กรให้ดียิ่งขึ้น โดยในวันนี้ (16 สิงหาคม) เป็นการอบรมวันที่สอง มีกิจกรรมการอบรมในช่วงเช้าเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “Short Clip พิชิตใจ Follower” โดยมีวิทยากรมืออาชีพที่มีชื่อเสียงในสื่อโซเซียล (Influencer) คือ ครูหมี และครูขวัญฝรั่งเศส มาให้ความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้านการผลิตวิดีโอสั้นบนสื่อโซเซียล เช่น Blog, Instagram, Facebook, YouTube, X (Twitter) และ TikTok อย่างมีความสุขสนุกสนานพร้อมมีสาระตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ และกิจกรรมในช่วงบ่าย เป็นการอบรมการเขียนข่าวประชาสัมพันธ์อย่างมืออาชีพ หัวข้อ “จับประเด็นเด็ด ตั้งคำถามโดน ใช้เสียงบรรยายอย่างไรให้ปัง” โดยนักข่าวมืออาชีพ คุณอาร์ท-เอกรัฐ ตะเคียนนุช ผู้ประกาศข่าวอิสระ และคุณภัส-นภัส ธีรดิษฐากุล ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD มาแบ่งปันประสบการณ์ของการทำงานด้านสื่อสารมวลชน

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวกับผู้เข้าอบรมว่า วันนี้ตั้งใจมาเพื่อขอบคุณและให้กำลังใจนักประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง ขณะนี้ถือว่าการทำงานของนักประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานสังกัด สพฐ. ทุกแห่งมีผลงานเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ซึ่งงานประชาสัมพันธ์ถือเป็นงานสำคัญที่ทุกองค์กรต้องมี โดยเฉพาะนักประชาสัมพันธ์ของ สพฐ. นับว่าเป็นมืออาชีพที่สามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย รวมทั้งทีมงานทุกคนที่ช่วยกันรังสรรค์ให้งานของ สพฐ. มีคุณภาพและได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ออกไปในหลายๆ รูปแบบ ทุกช่องทาง ทั้งที่เป็นระบบและไม่เป็นระบบ ซึ่งหาก สพฐ. หรือ OBEC ของเรา ยังอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้ไม่ได้รับความสนใจและไม่เกิด IMPACT เหมือนเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น ต้องขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจากความทุ่มเทของพวกเราทุกคน ทั้งภาพของเด็กๆ และคุณครูที่อยู่ในโรงเรียนห่างไกล หรือภาพการทำงานของเขตพื้นที่ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง สื่อสารไปยังบุคคลภายนอกได้เห็นโดยทั่วกันแบบทุกที่ ทุกเวลา วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราได้มาพูดคุยกันและได้มีโอกาสขอบคุณในความทุ่มเทของการเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่อยู่ในสายเลือดของพวกเราทุกคน

“วันนี้รู้สึกดีใจที่ทางทีมประชาสัมพันธ์ได้รวมคนที่มีหัวใจเดียวกัน มีความมุ่งมั่นที่จะสื่อสารภาพลักษณ์ที่ดีของ สพฐ. ที่เกิดขึ้นจริงออกไปสู่สาธารณชน และจากที่ได้รับทราบจากท่านสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ท่านได้ชื่นชมและให้กำลังใจทีมประชาสัมพันธ์ สพฐ. เป็นอย่างมาก ที่มีทั้งความเสียสละ มุ่งมั่นตั้งใจ ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่เกิน 100% ซึ่งจะเห็นได้จาก ณ ตอนนี้ว่าชื่อเสียงขององค์กร สพฐ. ที่บุคคลภายนอกได้เห็นจำนวนมากมายกว่า 90% เป็นฝีมือของพวกเราทุกคน และสิ่งที่สำคัญคือความทุ่มเทของพวกเราทุกคนได้ช่วยเปลี่ยนโฉม สพฐ. ไปมาก ทั้งระบบการสื่อสารที่มีคุณภาพ ครบถ้วน รวดเร็ว ฉับไว นำสู่องค์กรคุณภาพต่อไปค่ะ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

พร้อมกันนี้ รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะวิทยากร คณะทำงาน ผู้เข้าอบรม ได้ร่วมกันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเป็นการสร้างเครือข่ายสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้ง 4 ภาค พร้อมที่จะติดตาม ส่งกำลังใจให้กับการทำงานของนักประชาสัมพันธ์ สพฐ. ต่อไป

ปลัดกระทรวงพลังงาน เผย การประหยัดไฟคือภูมิคุ้มกันจากราคาพลังงานผันผวน กฟผ. เตรียมติดฉลากเบอร์ 5 เพิ่ม 3 ผลิตภัณฑ์ 'ตู้อบผ้า-ตู้แช่แข็ง-โคมไฟโซลาร์เซลล์'

(4 ต.ค. 67) ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 พร้อมอบโล่โครงการที่ปรึกษาพลังงาน และโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ณ สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มุ่งสู่พลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามเป้าหมายของประเทศ

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นโครงการที่ทั้งกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมา 29 ปีแล้ว เป็นหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะด้านการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและสังคม  และมีชื่อเสียงในระดับโลก 

ท่ามกลางสถานการณ์ Geopolitic ที่ผันผวน ซึ่งทำให้ราคาพลังงานไม่ว่าจะเป็นก๊าซและน้ำมันทั้งระดับโลกและประเทศไทยมีความผันผวน สิ่งที่เป็นภูมิคุ้มกันในการลดผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าวได้ดีที่สุด คือการประหยัดพลังงาน 

ซึ่งมีมาตรฐานฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 จะสามารถสร้างหรือเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยได้ในอนาคต 

ด้านนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินงานจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า หรือ DSM ผ่านกลยุทธ์ 3 อ. เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่ 

อ. ที่ 1 อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 แล้ว ทั้งหมด 26 ผลิตภัณฑ์ รวมมากกว่า 502 ฉลาก

อ. ที่ 2 อาคารและอุตสาหกรรมประสิทธิภาพพลังงานสูง

อ. ที่ 3 อุปนิสัยการใช้พลังงานคุ้มค่าและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคที่อยู่อาศัย ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยมาตรการที่เหมาะสมและคุ้มค่า 

จากกลยุทธ์ในการดำเนินการดังกล่าวของ กฟผ. ส่งผลให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้กว่า 38,000 ล้านหน่วย คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 21 ล้านตัน

นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือ 2 โครงการ คือ 

โครงการที่ 1 คือ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ปี 2567 ระหว่าง กฟผ. กับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาและยกระดับอุปกรณ์สู่มาตรฐานประสิทธิภาพสูง ช่วยลดค่าไฟฟ้า และตอบสนองนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 รวม 40 ราย 3 ผลิตภัณฑ์ คือ 

เครื่องอบผ้า สำหรับอบเพื่อให้เสื้อผ้าแห้งสนิทด้วยความร้อน 

ตู้แช่แข็งฝาทึบ ตู้ที่ทำความเย็นทำให้วัตถุที่แช่แข็งมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง โดยทั่วไปจะทำอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -15 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า สำหรับเก็บรักษาอาหารที่ต้องการเก็บเป็นระยะเวลานาน เช่นไอศกรีม เนื้อสัตว์ หรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เป็นต้น 

และโคมไฟถนนแอลอีดีเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์ส่องสว่างประสิทธิภาพสูงที่ใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์สะสมพลังงานด้วยแบตเตอรี่ สำหรับส่องสว่างถนนหรือสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงกลางคืน

และโครงการที่ 2 คือ โครงการความร่วมมือด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา (โครงการห้องเรียนสีเขียว) ระหว่าง กฟผ. กับ สพฐ. เพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในการส่งต่อองค์ความรู้ ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แก่นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน มุ่งสู่สังคมแห่งการเรียนรู้สีเขียว (Green Learning Society) ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ 

ภายในงาน กฟผ. ได้มอบโล่แสดงความขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมโครงการกับ กฟผ.ในปี 2566 ที่ผ่านมา อาทิ องค์กรที่เข้าร่วมโครงการที่ปรึกษาพลังงาน ผู้เข้าร่วมโครงการบ้านและอาคารเบอร์ 5 ผู้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเบอร์ 5 และผู้ประกอบการที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ใน 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ หม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย แผงเซลล์แสงอาทิตย์ โคมไฟถนน อินเวอร์เตอร์ที่ใช้กับระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศแบบหลายชุด แฟนคอยล์ (VRF)


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top