Wednesday, 23 April 2025
สนธิญาณ

‘อัครเดช’ ตอบ ‘สนธิญาณ’ เผย พรบ.ประชามติ ยึดตามรัฐธรรมนูญ 60 ย้ำจุดยืนพรรค!! ไม่แก้ 112- คงปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด

โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ โต้ข้อกล่าวหาจากสนธิญาณ ยันหลักเกณฑ์ประชามติของพรรคยึดเกณฑ์รับรองรัฐธรรมนูญปี 60 ย้ำจุดยืนพรรคไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 รัฐธรรมนูญ และคงไว้ซึ่งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด 

(11 ต.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยถึงกรณีนาย สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ออกมาตั้งคำถามว่า พรรครวมไทยสร้างชาติทรยศต่อจิตวิญญาณของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหรือไม่?

โดยนายอัครเดช เปิดเผยว่า จากการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ในชั้นวุฒิสภานั้น ได้มีการแก้ไขในสาระสำคัญให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีออกเสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ได้รับความเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ และเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง 

จากข้อมูลการลงประชามติรัฐธรรมนูญล่าสุดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50ล้านคน ดังนั้นหากจะได้รับความเห็นชอบจากการทำประชามติจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากผู้มีสิทธิไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน ซึ่งเป็นไปได้ยากหรือแทบไม่ได้เลย เพราะในการลงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปราบโกง ที่ผ่านมา มีผู้เห็นชอบ 16.8ล้านคน จากยอดผู้มาใช้สิทธิ์ลงประชามติ 29.7ล้านคน เท่านั้น

ซึ่งถ้าใช้หลักเกณฑ์ของวุฒิสภา จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง นั่นคือ 25 ล้านเสียง จาก 50 ล้านเสียง จะเห็นว่าถ้าใช้หลักเกณฑ์วุฒิสภา รัฐธรรมนูญฉบับปี60ที่เรียกกันว่าฉบับปราบโกงก็ไม่ผ่านการเห็นชอบในการออกเสียงประชามติจากพี่น้องประชาชน

ดังนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติ จึงใช้หลักเกณฑ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิคือ 29.7 ล้านเสียง ซึ่งคำนวณออกมาแล้วคือประมาณ 15 ล้านเสียงถึงจะได้รับการรับรอง โดยในครั้งนั้นมีผู้เห็นชอบ16ล้านเสียงจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับปี60มาซึ่งก็เป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้รับรอง รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ในสมัยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น การที่พรรครวมไทยสร้างชาติ  มีความเห็นให้ใช้เกณฑ์ตามร่างที่ผ่านการลงมติของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจะขอเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการร่วมที่ตั้งขึ้นใหม่ที่พรรคส่งนายวิทยา แก้วภราดัยไปผลักดันประเด็นที่มีสาระสำคัญว่า จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบมากกว่าการออกเสียงไม่ประสงค์ลงคะแนน และเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ จึงเป็นการยืนยันเจตนารมณ์เดิมของผู้มารับรองรัฐธรรมนูญในการออกเสียงประชามติในปี พ.ศ. 2560 อย่างชัดเจน

หากแก้ไขตามมติของวุฒิสภาจะทำให้การลงประชามติให้เห็นชอบเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้ในเชิงปฏิบัติ และทำประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ อาจถึงทางตันทางการเมืองได้และอาจเกิดวิกฤติการเมืองในอนาคตได้อีกด้วย จึงขอยืนยันข้อเสนอของพรรครวมไทยสร้างชาติยังสอดคล้องกับการออกเสียงประชามติเมื่อครั้ง 'ลงประชามติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560' 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่พรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีพฤติกรรมดังที่นายสนธิญาณได้กล่าวหาแต่อย่างใดและถือเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมกับพรรค

และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ประกาศจุดยืนอย่างหนักแน่นและต่อเนื่อง ว่าจะต้องไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวดที่ 1 และ 2 รวมถึงต้องคงไว้ซึ่งการปราบปรามทุจริตอย่างเด็ดขาดเช่นเดิม

ตนขอยืนยันว่าพรรครวมไทยสร้างชาติยังสานต่อจิตวิญญาณและเจตนารมณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน รักษาไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ  ซื่อสัตย์สุจริต และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างถึงที่สุด

ตำรวจไซเบอร์ระดับนายพล บุก!! ค้นบ้าน ‘ผู้ประกาศข่าว’ แค่!! เชิญตัวไปเป็นพยานคดีหมิ่นฯ ทำเกินกว่าเหตุหรือไม่

(23 ก.พ. 68) น่าเศร้าใจยิ่งนัก เมื่อตำรวจไซเบอร์กว่า 10 นาย บุกไปยังบ้านในชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งย่านพุทธมณฑล พร้อมหมายค้นจากศาล

ที่บอกว่า เศร้าใจเพราะกองกำลังชุดนี้นำโดยนายพล ระดับ พล.ต.ท.(ผู้บัญชาการ) เพียงเพื่อนำหมายไปตรวจค้น และเชิญบุคคลไปเป็นพยานในคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ย้ำว่า ‘เชิญไปเป็นพยาน’ เท่านั้น ไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

‘ตำรวจไซเบอร์’ ชุดนี้ นำโดยพล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ พร้อมด้วย พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. พ.ต.อ.ดำรงศักดิ์ อ่อนตา รองผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 4 (ผบก.สอท.4) นำกำลังตรวจค้นพร้อมหมายค้นศาลอาญาที่ 110/2568 ลงวันที่ 19 ก.พ. เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง บนถนนชัยพฤกษ์ แขวงและเขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ก่อนควบคุมตัว น.ส.ไญยิกา (ขอสงวนนามสกุล) ‘ผู้ประกาศข่าว สำนักข่าวเดอะครีติก (The Critics)’ ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้การในฐานะพยานที่กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ เมืองทองธานี

เราจะเห็นว่า มีตำรวจระดับ พล.ต.ท. และ พล.ต.ต.อีกสองนาย และระดับนายพันก็ร่วมปฏิบัติการด้วย ซึ่งโดยปกติการที่ตำรวจจะเรียกใครไปเป็นพยานในคดีหมิ่นประมาท ก็จะออกหมายเรียก และต้องจ่ายค่าเดินทาง ค่าป่วยการให้กับพยานด้วย

แต่ไม่เข้าใจว่า ตำรวจไซเบอร์ ที่ปฏิบัติการครั้งนี้นำโดยผู้บัญชาการไซเบอร์ คิดอะไรอยู่ถึงได้ ‘ฮึกเหิม’ ถึงขนาดนี้ มีอะไรอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่

คดีนี้เกิดจากการที่ ‘ทักษิณ’ ให้ทนายความไปแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่หมิ่นประมาทเขา โดยไปแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์ ซึ่งผิดปกติ เพราะคดีหมิ่นประมาท ถ้าจะนำความขึ้นศาล สามารถกระทำได้สองวิธี คือ

แจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินคดี และปกติเขาจะไปแจ้งความที่โรงพักใดโรงพักหนึ่ง เพื่อให้ตำรวจสอบสวน แต่ทนายความของทักษิณเลือกไปแจ้งความกับตำรวจไซเบอร์ 

อีกช่องทางหนึ่งคือ ให้ทนายความเขียนสำนวน และฟ้องเอง ซึ่งจะเป็นการลัดขั้นตอนตำรวจ และอัยการไป ก็สามารถดำเนินการได้ทั้งสองทาง

“เป้าหมายเขาคงจะอยู่ที่พี่มากกว่า”

‘ต้อย-สนธิญาณ’ กล่าว เพราะสำนักข่าว the critics อยู่ภายใต้โครงสร้างของทิศทางไทย ที่มีสนธิญาณบริหารอยู่ และมีสำนักข่าวอยู่ด้วย นำเสนอเนื้อหาเชิงสกู๊ปลงเสียงโดยผู้ประกาศข่าว สีหน้า และท่าทางเอาจริงเอาจัง และข่าวที่เป็นต้นเรื่องนำมาสู่การฟ้องร้อง คือการนำข้อมูลข่าวการจัดอันดับผู้นำของทักษิณ โดยเวบไซต์ข่าวต่างประเทศไปในทางลบมากๆ จึงนำมาสู่การฟ้องร้องหมิ่นประมาท แต่จริงๆข่าวชิ้นนี้สื่อในบ้านเราหลายสำนักก็แปลมาเล่นอยู่ แต่ทักษิณเลือกที่จะเล่นงาน the critics ของสนธิญาณ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สนธิญาณจะบอกว่า เป้าหมายเขาอยู่ที่พี่มากกว่า 

ตำรวจนำตัว ‘ไญยิกา’ ไปสอบสวนยัง ‘สำนักงานของตำรวจไซเบอร์’ ย่านเมืองทองธานี สอบสวนเสร็จก็ปล่อยตัวกลับมา โดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

“ก็ดีเหมือนกัน เราจะได้ไปร้องต่อองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อจะได้นำข้อมูลไปให้กับองค์กรเหล่านี้ แต่ขอเวลาปรึกษากับผู้หลักผู้ใหญ่ และทนายความนิด” สนธิญาณ กล่าว

สนธิญาณ กล่าวอีกว่า จริงๆ ตำรวจก็ใช้วิธี ‘หลอกล่อ’ น้องผู้ประกาศเขา โดยระหว่างตำรวจเข้าไปน้องเขาก็โทรมาปรึกษาผม ผมก็บอกว่า ใจเย็นๆนะ พี่ปรึกษาทนายความก่อน และบอกว่าอย่าเพิ่งพูดอะไร ถ้ายังไม่มีทนายความ ระหว่างนั้นตำรวจก็ไปพูดอะไรกับน้องเขาก็ไม่รู้ และพาน้องเขาไปสอบปากคำ โดยยังไม่มีทนายความ

นี้น่าจะเป็นอีกปรากฏการณ์ของ ‘รัฐตำรวจ’ ที่หวนกลับมาอีกครั้ง และเริ่มเห็นร่องรอยของการ ‘คุกคามสื่อ’ จากองค์กร หน่วยงานรัฐที่มีกฎหมาย และอาวุธปืนอยู่ในมือ

คงจำกันได้ว่าเมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว รัฐบาลก็ใช้อำนาจที่มีอยู่ตรวจสอบบุคคลที่ทำงานอยู่ในองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และสื่อมวลชนอาวุโสอีกหลายคน จนเกิดคำขึ้นมาว่า ‘คุกคามสื่อ คุกคามประชาชน’ ปรากฏการณ์ใหม่นี้จะย้อนไปเหมือนในอดีตหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top