Saturday, 29 June 2024
ศาลโลก

'ศาลโลก' ตัดสิน!! ให้รัสเซียหยุดโจมตียูเครนทันที แต่จะหยุดหรือไม่ 'ศาล' ก็ไม่มีอำนาจในการบังคับ

วานนี้ (16 มี.ค.65) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ซึ่งเป็นองค์กรด้านตุลาการของสหประชาชาติ หรือ UN ได้มีคำตัดสินให้รัสเซียหยุดการโจมตียูเครนโดยทันที

สำหรับคณะผู้พิพากษาชุดปัจจุบัน มีจำนวน 15 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาจากสหรัฐฯ รัสเซีย สโลวาเกีย ฝรั่งเศส โมร็อกโก บราซิล โซมาเลีย จีน ยูกันดา อินเดีย จาเมกา เลบานอน ญี่ปุ่น เยอรมนี และออสเตรเลีย โดย 2 เสียงที่โหวตไม่เห็นด้วยก็คือผู้พากษาจากรัสเซียและจีน

คำตัดสินดังกล่าว กำหนดให้มีมาตรการชั่วคราว คือ สั่งให้รัสเซียระงับปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ไม่ให้กองกำลังของรัสเซียดำเนินการทางทหารต่อไป และห้ามไม่ให้รัสเซียดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น

'ไบเดน' เดินยุทธศาสตร์ 'ศาลโลกล้อมรัสเซีย' กล่าวหา 'ปูติน' ด้วยข้อหา 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์'

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวออกสื่อเป็นครั้งแรกว่า การใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นความผิดร้ายแรงถึงระดับ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

โดยไบเดนให้สัมภาษณ์ว่า "ใช่ครับ! ผมเรียกมันว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะสิ่งที่ปูตินทำลงไป มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเขาพยายามลบล้างความเป็นชาวยูเครน และมีหลักฐานเยอะมาก"

ไบเดนยังกล่าวอีกว่า "พวกเราได้ให้ทีมกฎหมายดำเนินการแล้วว่าสิ่งที่รัสเซียทำเข้าข่ายหรือไม่ แต่ในความเห็นของผม ผมแน่ใจว่ามันเป็นเช่นนั้น"

ก่อนหน้านี้ ไบเดนใช้คำว่า "อาชญากรสงคราม" เมื่อเอ่ยถึงปูติน กับปฏิบัติการทางทหารในยูเครนบ่อยครั้ง แต่มาครั้งนี้ ที่ไบเดนเปลี่ยนมาใช้คำว่า "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ที่ถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงที่สุด

ซึ่งข้อหา "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครนเคยใช้มาก่อน หลังจากที่เข้าไปสำรวจความเสียหายในเมืองบูชา (Bucha) หลังทหารรัสเซียถอนกำลังออกไป และพบผู้เสียชีวิตจำนวนมากภายในเมือง โจ ไบเดน จึงให้ผู้นำยูเครนรวบรวมหลักฐานมาประกอบสำนวนในการฟ้องร้องปูตินที่ศาลโลก

ถึงแม้โจ ไบเดน ได้ออกมาเปิดหน้าแล้วว่าจะผลักดันให้มีการดำเนินคดีปูตินถึงข้อหาสูงสุด แต่ด้านวลาดิมีร์ ปูติน ก็ได้แถลงออกสื่อครั้งแรกในรอบหลายสัปดาห์เช่นกันว่า รัสเซียจะยังคงเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในยูเครนต่อไปอย่างเป็นจังหวะ และใจเย็น และเชื่อมั่นว่ากองทัพรัสเซียจะสามารถบรรลุเป้าหมายอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ข้อหาเรื่อง "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ก็ยังมีข้อถกเถียงอย่างมากในเรื่องการตีความ ซึ่งนิยามของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีระบุในที่ประชุมเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขององค์การสหประชาชาติเมื่อเดือน ธันวาคม 1948 ไว้ว่าเป็นการกระทำที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายล้างกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา ให้สูญสิ้นไปทั้งหมด

‘ศาลโลก’ มีคำสั่งให้ ‘อิสราเอล’ ระงับปฏิบัติการโจมตีที่เมือง ‘ราฟาห์’ หลัง ‘แอฟริกาใต้’ ได้ยื่นฟ้องว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

(25 พ.ค.67) คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) หรือที่เรียกกันว่า 'ศาลโลก' มีคำสั่งวานนี้ (24 พ.ค.) ให้อิสราเอลต้องยุติปฏิบัติการโจมตีทางทหารที่เมืองราฟาห์ (Rafah) ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาทันที ซึ่งถือเป็นคำตัดสินฉุกเฉินครั้งสำคัญหลังจากที่แอฟริกาใต้ยื่นฟ้องกล่าวหาอิสราเอลว่ามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide)

แม้ ICJ จะไม่มีกลไกในการบังคับใช้คำสั่งนี้ ทว่าคดีดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่าปฏิบัติการโจมตีกาซากำลังทำให้อิสราเอลถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่กองทัพยิวเริ่มเคลื่อนพลเข้าสู่ราฟาห์ในเดือนนี้ โดยไม่สนใจแม้แต่เสียงเตือนจากพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างสหรัฐอเมริกา

นาวาฟ ซาลาม ประธานศาล ICJ ระบุในคำตัดสินว่า สถานการณ์ในฉนวนกาซา ‘เลวร้ายลง’ จากที่ศาลได้มีคำสั่งครั้งก่อนให้อิสราเอลต้องดำเนินการแก้ไขวิกฤตมนุษยธรรม และเงื่อนไขต่าง ๆ เข้าเกณฑ์ที่ศาลจะออกคำสั่งฉุกเฉินใหม่

“รัฐอิสราเอลจะต้องระงับทันทีซึ่งปฏิบัติการโจมตีทางทหาร และการกระทำอื่น ๆ ภายในเขตปกครองราฟาห์ที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวปาเลสไตน์ในกาซา จนอาจนำมาซึ่งการทำลายล้างเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะบางส่วนหรือทั้งหมด” ซาลาม กล่าว

ประธาน ICJ ยังชี้ด้วยว่า รัฐบาลอิสราเอลไม่เคยให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่าจะปกป้องพลเรือนให้ปลอดภัยได้อย่างไรระหว่างการอพยพคนออกจากราฟาห์ รวมถึงการจัดส่งอาหาร น้ำดื่ม ระบบสุขาภิบาล และยารักษาโรคให้แก่ชาวปาเลสไตน์ 800,000 คนที่ได้อพยพหนีกองทัพอิสราเอลไปแล้วก่อนหน้า

ICJ ยังสั่งให้อิสราเอลเปิดด่านพรมแดนราฟาห์ที่เชื่อมอียิปต์กับกาซาเพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปได้ นอกจากนี้ ยังต้องเปิดทางให้คณะผู้ตรวจสอบ และรายงานความคืบหน้าให้ศาลทราบภายใน 1 เดือน

คำสั่งนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะผู้พิพากษา 15 คนด้วยคะแนน 13 ต่อ 2 เสียง โดยผู้ที่คัดค้านมีเพียงผู้พิพากษาจากยูกันดาและอิสราเอลเองเท่านั้น

แอฟริกาใต้ออกมายกย่องคำสั่งศาล ICJ ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ (groundbreaking) ขณะที่โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐฯ มีความชัดเจนในจุดยืนเกี่ยวกับราฟาห์มาโดยตลอด

องค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian Authority) แถลงชื่นชมคำสั่ง ICJ ว่าเป็นการสะท้อนมติของประชาคมโลกว่าสงครามกาซาควรยุติลงได้แล้ว ขณะที่ นาบิล อบู รูไดเนห์ โฆษกของประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส ยังติงว่าคำสั่งนี้ ‘ไม่เพียงพอ’ เพราะไม่ได้เรียกร้องให้มีการหยุดสู้รบในภูมิภาคอื่น ๆ ของกาซาด้วย

ด้าน บาเซม นาอิม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส ให้สัมภาษณ์ผ่านรอยเตอร์ว่า เราขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินำคำสั่งของ ICJ ไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงทันที เพื่อบีบให้พวกศัตรูไซออนิสต์ต้องปฏิบัติตามด้วย

รัฐบาลอิสราเอลออกมาตอบโต้คำสั่งของ ICJ ด้วยท่าทีกราดเกรี้ยว โดย บาซาเลล สโมตริช รัฐมนตรีกระทรวงการคลังหัวขวาจัด ชี้ว่าใครก็ตามที่เรียกร้องให้อิสราเอลยุติสงครามครั้งนี้ ก็เท่ากับบอกให้อิสราเอลยุติการดำรงอยู่ ซึ่งอิสราเอลไม่มีวันยอม

ยาอีร์ ลาพิด ผู้นำฝ่ายค้านอิสราเอล ชี้ว่าคำสั่ง ICJ ถือเป็นการล่มสลายและหายนะทางศีลธรรม เพราะไม่ได้เชื่อมโยงข้อเรียกร้องยุติการสู้รบเข้ากับการปลดปล่อยตัวประกันในกาซา

ICJ ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงเฮกถือเป็นองค์กรสูงสุดของสหประชาชาติที่ทำหน้าที่ไต่สวนข้อพิพาทระหว่างรัฐ คำพิพากษาของ ICJ ถือเป็นที่สุดและมีผลผูกพันตามกฎหมาย ทว่าที่ผ่านมาเคยถูกเพิกเฉยมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากศาลไม่มีกลไกที่จะบังคับให้เกิดผลตามคำสั่งได้

‘อียู’ ลั่น!! ‘อิสราเอล’ ต้องทำตามคำสั่งศาลโลก พร้อมยุติปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์

(27 พ.ค.67) นายโจเซฟ บอเรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป (อียู) ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ว่า อิสราเอลจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก และยุติปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา

ทั้งนี้ บอเรลล์ ยังตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลที่เกี่ยวข้องกับผู้ตั้งถิ่นฐานได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์ที่ถูกยึดครอง

บอเรลล์ยังยืนยันว่า อิสราเอลได้ผลักดันชาวปาเลสไตน์ให้ไปสู่หายนะ เพราะสถานการณ์ในฉนวนกาซาขณะนี้ถือได้ว่าเกินกว่าที่จะบรรยายได้ ขณะที่เวสแบงค์ซึ่งเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองก็เหมือนอยู่ที่ปากเหว และเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดได้ทุกเมื่อ

การออกมาให้ความเห็นของผู้ดูแลด้านนโยบายต่างประเทศของอียูมีขึ้นในวันเดียวกับที่นายโมฮัมหมัด มุสตฟา นายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ ได้รับการรับรองสถานภาพของรัฐปาเลสไตน์จากสองประเทศในอียูและนอร์เวย์ บอเรลล์ยังกดดันให้อิสราเอลทำให้แน่ใจว่ารายได้ทางภาษีที่จัดให้เพื่อช่วยเหลือทางการปาเลสสไตล์จะไม่ถูกระงับอีกต่อไป

แม้ว่าขณะนี้ความสนใจส่วนใหญ่ของโลกจะพุ่งไปยังฉนวนกาซา แต่บอเรลล์ระบุว่าเราต้องไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในเวสต์แบงก์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่หน่วยงานของทางการปาเลสไตน์ตั้งอยู่เช่นกัน

“ที่นั่นเราเห็นความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีตามอำเภอใจเพื่อลงโทษโดยผู้ตั้งถิ่นฐานหัวรุนแรง และมีการมุ่งเป้าไปที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มุงหน้าไปสู่ฉนวนกาซามากขึ้นเรื่อยๆ และพวกเขาก็ติดอาวุธหนัก คำถามคือใครเป็นคนติดอาวุธให้พวกเขา และใครบ้างที่ขัดขวางไม่ให้มีการป้องกันการโจมตีที่เกิดขึ้น” บอเรลล์กล่าว และว่า ความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการขยายการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลและการยึดครองที่ดินอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

บอเรลล์ยังตอบโต้ภัยคุกคามของอิสราเอลที่จะโจมตีชาวปาเลสไตน์ทางด้านการเงิน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐมนตรีคลังอิสราเอลระบุว่า จะหยุดโอนรายได้จากภาษีที่จัดสรรให้กับทางการปาเลสไตน์ ซึ่งอาจคุกคามความสามารถในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานหลายพันคน โดยเขาเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดของรายได้ที่ถูกระงับซึ่งเขาเห็นว่ามากเกินไป

การออกออกมาแสดงท่าทีดังกล่าวของบอเรลล์มีขึ้นขณะที่นอร์เวย์ได้ส่งมอบเอกสารทางการทูตเพื่อรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้อิสราเอลโกรธเคือง

นอร์เวย์ สเปน และไอร์แลนด์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทั้งยังให้การสนับสนุนปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน ได้ประกาศรับรองรัฐปาเลสไตน์อย่างเป็นทางการซึ่งทำให้อิสราเอลโกรธเคือง แม้ว่ามันจะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม

ด้านมุสตาฟากล่าวว่า การรับรองนี้มีความหมายมากสำหรับเรา นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ใคร ๆ ก็ทำได้เพื่อชาวปาเลสไตน์ เพราะมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับเรา

ทั้งนี้ ราว 140 ประเทศหรือมากกว่าสองในสามของชาติสมาชิกสหประชาชาติได้ยอมรับรัฐปาเลสไตน์ แต่ประเทศส่วนใหญ่ในอียูทั้ง 27 ประเทศยังคงไม่ให้การยอมรับ และตั้งเงื่อนไขว่าพวกเขาจะให้การยอมรับต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขที่ต้องการเท่านั้น

เบลเยียมซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอียูในขณะนี้ระบุว่า ตัวประกันชาวอิสราเอลกลุ่มแรกที่ฮามาสจับไปต้องได้รับการปล่อยตัว และการสู้รบในฉนวนกาซาจะต้องยุติลงขณะที่รัฐบาลอื่น ๆ บางแห่งสนับสนุนข้อริเริ่มใหม่ในการแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ

15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 'ศาลโลก' ตัดสิน 'ปราสาทเขาพระวิหาร' เป็นของกัมพูชา ส่งผลให้ไทยสูญเสียดินแดนบริเวณปราสาท 150 ไร่

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพากษาชี้ขาดคดี ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ ปราสาทหินแห่งนี้เป็นศิลปะขอม สร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวปี 1545-1593 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของขอม ภาษาเขมรเรียกว่า ‘เปรี๊ยะ วิเฮียร์’ (Phrea vihear) ตัวปราสาทสูง 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่บนทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นระหว่างประเทศกัมพูชากับไทย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศเหนือ ด้านหน้าและทางขึ้นอยู่ในเขตประเทศไทย แต่ตัวปราสาทส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกัมพูชา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ค้นพบปราสาทแห่งนี้เมื่อปี 2442 แล้วทรงจารึกพระนามของพระองค์และปีที่ค้นพบไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า ‘118 สรรพสิทธิ์’ เนื่องจากเขาพระวิหารตั้งอยู่ตรงรอยต่อของไทยกับกัมพูชา ซึ่งผลัดกันยึดครองดินแดนแถบนี้

จนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยได้ส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่บริเวณเขาพระวิหาร เจ้านโรดม สีหนุ จึงยื่นฟ้องต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 การไต่สวนพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา นับเป็นการเสียดินแดนครั้งล่าสุดของประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ เสียพื้นที่ไปทั้งหมดประมาณ 150 ไร่

หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบ ๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกสั่งปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top