Monday, 21 April 2025
ศาลอาญาระหว่างประเทศ

หลายประเทศเท่าทัน เริ่มถอนตัวจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หลังอำนาจออก 'หมายเรียก-หมายจับ' ละเมิดอธิปไตยของชาติผู้ร่วมภาคี

(20 ก.ค. 66) ผู้ใช้งานติ๊กต็อกชื่อ ‘factnotfeeling’ ได้โพสต์วิดีโอเกี่ยวกับการลงนาม ICC หรือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายจะเข้าร่วมหากได้เป็นรัฐบาล โดยอ้างอิงจากคำพูดของ ‘หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล’ ที่ระบุว่า…

“หลังจากที่มีการกวาดต้อนให้หลาย ๆ ประเทศไปลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ให้เป็นภาคีต่อธรรมนูญกรุงโรม ในที่สุดแล้วหลาย ๆ ประเทศ เขาค่อยค่อยทยอยถอนตัวออกมา เพราะว่าเขาเริ่มตื่นรู้ แล้วเขาเริ่มตระหนักแล้วว่าในที่สุดแล้วอํานาจในการออกหมายเรียกและอํานาจในการออกหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC มันเป็นขั้นตอนซึ่งเกิดขึ้นโดยที่เป็นการ ‘ละเมิดอํานาจอธิปไตย’ ของประเทศซึ่งไปเป็นภาคี 

ประเทศไทยพลาดมากที่ไปลงนามในปี 2543 แต่ยังไม่พลาดท่าถึงขั้น ‘ให้สัตยาบัน’ เอาจริง ๆ เรื่องนี้ไทยต้องอยู่ห่าง ๆ เลย ถ้ามันดีนักดีหนาอินเดียกับจีน เขาจะไม่เอาตั้งแต่แรกเหรอ ถ้าดีนักดีหนา ทําไมอเมริกา อิสราเอล รัสเซีย ฟิลิปปินส์ เขารู้เขาก็ถอย เขาถอนตัวหมด 

เขารู้ว่าถึงเวลามันเป็นศาลที่ให้มีการเดินเรื่องเพื่อออกหมายจับ-หมายเรียกได้ ถ้าคุณต้องการให้ประเทศใดประเทศหนึ่งไปลงนามเป็นภาคีต่อกระบวนการยุติธรรม แล้วกระบวนการยุติธรรมนั้นจะอยู่เหนือกระบวนการยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ เสร็จแล้วกระบวนการยุติธรรมนั้น จะสามารถดําเนินคดีกับบุคคลซึ่งไม่สามารถถูกดําเนินคดีในประเทศซึ่งไปลงนามเป็นภาคีได้ 

เจตนารมณ์ของการไปลงนามคืออะไร?? มันร้ายแรงนะ เรื่องนี้คือเรื่องคอขาดบาดตาย ทําไม่ได้นะ อย่าไปคิดว่ากลไกระหว่างประเทศ มันเป็นกลไกบริสุทธิ์ผุดผ่อง กลเกมและกลไกระหว่างประเทศ มันเต็มไปด้วยการเมืองระดับโลก”

‘ปูติน’ เตรียมเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง พบ ‘สี จิ้นผิง’ ตุลาฯ นี้ นับเป็นทริปนอกประเทศครั้งแรก หลังถูก ‘ไอซีซี’ ออกหมายจับ

(19 ก.ย. 66) ทางการรัสเซียประกาศแล้วว่าประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ของรัสเซีย จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพบปะพูดคุยกับประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ของจีน ซึ่งจะนับเป็นการเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกเท่าที่รับรู้ของปูติน หลังจากที่เขาถูกศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ออกหมายจับในข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงคราม’ จากการเนรเทศเด็กๆ ชาวยูเครนไปรัสเซีย

“ในเดือนตุลาคม เราตั้งตารอการเจรจาทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในกรุงปักกิ่ง” นายนิโคไล ปาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงของรัสเซีย กล่าวถึงแผนการเยือนดังกล่าว หลังการหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่กรุงมอสโก

นายปาทรูเชฟ กล่าวอีกว่า รัสเซียต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน “รัสเซียมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์รัสเซีย-จีนให้ก้าวหน้า” พร้อมเสริมว่ามหาอำนาจทั้งสองเป็นหุ้นส่วนและมีความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมระหว่างกัน

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีปูตินจะมาร่วมการประชุมความริเริ่มแถบและเส้นทางครั้งที่ 3 ที่กรุงปักกิ่ง ตามคำเชิญของประธานาธิบดีสี ที่มีขึ้นในระหว่างที่ผู้นำจีนเดินทางเยือนกรุงมอสโก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยก่อนหน้าที่นายสีจะเดินทางเยือนมอสโกในครั้งนั้นเพียงไม่กี่วัน ศาลไอซีซี ได้ออกหมายจับปูติน กรณีการเนรเทศเด็กชาวยูเครนจำนวนหลายร้อยคนจากยูเครนไปรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัสเซียปฏิเสธ

‘ศาลอาญาระหว่างประเทศ’ ตั้งขึ้นเพื่อ!! จัดการคนไม่ดี หรือ!! จัดการ ‘คนที่เป็นปรปักษ์กับชาติตะวันตก’ กันแน่

ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court ที่เรารู้จักกันในชื่อย่อว่า ICC นั้น  มีเรื่องแปลกอย่างหนึ่งหากใครไปพิจารณาถึงรายชื่อผู้ที่เป็นอาชญากรในลิสต์ของ ICC จะเห็นบางสิ่งที่ตรงกันคือเกือบทั้งหมดนั้นคือ กลุ่มที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับชาติตะวันตกยกตัวอย่างเคสแรกก็คือ Joseph Kony

นายโจเซฟ โคนี คนนี้เป็นหัวหน้าของกลุ่ม Lord's Resistance Army เรียกสั้นๆ ว่า LRA เป็นกลุ่มกองโจรที่ทางตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในอูกานดา โคนีถูกกล่าวหาว่าจับเด็กผู้ชายมาเป็นทหาร จับเด็กผู้หญิงมาเป็นทาสบำเรอกาม จนถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับ อีกทั้งในชาติตะวันตกมีการทำแคมเปญรณรงค์ในชื่อ Invisible children ในปี 2012 และมีการส่งทหารเข้าไปที่แอฟริกาเพื่อไล่ลาโคนี   แต่ที่แปลกคือ ในปี 2015 มือขวา ของโคนี ก็มามอบตัว ทำให้กองกำลังของโคนีระส่ำระสายมากๆ ซึ่งมือขวาผู้มอบตัวก็เผยว่า จริงๆ ในตอนนั้น ผู้ภักดีกับโคนีใน LRA ก็เหลือน้อยแล้วเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายชะตากรรมของมือขวาของโคนีก็ถูกศาลโลกตัดสินคดีว่ามีความผิดไปหลายสิบกระทง (แปลกไหม….อยู่ดีๆ มาให้จับเพื่อเข้าคุก) สุดท้ายในปี 2017 ทั้งทางรัฐบาลอูกันดาและสหรัฐอเมริกาก็ประกาศร่วมกันว่าจะยกเลิกการไล่ล่า โจเซฟ โคนี เพราะตอนนั้นเขาประเมินว่ากองกำลังที่เคยยิ่งใหญ่ระดับกำลังพล 3,000 นาย หดเหลือแค่ประมาณ 100 คนเท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นภัยความมั่นคงต่อไปและปัจจุบันมีรายงานว่า โจเซฟ โคนี สุขภาพไม่สู้ดีและกบดานอยู่ที่เมืองนาโซกา สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ประเด็นคือถึงเขาไม่เป็นภัยต่ออูกานดาแล้วทำไมเขาไม่เป็นภัยต่อสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เขาจึงสามารถที่จะอยู่ได้โดยปลอดภัยแม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม  หรือความจริงแล้วคือในขณะนั้นอูกานดามีความสัมพันธ์อะไรบางอย่างกับสหรัฐฯแล้ว นายโจเซฟ โคนีก็คือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอูกานดาในขณะนั้น ดังนั้นจึงมีการจัดฉากให้นายโคนี คนนี้เป็นผู้ก่อการร้ายเสียเพื่อจะได้เอากองกำลังต่างชาติเข้ามาจัดการได้

ว่าแล้วเรื่องจับเด็กไปเป็นทหารก็มีเรื่องน่าแปลกนะคะ เพราะในเมียนมาเองก่อนที่จะมีข่าวการเกณฑ์ทหารของหนุ่มสาวชาวเมียนมาก็มีข่าวมาตลอดว่ากองกำลังชาติพันธุ์ออกมาจับเด็กชายเอาไปฝึกเป็นทหารของตน โดยภาพที่ออกมามีทั้งกองกำลังที่อยู่ติดชายแดนไทยและกองกำลังที่ติดชายแดนจีน แต่ที่น่าแปลกคือว่าทำไม ICC ไม่มาออกหมายจับผู้นำเหล่านี้บ้าง

หากดูในลิสต์ต่อๆ มาจะพบว่าทุกคนในหมายจับของ ICC คือกลุ่มคนที่เป็นปรปักษ์กับชาติตะวันตกหรือปรปักษ์กับพันธมิตรของตะวันตกทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของปูตินในรัสเซีย ที่โดนหมายจับตั้งแต่ที่ 2023-24 หรือกลุ่มกบฏลิเบียรวมถึงล่าสุดคืออดีตประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ที่ถูกรวบตัวที่สนามบินในกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ในข้อหาฆ่าผู้บริสุทธิ์จากการทำสงครามยาเสพติดจนทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก น่าประหลาดนะคะที่ประเทศไทย คนที่ออกนโยบายทำสงครามยาเสพติดในประเทศไทย  ในปัจจุบันนี้ยังลอยหน้าลอยตาใช้ชีวิตสุขสบายไม่เห็นโดนคดีเหมือนดูแตร์เต้ เอย่าเลยไปขุดค้นหาข้อมูลและพบว่า การที่ดูแตร์เต้ถูกจับเพราะส่วนหนึ่งคือการดำเนินนโยบายที่เป็นกลางไม่เอียงข้างไปยังฝั่งอเมริกา  ซึ่งนั่นก็น่าจะเป็นสาเหตุที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าคดีนี้เป็นการเช็คบิลของอเมริกาโดยใช้อำนาจของประธานาธิบดีมาร์กอสคนลูกที่ตอนนี้เป็นหมาน้อยของอเมริกาไปแล้ว

มาถึงฝั่งเมียนมาอีกครั้งถามว่าทำไม มิน อ่อง หล่าย ถึงไม่เป็นผู้โดนหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาละ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปง่ายมาก กล่าวคือ ในปี 2017 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โรฮิงญาครั้งใหญ่ ภายหลังกองกำลังติดอาวุธโรฮิงญา ในนาม ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) เข้าโจมตีฐานที่มั่นของตำรวจในรัฐอาระกัน จนเป็นเหตุให้มีตำรวจเสียชีวิต 12 นาย เป็นผลให้กองทัพเมียนมาเปิดฉากโจมตีเขตของชาวโรฮิงญาในรัฐอาระกันตอนเหนือ ตอบโต้กองกำลังก่อการร้ายดังกล่าว  และเช่นเดียวกับโจรใต้โมเดล เมื่อกองกำลังกองการร้ายสู้ไม่ได้ก็ใช้วิธีหนีเข้าไปแอบในชุมชน ดังจะเห็นได้ชัดภายหลังที่มีกลุ่ม PDF ซึ่งก็ใช้วิธีเดียวกันหากสู้กองทัพเมียนมาไม่ได้  แต่กองทัพเมียนมากลับเลือกที่จะเผาชุมชนนั้นเสียเพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านในพื้นที่ และเช่นกัน ณ เวลานั้น นาง อองซาน ซูจีและพรรค NLD ที่ตอนนั้นเป็นแขนขาให้กับฝ่ายประเทศตะวันตกในเมียนมามีอำนาจ และนั่นทำให้หากจะต้องฟ้อง มิน อ่อง หล่ายในฐานะอาชญากรฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็จะต้องมีชื่อของประธานาธิบดีและนางซูจีติดเข้าไปด้วยอย่างแน่นอน ที่นี่น่าจะเป็นสาเหตุว่าทำไม มิน อ่อง หล่ายไม่โดนหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศนั่นเอง

มาถึงจุดนี้สรุปศาลนี้มีไว้เพื่อจัดการคนไม่ดี หรือ จัดการคนที่เป็นปรปักษ์กับชาติตะวันตกกันแน่….


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top