Thursday, 24 April 2025
วินัยทางการเงิน

‘พิธีกรดัง’ ยกเคส ขรก.สาว ใช้ชีวิตด้วยเงินเดือน 15,000 บ. มีเงินเก็บ-ให้แม่ 5,000/ด. เพราะ ‘วางแผนดี-ไม่มีหนี้สิน’

(7 ก.พ. 67) จากเฟซบุ๊ก 'KUL' โดย กุลวิชญ์ สำแดงเดช ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า…

จึ้ง! ‘นักวิชาการศึกษา’ เงินเดือน 15,000 บาท อยู่ได้ แถมแบ่งให้พ่อแม่ 

ผู้ใช้ TikTok ‘@apple_apple1995’ คนนี้ เมื่อเธอออกมาโพสต์คลิป ‘คนยโสธรมาบรรจุสระบุรี #นักวิชาการศึกษา’ รีวิวชีวิตตัวเองในวัย 27 ปี

หลังจากที่เธอสามารถสอบบรรจุ ตำแหน่งนักวิชาการศึกษาได้สำเร็จ พร้อมเงินเดือน 15,060 บาท จนกลายเป็นเรื่องราวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในโลกออนไลน์

โดยเขียนเล่าชีวิตไว้ว่า เธอเป็นคน จ.ยโสธร แต่สถานที่ทำงาน คือ จ.สระบุรี ทำให้ต้องย้ายงานไกลบ้านถึง 477 กิโลเมตร

ส่วนในเรื่องรายจ่าย ก็ให้เงินแม่สำหรับดูแลตัวเอง เดือนละ 5,000 บาท เมื่อหักลบแล้ว เธอเหลือเงินเพียง 10,000 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้ยังมีค่าใช้จ่าย ค่าเช่าห้องของตัวเอง 2,500 บาทต่อเดือน ไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเดินทาง ซึ่งเธอชี้แจงไว้ว่า เธอได้ขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงาน มีเพียงค่าน้ำมันเดือนละ 100 บาท

สิ่งที่ทำให้เงินเดือนยังเหลือใช้ นั่นคือการไม่มีหนี้ ทำให้นักวิชาการศึกษารายนี้ มีเงินเหลือเฉลี่ยต่อเดือนน่าจะราว ๆ 7,000 บาท โดยเงินที่เหลือ ยังไม่หักลบค่ากินค่าใช้อื่น ๆ ที่จะเป็นเงินเก็บ

อย่างไรก็ดี อาชีพข้าราชการ นับว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน และอยากที่จะรู้ว่า การทำงานในเส้นทางอาชีพนี้ จะสามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้หรือไม่ และได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละเดือน

เมื่อเผยแพร่คลิปดังกล่าวออกไป งานนี้ก็กลายเป็นไวรัลทันที มีผู้ชมกว่า 1 ล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก หลายคนชื่นชม และยอมรับกับเธอว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนทีไร คิดไม่ตกว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร เพราะต้นเดือนมีเงินกินอยู่สบาย พอมาสิ้นเดือนกลับดิ้นรนชีวิตทุกครั้ง ทำให้รายรับกับรายจ่ายไม่สมดุลกัน

ปรับทัศนคติเรื่องการเงิน กับ 'โจ มณฑานี ตันติสุข' 'วินัย' ที่สร้างได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือน

กลายเป็นประเด็นโด่งดัง ภายหลังจากกระแสข่าวที่ คุณโจ มณฑานี ตันติสุข ดีเจ พิธีกร นักวิจารณ์ นักเขียนและวิทยากรชื่อดัง ได้รีวิวการใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท อย่างไรใน กทม. แบบชีวิตดี๊ดี จนทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในสังคมตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าเป็นจริงหรือไม่?

วันนี้รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอในประเด็นนี้ พร้อม ๆ ไปกับมุมมองชวนคิดที่จะชวนคนไทยได้ตระหนักถึงการใช้และบริหารการเงินในแบบที่ทุกคนสามารถอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ และสุขได้ในยุคที่เงินในกระเป๋าบางคนอาจจะไม่ได้แน่นฟูก็ตาม

โดย THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้เปิดบทสนทนา ด้วยการซักถามถึงจุดเริ่มต้นที่คุณโจได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการเงิน ซึ่ง เธอ ได้เล่าให้ฟังว่า...

จุดเริ่มต้นสำคัญมาจากชีวิตในช่วงวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง โดยสาเหตุเกิดจากเป็นคนไม่มีความรู้เรื่องการเงิน เมื่อเกิดวิกฤตแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร อีกทั้งยังปิดใจไม่ยอมรับว่าตัวเองประสบปัญหาการเงิน จนภายหลังก็เข้าใจว่า สาเหตุของวิกฤตการเงินของตนเกิดจากการใช้จ่ายเงินผิดพลาดนั่นเอง

ดังนั้น คุณโจ จึงหันมาศึกษาเรียนรู้เรื่องการเงินจากอินเทอร์เน็ต จากหนังสือ และงานสัมมนาต่าง ๆ อย่างจริงจัง ทำให้ทราบว่าตัวเองมีปัญหาทางจิตวิทยาการเงิน ภายใต้ตัวแปรที่เรียกว่า 'คนเลี่ยงเงิน' 

คุณโจ เล่าต่อว่า 'คนเลี่ยงเงิน' ในที่นี้ คือ ไม่ใส่ใจในรายละเอียดว่าเราใช้เงินไปกับอะไร ใบแจ้งหนี้ส่งมาก็ไม่สนใจ ทำให้จ่ายหนี้ช้าตลอด จนถูกตัดน้ำตัดไฟเป็นประจำ 

การหลีกเลี่ยง ทำให้ไม่รู้สถานการณ์การเงินของตัวเอง จนนำพาชีวิตคุณโจไปสู่ความยากลำบากที่สุด ถึงขั้น บ้านโดนยึด ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ติดตัว นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่คุณโจ อยากนำประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ โดยให้คำแนะนำผู้คนผ่านทางเฟซบุ๊ก เพื่อตั้งใจให้ทุกคนหลุดพ้นจากปัญหาการเงิน ซึ่งกล้าพูดเต็มปากเลยว่า 'มีแต่ความทุกข์ทรมาน'

เมื่อถามว่า อะไร คือ สัญญาณอันตรายทางการเงิน? คุณโจ กล่าวว่า เมื่อคุณเริ่มหมุนเงินไม่ทัน หรือเงินอยู่กับเราได้ไม่นาน เงินชักหน้าไม่ถึงหลังและเริ่มยืมเงินจากคนรอบข้างมากขึ้น จนกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวเมื่อไร... สุดท้ายคุณจะกลายเป็นคนล้มละลาย ฉะนั้นหากเริ่มมีสัญญาณเตือนเหล่านี้เข้ามา ต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยด่วน แต่อยากให้กำลังใจว่าไม่ว่าจะล้มตอนอายุเท่าไหร่ ล้มแล้วลุกได้เสมอ การล้มละลายไม่ใช่จุดจบของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตต่างหาก

เมื่อถามถึงนิยามในการบริหารจัดการการเงินที่ดีต้องทำอย่างไร? คุณโจ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ มุมมอง หรือ Mindset ทางการเงินของแต่ละคน ถ้าอยากมีเงิน แต่ไม่หารายได้ ไม่ตั้งใจทำงาน จะใช้ช่องทางกู้หนี้ยืมสินเพียงอย่างเดียว แน่นอนย่อมเป็นหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลับกันถ้าเรามีเงิน แต่ไม่มีวินัยทางการเงิน เช่น ไม่มีการบันทึกการใช้เงินในแต่ละวันหรือไม่ แบบนี้ก็อาจจะทำให้สุขภาพทางการเงินย่ำแย่ได้ในระยะยาว

เมื่อถามว่า ทุกวันนี้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไปบังคับให้ผู้คนเลิกใช้? คุณโจ กล่าวว่า ถ้าต้องใช้ ก็อยากให้ปรับ Mindset ใหม่ เช่น คุณต้องเข้าใจว่า การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะทำให้คุณเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ และนั่นจะทำให้ปัญหาทางการเงินด้านอื่น ๆ ตามมา ควรซื้อเมื่อพร้อม

ขณะเดียวกันการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม (ในต่างประเทศมีโครงการในลักษณะนี้) และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น Mindset ในการใช้เงินก็สำคัญ อย่าปล่อยให้จิตใจเราถูกผลักด้วย Need หรือ Want ลองปรับวิธีคิด ซื้อแต่ของจำเป็น ก่อนของที่อยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับสิ่งใด ก็จะสะท้อนว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น

สรุปแล้วทั้งการจัดการและขจัดปัญหาทางด้านการเงิน ล้วนแล้วแต่ต้องแก้ที่ Mindset ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ถือเป็นเรื่องยาก โดยคุณโจมองว่า คนที่มักจะมีวินัยการเงินได้ดี มักจะประสบวิกฤตมาก่อน แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็สามารถสร้างวินัยการเงินได้ตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอให้วิกฤตมาเยือนได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เมื่อถามว่าควรเริ่มสร้างวินัยทางการเงินตั้งแต่เมื่อไร? คุณโจ แนะว่า ควรเริ่มตั้งแต่วัยประถมเลย เพราะเด็ก ๆ จะได้รู้คุณค่าของเงิน รักเงิน มี Mindset เชิงบวกกับเงิน เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงทางการเงิน และมีสันติสุขทางการเงิน

สำหรับปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั้น โจ มณฑานี กล่าวว่า Mindset การจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นมุมองความคิดที่ทำลายตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เปลี่ยนความคิดนี้ก็อาจจะเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งการเป็นหนี้ในต่างประเทศ เขาจะให้ลูกหนี้เข้ามาเซ็นเพื่อหยุดก่อหนี้ก่อนเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการหยุดก่อหนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นก้าวแรก เพื่อควบคุมหนี้ที่สร้างไว้ก่อน เพราะถ้าไม่หยุดหนี้มันก็มีโอกาสขยายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเข้ากระบวนการควบคุมพฤติกรรม และต้องรู้สถานการณ์ตัวเองว่าตอนนี้มีหนี้อะไรค้างอยู่บ้าง มีดอกเบี้ยเท่าไหร่ หนี้คงค้างเท่าไหร่ เงินต้นคงค้างเท่าไหร่ ถึงจะบริหารได้ โดยเฉพาะ Mindset การใช้เงินว่าจิตใจเราถูกผลักด้วยอะไร need หรือ want ซื้อของจำเป็น หรือซื้อของที่ฉันอยากได้ เราต้องเลือกซื้อของจำเป็นก่อนอยากได้เสมอ ซึ่งการใช้จ่ายเงินไปกับอะไรแสดงว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น เช่น ใช้เงินไปกับคนรักมาก ๆ แสดงว่าเราอยากได้ความรัก เป็นต้น 

เมื่อถามถึงประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในตอนนี้ กับหัวข้อ 'เงินเดือนละ 15,000 บาท ใช้ในเมืองหลวงได้พอจริงหรือไม่?' คุณโจ มองว่า จริง ๆ แล้วอยู่ที่คุณภาพชีวิตที่เราเลือก และคำว่าคุณภาพชีวิตที่ดีของแต่ละคนก็แตกต่างกัน อย่างตนเลือกใช้คุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการปลดหนี้ การมีเงินออมเกษียณ ไม่ต้องรอหมายศาลว่าจะมาเมื่อไหร่ ได้กินของอร่อย ซึ่งพี่กินไข่ต้มราดน้ำปลาพริกก็อร่อยแล้ว เคยกินน้ำก๊อกมาแล้วในช่วงที่ยากลำบาก แต่ก็มีความสุขมากเพราะเปลี่ยนตัวเองแล้วและรู้ว่าจากนี้ไปจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

ในช่วงท้าย คุณโจ ได้กล่าวด้วยว่า "วิกฤตชีวิตที่เกิดขึ้นช่วยลอกเปลือกของเราออกเหลือแต่แก่นของตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งความพอเพียง เป็นกุญแจไปสู่สันติสุขทางการเงิน อย่างทุกวันนี้ก็มีความสุขกับการเขียนหนังสือเล่มใหม่ ๆ หลายเล่ม และที่กำลังจะจัดจำหน่าย คือ เรื่อง 'เด็กๆ ที่ร่ำรวยและมีความสุข' เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้อ่านและนำไปสอนลูก ๆ เกี่ยวกับการเงินได้"

ปัจจุบัน คุณโจ ยังคงเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย พร้อมให้คำปรึกษาทางการเงิน ผ่านทางเฟซบุ๊ก 'Montaneemoney' ท่านใดสนใจก็สามารถติดตามกันได้ตามลิงก์นี้ >> https://www.facebook.com/montaneemoney?mibextid=ZbWKwL


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top