Tuesday, 13 May 2025
วิกรมกรมดิษฐ์

‘วิกรม กรมดิษฐ์’ เจ้าของ ‘อมตะ คอร์ปอเรชัน’ ติดทำเนียบ ‘มหาเศรษฐีใจบุญ ปี 2023’

เมื่อวานนี้ (29 พ.ย. 66) ฟอร์บส์ เอเซีย ได้เปิดเผยทำเนียบมหาเศรษฐีใจบุญปี 2023 ของเอเชีย แปซิฟิก โดยมีรายชื่อทั้งหมด 15 คน ที่บริจาคให้กับการกุศล โดยมีรายชื่อ เช่น แอนดรูว์ ฟอร์เรสต์ นักธุรกิจชาวออสเตรเลีย, ทาเคมิตสึ ทากิซากิ มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น, เหอ เสี่ยงเจี้ยน นักธุรกิจชาวจีน ผู้ก่อตั้งบริษัทเหม่ยตี้ (Midea) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนรายใหญ่ของจีน, โล ตั๊ก กวง เศรษฐีชาวอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและประธานผู้อำนวยการของ Bayan Resources บริษัทเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทย ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ที่มุ่งเน้นพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม เป็นมหาเศรษฐีไทยคนเดียวที่ถูกจัดให้ติดทำเนียบมหาเศรษฐีใจบุญ ปี 2023

โดย ฟอร์บส์ เอเซีย ระบุว่า วิกรม กรมดิษฐ์ ฉลองวันครบรอบอายุ 70 ปีของเขาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วยการเซ็นพินัยกรรมที่ระบุว่า หลังจากที่เสียชีวิต เขาจะบริจาคทรัพย์สินส่วนตัว 99% ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาทแก่มูลนิธิอมตะ มูลนิธิที่เขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 โดยรวมไปถึงหุ้นอมตะ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 7.5 พันล้านบาทด้วย

สำหรับ มูลนิธิอมตะ ได้มอบทุนการศึกษาให้นักเรียน ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย ได้เรียนต่อในระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย รวมถึงมอบทุนส่งเสริมด้านศิลปะและวรรณกรรมไทยด้วย ทั้งนี้ นายวิกรม ยังสร้างคฤหาสน์ในชื่อ อมตะคาสเซิล ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ และให้มูลนิธิใช้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์และหอจัดแสดงงานศิลปะ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปีนี้

“แรงบันดาลใจของผมมาจากประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กที่ยากลำบาก” วิกรม ให้สัมภาษณ์ฟอร์บ ผ่านอีเมล และว่า พวกเราเกิดมาจากศูนย์ (ไม่มีอะไรเลย) และก็จะจากไปกับศูนย์ (ไม่มีอะไรเลย) ฉะนั้นระหว่างนี้เราควรสร้างประโยชน์ และสิ่งที่มีคุณค่าแก่สังคม เพราะมันจะคงอยู่ตลอดไป

ทั้งนี้ วิกรม กรมดิษฐ์ เป็นผู้ถือหุ้น 1 ใน 4 ของอมตะ นิคมอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,000 เฮกตาร์ในไทยและเวียดนาม

วิกรม กรมดิษฐ์ เศรษฐีสุดใจบุญแห่งปี

นับว่าเป็นที่สุดของการแบ่งปัน ที่ทำเอาสังคมลุกขึ้นมาชื่นชมอย่างไม่ขาดสาย เมื่อนายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ ได้ออกมาประกาศว่า ตนเองได้ทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินส่วนตัวให้กับมูลนิธิอมตะมูลค่ากว่า 95% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่ มูลค่า 20,000 ล้านบาท เนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิดปีที่ 70 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 66 ที่ผ่านมา

“อายุ 70 ปีแล้ว สะท้อนว่าเราเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง และมองไปเมื่อวัยเด็กเราเคยลำบากแต่ไม่ใช่ยากจนนะ ครอบครัวเราเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ปู่ทวด ร่ำรวยสุดในกาญจนบุรีแต่ถูกพ่อใช้งานหนักมาก ได้ทุนไปเรียนที่ไต้หวันกำลังจะต่อปริญญาโทวิศวกรรมอวกาศ ที่มหาวิทยาลัยโทรอนโต ปี 1975 แต่ไม่มีทุนเรียนต้องกลับมาหาเงิน

เราจึงคิดว่า ถ้าเราได้ดิบได้ดี เราจะนำมาแบ่งปัน ผมจึงตั้ง ‘มูลนิธิอมตะ’ ขึ้นมาเมื่อ 27 ปีก่อน โดยใช้เงินส่วนตัว 100% เพราะกำหนดเรื่องที่อยากจะทำได้ และที่สำคัญการทำธุรกิจที่ผ่านมา เงินที่ได้มาจากแผ่นดินนี้ สังคมนี้ จึงต้องคืนกลับไป จึงทำพินัยกรรมมอบให้กับมูลนิธิอมตะ และถ้าเสียชีวิตก็จะโอนทั้ง 100% ให้มูลนิธิทั้งหมด” นายวิกรม กล่าวถึงที่มาของเจตนารมณ์ในการมอบทรัพย์สิน

สำหรับ ‘มูลนิธิอมตะ’ ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีโครงการภายใต้วัตถุประสงค์ เช่น โครงการรางวัล นักเขียนอมตะ, โครงการทุนเรียนดี, โครงการประกวดศิลปกรรม อมตะ อาร์ต อวอร์ด, โครงการด้านนวัตกรรม, โครงการหนังสือดีมีประโยชน์สร้างการเปลี่ยนแปลง และโครงการปรับปรุงอุทยานเขาใหญ่สู่อุทยานมาตรฐานโลกภายในเวลา 10 ปี ฯลฯ

ด้านประวัติส่วนตัวของนายวิกรม ที่เผยแพร่โดยเว็บไซต์มูลนิธิอมตะ นายวิกรม กรมดิษฐ์ เกิดวันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2496 จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรชายคนโตของตระกูล มีน้องมารดาเดียวกันและต่างมารดารวม 21 คน จบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน 

เนื่องจากนายวิกรมมีความสนใจการค้าตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้เมื่อเรียนจบ ปี พ.ศ. 2518 เขาจึงได้กลับมาเปิดบริษัท วี แอนด์ เค คอร์ปอเรชัน จำกัด เป็นธุรกิจนำเข้าส่งออก ต่อมาหันมาบุกเบิกธุรกิจด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งในประเทศไทยและอีก 1 แห่งในประเทศเวียดนาม มีโรงงานกว่า 1,300 โรง มียอดการผลิตที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองประเทศมูลค่าการผลิตกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีประชากรที่ทำงานในนิคมทั้งหมดกว่า 3 แสนคน

กระทั่งในปี พ.ศ. 2547 นายวิกรมได้ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในต่างจังหวัดเรื่อยมา โดยมุ่งมั่นถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดผ่านการเขียนหนังสือมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขาได้ได้นำประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่วัยเด็กมาเรียบเรียงเขียนเป็นหนังสือ และได้เผยแพร่ไปแล้วกว่า 11.6 ล้านเล่ม และยังคงจะเขียนต่อไปเพื่อให้สังคมสามารถเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ได้ในโอกาสต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามความตั้งใจ หลังจากที่ได้เรียนรู้ ฝึกฝนชีวิตกับวิกฤตต่าง ๆ จนขับเคลื่อนให้ธุรกิจกลุ่มอมตะประสบความสำเร็จในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเมืองนวัตกรรมเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ด้วยแนวคิดที่ว่า “เราเกิดมาจากศูนย์และจากไปเป็นศูนย์ ระหว่างศูนย์เราควรสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ และคุณค่าฝากไว้ให้กับสังคมในระยะยาวตลอดไป”

ภารกิจของ ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ที่หลากหลายทั้งผู้บริหารอมตะ การทำงานเพื่อสังคม รวมไปถึงในฐานะนักเขียน ทำให้เขามีฐานแฟนคลับทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลให้ชื่อ ‘วิกรม กรมดิษฐ์’ ติดอยู่บนทำเนียบ ‘มหาเศรษฐีใจบุญปี 2023’ จาก ‘ฟอร์บส์ เอเซีย’ ซึ่งถือเป็น ‘คนไทยเพียงคนเดียว’ ที่ติดอันดับในครั้งนี้ด้วย

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”

‘วิกรม’ แนะ!! ผู้ประกอบการไทย ปรับตัวรับ ‘ภาษีทรัมป์’ กระจายตลาดส่งออกสินค้า พัฒนาศักยภาพการผลิต!! สร้างฐานการผลิตสินค้าใหม่ ป้อนตลาดทั่วโลก

(12 พ.ค. 68) นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า จากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐ ที่เรียกเก็บจากประเทศผู้ส่งออกทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เชื่อว่าทุกประเทศที่เป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน  แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลการเจรจา ซึ่งผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว เช่นการขยายไปยังตลาดใหม่ๆ  ลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯเพียงอย่างเดียว ปรับแผนการผลิตโดยวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดรับกับทิศทางของตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการกระจายสินค้าไปได้ทั่วโลก

ขณะเดียวกันมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศในอาเซียน มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 10% ในทุกๆปี  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการค้าในอาเซียน และจีนเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะจีน ที่มีจำนวนประชากรและอัตราการเติบโตรายได้ต่อหัวค่อนข้างสูงทำให้ยังเป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยที่จะส่งออกไปยังประเทศจีน โดยอาศัยความได้เปรียบในด้านภูมิศาสตร์ที่สามารถส่งสินค้าไปได้ ทั้งระบบขนส่งโดย รถยนต์ และระบบราง เป็นต้น  

“สิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องปรับตัวให้ได้ เพราะผู้ประกอบการที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ไม่ได้มีเป้าหมายส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ อย่างเดียว แต่ส่งสินค้าไปยังทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ แอร์  ทำให้เกิดกระจายตลาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จากอดีตที่ตลาดส่งออกของไทยให้ความสำคัญกับ 3 กลุ่มประเทศหลักประกอบด้วย สหรัฐฯ  ยุโรป และญี่ปุ่น  ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อย 20% ในแต่ละประเทศ แต่สถานการณ์ปัจจุบันจะพึ่งพิงตลาดในอาเซียน และจีนเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วน ของ 3ประเทศหลักเดิม มีสัดส่วนลดลงมาอย่างต่อเนื่อง” นายวิกรมกล่าว

นายวิกรม กล่าวอีกว่า การปรับตัวที่จะสามารถยังคงรักษาการเติบโตต่อไปได้ ต้องนำบทเรียนของประเทศต่าง ๆ ที่พัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง แม้ว่าต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในทุกรูปแบบมาโดยตลอด เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ  โดยเริ่มการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ จากการเปิดรับ บุคลากร ที่มีความสามารถจากประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมมือกับคนในประเทศ ขณะที่ประเทศไทยควรนำมาเป็นแบบอย่าง เช่น ดึงคนเก่งจากต่างประเทศมาเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพในการผลิตและบุคคลากร  รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือ โนฮาวน์ มาพัฒนาการผลิตสินค้าใหม่ๆตรงกับความต้องการของตลาด  เพื่อยกระดับสินค้าไทย 

“ปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเพื่อการส่งออก 80% เป็นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง สามารถกระจายไปยังทั่วโลก และพึ่งพิงตลาดในประเทศเพียง 20%” นายวิกรมกล่าว

ด้านนายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวว่า  เชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยและปรับตัวเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลจากขึ้นภาษีของสหรัฐฯเนื่องจากเรามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจระดับโลก ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการเลือกไทยเป็นฐานการผลิตและการลงทุน รวมถึงศักยภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและเป็นศูนย์กลางทางการผลิตในภูมิภาคเอเชียทำให้เราสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง 

สำหรับแผนเดินหน้าของของกลุ่มอมตะในปีนี้ ยังคงรักษาการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากบริษัทกลุ่มอมตะ มีนิคมอุตสาหกรรมในหลายประเทศที่รองรับการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ทั้งนิคมฯ อมตะในไทยประเทศเวียดนาม    และที่อยู่ระหว่างการพัฒนาใน สปป.ลาว   ดังนั้นการตัดสินใจของนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในนิคมฯ ต้องใช้องค์ประกอบหลายด้านในการย้ายฐานการผลิต เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว ต้องพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ โครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพแรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่อการลงทุน  ที่สำคัญผู้ประกอบได้มีการเตรียมตัว และคาดการณ์เพื่อรับผลกระทบที่เกิดขึ้นของตลาดสหรัฐฯล่วงหน้าอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์เกิดขึ้นไว้ในระดับหนึ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top