Thursday, 24 April 2025
วันศิลปินแห่งชาติ

24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เนื่องจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระปรีชาสามารถในศิลปกรรมด้านต่างๆ หลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านกวีนิพนธ์ ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ดังนั้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันศิลปินแห่งชาติ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม) ได้จัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงาน ศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา ความสำคัญของศิลปินแห่งชาติ ที่นับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการ ศิลปินแห่งชาติ มาเมื่อปี พ.ศ. 2527 และประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน มีศิลปินสาขาต่างๆ มาแล้วหลายคน 

‘วธ.’ จัดงาน ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2566

‘วธ.’ จัดงาน ‘วันศิลปินแห่งชาติ’ น้อมรำลึกพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เชิญชวนนักเรียน-ประชาชนเข้าชมนิทรรศการ เผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2566 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

(25 ก.พ. 66) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับและเปิดนิทรรศการแสดงประวัติ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหาร คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ เข้าร่วมแสดงความยินดีและชมนิทรรศการแสดงประวัติ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

โดยศิลปินแห่งชาติที่เข้าร่วมงาน อาทิ สมศักดิ์ เชาว์ธาดาพงศ์, กมล ทัศนาญชลี, ศ.เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ, วรนันท์ ชัชวาลทิพากร, สิงห์คม บริสุทธ์, เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี, ปัญญา วิจินธนสาร, ธงชัย รักปทุม, ชมัยภร บางคมบาง, อรสม สุทธิสาคร, รุ่งฤดี เพ็งเจริญ, วินัย พันธุรักษ์, วิรัช อยู่ถาวร, ประยงค์ ชื่นเย็น, ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี, สุประวัติ ปัทมสูต, ทัศนีย์ ขุนทอง, ชัยชนะ บุญนะโชติ, รศ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์, ศ.ปริญญา ตันติสุข, นางสุดา ชื่นบาน, นางเพ็ญศรี เคียงศิริ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานเปิดนิทรรศการฯ กล่าวว่า ศิลปินแห่งชาติถือเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศในศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผลงานด้านศิลปะ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และสร้างขวัญกำลังใจแก่ศิลปินแห่งชาติมาอย่างต่อเนื่อง นิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2564 ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดขึ้นนี้ ถือเป็นการเผยแพร่ผลงาน อันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง อันจะเป็นประโยชน์ และสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ และการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป

วธ.จัดงานวันศิลปินแห่งชาติ น้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระปฐมบรมศิลปินแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ เชิญประชาชน-ศิลปินรุ่นใหม่เข้าชมนิทรรศการประวัติและผลงาน ๑๒ ศิลปินแห่งชาติ ระหว่าง ๒๔ ก.พ. - ๙ มี.ค. ๖๗ นี้ 

เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับและเปิดนิทรรศการแสดงประวัติ ผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๕ เนื่องในวันศิลปินแห่งชาติ  โดยมี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ ทั้ง ๓ สาขา พร้อมผู้บริหาร เข้าร่วมพิธีทำบุญและแสดงความยินดีพร้อมชมนิทรรศการ ณ อาคารอเนกประสงค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธาน กล่าวว่า ศิลปินแห่งชาติถือเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศในศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ได้อุทิศตนสร้างสรรค์ ถ่ายทอดผลงานด้านศิลปะ เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และสร้างขวัญกำลังใจแก่ศิลปินแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง และได้มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ แล้ว ๓๕๔ ท่าน โดยนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจัดขึ้นในนี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวาง อันจะเป็นประโยชน์ และสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบไป
 
 ด้านนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ และเพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้และให้ความสำคัญกับวันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี นอกจากนั้น ยังเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของศิลปินแห่งชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง  

นายโกวิท กล่าวต่อว่า นิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ทั้ง ๑๒ ราย ประกอบด้วย สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร (ภาพพิมพ์) นายเจตกำจร พรหมโยธี (สถาปัตยกรรมผังเมือง) นายดิเรก สิทธิการ (งานสลักดุนเครื่องเงินและโลหะ) นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์) สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์  นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางนพรัตน์ศุภาการ หวังในธรรม (ละครรำ)  นายสมชาย ทับพร (ดนตรีไทย - ขับร้อง)  นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร (หมอลำประยุกต์) นายธงไชย แมคอินไตย์ (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) นายสมเถา สุจริตกุล (ดนตรีสากล - ประพันธ์เพลงร่วมสมัย) และ นายประดิษฐ  ประสาททอง (ละครร่วมสมัย)
 
ปิดท้ายงานวันศิลปินแห่งชาติ ด้วยงานเลี้ยงแสดงความยินดี ณ หอประชุมเล็ก ศวท. โดยมีการแสดงของศิลปินแห่งชาติ จำนวน ๕ ชุด ได้แก่ -การแสดงทางวัฒนธรรมโดยคณะการแสดงของ นางนพรัตน์ศุภาการ หวังในธรรม (ละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง อิเหนา ตอนไหว้พระ, ละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง จันทกินรี และ ระบำมยุราภิรมย์) -การแสดงบรรเลงขับร้องเพลงไทยเดิม โดยคณะการแสดงของ นายสมชาย ทับพร -การแสดงหมอลำชุด “ออนซอนศิลป์ ลำแคนแดนอีสาน” โดยคณะการแสดงของ นางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร -การแสดงละครร่วมสมัยผสมลิเก เรื่อง  “ข้าชื่อดอนกิโฆเต้” โดยคณะการแสดงของ นายประดิษฐ ประสาททอง และการแสดงออเคสตร้า โดย นายสมเถา สุจริตกุลและวงสยาม ซินโฟนิเอตต้า 
 
ทั้งนี้ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าชมนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๕ ณ อาคารอเนกประสงค์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระหว่างวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ - ๙ มีนาคม ๒๕๖๗ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

เจนกิจ นัดไธสง รายงาน

24 กุมภาพันธ์ของทุกปี วันศิลปินแห่งชาติ รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 2 และยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์มรดกศิลปะไทย

วันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายด้านของศิลปกรรม อาทิ กวีนิพนธ์ ดนตรี และประติมากรรม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีผลงานที่ยิ่งใหญ่ในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับช่างประติมากรรมสมัยนั้นในการแกะสลักบานประตูไม้พระวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่ถือเป็นผลงานชั้นเยี่ยม ปัจจุบันบานประตูนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมที่มีคุณค่ามากมาย เช่น "อิเหนา" ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดของกลอนบทละครรำจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 และยังทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกอีกถึง 5 เรื่อง ได้แก่ ไกรทอง พระไชยเชษฐ์ คาวี สังข์ทอง และมณีพิชัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในสาขาวรรณกรรม เพื่อแสดงถึงความสำคัญในวงการศิลปะและวรรณกรรมโลก

ด้วยพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ จึงมีการจัดตั้งวันศิลปินแห่งชาติขึ้นเพื่อเชิดชูและยกย่องศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ยิ่งใหญ่ โดยในปี พ.ศ. 2527 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งในขณะนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำ "โครงการศิลปินแห่งชาติ" เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศิลปินผู้มีผลงานดีเด่นในทุกสาขาของศิลปะ

โครงการนี้มีจุดประสงค์ในการส่งเสริมและยกย่องศิลปินที่ช่วยรักษาและสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาและคัดเลือกศิลปินที่มีผลงานทรงคุณค่า ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2527 จนถึงปัจจุบัน ได้มีศิลปินหลายท่านที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ

การยกย่องศิลปินแห่งชาติไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณค่าของศิลปะในปัจจุบัน แต่ยังช่วยถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่และเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติและศิลปะพื้นบ้านทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ เพื่อสร้างความตระหนักและยกย่องผลงานศิลปะที่มีคุณค่าของไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top