25 กุมภาพันธ์ของทุกปี ‘วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ’ วันแรกที่ประเทศไทยมีการกระจายเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรก
25 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ ซึ่งกิจการวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2471 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และการคมนาคมในสมัยนั้น ซึ่งได้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะ โดยใช้ชื่อว่า “สถานี 4 พีเจ (4PJ)" และต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ และทดลองที่ตำบลศาลาแดงโดยใช้ชื่อว่า “เอช เอส หนึ่ง หนึ่ง พีเจ (HS 11 PJ)” ซึ่งคำว่า PJ มาจากคำว่า “บุรฉัตรไชยากร” ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ได้มีการเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” (Radio Bangkok at Phyathai) ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ ซึ่งพิธีการเปิดได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร โดยมีใจความว่า “การวิทยุกระจายเสียงที่ได้เริ่มจัดขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายว่าจะส่งเสริมการศึกษาการค้าขายและการบันเทิง แก่พ่อค้า ประชาชน เพื่อควบคุมการนี้เราได้ให้แก้ไขพระราชบัญญัติดังที่ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนกันยายนแล้ว และบัดนี้ดั่งเครื่องกระจายเสียงอย่างดีมาตั้งที่สถานีวิทยุโทรเลขพญาไทเสร็จแล้ว เราจึงถือโอกาสสั่งให้เปิดใช้เป็นปฐมฤกษ์ตั้งแต่บัดนี้ไป” นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย
