เปิดคำ 'พล.อ.เกษม' ครูผู้สอนนายกฯ สมัย จปร. ยก ‘บิ๊กตู่’ มี ‘คุณธรรม-จริยธรรม-ความซื่อสัตย์’
นายกฯ ร่วมพิธีงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี 2566 คารวะครูอาวุโส พร้อมมอบโล่รางวัลแด่ครูของแผ่นดิน เชื่อมั่นพลังของครู คือหัวใจการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา ขอร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาการเรียนรู้เด็กเพื่ออนาคตของประเทศ
(16 ม.ค. 66) ณ หอประชุมคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีงานวันครู ครั้งที่ 67 ประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ และส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ประกอบคุณงามความดี หรือทำคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนและเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นหลังได้ยึดถือปฏิบัติตาม ภายใต้แนวคิด ‘พลังครู คือ หัวใจของการพลิกโฉมคุณภาพการศึกษา’ (Teacher’s Power is the Heart of Transforming the Educational Quality) โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะครู และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายกรัฐมนตรีวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสักการะปฐมบูรพาจารย์ฯ แท่นที่บูชาศีรษะครู จำนวน 7 องค์ ตามลำดับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีสักการะพระรัตนตรัย ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคารวะครูอาวุโส พลเอก เกษม นภาสวัสดิ์ อดีตครูผู้สอนนายกรัฐมนตรี วิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และรับชมวีดิทัศน์เรื่อง ‘ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต’ ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีมอบโล่รางวัล จำนวน 17 รางวัล ประกอบด้วย 1) รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2566 จำนวน 8 ราย และ 2) รางวัลคุรุสภา ประจำปี 2565 ‘ระดับดีเด่น’ จำนวน 9 ราย
นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศรัยเนื่องในวันครู ครั้งที่ 67 พ.ศ. 2566 ว่า การได้เข้าร่วมสักการะปฐมบูรพาจารย์ คารวะครูอาวุโส นับเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อครูผู้มีพระคุณ ผู้คอยเสริมสร้างภูมิปัญญาให้แก่ศิษย์ด้วยความอุตสาหะ อดทน เสียสละ ด้วยความหวังให้ลูกศิษย์มีความเจริญก้าวหน้าด้านสติปัญญา มีจิตใจที่มีคุณธรรมสำหรับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ ซึ่งนับว่าเป็นหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของครูในการสร้างสรรค์ศิษย์ให้มีคุณลักษณะที่ดี เป็นพลเมืองดี และเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของสังคม และเชื่อมั่นว่าพลังของครูคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการสร้างและการพัฒนาคนเพื่ออนาคตของประเทศ ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษานับเป็นผู้มีความสำคัญอย่างมากในการเป็นผู้นำการเรียนรู้ กระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน โดยเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาวที่คุณครูทุกคนจะต้องร่วมกันแต่งแต้มถักทอให้สวยงาม ทำให้เด็กสนใจการศึกษา สนใจการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปตามลำดับ ทั้งยังต้องเป็นผู้เติมเต็มความรู้และพัฒนาผู้เรียนให้มีปัญญาที่งอกงาม พร้อมจุดประกายให้ผู้เรียนรู้จักคิดเป็น แก้ไขปัญหาได้ มีหลักคิดที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม มีจิตสาธารณะ เผื่อแผ่ แบ่งปัน และมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ อันจะทำให้ผู้เรียนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพ และมีสมรรถนะในการปรับตัวได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในอนาคต
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบริบททางสังคมในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วควบคู่กับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ดังนั้นครูและผู้บริหารการศึกษาจึงต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางการจัดการศึกษาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้แก่...
1) เน้นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีสมรรถนะในการออกแบบการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างรู้เท่าทัน และทักษะการใช้ชีวิตในโลกอนาคต รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม ครอบครัว รู้รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2) ส่งเสริมการสร้างสมรรถนะการจัดการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมากขึ้นในอนาคต
3) การจัดสถานการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนได้รู้จักรากเหง้าความเป็นมาของชาติ และเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคนไทย โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องออกแบบจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดความรัก ความภาคภูมิใจ หวงแหนแผ่นดินเกิด และเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น รวมทั้งไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง ปลูกฝังความเป็นไทย ความรักและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ชาติประวัติศาสตร์ชุมชน ปลูกฝังจิตสำนึกตอบแทนคุณแผ่นดินและพัฒนาบ้านเกิดในอนาคต และต้องอยู่บนหลักการที่ทำให้นักเรียนสามารถสร้างความรู้ขึ้นเองด้วยหลักของเหตุและผล
4) การยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลมีความปรารถนาและมุ่งมั่นมากที่สุด โดยทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะต้องพุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับห้องเรียน และต้องใช้ปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นตัวตั้ง จากนั้นครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษาจะต้องนำปัญหาการเรียนรู้ของนักเรียนมาเป็น “ประเด็นท้าทาย” แล้วลงมือทำงานร่วมกันในลักษณะของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายใต้กระบวนการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพนักเรียน นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งการนำความสำเร็จในการแก้ปัญหามาเป็นตัวชี้วัดผลปฏิบัติงานและความเจริญก้าวหน้าในเส้นทางวิชาชีพของครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย
