Monday, 21 April 2025
วอร์เรนบัฟเฟตต์

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ขายหุ้น TSMC เกลี้ยง  หวั่นปัญหาจีน-ไต้หวัน เตรียมเบนเข็มไปที่ ญี่ปุ่น

ความตึงเครียดระหว่าง จีน - ไต้หวัน ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก รวมไปถึงมหาเศรษฐีนักลงทุนชาวสหรัฐอเมริกา อย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์เช่นกัน

และสิ่งที่ทำให้นักลงทุนอึ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้ง ของบัฟเฟตต์ ได้เทขายหุ้นในบริษัท ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (TSMC) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลกออกไปในสัดส่วน 86% ของมูลค่ารวม 4,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากได้เข้าซื้อเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า ผิดกับวิสัยการลงทุนของบัฟเฟตต์ที่มักจะลงทุนและถือครองหุ้นนั้นในระยะยาว

บัฟเฟตต์ได้ชี้แจงในบทสัมภาษณ์ Nikkei เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 ว่า การเทขายหุ้น TSMC ออกไปเกือบทั้งหมด เนื่องจากมีความกังวลในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐต่อกรณีไต้หวัน ซึ่งบริษัท TSMC ก็เป็นบริษัทในไต้หวันและมีฐานการผลิตหลักอยู่ที่ไต้หวันด้วย 

บัฟเฟตต์ ยอมรับว่า TSMC เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรม มีคนเก่ง ๆ อยู่มาก และบริหารจัดการดี และโดยส่วนตัวก็มีความสัมพันธ์อันดีกับ มอร์ริส ฉาง (Morris Chang) ผู้ก่อตั้ง TSMC แต่ก็โชคร้ายมีชัยภูมิแย่เพราะดันตั้งอยู่ไต้หวัน ดังนั้น ภูมิรัฐศาสตร์แห่งนี้ จะได้รับผลกระทบทุกครั้งที่จีนกับสหรัฐฯ ขัดแย้งกัน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ ได้เข้ามาลงทุนโดยตรงในเอเชีย ซึ่งเริ่มจากการลงทุนใน PetroChina ในปี 2002 จากนั้นในจึงเป็น Posco ผู้ผลิตเหล็กของเกาหลีใต้ในปี 2006 ส่วนปี 2008 เขาเริ่มลงทุนใน BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเซินเจิ้น ประเทศจีน แต่ก็ได้ทยอยขายหุ้นออกไปออกไป และกลับไปลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ตนเองคุ้นเคย

ซึ่งจากตัวเลขการลงทุนของ Berkshire Hathaway ณ สิ้นเดือนมี.ค. 66 พบว่า กว่า 77% ของพอร์ตการลงทุนผ่านหุ้นมูลค่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 10.8 ล้านล้านบาท) นั้น จะประกอบไปด้วยหุ้นสหรัฐเพียง 5 ตัวเท่านั้น ได้แก่ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cola และ Chevron

ทั้งนี้ นอกจากเทขายหุ้น TSMC ออกไปแล้ว ยังพบว่า Berkshire Hathaway ได้ซื้อหุ้น Apple เพิ่มขึ้นอีก 20.8 ล้านหุ้น มูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 5.8% 

และแม้ว่า บัฟเฟตต์ จะทยอยขายหุ้นที่ลงทุนอยู่ในจีน และไต้หวันออกไป แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งการลงทุนในเอเชียเสียทีเดียว แต่เริ่มมองหาแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ

แหล่งลงทุนที่ บัฟเฟตต์ ให้ความสนใจก็คือ ญี่ปุ่น นั่นเอง โดยได้ให้สัมภาษณ์กับ นิกเคอิ เอาไว้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า Berkshire Hathaway ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน 'ห้ากลุ่มบริษัท' ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นเป็น 7.4% ได้แก่ Itochu, Marubeni, Mitsubishi Corp., Mitsui & Co. และ Sumitomo Corp. 

โดยมูลค่าตลาดรวมของการถือครองสินทรัพย์ในญี่ปุ่นของ Berkshire Hathaway ณ วันที่ 19 พ.ค. อยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.52 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ซึ่งถือเป็นการลงทุนนอกสหรัฐ ที่มากที่สุดของบัฟเฟตต์ อีกด้วย

แม้ว่า การลงทุนในญี่ปุ่น อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่หวือหวาได้เช่นเดียวกับ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่เป็นหัวใจหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แต่บัฟเฟตต์มองว่า บริษัทของญี่ปุ่นมีประวัติของรายได้ที่มั่นคง เงินปันผลที่เหมาะสม และมีการซื้อคืนหุ้น (Share Buybacks) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งบัฟเฟตต์ มีความชื่นชอบอย่างยิ่ง เนื่องจากการซื้อคืนหุ้น เพิ่มความเป็นเจ้าของบริษัท โดยไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การย้ายเงินลงทุนออกจากจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน แล้วเข้าไปยังญี่ปุ่น เป็นการตัดสินใจที่ง่ายมากสำหรับ บัฟเฟตต์ เพราะไม่ต้องวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน แถมยังได้ลงทุนในตลาดที่ตรงตามสไตล์ที่มองถึงความมั่นคงในระยะยาวนั่นเอง

จับตา Money Game ใหญ่ที่สุดในโลก หลังกลุ่ม Hedge Fund แทงสวน ‘ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์’

(8 ส.ค.66) เพจ 'ทันโลกกับ Trader KP' โพสต์ข้อความว่า จับตา Money Game ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ เมื่อเหล่า Hedge Fund ทั่วโลกอย่าง Bill Ackman กำลัง Short พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะที่เหล่านักลงทุนรายใหญ่อย่าง Warren Buffett กำลังเข้าซื้อมากที่สุดในประวัติศาสตร์

แล้วฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะ ?!?

ทั้งนี้ ทางเพจได้โพสต์กราฟตัวเลขการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล พร้อมระบุว่า ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณ Money Game ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากพิจารณาจากกราฟในภาพ จะพบแรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากฝั่งนักลงทุน ผู้บริหารกองทุน กำลังเพิ่มปริมาณสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะในฝั่งของนักลงทุนที่มองว่าการถือพันธบัตรมีความเสี่ยงน้อย โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้น

จุดนี้ทำให้แม้แต่นักลงทุนชื่อดังอย่าง Warren Buffett ก็ได้ออกมาเผยว่า เขาและ Berkshire Hathaway เพิ่งซื้อตั๋วเงินคลัง (T-Bill) สหรัฐฯ ไป 10,000 ล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และซื้อเพิ่มไปอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ และมีแผนจะซื้อเพิ่มอีกในสัปดาห์หน้า 

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อหันไปดูการซื้อขายของฝั่ง Hedge Fund ทั่วโลก จะพบว่า นักลงทุนกลุ่มนี้กำลังทำในแบบตรงข้ามกับกองทุนและนักลงทุนอย่างชัดเจน เพราะพวกเขากำลังขายหรือเก็งกำไรในขาลง (Short Sell) ตัวพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในระดับที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน

เช่น ทาง Bill Ackman หนึ่งในนักลงทุนชื่อดัง ซึ่งได้เปิดเผยว่า เขากำลัง Short พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 30 ปี อยู่เป็นจำนวนมาก นั่นหมายความว่า ทางนักลงทุนกลุ่มนี้ คาดในไม่ช้าจะหมดยุคดอกเบี้ยขาขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลลัพธ์ของเกมนี้กันต่อไป เพราะครั้งนี้ปู่ Warren ซื้อพันธบัตรระยะสั้น 3-6 เดือน อาจทำเพียงเพื่อให้เป็นข่าวพาดหัวว่าปู่เข้าซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาล ซึ่งมีการคาดเดาว่ามีใครขอให้ช่วยหรือไม่ เนื่องจากโดยธรรมชาติของปู่ Warren มักจะซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวกว่านั้น

เหตุผลที่ 'ปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์' ขายหุ้น Apple ออกกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต 'การเติบโตเริ่มจำกัด-ยอดขายในจีนตก-กระแสเงินสดไปจมอยู่กับ AI'

(9 ส.ค.67) สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Live สด กับ Business Tomorrow เมื่อ 8 ส.ค. 2567 เวลา 20.00 น. โดยให้มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และท่าทีของคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่ขายหุ้น Apple ครั้งใหญ่

ทำไมปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถึงขายหุ้น Apple ออกกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ต? ปู่เห็นสัญญาณอะไรที่เราไม่รู้? 

สำหรับการขายหุ้น Apple ของปู่ ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการลงทุนของสัปดาห์นี้เลยทีเดียว เพราะทิ้งคำถามตัวใหญ่ ๆ ให้นักลงทุนทั่วโลกสงสัยและต้องการคำตอบของการตัดสินใจของปู่ครั้งนี้ เนื่องจาก Apple ถือว่าเป็นหุ้นคู่บุญของ Berkshire Hathaway มานับหลายปี 

คุณสิทธิชัย มองว่า การขายครั้งนี้อาจมาด้วยเหตุผลการลงทุนระยะยาว ที่มองถึงอัตราการเติบโตของ Apple ที่เริ่มจำกัดและอาจไม่ได้ดีเท่าที่ผ่านมา รวมถึงยอดการขายในประเทศจีนที่ลดลง 

เพราะในอดีตเราจะสังเกตว่าคุณปู่ชอบหุ้น Apple เพราะถือเงินสดเยอะมาก แต่ตอนนี้เทรนด์โลกเปลี่ยน ทำให้ Apple ต้องปรับตัว บริษัทจึงใช้เงินไปลงทุนด้าน AI ค่อนข้างเยอะ รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ หลายอย่างที่ Apple ตั้งแผนไว้ ซึ่งคำถามว่า ‘เงินมหาศาลที่ Apple ลงทุนไป’ จะได้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคตไหม นั่นก็เป็นสิ่งที่เราไม่รู้

ส่วนคำถามว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ ขายเพราะกังวลเศรษฐกิจแย่ไหม? คุณสิทธิชัยมองว่า การขาย Apple ‘อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแย่แต่อย่างใด’ เพราะภาพระยะสั้น ครึ่งปีหลัง 2024 - ต้นปี 2025 หุ้น Apple อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้น Coca-Cola หรือ หุ้น OXY ที่ปู่ถืออยู่ด้วยซ้ำ 

เมื่อถามกลุ่มหุ้น 7 นางฟ้าที่น่าสนใจสำหรับปู่ในตอนนี้ (Apple, Amazon, Alphabet, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla) คุณปู่จะซื้อตัวไหน? ในมุมของคุณสิทธิชัยมองว่าตัวนั้นคือ Microsoft ด้วยเหตุผลว่ามี Total Addressable Market, มีอัตราเติบโตที่ดี และราคาไม่แพงมาก

‘ดร.สุวินัย’ ซูฮก 'วอร์เรน บัฟเฟตต์' ไม่หลงในเงินตรา หลังบริจาคทรัพย์สินเกือบทั้งหมดให้การกุศล

(27 พ.ย. 67) ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าบั้นปลายของ "เทพสมบัติ" อันดับหนึ่งของโลก

'วอร์เรน บัฟเฟตต์' ปิดฉากอาณาจักรความมั่งคั่งของเขา ด้วยการ บริจาคเงินทั้งหมดของเขาให้การกุศล โดยเขาได้บริจาคเงินให้การกุศลเพิ่มอีก 1.1 พันล้านดอลลาร์ และตั้งทรัสตี 3 คนรับไม้ต่อจากลูกทั้ง 3 เพื่อบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเขาไม่วางใจคนรุ่นต่อไปว่าจะบริหารสินทรัพย์ได้ดีแค่ไหน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในนักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และผู้ก่อตั้งบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างจากมหาเศรษฐีหลายคน ด้วยการตัดสินใจ ไม่สร้างอาณาจักรความมั่งคั่ง ให้กับทายาทของตนเอง

เพราะแทนที่จะส่งต่อทรัพย์สินมหาศาลให้ลูกหลานโดยตรง บัฟเฟตต์กลับเลือกที่จะแต่งตั้งผู้ดูแลทรัพย์สินอิสระ 3 คนเพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของเขาจะถูกนำไปใช้เพื่อการกุศลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง หลังจากที่เขาและภรรยาเสียชีวิตลง พร้อมกับบริจาคหุ้น Berkshire Hathaway เพิ่มอีก 1,100 ล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิทั้ง 4 แห่งของครอบครัว เพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเขา

ก่อนหน้านี้ บัฟเฟตต์ได้ให้สัญญามาโดยตลอดว่าจะบริจาคเงิน 99% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ได้มาตั้งแต่ปี 1965 แทนที่จะทิ้งเป็นมรดกให้กับลูกทั้ง 3 คน เพราะเขามองว่ามรดกอาจทำให้ขาดแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง และสร้างความแตกแยกในครอบครัว 

นอกจากนี้ การที่ทรัพย์สินมหาศาลตกทอดไปยังคนรุ่นหลัง อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางสังคมได้เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่าคนรุ่นถัดไปจะเลือกกระจายทรัพย์สินเหล่านี้อย่างไร

บัฟเฟตต์ไม่ได้ต้องการสร้างอาณาจักรธุรกิจมอบให้ลูกหลาน แต่เลือกที่จะบริจาคทรัพย์สินให้กับการกุศลแทน เนื่องจากกังวลว่ารุ่นต่อ ๆ ไปอาจไม่สามารถบริหารจัดการความมั่งคั่งมหาศาลได้อย่างเหมาะสม

คนบางคนเกิดมาเพื่อเป็น "เทพสมบัติ" โดยแท้ 
คือเป็นผู้ที่มีอำนาจจิตที่เหนือเงินตรา เป็นนายของเงินตรา 
โดยที่เงินตราเป็นข้ารับใช้ที่ดีของเขาเท่านั้น
คนแบบนี้น่าจะมีแค่หนึ่งในพันล้าน
ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อเป็น "ผู้ชนะถาวร" อย่างชนิดอยู่เหนือเกมการเงิน
แต่กลับกินอยู่อย่างสมถะ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ติดหรู ไม่อวดรวย ไม่ฟุ้งเฟ้อ 
เพราะมีปัญญาญาณที่มองทะลุถึง 'มายาของเงินตรา'
ภายหลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่แล้ว กลับบริจาคเงินเกือบทั้งหมด (99%) ให้กับการกุศล เพื่อบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่ง

นี่คือการใช้ชีวิตดุจ "เทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง" อย่างแท้จริง
เพราะกระทำเช่นนี้ เรื่องราวของเขาจักเป็นตำนานตลอดไปอีกนานเท่านาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top