Tuesday, 22 April 2025
วลาดิมีร์ปูติน

'ยูเครน' โวย!! รัสเซียผิดคำพูดเดินหน้าถล่มรอบกรุงเคียฟ บีบีซีอ้าง!! 'ปูติน'​ ขู่ไม่หยุดโจมตีมาริอูโปลจนกว่ายอมจำนน

กองกำลังรัสเซียทิ้งบอมบ์ถล่มพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงเคียฟ และเมืองอื่นอีกแห่ง ไม่กี่ชั่วโมงหลังสัญญาลดระดับปฏิบัติการลงในพื้นที่แถบนี้ เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสองฝ่าย จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ยูเครนในวันพุธ (30 มี.ค.) ขณะเดียวกัน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บอกว่าการยิงถล่มเมืองมาริอูโปลที่ถูกปิดล้อมนั้นจะยุติลงก็ต่อเมื่อทหารของยูเครนยอมวางอาวุธ

การยิงถล่มและโจมตีอย่างหนักหน่วงของรัสเซียในหลายพื้นที่ของยูเครน กัดเซาะมุมมองในแง่บวกเกี่ยวกับความคืบหน้าใดๆ ในการเจรจาสันติภาพที่มีเป้าหมายหยุดสงครามที่สร้างความเจ็บปวดทรมาน

ในคำแถลงเมื่อวันอังคาร (29 มี.ค.) กองทัพรัสเซียระบุว่าจะลดระดับปฏิบัติการใกล้เมืองหลวงและเมืองเชอร์นิฮิฟ ทางภาคเหนือของประเทศ "เพื่อเพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจกันและสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเจรจาในอนาคต" แต่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน และตะวันตกรู้สึกคลางแคลงใจเป็นอย่างมาก

ไม่นานหลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ยูเครนรายงานว่ารัสเซียยิงปืนใหญ่ถล่มบ้าน ร้านค้า ห้องสมุด และที่ตั้งพลเรือนอื่นๆ ทั้งในและรอบๆ เมืองเชอร์นิฮิฟและแถบชานเมืองของกรุงเคียฟ นอกจากนี้ ทหารรัสเซียยังยกระดับโจมตีในภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออกและรอบๆ เมืองอิซุม ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางหลักที่มุ่งหน้าสู่ดอนบาส หลังจากจัดวางกองกำลังใหม่จากพื้นที่อื่นๆ

โอเล็กซานเดอร์ โลมาโก เลขาธิการสภาเมืองเชอร์นิฮิฟ บอกว่าคำแถลงของรัสเซียปรากฏชัดแล้วว่าเป็นคำโกหกโดยสิ้นเชิง "ตอนกลางคืนไม่เขาไม่ได้ลดระดับลง แต่ในทางกลับกันได้เพิ่มความหนักหน่วงของปฏิบัติการด้านการทหาร”

5 สัปดาห์หลังการรุกราน มีผู้เสียชีวิตแล้วหลายพันคนจากทั้ง 2 ฝ่าย จำนวนชาวยูเครนที่หลบหนีออกนอกประเทศพุ่งแตะระดับ 4 ล้านคน ในนั้นครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก จากข้อมูลของสหประชาชาติ

ในการเจรจาในอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันอังคาร (29 มี.ค.) ความเป็นไปได้ของข้อตกลงสันติภาพดูเหมือนจะปรากฏขึ้น เมื่อผู้แทนของยูเครนเสนอกรอบๆ หนึ่ง ซึ่งประเทศของพวกเขาจะประกาศตนในฐานะเป็นกลาง ละทิ้งความพยายามเข้าร่วมนาโต้ ตามข้อเรียกร้องของมอสโก แลกกับคำรับประกันด้านความปลอดภัยจากกลุ่มประเทศอื่นๆ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียตอบสนองในแง่บวก โดยเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศระบุในวันพุธ (30 มี.ค.) ว่าความตั้งใจของยูเครนที่จะยอมรับสถานะเป็นกลางและมองหาความมั่นคงนอกนาโต้ เป็นตัวแทนของความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หลังคำแถลงของเครมลินว่าจะลดระดับปฏิบัติการด้านการทหาร เซเลนสกีแสดงตอบสนองด้วยความสงสัย โดยบอกว่าเมื่อคุณเจรจาต่อรองกับรัสเซีย "คุณสามารถไว้วางใจได้เพียงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น" คำประเมินที่ไปในทิศทางเดียวกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และโดมินิค ราบ รองนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งสงสัยว่ารัสเซียมีเจตนารวบรวมกำลังพลใหม่และโจมตีอีกครั้ง

ความคลางแคลงใจดังกล่าวดูเหมือนจะมีเหตุผล สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ของรัสเซียในวันพุธ (30 มี.ค.) ในนั้นรวมถึงกรณีที่ นายพลโอเล็กซานด์ร พาฟลุค ผู้บัญชาการเขตพื้นที่มณฑลทหารเคียฟ เผยว่ารัสเซียยิงปืนใหญ่เล็งเป้าหมายเล่นงานพื้นที่ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนในเมืองบูชา โบรวารี และวิชโฮรอด รอบๆ เมืองหลวง

พล.ต.อิกอร์ โคนาเชนคอฟ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า ทหารเล็งเป้าหมายเล่นงานคลังเชื้อเพลิงใน 2 เมืองในแถบภาคกลางของยูเครน โดยใช้ขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลยิงจากอากาศโจมตี และกองกำลังรัสเซียยังได้ถล่มกองบัญชาการกองกำลังพิเศษยูเครนแห่งหนึ่งในเมืองมีโคลายิฟ และคลังกระสุน 2 แห่งในแคว้นโดเนตส์ค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคดอนบาส

สหรัฐฯ ระบุว่าในช่วง 24 ชั่วโมงหลังสุด รัสเซียเริ่มสับเปลี่ยนที่ตั้งกองกำลังของตนเองไม่ถึง 20% ที่อยู่ตามแนวรบรอบๆ กรุงเคียฟ

จอห์น เคอร์บี เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนทำเนียบขาวระบุว่า ทหารจากพื้นที่ดังกล่าวและจากโซนอื่นบางแห่งเริ่มเคลื่อนไหวมุ่งหน้าสู่ทางเหนือเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนเข้าไปในเบลารุส ซึ่งเคียฟมองว่าดูเหมือนรัสเซียมีเจตนาจัดหากำลังบำรุงใหม่ให้พวกเขาและส่งพวกเขากลับเข้าไปในยูเครน แต่ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นจุดไหน

เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของรัสเซียระบุในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ว่า เป้าหมายหลักของพวกเขาในเวลานี้คือ "ปลดปล่อยดอนบาส" ภูมิภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งประชาชนพูดภาษารัสเซีย พื้นที่ซึ่งพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียต่อสู้กับกองกำลังยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตะวันตกบอกว่ามอสโกกำลังเสริมกำลังทหารในดอนบาส

พวกนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าการมุ่งเน้นภูมิภาคดอนบาส และสัญญาลดปฏิบัติทางทหาร อาจเป็นแค่ความพยายามกลบความจริงที่ว่า กองกำลังภาคพื้นของรัสเซียถูกสกัดกั้นและได้รับความสูญเสียอย่างหนัก ในความพยายามยึดเมืองหลวงและเมืองอื่นๆ

'สี จิ้นผิง' ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ SCO คาด!! อาจมีการหารือนอกรอบกับ 'วลาดิมีร์ ปูติน'

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2565 กล่าวว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เดินทางถึงเมืองซามาร์กันด์ของประเทศอุซเบกิสถานเมื่อวันพุธ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ครั้งที่ 22 ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ในฐานะองค์กรทางการเมือง, เศรษฐกิจ และความมั่นคงที่เป็นคู่แข่งกับชาติตะวันตก โดยประกอบด้วยจีน รัสเซีย, อินเดีย, ปากีสถาน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียกลางซึ่งแยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม

สีจิ้นผิงได้เข้าร่วมประชุมหารือกับประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ และนายกรัฐมนตรีอับดุลลา โอรีพอฟ ของอุซเบกิสถาน โดยสำนักข่าวซินหัวกล่าวว่า ประเด็นหารือเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความร่วมมือทวิภาคี เพื่อประโยชน์ร่วมกันในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ

รู้จัก SCO ‘กลุ่มพันธมิตรองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้’ เวทีที่ทำให้ ‘ปูติน’ ไม่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา วลาดิมีร์ ปูติน ได้เข้าร่วมงานประชุมออนไลน์ ของกลุ่มพันธมิตร องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ซึ่งนับเป็นการปรากฏตัวออกงานในระดับนานาชาติครั้งแรก ตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบภายในจากการลุกฮือของกองกำลังวากเนอร์ 

การประชุมในครั้งนี้ อินเดีย นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เป็นเจ้าภาพ และมีผู้นำชาติพันธมิตรเข้าร่วมประชุมกันพร้อมหน้า รวมถึง สี จิ้นผิง ผู้นำจีนด้วย 

สำหรับการประชุม SCO ในครั้งนี้มีความพิเศษมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ เนื่องจาก อิหร่าน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกหลักอย่างเป็นทางการเป็นปีแรก ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า และความแข็งแกร่งในด้านตลาดการค้า และ เศรษฐกิจในกลุ่มพันธมิตร SCO มากขึ้นไปอีก และในปีหน้าคาดว่าจะได้ เบลารุส เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่อีกชาติด้วย 

ทั้งนี้ วลาดิมีร์ ปูติน ได้กล่าวขอบคุณ นเรนทรา โมดิ และ ผู้นำประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่จับมือร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่น และยังอยู่เคียงข้างรัสเซีย อีกทั้งยังถือโอกาสนี้ฝากข้อความถึงฝ่ายตะวันตกว่า รัสเซียพร้อมจะตอบโต้การคว่ำบาตร, การกดดัน และการยั่วยุจากภายนอกอย่างเต็มกำลัง โดยที่ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

จากเวทีประชุมนี้ น่าจะทำให้ ปูติน มั่นใจในความแข็งแกร่งของชาติพันธมิตร SCO ซึ่งตราบใดที่องค์กร SCO ยังต้อนรับรัสเซีย ปูตินก็ไม่ต้องกังวลว่ารัสเซียจะถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกอีก

>> คำถาม คือ แล้วอะไรที่ทำให้ปูตินเชื่อมั่นเช่นนั้น?

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่ม ‘เซี่ยงไฮ้ ไฟฟ์’ (Shanghai Five) ก่อตั้งในปี 1996 โดยสมาชิกหลักเพียง 5 ประเทศ คือ จีน, รัสเซีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, และทาจิกิสถาน ต่อมามีการขยายสมาชิกเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ จึงมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

ปัจจุบัน SCO มีชาติสมาชิก 8 ชาติ คือ จีน, รัสเซีย, อินเดีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, ปากีสถาน และ อุซเบกีซสถาน นับรวมอิหร่านเป็นชาติที่ 9 ในปีนี้ และ เบลารุสจะเป็นชาติที่ 10 ในปีหน้า และยังมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่าง ซาอุดีอาระเบีย, ตุรเคีย, กาตาร์, อียิปต์ และอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 30% ของ GDP โลก และมีสัดส่วนประชากร 40% ของโลก 

กลุ่ม SCO ย้ำว่า นี่ไม่ใช่การร่วมมือในรูปแบบขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO อีกทั้งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านองค์กร NATO ด้วย แต่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาค ให้ชาติพันธมิตรในยูเรเซีย มีพื้นที่ในการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของชาติ กับการรับมือกับความตึงเครียดในด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันสูงขึ้นในโลก 

หรืออาจจะมองได้ว่า SCO เป็นเหมือนเวทีให้ จีน และ รัสเซีย สามารถกระชับไมตรีในเชิงเศรษฐกิจ การค้าร่วมกับชาติอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น แม้แต่กับชาติที่อยู่นอกองค์กร ก็สามารถเข้าร่วมเป็นคู่ค้าของกลุ่มได้อย่างสะดวกใจนั่นเอง 

นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในเซฟโซนของปูติน ผู้นำรัสเซียในช่วงเวลาที่ถูกกดดันอย่างหนักจากชาติพันธมิตรตะวันตกทั่วโลกจากสงครามในยูเครน เพราะที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธมิตร SCO ไม่มีชาติใดออกมาประณามรัสเซียโดยตรงจากการรุกรานยูเครน อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย กับ จีน และ อินเดีย ยังแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จากข้อตกลงซื้อขายนัำมันกับรัสเซียในราคาพิเศษ
.
แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ท้าทายความเป็นปึกแผ่น SCO คือความบาดหมางกันเองระหว่างชาติพันธมิตร ที่อาจมีแรงเสริมจากการแทรกแซงของชาติตะวันตกได้ อาทิ ข้อพิพาทระหว่าง จีน และ อินเดีย ในเส้นแบ่งเขตแดนในเทือกเขาหิมาลัย  ความบาดหมางระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน  การกดดันของสหรัฐอเมริกาผ่าน นโยบายการคว่ำบาตรของตนต่อทั้งรัสเซีย และ อิหร่าน เป็นต้น

การฝากความหวังของปูติน ไว้กับพันธมิตร SCO จึงเป็นเหมือนจุดวัดใจว่า องค์กรที่เริ่มต้นจากชาติพันธมิตรเพียงแค่ 5 ประเทศ เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว จะมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเป็นหนึ่งในดุลย์อำนาจ ที่ปูตินสามารถพึ่งพาได้จนไฟสงครามสงบหรือไม่ 

'วลาดิมีร์ ปูติน' ขอครองอำนาจต่ออีก 6 ปี ประกาศลงชิง ปธน.รัสเซีย สมัย 5 ในปีหน้า

เมื่อวานนี้ (8 ธ.ค.66) สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในปีหน้า ซึ่งหากประสบชัยชนะจะทำให้เขาดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5 เป็นเวลาอีก 6 ปี

ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียจะมีขึ้นเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.2567

ผลการสำรวจของ Levada Center พบว่า ปธน.ปูตินได้รับคะแนนความพึงพอใจจากชาวรัสเซียสูงถึง 85% ในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2560

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ Public Opinion Foundation (FOM) พบว่า ชาวรัสเซียที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 70% ต้องการให้ปธน.ปูตินลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในครั้งนี้

‘สื่อเยอรมัน’ เผยแผนลับ!! 5 ขั้นตอนของ ‘ปูติน’ เตรียมโจมตี 'ยูเครน' ก่อนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3

(18 ม.ค.67) หนังสือพิมพ์ BILD ของเยอรมันตีพิมพ์ข่าวใหญ่ ระบุชัดว่า 'วลาดิมีร์ ปูติน' ผู้นำรัสเซีย มีแผนที่จะยกระดับสงครามยูเครน ไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ภายในปี 2025 โดยอ้างอิงจากเอกสารลับสุดยอดของกระทรวงกลาโหมเยอรมันเป็นประกัน!!

สื่อเยอรมัน เปิดเผยว่า กระทรวงกลาโหมและกองกำลังในยุโรปเริ่มเตรียมความพร้อมรอรับการโจมตีของรัสเซียแล้ว โดยมีการประเมินสถานการณ์ว่า ปูตินมีแผนที่จะทำสงครามแบบผสม ‘Hybrid War’ โจมตีชาติพันธมิตร NATO ในหลายรูปแบบ ทั้งการโจมตีทางไซเบอร์, ใช้กำลังทหารรุกราน รวมถึงการโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น

เอกสารลับ (ที่ตอนนี้ไม่ลับแล้ว) ของกลาโหมเยอรมันระบุว่าชื่อ ‘Alliance Defense 2024’ ได้คาดการณ์แผนการยกระดับสงครามยูเครน สู่สงครามโลกครั้งที่ 3 พอสรุปคร่าวๆ ไว้ 5 ขั้น

โดยขั้นแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 นี้ ที่ปูตินจะประกาศระดมพลเพิ่มอีก 2 แสนนาย โดยอ้างว่าเตรียมไว้สำหรับเปิดฉากสงครามในยูเครนอีกครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่ยังดูเป็นสงครามภายในระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปกติ

แต่สื่อเยอรมันชี้ว่า แผนการขั้นสอง จะยกระดับขึ้นในช่วงกรกฎาคมปีนี้ ด้วยการใช้ยุทธวิธีโจมตีทางไซเบอร์ในกลุ่มประเทศบอลติค อันได้แก่ประเทศ เอสโตเนีย ลัทเวีย และ ลิทัวเนีย

ขั้นที่สามจะตามมาในเดือนกันยายน ที่มีการตั้งชื่อแล้วว่า แผน ‘Zapad 2024’ ที่จะมีการซ้อมรบใหญ่ตามแนวชายแดนรัสเซียตะวันตกและเบลารุส เพื่อกลบเกลื่อนการเคลื่อนพลใหญ่ และขีปนาวุธพิสัยกลางไปประจำในแคว้นคาลินินกราด เพื่อประชิดชายแดนโปแลนด์และลิทัวเนีย 

และนำไปสู่แผนการขั้นที่ 4 ในเดือนธันวาคม ช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ ที่รัสเซียวางแผนที่จะโจมตีด้วยข้อมูลข่าวสาร และปั่นกระแสให้เกิดจลาจลบริเวณเขตแนวชายแดนระหว่างโปแลนด์ และ ลิทัวเนีย ที่เรียกว่า ‘Suwalki Gap’ หลังวางกองกำลังของตนไว้ในคาลินินกราดแล้ว

แผนขั้นที่ 5 จะเริ่มในเดือนมกราคม 2025 เมื่อพันธมิตร NATO จะพุ่งเป้ามาที่รัสเซียว่าเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในประเทศแถบบอลติก ที่ปูตินจะใช้เป็นข้ออ้างในการระดมพลใหญ่อีกครั้งทั้งในรัสเซียและเบลารุส ซึ่งกองกำลัง NATO คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องประกาศรวมพลเช่นกัน ซึ่งจุดแตกหักที่อาจกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ ในเอกสารของกลาโหมเยอรมันระบุว่า ตั้งแต่มีนาคม 2025 เป็นต้นไป

เป้าหมายที่ฝ่ายกลาโหมเยอรมัน จัดทำเอกสารประเมินสถานการณ์สงครามของรัสเซียฉบับนี้ ก็เพื่อกระตุ้นเตือนให้พันธมิตรในยุโรปตระหนักว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามที่อันตรายมากกว่าที่คิด จำเป็นต้องเร่งเตรียมความพร้อมในกองทัพของแต่ละประเทศในการป้องกันดินแดนของตน และทางเยอรมันได้เริ่มแล้วนั่นเอง

จากหัวข้อข่าวที่ BILD ได้ออกมาเผยแพร่ ก็ได้สร้างความฮือฮาและแตกตื่นพอสมควรว่า รัสเซียคิดจะเปิดศึกในยุโรปแน่หรือ? และเอกสารที่สื่อเยอรมันหยิบมาอ้างถึงนั้นเป็นเอกสารจริงหรือไม่?

และเมื่อมีการสอบถามไปยังกลาโหมเยอรมัน โฆษกประจำกระทรวงก็ออกมาปฏิเสธที่จะออกความเห็นถึงเนื้อหาที่มีอยู่ในเอกสารลับ ‘Alliance Defence 2025’ แต่กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า โดยปกติแล้ว ฝ่ายกองทัพมีการประเมินสถานการณ์เป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งในงานของทหาร ไม่ต่างจากการฝึกซ้อมประจำวันนั่นแหละ"

ด้าน วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่ถูกโยงให้เป็นตัวเอก และตัวร้ายในรายงานเอกสารลับของเยอรมัน ก็ออกมาปฏิเสธว่า นี่มันนิยายอะไรกัน รัสเซียไม่ต้องการขยายขอบเขตสงครามออกไปไกลเกินยูเครนแล้ว จะยุให้เราไปรบกับใครอีก?

แม้สื่อตะวันตกจะสนใจเรื่องเอกสารลับของเยอรมันกันค่อนข้างเยอะ แต่ก็ต้องพึงระลึกเสมอว่า ‘ฟังหู ไว้หู’ เพราะลำพังกองกำลังพลที่จะระดมเพิ่มแค่ 2 แสน กับขยายกองกำลังไปประจำที่คาลินินกราด กับขีปนาวุธพิสัยกลางอีกนิดหน่อย คิดจะเปิดฉากรบยุโรปทั้งทวีปได้เชียวหรือ?

แต่ทั้งนี้ แอดฯ ก็เคยเชื่อว่ารัสเซียไม่น่าจะบุกยูเครน และทำสงครามเต็มรูปแบบมาก่อน แต่สุดท้ายปูติน ก็บุกจริงๆ ดังนั้น คงยังฟันธงไม่ได้ว่า รายงานประเมินสถานการณ์ ‘Alliance Defence 2025’ ถูกเขียนขึ้นเพราะ ‘เชื่อในสิ่งที่เห็น’ หรือ ‘เห็นในสิ่งที่เชื่อ’

'ปูติน' มอบภารกิจใหม่ให้หน่วยสายลับ FBS หนุนธุรกิจรัสเซีย กรุยทางเปิดตลาดใหม่ สู้มาตรการคว่ำบาตรของโลกตะวันตก

วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย หลังจากที่เพิ่งคว้าชัยชนะเลือกตั้งในรัสเซียอย่างถล่มทลายเมื่อวันที่ 18 มี.ค.67 ที่ผ่านมา ก็ทำงานต่อ ไม่รอแล้วนะ ด้วยการเรียกประชุมทีมจากหน่วยความมั่นคงกลาง (FSB) ต่อทันทีเพื่อมอบหมายภารกิจใหม่ล่าสุด นั่นก็คือ การตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและช่วยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจรัสเซียขยายสู่ตลาดใหม่

การเรียกประชุมทีมด้านความมั่นคงนี้ เกิดขึ้นหลังจากมีการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเพียงวันเดียว และเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมประจำปีของ FSB หน่วยที่สืบทอดหน้าที่ของหน่วยสืบราชการลับ KGB ในอดีต ที่วลาดิมีร์ ปูติน เคยสังกัดอยู่ด้วย

และได้มอบหมายภารกิจใหม่ให้กับหน่วยด้านความมั่นคง ด้วยการหาหนทางสนับสนุนธุรกิจของชาวรัสเซียที่กำลังพัฒนากันอย่างเต็มที่ในตอนนี้ ให้สามารถต่อสู้กับอุปสรรค และความไม่เป็นมิตรอย่างเปิดเผยของชาติตะวันตกให้ได้ และหาช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของรัสเซีย นับเป็นการขยายขอบเขตหน้าที่ของหน่วยความมั่นคงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย - ยูเครน

ต้องยอมรับว่าสงครามยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างหนัก จากการคว่ำบาตร และมาตรการกดดันทางการค้าของชาติตะวันตก แต่หลังจากผ่านมา 2 ปี เศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา GDP ของรัสเซียกลับมาโตได้ที่ 3.2% ในขณะเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังประเมินว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะมีโอกาสเติบโตได้อีก 2.6% ในปีนี้ (2024) นอกจากนี้อัตราการว่างงานในรัสเซียอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานพุ่งสูงขึ้น

รัสเซียสามารถรักษาเศรษฐกิจของตนให้เติบโตได้ด้วยการโยกธุรกรรมการค้า การลงทุนไปยังตลาดทางเลือกอื่น เช่น อินเดีย จีน และอิหร่าน และยังสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับประเทศคู่ค้าเหล่านั้น เช่น โครงการ International North-South Transportation Corridor (INTSC) ที่เชื่อมเส้นทางการค้าระหว่างรัสเซีย - อิหร่าน - มหาสมุทรอินเดีย เข้าด้วยกัน แม้จะถูกเรียกว่าเป็น 'เส้นทางการค้าสำหรับพวกนอกคอก' (ประเทศที่โดนคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก) ก็ตาม  

ปูตินยอมรับว่าการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกสร้างปัญหา 'ชั่วคราว' ให้กับรัสเซียแต่เราต้องจัดการทุกอย่างให้จบได้อย่างแน่นอน 

ก็ต้องมาจับตาดูกันว่า ภารกิจด้านการช่วยเหลือเจ้าของกิจการรัสเซีย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร กับ หาช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของรัสเซีย ที่ปูตินในมุมมองของอดีตสมาชิก KGB เก่า ได้เจาะจงมอบหมายให้กับ FSB ที่เป็นหน่วยสืบราชการลับ ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ และ ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ จะมีทิศทางออกมาอย่างไร

'ปูติน' เตรียมสังคายนา 'กองทัพ' ปรับกลยุทธ์ ใช้นักวิชาการนำการทหาร

วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียสร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง หลังจากเสร็จสิ้นงานพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในสมัยที่ 6 ด้วยแผนการปรับโครงสร้างกองทัพครั้งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบเกือบ 20 ปี ด้วยการแต่งตั้ง 'อังเดร เบโรซอฟ' ที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และนักรังสีเคมี ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ โดยปูตินตัดสินใจลองใช้นักวิชาการนำการทหาร ที่จะส่งผลต่อแผนปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่ในยูเครนต่อจากนี้ไป

ข่าวการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำกระทรวงกลาโหมในรัสเซีย เริ่มมีมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้งใหญ่ของรัสเซียเมื่อ เดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ไม่มีใครคาคดิคเลยว่าปูตินจะตัดสินใจให้นักวิชาการพลเรือนคนหนึ่ง ที่ไม่มีพื้นเพด้านการทหารมาก่อน มาแทน เซอร์เก ชอยกุ รัฐมนตรีกลาโหมที่อยู่คู่บุญปูตินมาถึง 12 ปี

อังเดร เบโรซอฟ เป็นชาวมอสโควโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1959 ปัจจุบันอายุ 65 ปี เรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์จาก Moscow State University ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม และทำงานด้านวิชาการอย่างเข้มข้นมาตลอด 

โดยทำงานเป็นนักวิจัยในห้องปฏิบัติการจำลองระบบมนุษย์และเครื่องจักรของสถาบัน Central Economic Mathematical Institute ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการในสถาบันพยากรณ์เศรษฐกิจของสถาบัน  Russian Academy of Sciences ในปี 1991 

ในขณะเดียวกัน เขาได้รับการทาบทามให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรีของรัฐบาล มอสโควไปด้วย ทำงานวิชาการไปด้วย และ ยังทำวิจัยระดับปริญญาเอกไปด้วย ที่สามารถประสบความสำเร็จทั้ง 3 ด้าน เป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และ เทคโนโลยีที่หาตัวจับยาก

จนเมื่อวลาดิมีร์ ปูตินขึ้นสู่อำนาจในรัสเซียในปี 2000 อังเดร เบโรซอฟ ถูกดึงตัวไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลของเขา และได้รับตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ในปี 2020 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อังเดร เบโรซอฟ เป็นหนึ่งในคนสนิทข้างกายที่ปูตินไว้ใจ และมีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัสเซีย 

ดังนั้นการวางเบโรซอฟ ในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมในครั้งนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการสังคายนาครั้งสำคัญภายในกองทัพรัสเซีย และการเปลี่ยนมุมมองใหม่ในสถานการณ์สงครามในยูเครน ที่รัสเซียจำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการงบประมาณที่รัดกุมขึ้น เพื่อจะสามารถทำสงครามได้นานกว่าแรงสนับสนุนของชาติตะวันตกที่ส่งให้กับยูเครน 

คอนสแตนติน คาลาเชฟ นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซียมองว่า การแต่งตั้ง อังเดร เบโรซอฟ เข้ามาคุมกระทรวงกลาโหมรัสเซียถือเป็นข่าวร้ายของพันธมิตรชาติตะวันตกเหมือนกัน เพราะถึง อังเดร เบโรซอฟ จะไม่ใช่นักการทหาร และ คงไม่ได้มีอิทธิพลในการวางแผนยุทธศาสตร์การรบของรัสเซียมากนัก แต่เขาเป็นนักการเงิน ที่จะดูแลงบประมาณทุกบาท ทุกสตางค์ในกองทัพไม่ให้รั่วไหล ตั้งแต่คลังอาวุธ ไปจนถึงเงินสวัสดิการทหาร 

เช่นเดียวกับ Rybar Telegram Channel สื่อรัสเซียที่เกาะติดข่าวในกองทัพรัสเซีย ก็รายงานว่า อังเดร เบโรซอฟ ถูกส่งมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและปรับโครงสร้างหลัก ในด้านการเงิน และ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างในกองทัพ ที่มีข่าวอื้อฉาวเรื่องการคอร์รัปชันอย่างมโหฬารในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

และทันทีที่มีข่าวการเข้ารับตำแหน่งใหม่ของนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ก็มีการเข้าจับกุม พลโท ยูรี คุซเนตซอฟ  ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลหลักของกระทรวงกลาโหม ที่เป็นการจับกุมแบบสายฟ้าแล่บ ขณะที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ในบ้าน และสามารถยึดของกลางเป็นเหรียญทอง สินค้าแบรนด์เนมหรู และ เงินสดมากกว่า 100 ล้านรูเบิล (ประมาณ 36 ล้านบาท) ภายในบ้านของเขา 

ยูรี คุซเนตซอฟ ถูกตั้งข้อหารับสินบน และมีสิทธิถูกจำคุกนานถึง 15 ปี นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพรัสเซียคนที่สองในรอบ 1 เดือนที่โดนจับข้อหาคอร์รัปชัน รับสินบนก้อนใหญ่ต่อจาก  ติมูร์ อิวานอฟ รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ที่เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของอดีตรัฐมนตรีกลาโหม เซอร์เก ชอยกุ ที่เพิ่งถูกย้ายในวันนี้ 

หน้าที่รับผิดชอบของ อังเดร เบโรซอฟ ไม่ได้มีแค่การตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา เขาได้รับมอบหมายให้ปกป้องเศรษฐกิจรัสเซียจากผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และยังมีบทบาทสำคัญในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีโดรนในประเทศ โดยเป้าหมายหลักของ อังเดร เบโรซอฟ คือ การส่งเสริมให้รัสเซียมีอธิปไตยทางเทคโนโลยี ที่เหนือชั้นยิ่งขึ้นไปในอนาคต 

จึงเป็นที่น่าจับตาในยุทธศาสตร์ 'นักวิชาการนำการทหาร' ของปูตินในครั้งนี้ ที่อาจเป็นเพราะเล็งเห็นแล้วว่าสงครามยูเครนคงยืดเยื้อยาวนาน ดังนั้นจึงต้องเป็นฝ่ายที่อึดที่สุดเท่านั้นจึงจะสามารถพิชิตชัยในท้ายที่สุดนั่นเอง 

'ไบเดน' ออกอาการเบลอ สับสนระหว่าง ‘มิตร-ศัตรู’ เรียก ‘เซเลนสกีแห่งยูเครน’ สลับเป็น ‘ปธน.ปูตินแห่งรัสเซีย’

เมื่อวานนี้ (11 ก.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกอาการเบลออีกครั้ง คราวนี้พูดผิดระหว่างแนะนำตัวประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ต่อเวทีประชุมซัมมิตนาโต โดยเรียกเป็นประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย คู่อริของเซเลนสกีแทน ความผิดพลาดซึ่งเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าการแถลงข่าวครั้งสำคัญ ที่อาจเป็นตัวตัดสินชะตากรรมการเสนอตัวชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัยของเขาเลยทีเดียว

ผู้นำวัย 81 ปีของสหรัฐฯ รีบแก้คำผิดด้วยตนเอง ส่วน เซเลนสกี พูดติดตลกว่าเขาดีกว่าปูติน 

อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดของไบเดนในครั้งนี้ได้โหมกระพือความกังวลหนักหน่วงยิ่งขึ้นเกี่ยวกับอายุอานามของเขาและความเฉียบแหลมทางปัญญา ตามหลังผลงานหายนะในศึกประชันวิสัยทัศน์กับโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน

"ตอนนี้ผมขอส่งมอบเวทีนี้ให้แก่ประธานาธิบดียูเครน ผู้ซึ่งมีความกล้าหาญและความมุ่งมั่น คุณสุภาพสตรีและคุณสุภาพบุรุษ ขอต้อนรับ ประธานาธิบดีปูติน" เขากล่าวระหว่างแถลงต่อที่ประชุมซัมมิตนาโตในวอชิงตัน

ไบเดน หันหลังออกจากโพเดียม ก่อนย้อนกลับไปและเปล่งเสียงออกมาว่า "ประธานาธิบดีปูติน! เขากำลังเอาชนะประธานาธิบดีปูติน นั่นคือประธานาธิบดีเซเลนสกี" กระตุ้นให้ เซเลนสกี ดาวตลกทางทีวี ที่กลายมาเป็นผู้นำยามศึกสงครามของยูเครน รับมือกับการรุกรานของรัสเซีย ตอบกลับว่า "ผมดีกว่าเขา"

พวกรีพับลิกันคู่แข่งของไบเดน รุดแพร่กระจายคลิปดังกล่าวภายในเวลาไม่กี่นาที

การพูดผิดในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ดีเท่าไหร่สำหรับไบเดน เนื่องจากหลังจากนี้เขามีกำหนดแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) ในรูปแบบที่โฆษกทำเนียบขาว คารีน ฌอง ปิแอร์ เรียกว่าเป็นการแถลงแบบ ‘บิ๊กบอย’ หรือที่แปลว่า คนที่โตแล้ว ซึ่งถือเป็นการแถลงข่าวครั้งสำคัญของเขาครั้งแรกนับตั้งแต่ศึกดีเบต

การแถลงข่าวนี้จะเป็นการดวลไมค์แบบไม่เตรียมบทระหว่างไบเดนกับสื่อมวลชน ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้นำสูงสุดวัย 81 ปี ที่กำลังเผชิญกับข้อเคลือบแคลงด้านความพร้อมในทางร่างกายและความเฉียบแหลมของไหวพริบ ในการลงสนามการเมืองในศึกเลือกตั้งผู้นำสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องดังระงมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากพรรคเดโมแครตของเขาเองให้เขาถอนตัว

ทั้งนี้ การแถลงข่าวดังกล่าวมีกำหนดเริ่มขึ้นตอนเวลา 18.30 น.(ตรงกับเมืองไทย 05.30 น.) แต่คาดหมายว่าอาจล่าช้าราว 1 ชั่วโมง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่มีสมาชิกพรรคเดโมแครตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เรียกร้องให้ ไบเดน ถอนตัวจากการเป็นตัวแทนพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2024

มีสมาชิกเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 14 คน ที่เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ชายที่เอาชนะ ทรัมป์ เมื่อ 4 ปีก่อน ถอนตัวออกมา เช่นเดียวกับวุฒิสมาชิกจากเดโมแครต 1 ราย

ผลโพลหนึ่งที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (11 ก.ค.) พบว่ามีชาวเดโมแครตมากกว่าครึ่ง บอกว่า ไบเดน ควรยุติการเสนอตัวชิงเก้าประธานาธิบดีสมัย 2 และ 2 ใน 3 ของชาวสหรัฐฯ เชื่อว่าเขาควรถอนตัวจากการชิงชัย

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานอ้างแหล่งข่าวซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่าบรรดาผู้ช่วยเก่าแก่ของประธานาธิบดีบางส่วนกำลังหารือกันในการหาทางโน้มน้าวให้ไบเดนถอนตัวออกมา อย่างไรก็ตามทำเนียบขาวรุดออกมาตอบโต้ในเวลาต่อมา ระบุรายงานข่าวนี้เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง

ไบเดน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นคนช่างพูด กลับกลายเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่แถลงข่าวน้อยกว่าประธานาธิบดีคนก่อน ๆ และครั้งหลัง ๆ มักเป็นการแถลงข่าวร่วมกับพวกผู้นำต่างชาติเท่านั้น แถมแต่ละครั้งยังจำกัดให้ถามได้เพียงแค่ 2 คำถาม

เมื่อประกอบกับการที่ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน มันจึงนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเนียบขาวกำลังปกป้องผลกระทบทางอายุที่กำลังเกิดขึ้นกับประธานาธิบดีอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ รายนี้

ไบเดน ยืนยันว่าเขายังคงมุ่งมั่นในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนพฤศจิกายน และด้วยที่เขาคว้าชัยในศึกหยั่งเสียงของพรรคเดโมแครต ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะบีบให้เขาถอนตัว

'รัสเซีย' ลั่น!! 'รัสเซีย-ยูเครน' ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม เท่ากับศาลอาญาโลกไม่มีสิทธิสั่ง 'มองโกเลีย' รวบ 'ปูติน' ระหว่างการเยือน

(2 ก.ย. 67) นาย ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกของวังเครมลิน กล่าวกับกลุ่มผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า มอสโกไม่กังวลเกี่ยวกับหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศที่ให้จับกุมนาย วลาดิมีร์ ปูติน  ประธานาธิบดีของรัสเซีย พร้อมเน้นว่าทุกประเด็นปัญหาในความเป็นไปได้ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเยือนของปูตินจะได้รับการจัดการแยกกันเป็นการล่วงหน้า 

จากการกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีรัสเซียได้ทำการบังคับเนรเทศประชาชนอย่างผิดกฎหมายและบังคับขนย้ายประชากร (เด็ก) จากพื้นที่ยึดครองในยูเครน ไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย 

นาย ฟาดิ เอล-อับดัลเลาะห์ โฆษกของศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีในวันศุกร์ที่ผ่านมาเช่นกันว่า ทุกรัฐที่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม "มีพันธสัญญาที่ต้องให้ความร่วมมือ สอดคล้องกับบทบัญญัติภาค 9 ของธรรมนูญกรุงโรม" ทั้งนี้ ธรรมนูญกรุงโรม เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จัดตั้งศาลแห่งนี้ขึ้นมา และทางมองโกเลียได้ให้สัตยาบันรับรองในปี 2002

"ในกรณีที่ไม่ให้ความร่วมมือ บรรดาผู้พิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศ อาจดำเนินการตรวจสอบผลกระทบในเรื่องดังกล่าว และแจ้งต่อสมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมในเรื่องนี้ จากนั้นทางสมัชชาฯ จะเป็นคนตัดสินใจใช้มาตรการใดๆ ที่พวกเขาเล็งเห็นว่ามีความเหมาะสม" เอล-อับดัลเลาะห์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญกรุงโรมได้ให้ข้อยกเว้น ครั้งที่การจับกุมใดๆ นั้นเป็นการละเมิดพันธสัญญาในสนธิสัญญาหนึ่งที่ทำไว้กับประเทศอื่น หรือละเมิดเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตของบุคคลหรือสินทรัพย์ของประเทศที่ 3

อ้างอิงจากรัฐบาลในกรุงเคียฟ ทางยูเครนได้ยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการ เรียกร้องให้ มองโกเลียทำการจับกุมนายวลาดิมีร์ ปูติน เช่นกัน ทว่าต่อมา ทางโฆษกของวังเครมลินยังคงปฏิเสธคำกล่าวอ้างในการจับกุมดังกล่าวว่าเป็นเรื่องไร้สาระ โดยเน้นว่าการอพยพพลเรือนออกจากพื้นที่สู้รบไม่ใช่อาชญากรรม ยิ่งไปกว่านั้นทั้งรัสเซียและยูเครน ก็ไม่ได้เป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม นั่้นหมายความว่าศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีขอบเขตอำนาจในเรื่องนี้

‘ปูติน’ ลั่น!! ไม่ยอมให้ ‘ยูเครน’ มีอาวุธนิวเคลียร์ แม้นักวิชาการตะวันตก จะออกมาให้การสนับสนุน

(18 พ.ย. 67) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวจากทางฝากยูเครนว่าเจ้าหน้าที่บางคนในเคียฟของยูเครนกำลังคิดใคร่ครวญในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มาเพื่อต่อกรกับทางรัสเซีย สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มจากความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯอาจยุติการสนับสนุนของวอชิงตันต่อยูเครน ส่งผลให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีต้องดิ้นรนหาทางออกในการป้องปรามรัสเซียด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้แนวโน้มของสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนก่อนประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีกล่าวในเดือนตุลาคมว่าเขาได้บอกกับทรัมป์ระหว่างการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่นิวยอร์กว่ายูเครนจะเข้าร่วมกับ NATO หรือไม่ก็พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเซเลนสกีอ้างว่าทรัมป์ได้ยินเขาแล้ว และกล่าวว่า ‘เป็นการตอบโต้ที่ยุติธรรม’ อย่างไรก็ตาม คำแถลงของเซเลนสกีทำให้เกิดการคาดเดาว่าโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของยูเครนจะเป็นไปได้จริงหรือไม่จากมุมมองทางเทคโนโลยีและการเมือง จากการที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนมาอย่างยาวนาน วันนี้ผมจะมาไขข้อสงสัยข้อนี้ให้ทุกท่านได้ทราบกัน

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1991 ยูเครนได้รับมรดกจากคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก อย่างไรก็ตามภายใต้บันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ปี ค.ศ. 1994 เคียฟยอมจำนนต่อตะวันตกโดยยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและรัสเซีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบันทึกข้อตกลงบูดาเปสต์ถูกโจมตีเนื่องจากรัสเซียละเมิดโดยการรุกรานยูเครนอย่างเปิดเผยโดยที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรไม่สามารถรับประกันความมั่นคงของยูเครนได้ แม้ว่าพวกเขาได้จัดหาอาวุธจำนวนมหาศาลให้กับเคียฟ หลังจากการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียเริ่มขึ้นในต้นปี ค.ศ. 2022 ในทางการเมืองเคียฟจะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างมากหากตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้เป็นเครื่องป้องปรามรัสเซีย โดยอาจต้องเผชิญหน้ากับการตอบโต้ครั้งใหญ่จากพันธมิตรตะวันตกที่กองทัพยูเครนต้องพึ่งพาอาวุธธรรมดาเพื่อต่อสู้กับการรุกรานเต็มรูปแบบของรัสเซียซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่สามแล้ว 

นักวิชาการตะวันตกหลายคนออกมาสนับสนุนยูเครนให้มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการรุกรานจากรัสเซีย ยกตัวอย่างเช่น คลอส มาธีเซน (Claus Mathiesen) อาจารย์ประจำสถาบันกลาโหมแห่งเดนมาร์กและอดีตผู้ช่วยทูตทหารประจำยูเครน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เห็นได้ชัดว่าอาวุธนิวเคลียร์ก่อนหน้านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปราม แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นเครื่องมือที่น่ารังเกียจ โดยรัสเซียยึดครองดินแดนยูเครนได้ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร และกำลังขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตียูเครน หากดินแดนเหล่านี้ถูกยึดไป ความเป็นไปได้ประการหนึ่งสำหรับยูเครน คือการตอบโต้การป้องปราม โดยการจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยตัวเอง” ดร.เจนนี มาเทอร์ส (Jenny Mathers) อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยอาเบอริสต์วิธในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเซเลนสกี "แสดงเหตุผลที่ดีว่าทำไมรัฐต่างๆ มากมายจึงพยายามแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์ ... เพราะอาวุธนิวเคลียร์ถูกมองว่าเป็นผู้รับประกันความปลอดภัยขั้นสูงสุดจากการโจมตีโดยตรงโดยรัฐที่มีอำนาจมากกว่า แม้ว่าอาวุธนิวเคลียร์จะมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในสนามรบ และไม่ได้ป้องกันรัฐที่ครอบครองอาวุธเหล่านั้นจากการพ่ายแพ้ทางทหารด้วยน้ำมือของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์ที่สถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งฟินแลนด์ เชื่อว่า “ยูเครนจำเป็นต้องมีการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เพื่อประกันความมั่นคงที่ยั่งยืน ...การตัดสินใจของรัสเซียที่จะโจมตียูเครนและใช้มาตรการบังคับทางนิวเคลียร์นับตั้งแต่วันแรกของการรุกราน ได้เผยให้เห็นถึงอันตรายของการถูกทิ้งไว้นอกร่มนิวเคลียร์ ...การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบโต้การบังคับขู่เข็ญด้วยนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม อกาสที่ดีที่สุดสำหรับยูเครนที่จะได้รับผลประโยชน์จากการป้องปรามด้วยนิวเคลียร์คือการเข้ารับเป็นสมาชิกของ NATO โดยเร็วที่สุด”

แม้ว่าในปัจจุบันยูเครนจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ก็ไม่ใช่มือใหม่ในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ในสมัยสหภาพโซเวียต โรงงานพิฟเดนมาช (Pivdenmash) ในเมืองดนีโปร (Dnipro) ของยูเครนผลิตขีปนาวุธที่สามารถบรรทุกหัวรบนิวเคลียร์ได้ในขณะที่โรงงานเคมีปรีดนิพรอฟสกี้ (Prydniprovsky Chemical Plant) ในเมืองคาเมียนสค์ (Kamianske) แคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์เป็นหนึ่งในกระบวนการแปรรูปแร่ยูเรเนียมสำหรับโครงการนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต โดยเป็นผู้เตรียมเยลโลว์เค้กซึ่งเป็นขั้นตอนกลางในการแปรรูปแร่ยูเรเนียม นอกจากนี้ยังมีแหล่งสะสมยูเรเนียมในโชฟติ โวดี (Zhovti Vody) ในแคว้นดนีโปรเปตรอฟสค์อีกด้วย ยูเครนยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่แห่งในแคว้นซาโปริซเซีย, ริฟเน, คเมลนีตสกี และแคว้นมิโคลายิฟ แม้ว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแคว้นซาโปริซเซียอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย

คำถามที่ว่ายูเครนสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้หรือไม่นั้น ปัจจุบันยูเครนไม่ได้ผลิตขีปนาวุธนิวเคลียร์แต่มันก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเคียฟที่จะสร้างมันขึ้นมา โรเบิร์ต เคลลี่ (Robert Kelley) วิศวกรที่มีประสบการณ์มากกว่า 35 ปีในศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของกระทรวงพลังงานกล่าวว่า “เป็นไปได้ที่ยูเครนจะสร้างระเบิดฟิชชันยูเรเนียมแบบดั้งเดิมภายในห้าปี..มันค่อนข้างง่ายที่จะทำในศตวรรษที่ 21 การสร้างระเบิดฟิชชันพลูโทเนียมของยูเครนจะยากกว่า และมันจะยากต่อการซ่อนด้วย โดยจะใช้เวลาห้าถึง 10 ปีในการสร้างเครื่องปฏิกรณ์พลูโตเนียม” เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ยูเครนอาจจะสามารถสร้างอุปกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาใดๆ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ที่ซับซ้อนกว่านี้ จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวยูเครนต่างยืนยันว่ายูเครนมีความสามารถในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ โดยเสริมว่าอาจต้องใช้เวลาหลายปี” เจริ ลาวิไคเนน (Jyri Lavikainen) กล่าวว่า“ยูเครนจะมีความรู้และทรัพยากรที่จะกลายเป็นรัฐอาวุธนิวเคลียร์อย่างแน่นอน หากยูเครนตัดสินใจทำเช่นนั้น”เทคโนโลยีที่ต้องการนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับหลายประเทศ และแน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับยูเครน เนื่องจากเป็นที่ตั้งองค์ประกอบสำคัญของศูนย์อาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต ตอนที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต” “...ยูเครนสามารถพัฒนาทั้งหัวรบนิวเคลียร์และยานพาหนะบรรทุกได้ เนื่องจากมีอุตสาหกรรมทางทหาร แหล่งสะสมยูเรเนียม และภาคพลังงานนิวเคลียร์ที่จำเป็น” 

นิโคไล โซคอฟ (Nikolai Sokov) เจ้าหน้าที่อาวุโสของศูนย์การลดอาวุธและการไม่แพร่ขยายแห่งกรุงเวียนนา (the Vienna Center for Disarmament and Non-Proliferation) ให้ความเห็นว่า สำหรับยูเครนการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ "ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้แต่จะต้องใช้เวลาหลายปี เงินจำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก อย่างน้อยก็ในด้านอุปกรณ์"” “ยูเครนไม่มีความสามารถทางอุตสาหกรรมในการผลิตและบำรุงรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ ไม่มีวัสดุฟิสไซล์ ความสามารถในการเสริมสมรรถนะ การผลิตพลูโตเนียม และองค์ประกอบส่วนใหญ่ที่นำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์” ในขณะที่ลิวิว โฮโรวิตซ์ (Liviu Horovitz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องปรามนิวเคลียร์แห่งสถาบันกิจการระหว่างประเทศและความมั่นคงแห่งเยอรมนี (the German Institute for International and Security Affairs) กล่าวด้วยว่ายูเครนจะต้องเผชิญกับความท้าทายหากตัดสินใจสร้างระเบิดนิวเคลียร์ เพราะโครงการอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวอาจมีต้นทุนหลายพันล้านดอลลาร์ โดยโครงการระเบิดนิวเคลียร์แบบดั้งเดิมที่สุดที่เน้นไปที่เครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมอาจมีราคาประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ โครงการระเบิดพลูโตเนียมจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์)

ในขณะเดียวกันการโจมตีทางอากาศของรัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อโรงงานนิวเคลียร์ของยูเครน รัสเซียซึ่งมีคลังแสงมากมายทั้งขีปนาวุธธรรมดาและขีปนาวุธแบบธรรมดา สามารถโจมตีโรงงานใดๆ ของยูเครนที่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่ยูเครนจะสามารถดำเนินโครงการนี้สำเร็จได้ตราบใดที่สงครามยังดำเนินต่อไป โดยรัสเซียจะดำเนินการโจมตีสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์โดยเร็วที่สุดเท่าที่สามารถระบุได้เพื่อขัดขวางโครงการนิวเคลียร์รวมถึงการก่อวินาศกรรมและการลอบสังหารด้วย ซึ่งคล้ายกับการขัดขวางโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน 5 คน ระหว่างปีค.ศ. 2010 – 2020 โดยอิสราเอล

นอกจากนี้การสร้างระเบิดนิวเคลียร์อาจส่งผลกระทบทางการเมืองของยูเครน โดยยูเครนเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการถอนตัวออกจากสนธิสัญญาจะทำให้เกิดการตอบโต้จากทั้งสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปของยูเครน สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์เป็นรากฐานสำคัญของนโยบายนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆ ทุกรายของยูเครน โครงการอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนชาวตะวันตกของยูเครน ดังนั้นพันธมิตรของยูเครนจึงมีแนวโน้มที่จะกดดันให้ยุติโครงการทันทีที่ถูกค้นพบ สหรัฐอเมริกา ตะวันตก และประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะต่อต้านยูเครนหรือรัฐอื่นๆ ที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์หากแสวงหาเพื่อครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และจะตอบโต้โดยการคว่ำบาตรยูเครนทั้งทางการฑูตและเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับกรณีของอิหร่าน 

นอกจากนี้นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกยังมีแนวโน้มในการตีความการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนว่าเป็นการยกระดับสงครามครั้งใหญ่ โดยมองว่าโครงการนิวเคลียร์ของยูเครนจะยิ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะขยายสงครามไปสู่ระดับการทำลายล้างที่มากยิ่งขึ้น พันธมิตรตะวันตกอาจจะหยุดให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน หากยูเครนเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมันขัดต่อความคิดเห็นของสาธารณชนภายในประเทศ

มิคาอิล โปโดเลียกที่ปรึกษาระดับสูงของเซเลนสกีกล่าวอย่างชัดเจนว่าแม้จะติดอาวุธปรมาณู เคียฟก็ไม่สามารถขัดขวางรัสเซียได้ อาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงของยูเครนจะไม่มีอำนาจที่จะหยุดยั้งรัสเซีย ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางการทหารอย่างท่วมท้น เขาโพสต์ลงบนทเลแกรมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน 2024 ที่ผ่านมา “...แม้ว่ายูเครนจะต้องสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในอนาคตอันใกล้นี้ ..แต่ก็ไม่สามารถขัดขวางจักรวรรดิรัสเซียที่มีคลังแสงนิวเคลียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้...” 

ตามเอกสารของสถาบัน think tank ของยูเครนซึ่งร่วมเขียนโดยโอเล็กซี ยิจฮัก (Oleksii Yizhak) เจ้าหน้าที่จากสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์แห่งชาติของยูเครน เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถสร้างระเบิดปรมาณูที่ใช้พลูโทเนียมได้ภายในไม่กี่เดือน คล้ายกับระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ทิ้งที่นางาซากิในปี ค.ศ. 1945 โดยใช้พลูโทเนียมจากแท่งเครื่องปฏิกรณ์เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว เอกสารดังกล่าวซึ่งอ้างโดยหนังสือพิมพ์ The Times ของอังกฤษ ระบุว่าเคียฟสามารถควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่ปฏิบัติการได้ 9 เครื่องและสิ่งนี้จะทำให้ยูเครนสามารถเรียกพลูโตเนียมได้เจ็ดตัน ซึ่งสามารถสร้างหัวรบที่มีน้ำหนักทางยุทธวิธีหลายกิโลตัน ยูเครนสามารถใช้อาวุธดังกล่าวทำลายฐานทัพอากาศรัสเซียทั้งหมด หรือสถานที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่งทางทหาร อุตสาหกรรมหรือโลจิสติกส์” อย่างไรก็ตาม กีออร์จี้ ทีคี (Heorhii Tykhyi) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ตอบโต้คำกล่าวอ้างที่ว่าเคียฟสามารถพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ได้ภายในไม่กี่เดือน “...เราไม่ได้ครอบครอง พัฒนา หรือตั้งใจที่จะรับอาวุธนิวเคลียร์ ยูเครนทำงานอย่างใกล้ชิดกับ IAEA และมีความโปร่งใสในการตรวจสอบ ซึ่งห้ามการใช้วัสดุนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร” 

ท้ายที่สุดแล้วประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซียคงไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง โดยเขากล่าว่า “การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในโลกสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องยาก ...ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มอสโกจะไม่ยอมให้ยูเครนมีอาวุธนิวเคลียร์” ความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามของยูเครนเพื่อให้ได้อาวุธนิวเคลียร์ไม่สามารถปกปิดได้และจะได้รับการตอบโต้ที่เหมาะสมจากรัสเซีย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top