Tuesday, 22 April 2025
ล้มละลาย

จับตาธุรกิจรายเล็ก 5 แสนแห่งในอังกฤษ อาจเสี่ยงล้มละลายภายในไม่กี่สัปดาห์

The guardian รายงานว่า มาร์ติน แมคเทก ประธานสหพันธ์ธุรกิจขนาดเล็ก (FSB) เตือนว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นได้สร้างระเบิดเวลาสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กในสหราชอาณาจักร โดยมีบริษัทเกือบครึ่งล้านแห่งที่เสี่ยงต่อการล้มละลายภายในไม่กี่สัปดาห์โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล 

แม้แมคเทก จะชื่นชมการสนับสนุนของ ริชี ซูแนค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เยียวยาผู้บริโภคผ่านแพ็กเกจค่าครองชีพมูลค่า 15,000 ล้านปอนด์ ซึ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เขามองว่าบรรดาผู้ประกอบรายย่อยกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับต้นทุนการผลิตของพวกเขา และนี่ถือเป็นระเบิดเวลา

“พวกเขาเหลือเวลาอีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่เงินสดจะหมด และนั่นจะหมายถึงธุรกิจหลายแสนราย และผู้คนจำนวนมากจะตกงาน” แมคเทกกล่าว
 

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้!! เกือบ 2,400 ธนาคารในสหรัฐฯ กำลังวิกฤต ลั่น!! เสี่ยงล้มละลาย แถมกองทุนสำรองยามฉุกเฉินก็ใกล้หมด 

(7 พ.ค. 66) เกือบครึ่งหนึ่งของธนาคาร 4,800 ธนาคารในสหรัฐฯ ใกล้ล้มละลาย ขณะที่พวกเขาผลาญเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อสํารองไว้ยามฉุกเฉิน (Capital buffer) เกือบหมดสิ้นแล้ว ตามรายงานของเทเลกราฟเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงความเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคาร

เทเลกราฟรายงานโดยอ้างความเห็นของศาสตราจารย์อามิต เซรู ผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคารแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ระบุว่าสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ราวครึ่งหนึ่งจมอยู่ใต้น้ำ "อย่าอ้างว่านี่เป็นแค่เรื่องเกี่ยวกับซิลลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และเฟิร์สต์ รีพับลิก" เขากล่าว "มากมายในระบบธนาคารของสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ว่าจะล้มละลาย"

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เฟิร์สต์ รีพับลิก ถูกคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านการเงินของสหรัฐฯ เข้ายึดและขายกิจการให้แก่เจพี มอร์แกน ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ เฟิร์สต์ รีพับลิก ได้รับสายเลี้ยงชีพ 30,000 ล้านดอลลาร์ จากกลุ่มสถาบันการเงินในวอลล์สตรีท ที่ให้ความช่วยเหลือผ่านรูปแบบของเงินฝาก แต่ก็ไปต่อไม่ไหว

การขายกิจการของเฟิร์สต์ รีพับลิก มีขึ้นตามหลังการแห่ถอนเงินในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้ธนาคารระดับภูมิภาค 2 แห่ง ซิลลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ต้องล้มครืนภายในเวลาไม่กี่วัน

ในวันพฤหัสบดี (4 พ.ค. 66) ต้องมีการระงับซื้อขายหุ้นของธนาคารแพ็คเวสต์ ซึ่งมีสำนักงานในลอสแองเจลิส และธนาคารเวสเทิร์น อัลลิอันซ์ ที่มีสำนักงานในแอริโซนา หลังราคาดิ่งลงอย่างน่าตกตะลึง ขณะที่ก่อนหน้านั้นในช่วงต้นเดือน หุ้นของสถาบันการเงินระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ หลายแห่งร่วงลงอย่างน้อย 15% โหมกระพือความกังวลในหมู่นักลงทุน เกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบรรดาธนาคารขนาดกลางอื่นๆ

‘เบอร์มิงแฮม’ เมืองใหญ่ของอังกฤษ ประกาศล้มละลาย หลังเผชิญวิกฤตงบประมาณขาดดุล-ปัญหาภาระหนี้สิน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 หัวหน้าฝ่ายการเงินของสภาเมืองเบอร์มิงแฮมได้ประกาศใช้มาตรา 114 ที่หมายความว่าจะไม่มีการใช้จ่ายงบประมาณใหม่ ๆ เกิดขึ้น ยกเว้นการใช้จ่ายที่จำเป็น ทั้งการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบาง บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน และภาระผูกพันทางการเงินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ส่วนบริการที่คาดว่าจะต้อง ถูกปรับลดงบประมาณมีทั้งการทำความสะอาดถนน การดูแลรักษาสวนสาธารณะ ห้องสมุด บริการเกี่ยวกับเด็กที่อยู่นอกเหนือจากการช่วยเหลือทางสังคม และการเก็บขยะที่อาจต้องทิ้งช่วงเวลานานขึ้น

สภาเมืองเบอร์มิงแฮม ระบุว่า สาเหตุหลักที่ต้องประกาศล้มละลาย เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยมูลค่าสูงถึง 760 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 34,000 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มพนักงานหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่รวมตัวยื่นฟ้องในคดีจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ

การจ่ายเงินค่าชดเชยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ด้านกฎหมายกับสหภาพแรงงานที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาเมืองเบอร์มิงแฮมเปิดเผยว่า ได้จ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานหญิงไปแล้ว 1,100 ล้านปอนด์ หรือ ประมาณ 50,000 ล้านบาท แต่ยังเหลือยอดหนี้อีกราว 650-750 ล้านปอนด์ ทำให้มีภาระเพิ่มขึ้นเดือนละ 5 ล้าน ถึง 15 ล้านปอนด์ หรือ 200 ล้าน ถึง 670 ล้านบาท ซึ่งสภาเมืองไม่สามารถหาเงินมาชำระได้

นอกจากเบอร์มิงแฮม ยังมีสภาท้องถิ่นอีกหลายแห่งที่ต้องประกาศล้มละลายเหมือนกับเบอร์มิงแฮม เช่น วอคกิง ครอยดอน และเทอร์รอค หลังจากหลายโครงการลงทุนเกิดปัญหา และเผชิญกับการปรับลดเงินทุน

ขณะที่สมาคมองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอังกฤษประเมินว่า ตลอด 2 ปีนับจากนี้ สภาเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนเงินทุนรวมกันประมาณ 2,000 ล้านปอนด์ หรือ 9 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริการสาธารณะที่มีอยู่ตอนนี้ยังคงดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

‘WeWork’ ยื่นล้มละลายแล้ว หลังเผชิญวิกฤติขาดทุนมหาศาล มีผลเฉพาะสหรัฐฯ-แคนาดา ส่วนประเทศอื่นยังดำเนินการปกติ

(7 พ.ย.66) วีเวิร์ก (WeWork) บริษัทให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน ได้ยื่นล้มละลายแล้ว หลังจากมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า วีเวิร์ก ได้เตรียมยื่นล้มละลาย หลังจากเผชิญกับหนี้สินก้อนโต และการขาดทุนมหาศาล 

ข่าวระบุว่า วีเวิร์ก ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 11 ของกฎหมายล้มละลายเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวีเวิร์กระบุว่า การยื่นเรื่องล้มละลายดังกล่าว จะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่ธุรกิจทั่วโลกคาดว่าจะยังคงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ

โดยโฆษกของวีเวิร์กกล่าวว่า ราว 92 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าหน้าที่ของบริษัท ตกลงที่จะแปลงหนี้ที่มีหลักประกัน ให้เป็นหุ้นทุน ภายใต้ข้อตกลงการสนับสนุนการปรับโครงสร้าง ซึ่งจะช่วยล้างหนี้ได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ครั้งหนึ่ง วีเวิร์ก เคยเป็นสตาร์ตอัปที่เป็นดาวรุ่งอย่างมาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ด้วยการให้บริการแบ่งปันพื้นที่สำนักงาน และให้คำมั่นสัญญาว่า จะเปลี่ยนรูปแบบของสำนักงานทั่วโลก และได้เริ่มดำเนินธุรกิจกระจายไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อปี 2019 วีเวิร์กเคยเป็นบริษัทสตาร์ตอัปของสหรัฐ ที่มีมูลค่าสูงสุด คือ 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น ทำให้รูปแบบการทำงานกลายเป็นการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของวีเวิร์ก ประสบปัญหาและขาดทุนเรื่อยมา

โดยข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วีเวิร์กมีพื้นที่สำนักงานแบ่งปันอยู่ทั้งสิ้น 777 แห่งทั่วโลก และในเอกสารที่ยื่นต่อศาลล้มละลายนิวเจอร์ซีย์ ระบุว่า วีเวิร์กมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 15,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีหนี้สินอยู่ 18,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา

'วิจัยโตเกียว’ เผย!! ครึ่งปีแรก บ.ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะล้มละลายเกือบ 5 พันแห่ง เหตุ ‘เยนอ่อน' ดัน 'ต้นทุนสูง-เงินเฟ้อพุ่ง’ คาดทั้งปีเสี่ยงล้มแตะหมื่น

(8 ก.ค. 67) จากการสำรวจข้อมูลของบริษัทโตเกียว โชโก รีเสิร์ช ผู้ให้บริการด้านการจัดทำความน่าเชื่อถือด้านการเงินพบว่า บริษัทในญี่ปุ่นที่ประสบภาวะล้มละลายระหว่างเดือน ม.ค ถึง มิ.ย ปี 2024 มีจำนวนอยู่ที่ 4,931 ราย สูงขึ้น 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023 และเป็นระดับสูงสุดที่ในรอบ 10 ปี และนับเป็นการเพิ่มขึ้นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

การล้มละลายดังกล่าวซึ่งรวมถึงกรณีการมีหนี้สินคงค้าง 10 ล้านเยนขึ้นไป หรือเกือบ 2.3 ล้านบาทมีสาเหตุหลัก ๆ จากเรื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานและภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในญี่ปุ่น

โดยมีบริษัทถึง 374 แห่งที่อ้างเหตุผลเรื่องราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือมากกว่าปีที่แล้ว 23.4% ส่วนบริษัทอีก 327 แห่งอ้างเหตุผลเรื่องไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยภายใต้โครงการช่วยเหลือของรัฐบาลในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนบริษัทที่อ้างเหตุผลเรื่องการขาดแคลนแรงงานนั้น แม้จะมีจำนวนเพียง 145 บริษัท แต่ก็เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และยังสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจบริษัทล้มละลายตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา

นอกจากนี้ยังพบว่าการออกกฎควบคุมการทำงานนอกเวลา หรือ โอที ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เม.ย และราคาวัสดุก่อสร้างที่แพงขึ้นทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างล้มละลาย 947 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 20.6%

บริษัทที่ล้มละลายส่วนใหญ่ ประมาณ 88.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กมีจำนวนพนักงานต่ำกว่า 10 คน โดยบริษัทโตเกียว โชโก รีเสิร์ช เตือนว่าตลอดทั้งปีนี้จำนวนบริษัทล้มละลายในญี่ปุ่นอาจเพิ่มขึ้นเกินกว่า 10,000 แห่ง หากค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนต่าง ๆ สูงขึ้นอีก

บริษัทในสหรัฐฯ ล้มละลายพุ่งในรอบ 4 ปี ภาคสินค้าฟุ่มเฟือยหนักนำหน้าส่วนอื่นๆ

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงานจากเอสแอนด์พี โกลบอล อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Intelligence) เปิดเผยว่าจำนวนบริษัทในสหรัฐฯ ที่ยื่นล้มละลายในเดือนมิถุนายน พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020

มีบริษัทอย่างน้อย 75 แห่งยื่นขอคุ้มครองการล้มละลายในเดือนมิถุนายน ทำให้ยอดรวมของปีนี้อยู่ที่ 346 แห่ง ซึ่งสูงกว่าตัวเลขครึ่งปีแรกในช่วง 13 ปีที่ผ่านมาด้วย

โดยรายงานระบุว่าอัตราการล้มละลายของบริษัทในสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ และพุ่งสูงอย่างชัดเจนในเดือนเมษายน ใกล้เคียงกับระดับในปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทหลายแห่งต้องล้มเลิกกิจการเนื่องจากโรคระบาดใหญ่

เอสแอนด์พีกล่าวว่าปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยสูง ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ชะลอตัวส่งผลให้บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รายงานเผยว่า ในหมู่บริษัทที่ยื่นล้มละลาย พบว่าภาคสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงนำหน้าภาคส่วนอื่น ๆ โดยมีบริษัทยื่นล้มละลาย 55 แห่งในปีนี้ ตามด้วยภาคสาธารณสุขและอุตสาหกรรม ซึ่งต่างมีบริษัทยื่นล้มละลายภาคส่วนละ 40 แห่ง

'ทัปเปอร์แวร์' เตรียมประกาศล้มละลาย หลังเผชิญวิกฤติหนี้กว่า 700 ล้านเหรียญ

(17 ก.ย. 67) ทันโลกกับ Trader KP รายงานว่า Tupperware Brands Corp. ผู้ผลิตกล่องใส่อาหารชั้นนำของโลก กำลังเตรียมยื่นขอคุ้มครองล้มละลาย หลังประสบปัญหาการแข่งขันอย่างหนักและไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระหนี้ได้ Bloomberg รายงานข้อมูลสำคัญดังนี้...

1) #ปัญหาหนี้สิน Tupperware มีหนี้สินมากกว่า $700 ล้าน ซึ่งเป็นภาระที่บริษัทต้องจัดการท่ามกลางความท้าทายจากการแข่งขัน

2) บริษัทได้ติดต่อที่ปรึกษากฎหมายและการเงินแล้ว และอาจยื่นขอคุ้มครองล้มละลายในศาลเร็ว ๆ นี้

3) หุ้นร่วงหนัก -  หุ้นของ Tupperware ร่วงลง 57.5% ในช่วงการซื้อขายปกติ และอีก 16.7% ในช่วงการซื้อขายหลังเวลาทำการ โดยหุ้นตกลงรวม 74.5% ในปีนี้

4) ผลกระทบจากการแข่งขัน - แม้ Tupperware จะเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์ภาชนะเก็บอาหารพลาสติก แต่กลับต้องเจอกับการแข่งขันจากแบรนด์อื่น ๆ ที่ผลิตสินค้าคล้ายกันในราคาที่ถูกกว่า

5) ความพยายามปรับโครงสร้าง - ปีที่แล้วบริษัทเปลี่ยนแปลงผู้นำและบอร์ดบริหารเพื่อพยายามฟื้นฟูกิจการ แต่ปัญหาต่าง ๆ ยังคงทับถม รวมถึงการเตือนเรื่องความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องและการยื่นรายงานทางการเงินล่าช้า

Tupperware ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1946 เผชิญกับแรงกดดันที่รุนแรงในการหาทางออกเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

คนเขียน ‘พ่อรวยสอนลูก’ ติดหนี้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ถูกฟ้องให้!! ล้มละลาย โกงผู้ร่วมธุรกิจ หลอกลวงนักเรียน

(24 พ.ย. 67) จุดเริ่มต้นของเรื่องราวนี้ เกิดขึ้นเมื่อบริษัท Learning Annex ซึ่งเป็นบริษัทพาร์ทเนอร์แรก ๆ ของเขาที่ช่วยทำการตลาดให้กับหนังสือ ‘พ่อรวย สอนลูก’ ยื่นฟ้องต่อบริษัท Rich Global LLC หลายสิบล้านดอลลาร์ หลังไม่แบ่งเปอร์เซนต์กำไรจากการขายหนังสือตามที่เคยตกลงไว้ก่อนหน้านี้ และเมื่อศาลบังคับให้บริษัทต้องจ่าย เขากลับเลือกยื่นล้มละลายแทน โดยให้เหตุผลว่า บริษัท Rich Global LLC มีทรัพย์สินเพียงไม่กี่ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า คิโยซากิได้ดำเนินการยักย้าย ถ่ายเททรัพย์สินของบริษัท กระจายไปยังบริษัทอื่น ๆ ในเครือของเขา จนทำให้บริษัทที่เป็นคู่พิพาทกับ Learning Annex เหลือทรัพย์สินเพียงไม่กี่ดอลลาร์ เพราะการฟ้องครั้งนี้ ยื่นฟ้องต่อบริษัท ไม่ใช่บุคคล จึงทำให้การล้มละลายเกิดขึ้นกับบริษัทเท่านั้น ไม่ใช่ตัวคิโยซากิ 

ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า สัมมนาสอนการลงทุนของเขา ค่อนข้างเข้าข่ายหลอกลวง โดยเริ่มต้นให้ลงเรียนแบบฟรี ก่อนจะโน้มน้าวให้นักเรียนเริ่มลงเรียนในวิชาที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 500 ดอลลาร์ ไปจนถึง 45,000 ดอลลาร์ แต่ประเด็นนี้ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งนี้ เป็นการหลอกลวงจริงหรือไม่ 

นอกจากนี้ คิโยซากิ ออกมาเปิดเผยว่า ตนเองมีหนี้ราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่หนี้ของเขาจะใช้ไปกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์ ซึ่งเขามีความเชื่อว่า การออมเงินสดมีความเสี่ยง หลังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ประกาศระงับการแปลงค่าเงินดอลลาร์เป็นทองคำ หรือสินทรัพย์สำรองอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 1971 เขาใช้หนี้เป็นเหมือนเงินสด และเลือกที่จะออมเป็นเงินและทองแทน ซึ่งแนวคิดนี้ ทำให้เขามีหนี้สินสะสมทั้งหมด 1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.99 หมื่นล้านบาท 

‘ถ้าผมล้มละลาย ธนาคารก็จะล้มละลายไปด้วย นั่นไม่ใช่ปัญหาของผม’ คิโยซากิ กล่าว 

‘คิโยซากิ’ นับได้ว่า ยังเป็นนักธุรกิจที่หลายคนมองเขาเป็นคนต้นแบบ และดำเนินตามแนวคิดของเขา แต่สุดท้าย เรื่องการเงิน การลงทุน เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้หลายด้าน ก่อนตัดสินใจทุ่มเงินลงไปที่ไหน เพื่อจะได้ไม่เผชิญกับความเสี่ยงในระดับที่เราอาจรับมือไม่ไหว หากเชื่อฟังใครมากเกินไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top