13 มิถุนายน 2535 สิ้น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' ราชินีลุกทุ่ง ผู้ขับกล่อมบทเพลงอมตะข้ามกาลเวลา
“เมื่อสุริยนย่ำสนธยา จะกลับบ้านนาตอนชื่อเสียงเรามี จะยากจะจน ถึงอดจะทนเต็มที่ นักร้องบ้านนอก คนนี้จะกล่อมน้องพี่ และแฟนเพลง…”
อีกท่อนจำข้ามกาลเวลาจากบทเพลง 'นักร้องบ้านนอก' ที่เชื่อว่าคนไทยในยุค 'เกิดทัน' ยังคงตราตรึงจิตอยู่ร่ำไป
หากบรรจบครบวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ก็จะเท่ากับ 30 ปี แห่งการจากไปของราชินีลูกทุ่ง 'พุ่มพวง ดวงจันทร์'
พุ่มพวง ดวงจันทร์ (4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 – 13 มิถุนายน 2535) ชื่อจริงว่า 'รำพึง จิตรหาญ' (ชื่อเล่น ผึ้ง) ผู้ชอบร้องเพลงเป็นชีวิตใจ และเธอก็เหมือนนักร้องคนอื่นที่ใช้เวทีประกวดร้องเพลงงานวัดเป็นหนทางเข้าสู่วงการ โดยใช้ชื่อว่า ผึ้ง สองพี่น้อง, ผึ้ง ณ ไร่อ้อย
พ.ศ. 2518 ขณะมีอายุได้ 15 พุ่มพวงร้องเพลง 'สาวสวนแตง' ของผ่องศรี วรนุช และชนะเลิศนักร้องฝ่ายหญิงที่งานวัดท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี รำพึง จิตรหาญ-พ่อของพุ่มพวง จึงพาเธอไปฝากเป็น 'หางเครื่อง' ในวงดนตรีของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่มาทำแสดงที่วัดท่ามะกาในเวลานั้น
ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ พุ่มพวงทดลองร้องเพลงหน้าเวที ครั้งแรกในงานประจำปี ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาลจังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์แต่งเพลง 'แก้วรอพี่' ให้พุ่มพวงร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกโดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ” และที่นี้อีกเช่นกันที่พุ่มพวงได้พบรักกับ ธีระพล แสนสุข-สามีคนแรกซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวง
ต่อมา รุ่ง โพธาราม-นักร้องรุ่นพี่ชักชวนให้แยกมาตั้งวงดนตรีเอง ด้วยการสนับสนุนของมนต์ เมืองเหนือ และมีการเปลี่ยนชื่อจาก น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เป็น 'พุ่มพวง ดวงจันทร์' แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จและต้องเลิกไปในที่สุด แต่พุ่มพวงไม่ถอดใจ เธอตั้งวงดนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ขาดทุนจนเลิกกิจการไป พุ่มพวงจึงหันมาเป็นนักร้องประจำวงของ ศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด
