Tuesday, 22 April 2025
ราชวงศ์อังกฤษ

แฮรี่และเมแกน สะบั้นสัมพันธ์ ‘ราชวงศ์อังกฤษ’ หลังถ่ายทอดเรื่องราว ‘สาวไส้ให้กากิน’ ผ่าน Netflix ด้วยความจริงที่มาจากฝั่งเดียว

เมื่อเป็นข่าวตอนแรกๆผู้เขียนไม่ได้สนใจในเรื่องนี้นัก แต่พออ่านข่าวที่ออกมาหลังจากที่สารคดี ๖ ตอนจบที่ Netflix จัดทำและเผยแพร่ออกมา ก็เริ่มสนใจว่าทั้งดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซสของอังกฤษออกมาพูดอะไรบ้างและเห็นคนที่ดูออกมาวิจารณ์มากมายก่ายกอง เลยอยากเขียนเรื่องนี้สักหน่อยโดยอาศัยอ้างอิงจากบทความของ Katie Razzall ซึ่งเป็นบรรณาธิการด้านวัฒนธรรมและสื่อ ของบีบีซี 

ก่อนที่จะไปพูดถึงบทความของเคธี่ แลซเซอล์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปของเรื่องนี้ก็คือ Netflix ได้จ้างหรือเชิญด้วยราคาแพง (ตามข่าว) ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์หรือที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ เจ้าชายแฮรี่และภรรยาคือเมแกน มาร์เคิล อดีตดาราโทรทัศน์ชาวอเมริกันให้มาเล่าเรื่องราวชีวิตของทั้งสองคนว่ามีอะไรและ เป็นอย่างไรที่ได้ประสพมามีปัญหาอะไรกับราชวงศ์อังกฤษ ตามที่เคยเป็นข่าวมาบ้างแล้ว แต่นั้นก็เป็นการให้สัมภาษณ์เป็นช่วงๆเมื่อมีเรื่องขึ้นมา

แต่ Netflix อาจเห็นว่ามันยังไม่มากพอหรือกระจ่างชัดพอเลยทำเป็นสารคดียาว ๆ เล่ากันเสีย ๖ ตอนเกือบ ๖ ชั่วโมงจบซึ่งก็เพิ่งจะจบไปหมาดๆนี่เอง ไหน ๆ ก็เป็นข่าวดังไปทั้งคุ้งน้ำทั้งสองฝากฝั่งแอตแลนติกแล้ว ดังนั้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็น่าจะได้รู้กันบ้างจึงเป็นที่มาของบทความนี้

เนื่องจากการเล่าเรื่องของทั้งเจ้าชายแฮรี่และเมแกนมีความยาวมาก บทความนี้จะกล่าวถึงเพียงคร่าว ๆ แต่ถ้าท่านผู้อ่านสนใจอยากดูก็เชิญติดตามได้ที่ Netflix แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากพูดถึงคือมุมมองของบ.ก ด้านวัฒนธรรมและสื่อของบีบีซีที่ได้ดูทั้ง ๖ ตอนและเธอได้สรุปแยกเป็นตอนๆไว้อย่างน่าสนใจว่าทั้งคู่พูดถึงอะไรและมีข้อน่าสังเกตอย่างไรบ้าง

‘อดีตผู้สื่อข่าวสายวัง’ เล่ามุมมองความรัก ‘เจ้าชายวิลเลียม-เจ้าหญิงเคท’ ชี้ ฝ่ายหญิงเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่เจ้าชาย 'ไม่เคยมี' ในชีวิตราชวงศ์

(10 ก.ค. 66) คู่สามีภรรยาที่มีชาติกำเนิดแตกต่างกันมาก บางครั้งความต่างที่หลายคนมองว่าอาจเป็น ‘อุปสรรค’ กลับกลายเป็นการ ‘เติมเต็ม‘ ให้กัน เหมือนที่ ‘เจนนี บอนด์’ อดีตผู้สื่อข่าวสายราชวงศ์ของสำนักข่าวบีบีซี มองคู่ของเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าหญิงแคทเธอรีนแห่งเวลส์ หรือ เคท มิดเดิลตัน พระชายา ว่า ฝ่ายหญิงซึ่งมาจากสามัญชนได้เข้ามาเติมเต็ม ให้ทุกสิ่งที่เจ้าชายวิลเลียม ไม่เคยมีในชีวิตราชวงศ์ของพระองค์

บอนด์ ในวัย 72 ปี ให้ความเห็นว่า ทั้งเจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี พระอนุชา พระโอรสทั้ง 2 ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร กับ เจ้าหญิงไดอานา อดีตพระชายา ซึ่งสิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปี 2540 ต่างเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่มีความแข็งแรงทางอารมณ์ อย่างที่รู้กันว่าชีวิตคู่ของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับ เจ้าหญิงไดอานา ไม่ได้ราบรื่นและลงเอยด้วยการหย่า ก่อนเจ้าหญิงไดอานาจะประสบอุบัติเหตุ กระทั่งสิ้นพระชนม์

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เคทได้ให้ทุกสิ่งที่เจ้าชายวิลเลียมไม่เคยได้ในชีวิตครอบครัวของพระองค์เอง ทั้งความรัก การเป็นคู่ชีวิตที่ผูกพันลึกซึ้ง มิตรภาพที่มีรากฐานแข็งแรง ความหลงใหล การเคารพซึ่งกันและกัน และยังขยายไปถึงความสัมพันธ์ที่ลงตัว มีความสุขกับพ่อตาแม่ยาย” บอนด์ให้สัมภาษณ์นิตยสารโอเค

อดีตนักข่าวของบีบีซี เล่าว่าทั้ง ไมเคิล และ แคโรล มิดเดิลตัน พ่อแม่ของเคท มิดเดิลตัน หรือ เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ต่างรักเจ้าชายวิลเลียม และปฎิบัติต่อพระองค์เหมือนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว “เจ้าชายวิลเลียมสามารถผ่อนคลายเมื่ออยู่กับไมเคิลและแคโรล สามารถไว้ใจบุคคลทั้งสอง และสามารถเป็นตัวของพระองค์เองในแบบที่ทรงสามารถทำได้กับคนอื่นเพียงไม่กี่คน”

เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าหญิงแคทเธอรีน พระชายา ทรงรู้จัก และพบรักกันตั้งแต่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ ในสกอตแลนด์ เคยเลิกคบเป็นแฟนกันไประยะหนึ่ง ก่อนจะหวนกลับมาคบกันใหม่ และประกาศหมั้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนปี 2553 จากนั้นทรงเข้าพิธีเสกสมรสเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2544 

เป็นเวลา 12 ปีแล้ว ที่ทั้งสองพระองค์ทรงครองชีวิตคู่ ช่วยกันเลี้ยงดูพระโอรส พระธิดาทั้ง 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายจอร์จ พระโอรสองค์โต พระชันษา 9 ปี เจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระชันษา 8 ปี และเจ้าชายหลุยส์ พระชันษา 5 ปี เติบโตอย่างมีความสุข เป็นที่รักที่เอ็นดูของแฟนคลับราชวงศ์อังกฤษทั่วโลก

ระหว่างให้สัมภาษณ์นิตยสารดัง ‘เจนนี บอนด์’ มองว่า “ทุกวันนี้เจ้าชายวิลเลียมทรงใกล้ชิดกับพระบิดามากขึ้น แต่ฉันคิดว่าสุภาพสตรีอีกคนที่ช่วยให้เจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นผู้ชายเหมือนที่ทรงเป็นอยู่ ก็คือควีนเอลิซาเบธที่ 2 สมเด็จย่าของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากไปแล้ว ซึ่งเจ้าชายวิลเลียมเคยบอกอยู่เสมอว่า เป็นผู้ที่อยู่ในชีวิตของพระองค์ทั้งช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด และเศร้าที่สุดในชีวิต”

ลือสนั่น!! ความสัมพันธ์ ‘เจ้าชายแฮร์รี-เมแกน’ เริ่มสั่นคลอน หลังวงในอ้างทั้งคู่ห่างกันสักพักแล้ว ด้านแฟนคลับออกโรงป้อง

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 66 ‘ดิ อินดิเพนเดนท์’ สื่ออังกฤษ รายงานว่า แฟนๆ ที่ชื่นชมออกมาปกป้อง ‘เจ้าชายแฮร์รี และเมแกน’ ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ท่ามกลางข่าวลือสะพัดว่าทั้งคู่แยกทางกันแล้ว

โดยมีกระแสข่าวว่า หลังจาก ‘Spare’ หนังสือบันทึกความทรงจำของเจ้าชายแฮร์รี แห่งราชวงศ์อังกฤษ วางแผง ก็เริ่มมีการคาดเดาว่าความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน พระชายา ที่เข้าพิธีเสกสมรสกันในปี 2018 อาจไม่มั่นคงอย่างที่เคยเป็นมา ตามรายงานของ ‘Entertainment Tonight’ ระบุว่า…

“เจ้าชายแฮร์รี พระชันษา 38 ปี ได้เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เพื่อพักผ่อนและใช้เวลาห่างจากพระชายาของพระองค์”

ส่วน ‘RadarOnline’ รายงานเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน กำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยอ้างคนวงในบอกว่าทั้งคู่ได้ห่างกันสักพักแล้ว “พวกเขากำลังพยายามทบทวนว่าอะไรที่เป็นปัญหาของพวกเขา” และว่า “เจ้าชายแฮร์รี ไม่เหมาะกับโลกมายาของเมแกน”

ขณะที่มีรายงานว่าเมื่อข้อตกลงมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนทำกับ ‘Spotify’ ได้สิ้นสุดลงเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวลือเกิดขึ้นอีกครั้ง บลูมเบิร์กรายงานถึงความยุ่งยากของเมแกนในการเลือกแขกที่จะเชิญมาในรายการ โดยขณะที่เจ้าชายแฮร์รีทรงอยากให้เชิญ โดนัลด์ ทรัมป์, วลาดิมีร์ ปูติน และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มาร่วม แต่ผู้บริหารดูจะไม่กระตือรือร้นกับไอเดียเหล่านี้ของพระองค์

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวอีกรายบอกกับ ‘Page Six’ ว่า “เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ยังคงอยู่ด้วยกันและแต่งงานอย่างมีความสุข”

ด้านแคที นิโคล ผู้เขียนเรื่อง ‘The New Royals’ กล่าวกับ ET ว่า “ประสบการณ์ของฉันกับแฮร์รีและเมแกน เมื่อใดก็ตามที่ฉันอยู่กับพวกเขา ในฐานะคู่รักที่สนิทกันมากๆ ประกายแห่งความมีชีวิตชีวาของพวกเขา ทำให้ฉันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงเสมอ”

แฟนคลับอีกรายหนึ่งที่สนับสนุนคู่รักต่างฐานันดรคู่นี้ ทวีตว่า “โปรดรู้ไว้ว่าฉันเป็นแฟนตัวยงของเมแกน ตั้งแต่เรื่อง ‘Suit’ และเจ้าชายแฮร์รีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และฉันเข้าร่วมในทวิตเตอร์ เพราะฉันกำลังมองหาวิธีที่จะปกป้องและสนับสนุนพวกเขา เป็นเรื่องดีที่รู้ว่าพวกเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง”

8 กันยายน พ.ศ. 2565 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเสด็จสวรรคตอย่างสงบ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ เสด็จสวรรคตอย่างสงบที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์ เมื่อตอนบ่ายของวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2565 พระชนมพรรษา 96 ปี ทรงครองราชย์สมบัตินานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษ

บีบีซีได้ประกาศข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ตามเวลาในประเทศไทยเมื่อ หนึ่งนาฬิกา 18 นาที ในคำแถลงของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ตรัสว่า…

"การสวรรคตของสมเด็จพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่งของข้าพเจ้าเป็นเวลาที่เศร้าโศกที่สุดสำหรับข้าพเจ้าและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ เราไว้อาลัยกับการจากไปของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและพระมารดาอันเป็นที่รักยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ดีว่าการสวรรคตของพระองค์คงเป็นความรู้สึกของคนทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศในเครือจักรภพและคนทั่วโลก"

ในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมกล่าวว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีจะประทับที่ปราสาทบัลมอรัลในตอนเย็นวันที่ 8 กันยายนและจะเสด็จกลับกรุงลอนดอนในวันรุ่งขึ้น

ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 นั้น ได้มีรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาอังกฤษออกมาตามเวลาในอังกฤษประมาณบ่าย ห้าโมงเย็นของวันที่ 8 กันยายน โดยคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ่งแฮมได้อ้างถึงความกังวลของคณะแพทย์ในพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีหลังจากการประเมินผลการตรวจในตอนเช้า จึงขอพระราชทานให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์

อย่างไรก็ดีในคำแถลงของสำนักพระราชวังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า The Queen is ‘confortable’. หรือสมเด็จพระราชินีทรงสบายดี

แม้ว่าในคำแถลงเพิ่มเติมอาจจะทำให้เห็นว่าสมเด็จพระราชินีไม่ได้ประชวรหนัก แต่ปรากฏการณ์ที่พระโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์เสด็จไปเฝ้าที่ปราสาทบัลมอรัลในสก๊อตแลนด์เมื่อเย็นวานนี้ก็ทำให้เกิดความห่วงใยในพระพลานามัยของประมุขของประเทศอังกฤษเช่นกัน

เจ้าชายชาร์ลส์และพระชายาและเจ้าหญิงแอนน์ได้ประทับอยู่ที่บัลมอรัลอยู่แล้ว แต่การเสด็จของเจ้าชายแอนดรูและเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดพระราชโอรสอีกสองพระองค์รวมทั้งพระนัดดาอีกสองพระองค์คือเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮรี่ ทำให้เห็นว่าการที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การถวายการรักษานั้นอาจหมายถึงการเฝ้าระวังพระพลานามัยอย่างใกล้ชิด

รายงานข่าวของบีบีซีได้ตั้งข้อสังเกตในคำแถลงของสำนักพระราชวังบัคกิ้งแฮมครั้งนี้ว่า ค่อนข้างจะผิดแผกแตกต่างกับที่ผ่านมาเพราะมักจะเลี่ยงการพูดถึงพระสุขภาพของสมเด็จพระราชินีด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นเรื่องส่วนพระองค์

อย่างไรก็ดีก็มีความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนโดยประธานสภาได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับรายงานของสำนักพระราชวังในเรื่องที่คณะแพทย์ขอให้สมเด็จพระราชินีอยู่ภายใต้การรักษา

ในที่สุดในตอนเย็นเวลาหนึ่งทุ่มบีบีซี ก็มีประกาศข่าวสวรรคตอย่างสงบของพระองค์ เป็นการสิ้นสุดการครองราชสมบัติที่ยาวนานเป็นเวลา 70 ปีของพระองค์

ตลอดเวลาที่ทรงเป็นองค์ประมุข ทรงพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษถึง 15 คน เริ่มจากเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล และคนสุดท้าย คือ เอลิซาเบธ ทรัสส์ ซึ่งเพิ่งจะเข้าเฝ้าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาหลังชนะการเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคทอรี่คนใหม่และเป็นนายกรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีอังกฤษจะเข้าเฝ้าถวายรายงานเกี่ยวกับราชการแผ่นดินกับพระองค์ทุกสัปดาห์)

สำหรับการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ครั้งนี้เป็นการสูญเสียพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชสมบัตินานที่สุดอีกพระองค์หนึ่งของโลก

อังกฤษอาศัยช่วงเปลี่ยนขั้วรัฐบาล กล่าวหา 'หยาง เติ้งป๋อ' นักธุรกิจจีนเป็นสายลับให้ปักกิ่ง เอี่ยวโยงเจ้าชายแอนดรูว์

(17 ธ.ค.67) กลายเป็นเรื่องใหญ่ของสหราชอาณาจักร เมื่อมีรายงานข่าวว่า ศาลอังกฤษได้สั่งห้ามบุคคลต้องสงสัยชาวเอเชียที่ชื่อ หยาง เติ้งป๋อ เข้าประเทศ โดยอังกฤษอ้างว่านายหยางมีพฤติการณ์ต้องสงสัยแฝงตัวเป็นสายลับในคราบนักธุรกิจโปรไฟล์ดี สามารถเข้าถึงใกล้ชิดบุคคลระดับสูงทั้งในระดับรัฐบาลอังกฤษจนถึงพระราชวงศ์ระดับสูง

จากการเปิดเผยข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงอังกฤษได้กล่าวหาว่านาย หยาง เติ้งป๋อ วัย 50 ปี หรือที่รู้จักภายใต้โค้ดเนมว่า H6 เป็นสายลับจีนที่มีความใกล้ชิดต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เคยปรากฏภาพเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง อังกฤษกล่าวหาว่านายหยางมีความเกี่ยวข้องกับแนวร่วม United Front Work Department (UFWD) ซึ่งเป็นหน่วยงานลับของรัฐบาลจีนที่จัดการกับการเผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนในต่างประเทศ

สำหรับประวัติของ หยาง เติ้งป๋อ หรือชื่อที่รู้จักกันในนาม 'คริส หยาง' เกิดที่ประเทศจีนในปี 1974 เขามาอังกฤษครั้งแรกในปี 2002 และศึกษาที่กรุงลอนดอนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการบริหารราชการและนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยยอร์ก

ในปี 2005 เขาก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Hampton Group International ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจดทะเบียนบริษัทในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าบริษัทที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในสหราชอาณาจักร 

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2013 เขาได้รับการอนุญาตให้ถือวีซ่าพำนักถาวรในสหราชอาณาจักร ช่วงที่โควิดระบาดใหญ่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจที่อังกฤษ กระทั่งเมื่อการระบาดเริ่มลดน้อยลง จึงเดินทางไป-มา ระหว่างลอนดอนกับประเทศจีน

6 พฤศจิกายน 2021 หยางถูกเจ้าหน้าที่ตม.อังกฤษไม่อนุญาตเข้าประเทศ พร้อมกับถูกควบคุมตัว อีกทั้งเขายังถูกยึดและตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่พกติดตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หยางยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศ ซึ่งเขาเคยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ต่อมาแพ้ในการอุทธรณ์

ในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์อังกฤษอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ยืนยันตามคำสั่งของกระทรวงกิจการภายในสั่งห้ามหยางเข้าประเทศ โดยชี้ว่าพบหลักฐานจากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของหยางที่มีการยึดในปี 2021 ตลอดจนเอกสารบางส่วนที่ชี้ว่าเขามีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน โดยอัยการอังกฤษชี้ว่า หยางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีความพยายามส่งต่อข้อมูลบางประการต่อรัฐบาลปักกิ่ง 

ในการพิจารณาคดีหยางได้ปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งยืนยันว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดใดๆ โดยว่าสหราชอาณาจักรเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเขา เขาเดินทางเข้าออกสหราชอาณาจักรมานานกว่า 20 ปีตั้งแต่เรียนหนังสือจนถึงตั้งตัวทำธุรกิจจนมีหน้ามีตาทางสังคม 

หยางปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและกล่าวว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในจีน เขายืนยันว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ให้กับ UFWD ทั้งยังบอกว่า 'เขากลายเป็นเหยื่อของการเมืองอังกฤษ ที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมมาสู่พรรคแรงงานซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีน เขาจึงถูกเพ่งเล็งทางการเมือง'

ด้านความเชื่อมโยงกับเจ้าชายแอนดรูว์ ฝ่ายสืบสวนของอังกฤษพบหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับเจ้าชาย คือจดหมายระหว่างเขากับโดมินิก แฮมป์เชียร์  ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของเจ้าชายแอนดรูว์ ซึ่งระบุว่าหยางสามารถทำหน้าที่แทนเจ้าชายในการติดต่อกับนักลงทุนชาวจีน โดยมีภาพถ่ายปรากฏเจ้าชายแอนดรูว์ดยุกแห่งยอร์กและนายหยางถูกรายงานผ่านสื่อ 

ต่อมาเลขาของเจ้าชายแอนดรูว์ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า พระองค์ทรงตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับนักธุรกิจจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้ปักกิ่งหลังได้รับคำแนะนำจากรัฐบาลอังกฤษ โดยสำนักพระราชวังกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า เจ้าชายแอนดรูว์ทรงพบกับชายผู้นี้ผ่าน 'ช่องทางการ'และไม่มีการหารือในประเด็นอ่อนไหวด้านความมั่นคง

จากการขุดคุ้ยของสื่ออังกฤษ ยังเผยอีกว่า นายหยาง เคยได้รับเชิญให้ร่วมงานเลี้ยงฉลองวันตรุษจีนในทำเนียบถนนดาวนิง ทั้งยังมีความใกล้ชิดกับ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษ์นิยม อีกทั้งยังเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงภายในพระราชวังบักกิ้งแฮมในหลายครั้ง

นอกจากนี้หยางยังดำรงตำแหน่งระดับสูงในกลุ่มธุรกิจอังกฤษ-จีน ได้รับการยกย่องให้เป็นประธานบริหารของ China Business Council ในสหราชอาณาจักร และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมธุรกิจจีน-อังกฤษที่เรียกว่า 48 Group Club ซึ่งมีบุคคลสำคัญชาวอังกฤษหลายคนเป็นสมาชิก ทางการอังกฤษมองว่า หยางอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญของสหราชอาณาจักรกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน สามารถถูกนำไปใช้เพื่อแทรกแซงทางการเมือง จนสั่งห้ามเขาเดินทางเข้าประเทศตามรายงานข้างต้น  

อย่างไรก็ตาม ทางด้านโฆษกจากกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ประเด็นนี้แล้วโดยกล่าวว่า "บางคนในอังกฤษมักจะสร้างเรื่องราว 'สายลับ' ที่ไม่มีมูลความจริงเพื่อโจมตีจีน มันไม่คุ้มค่าเลยที่จะสร้างข่าวลืออันไม่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ" 

ทางการจีนยังตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินดดีของหยางมีความคืบหน้าผิดปกติในช่วงที่อังกฤษเปลี่ยนขั้วรัฐบาล อีกทั้งหน่วยราชการลับอังกฤษเพิ่งมาเปิดเผยรายละเอียดของหยางในช่วงที่อังกฤษมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคแรงงานที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อปักกิ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top