Tuesday, 22 April 2025
ราคายางพารา

ชาวสวนยางเฮ ! ยุครัฐบาลเศรษฐา ยางพาราพุ่ง 74บาท/กก.

นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึง สถานการณ์ราคายางพาราในปัจจุบัน มีทิศทางที่ดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบราคาเฉลี่ยระหว่างเดือนกันยายน ปี 2566 กับ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567  ชนิดยางแผ่นรมควันชั้น 3 ขยับขึ้นไปแตะกิโลกรัมละ 74 บาท จากเดิมปี 2566 อยู่ที่กิโลกรัมละ 51 บาท ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคากิโลกรัมละ 70 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 49 บาท ขณะที่น้ำยางสด (DRC 100%) และ ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) ได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน 

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคายางในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายก รัฐมนตรี และ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแล ได้วางมาตรการปราบปรามสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยจัดตั้งทีมสายลับยางรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกร ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น และ ความต้องการใช้ยางมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ล้อรถยนต์ และรถไฟฟ้า ถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า ปี 2567 GDP โลกขยายตัวร้อยละ 2.7 ขณะที่ผลผลิตยางพาราหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้นยางพาราเริ่มผลัดใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้อุปทานยางในตลาดลดลงส่งผลบวกต่อราคายางมีราคาสูงขึ้น 

‘รัฐบาล’ เคลมผลงาน ‘ราคายางพารา’ พุ่ง 80 บาท/กก. แท้จริง!! ‘ยางผลัดใบ-โรคใบร่วง’ ทำให้ดีมานด์สูงขึ้น

รัฐบาล ทั้งนายกฯ รมว.เกษตรฯ โฆษกรัฐบาล โฆษณาจังว่ายางพาราราคาพุ่งถึง 80 บาท/กก.เป็นผลงานรัฐบาล อยากให้พูดไปตลอดทั้งปีนะ ถ้ายางพาราราคาตก อย่าบอกนะว่าเป็นกลไกการตลาด เป็นเรื่องของ demand/subply หรือตลาดโลก

นำเรียนว่าช่วงนี้น้ำยางพาราออกสู่ตลาดน้อย ความต้องการยางพาราสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น ล้วนต้องการยางพารา

ส่วนสาเหตุน้ำยางพาราออกสู่ตลาดน้อย มาจาก…

- ยางผลัดใบ ช่วงต้นปีของทุกปีจะเป็นช่วงยางผลัดใบ ชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้
- ตั้งแต่ปลายปี 66 มาจนถึงมกราคมปี 67 ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางพารามีฝนตกต่อเนื่อง ยาวนาน ชาวสวนไม่สามารถออกไปกรีดยางได้
- โรคใบร่วงระบาดในสวนยางพารา โดยระบาดหนักใน 3-4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และลามมาอีกหลายจังหวัด
- โรคใบร่วงยังระบาดไปอีกหลายจังหวัดที่มีการปลูกยางพารา การกรีดยางทำให้น้ำยางลดลง 30-40% และทำให้ต้นยางพาราอ่อนแอลง
- โรคใบร่วงในยางพารา มีมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเริ่มระบาดที่อินโดนีเซีย มาถึงมาเลเซีย และเข้ามายังประเทศไทย
- รัฐบาลยังตื่นตัวน้อยกับการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงในยางพารา และยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองการแก้ปัญหาโรคใบร่วงด้วยซ้ำ

รัฐบาลอย่าเพิ่งตีปีกดีอกดีใจ โฆษณาว่าการที่ยางพาราราคาขยับตัวขึ้นไปสูงอาจจะถึง 80 บาท/กก.ว่าเป็นผลงานของรัฐบาล เพราะยังไม่เห็นวิธีการที่ชัดเจนของรัฐบาลในเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา มีแต่เห็นว่าเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราจากประเทศเพื่อนบ้าน (ยางพาราเถื่อน) ซึ่งยางพาราในประเทศเพื่อนบ้านเรา ยังราคาถูกมาก แต่ 20-30 บาท/กก.เท่านั้นเอง จึงมีการลักลอบนำเข้ามาขายในบ้านเรา

อยากให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังมากกว่านี้ในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อน หรือแม้กระทั่้งยางพาราทรานซิส (ผ่านทาง) ไปยังมาเลเซีย ที่อาจจะตกหล่นขายอยู่ในตลาดบ้านเราก็เป็นไปได้

ถ้ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปราบปราบทั้งยางพาราเถื่อน และยางพาราทรานซิส สาวให้ลึกถึงผู้อยู่เบื้องหลัง แล้วนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน อาจจะถึงกับร้อง ‘อัยหย่า ซี้เลี่ยวฮ่า’ เพราะอาจจะเป็นคนที่อยู่ไม่ไกลตัวนายกฯ ก็เป็นได้ 

ยังไม่เห็นรัฐบาลคิดออกมาเป็นนโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับยางพารา เช่น ที่เคยเป็นนโยบายก่อนหน้านี้ ให้ทุกกระทรวงที่สร้างถนน ต้องวางงบประมาณให้มีส่วนผสมของยางพารา 10% แม้ต้นทุนจะสูงขึ้นบ้าง แต่เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร หรือการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เช่น ที่นอน หมอน รองเท้า ตีนกบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำยางพาราไปทำแท่งแบริเอ่อร์ ที่ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะยางพารามีความยืดหยุ่น ลดการสูญเสีย หรือยาวสะพานตรงถนนโค้ง ก็ห่อหุ้มด้วยยางพารา จะลดการสูญเสียลงไปได้มาก 

กระทรวงกลาโหม แทนที่จะใช้กระสอบทรายทำบังเกอร์ก็ใช้ยางพารา น่าจะได้ผลดี

ทั้งหมดนี้อยากจะฝากไปยังรัฐบาล ให้ศึกษาเรียนรู้ให้ดีก่อนออกมาตีกิน กลัวว่าสุดท้ายแล้ว จะหาทางลงไม่ได้เหมือนดิจิทัล วอลเล็ต ตายคานโยบาย

ราคา ‘ยางพารา’ พุ่งแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม หลังไทยลุยเปิดตลาดยางในสหภาพยุโรป

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 67) ที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการประมูลยางพาราประจำวัน ปรากฏว่า ผลประมูลยางแผ่นรมควัน RSS (EUDR) ชั้น 3 ได้ราคาสูงสุด 96.66 บาทต่อกิโลกรัม โดย บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประมูลได้และสูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8.09 บาท จากตั้งไว้ที่ 88.57 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณยางน้ำหนัก 480,743 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555  

ส่วนยางก้อนถ้วย (DRC100%) EUDR บริษัท เอ็นเทคโพลิเมอร์ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ให้ราคาสูงสุด 80.35 บาทต่อกิโลกรัม ได้สูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8 บาท จากตั้งไว้ที่ 72.35 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณน้ำหนัก 240,643 กิโลกรัมและได้ราคาสูงกว่าตลาดยางอื่น ๆ กว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม

นายญาณกิตติ์ ฮารุดีน ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ราคายางแผ่นรมควันเพิ่มสูงขึ้นมาจากการที่รัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าเปิดตลาดยางสหภาพยุโรป (EU) ตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) โดยได้เริ่มนำร่องที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเป็นที่แรกเมื่อเดือนเมษายน 2567 

นายญาณกิตติ์ กล่าวว่า เดิมยางพาราส่งไปตลาดจีน 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไปตลาดอื่น ๆ แต่หลังจากรัฐบาลเปิดตลาดอียู ได้ตามมาตรฐาน EUDR สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนหลังผลผลิตยางพาราที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีทำสำเร็จ เป็นผลให้เกิดความเชื่อมั่นราคาพุ่ง 96.66 บาทและคาดว่าอีกไม่กี่วันจะแตะถึง 100 บาทแน่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากความทุ่มเทของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ที่ทำเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

ขอนแก่น- 'ธปท.สภอ.' แจง! เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มาก

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ที่ ห้องปัญญาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจ และงานขอบคุณสื่อมวลชน โดยมี ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) เป็นประธานในการจัดแถลงข่าว รายการนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างชุมชน 

ดร.ทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท. สภอ.) กล่าวสรุปว่า เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาส 2 ปี 2567 เศรษฐกิจอีสานมีแรงส่งระยะสั้น จากราคายางพาราและอ้อย และการท่องเที่ยวดีขึ้น แต่แรงส่งยังไม่เพียงพอเนื่องจากเกษตรกรที่ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มซึ่งมีสัดส่วนน้อย และรายจ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การเงินของครัวเรือนที่เปราะบาง ทำให้กำลังซื้อของภาคอีสานยังไม่มากพอที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ 

นอกจากนั้นยังเห็นสัญญาณเปราะบางลามไปสู่ระดับกลางมากขึ้น จากยอดขายบ้านระดับกลางหดตัว โดยผู้มีรายได้ปานกลางและรายได้ประจำถูกปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจภาคอีสานปี 2567 จากที่คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเป็นไม่ขยายตัว และในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ ร้อยละ 1 จากสภาพภูมิอากาศที่เข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรขยายตัวในทุกพืชสำคัญ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหมวดอาหารขยายตัว ภาคการค้าขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่ดีขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามปกติ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top