Tuesday, 22 April 2025
ราคาน้ำมันโลก

'กอบศักดิ์' ชี้!! 2 ตัวแปร ราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปี ลุ้นทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ก่อนร่วงเพราะ EV

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL / นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ การเงิน และตลาดทุน / อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง แนวโน้มราคาน้ำมันโลกพุ่ง ระบุว่า... 

ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 8 ปี !!!

ล่าสุดทะลุ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล อีกครั้ง

ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกระยะ จาก (1) ความต้องการซื้อน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ รวมทั้งจาก (2) ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Geopolitics) โดยเฉพาะกับรัสเซียที่ยูเครน และกับอิหร่าน ที่ทำให้อิหร่านมีปัญหาในการส่งออกน้ำมัน

ถ้าปัญหาที่ยูเครนลุกลามบานปลาย จะส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ของ World Supply ขณะนี้ และซ้ำเติมให้สถานการณ์ความตึงตัวของตลาดน้ำมันโลกแย่ขึ้นจากเดิม ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมตลาดจึงกังวลใจเรื่องนี้มาก

ซาอุฯ เหนือชั้น!! 'Aramco' บ.น้ำมันซาอุฯ รวยแรง!! แซงหน้า Apple หลัง 'วางตัวเป็น' ในสมรภูมิสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ไม่นานมานี้ Aramco บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่มีรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าของ ประกาศผลกำไรไตรมาสแรกของปี 2022 นี้ ซึ่งพุ่งทะยานขึ้นมากกว่า 80% โดยทำรายได้ 3.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่ทำรายได้ไป 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

เหตุผลหลัก ก็มาจากอานิสงส์ของ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำสถิติราคาน้ำมันสูงที่สุดในรอบ 14 ปี ด้วยราคา 139 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 บาร์เรล หลังชาติตะวันตกต่างพากันคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันของรัสเซีย 

ขณะเดียวกัน ความต้องการน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้น หลังจากที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด Covid-19 และเปิดเมือง ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตาม แต่ปริมาณน้ำมันที่ซื้อ-ขายในท้องตลาดกลับมีปริมาณลดลง 

นี่จึงเป็นโอกาสทองในการทำกำไรของ Aramco แห่งซาอุดีอาระเบีย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันต่อวันมากที่สุดในโลก ซึ่งหากแยกตัวเลขผลกำไรเฉพาะแค่มีนาคม 65 เดือนเดียว Aramco มีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 124% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมากันเลยทีเดียว

จากรายได้ที่พุ่งทะยานของ Aramco ในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ Aramco กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าถึง 2.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แทนที่แชมป์เก่าอย่างบริษัท Apple ในปีนี้ 

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 26 - 30 ธ.ค. 65 จับตาปัจจัย ‘บวก - ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 2 - 6 ม.ค. 66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยสัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 โดยผู้เดินทางเข้าประเทศไม่ต้องกักตัวแต่ต้องแสดงผลตรวจ RT-PCR เป็นลบภายใน 2 วันก่อนออกเดินทาง นอกจากนี้ อนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศ และให้ผู้ที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องบินในจีนไม่ต้องขอ Visa ประกอบกับ วันที่ 27 ธ.ค. 65 นาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามในพระราชกำหนดห้ามจัดส่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปรัสเซีย ให้แก่ชาติที่เข้าร่วมมาตรการกำหนดเพดานราคา (Price Cap) โดยน้ำมันดิบมีผลวันที่ 1 ก.พ.- 30 มิ.ย. 66 ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปจะประกาศภายหลัง เพื่อตอบโต้สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มชาติมหาอำนาจ G7 รวมทั้งออสเตรเลีย ที่ใช้มาตรการ Price Cap น้ำมันดิบรัสเซียที่ขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65  

สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 82 - 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยทิศทางตลาดน้ำมันมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนจากการเปิดประเทศของจีน

ด้านผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นาง Kristalina Georgieva ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 66 มีแนวโน้มเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น โดยเศรษฐกิจของประเทศราว 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) และจีน ชะลอตัวในเวลาเดียวกัน ประกอบกับยอดการติดเชื้อ COVID-19 ในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 66 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว

นอกจากนี้ ผลสำรวจนักวิเคราะห์ของ Reuters ในวันที่ 30 ธ.ค. 65 คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ในปี 66 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 89.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วน NYMEX WTI อยู่ที่ 84.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 93.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 87.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเผชิญภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 30 ม.ค. - 3 ก.พ.66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 6 - 10 ก.พ.66

ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 เดือน จากธนาคารกลางหลักทั่วโลกทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมกันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75%, ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 4.0% และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Deposit Facility Rate) และอัตราดอกเบี้ยสำหรับปล่อยสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์ (Main Refinancing Operations Rate) มาอยู่ที่ 2.5% และ 3.0% ตามลำดับ

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payroll) ในเดือน ม.ค. 66 เพิ่มขึ้น517,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 187,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) อยู่ที่ 3.4% ต่ำสุดในรอบ 54 ปี ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง กดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดี ประธาน Fed นาย Jerome Powell คาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและสามารถลดอัตราเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% (อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 65 อยู่ที่ 6.5%)

โดยทางเทคนิค สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 80 - 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

>> ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
-Caixin/Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการ (Composite Purchasing Manager Index: PMI) ของจีน ในเดือน ม.ค. 66 เพิ่มขึ้น 2.8 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 51.1 จุด ขยายตัวครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 65 โดยได้แรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19

-วันที่ 1 ก.พ. 66 ที่ประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) คงนโยบายลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามผลการประชุมเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 65 ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2566 ทั้งนี้ จะมีการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 3 เม.ย. 2566

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 6 - 10 ก.พ. 66 จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 13 - 17 ก.พ.66

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI เฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว หลังนาย Alexander Novak รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เผยแผนลดการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 66 ลง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตของรัสเซีย เพื่อตอบโต้ชาติตะวันตกที่ออกมาตรการตั้งเพดานราคาน้ำมัน (Price Cap) จากรัสเซียซึ่งขนส่งทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 65 พร้อมทั้งกล่าวย้ำว่าจะไม่จำหน่ายน้ำมันให้แก่ชาติที่เข้าร่วมมาตรการ Price Cap น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ รัสเซียผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. 66 อยู่ที่ 10.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ผลิตคอนเดนเสทประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

ในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยธนาคาร Australia and New Zealand Banking Group Ltd. (ANZ) ของออสเตรเลียชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันของจีนที่ฟื้นตัว หลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดมานานกว่า 3 ปี จะเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันโลกในปีนี้ ทั้งนี้ ANZ คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของจีนในปี 66 จะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า หรือประมาณ 50% ของอุปสงค์โลกซึ่งจะเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า ขณะที่เลขาธิการ OPEC นาย Haitham al-Ghais คาดว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 66 จะอยู่ที่ 102 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และจะเติบโตสู่ 110 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 68

สัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 83 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยนาย Haitham al-Ghais คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 66 ขณะที่นาย Afshin Javan ผู้แทนอิหร่านประจำ OPEC คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งหลังของปี 66

วิเคราะห์!! สถานการณ์ราคาน้ำมัน ตัวแปรดันราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม 'เหตุรุนแรงในตะวันออกกลาง-พายุเฮอร์ริเคน Francine'

เมื่อวานนี้ (18 ก.ย.67) หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ได้เปิดเผย 4 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน ดังนี้...

1. ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่กลับมาทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ภายหลังเครื่องมือสื่อสารถูกแฮกและเกิดระเบิดขึ้นในเลบานอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้กล่าวโทษอิสราเอลว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในครั้งนี้และประกาศจะตอบโต้อิสราเอล ในขณะที่อิสราเอลยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

2. การผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกยังคงได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคน Francine โดยยังคงมีการอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโกปรับลดกว่า 12% จากปริมาณการผลิตปกติ 

3. นักลงทุนยังคงจับตาการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยตัวเลขผลสำรวจล่าสุดของ FEDWATCH ชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 69% ที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนความต้องการใช้น้ำมันได้

4. สถาบันปิโตรเลียมแห่งสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 13 ก.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 1.96 ล้านบาร์เรล

สำหรับราคาน้ำมันดิบ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 ที่ผ่านมา อ้างอิง เวสต์เทกซัส (WTI) อยู่ที่ 71.19 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (+1.10) ส่วน เบรนท์ (Brent) อยู่ที่ 73.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล (+0.95)

เศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน อ่อนแอ กระทบอุปสงค์น้ำมันดิบ แม้ OPEC+ เลื่อนแผนเพิ่มการผลิตหวังหนุนราคาน้ำมัน

หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์วันที่ 28 ต.ค.- 1 พ.ย. 67 และแนวโน้มในสัปดาห์วันที่ 4 – 8 พ.ย. 67 โดยระบุว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง 2.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่เฉลี่ย 72.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่ม OPEC+ ตกลงเลื่อนแผนเพิ่มการผลิตหวังหนุนราคาน้ำมัน แต่ภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และจีนที่อ่อนแอ ส่งผลกดดันอุปสงค์น้ำมันดิบ

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 67 กลุ่ม OPEC+ มีมติเลื่อนแผนปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน จากกำหนดเดิมในเดือน ธ.ค. 67 ออกไปอีก 1 เดือน เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มชะลอตัว

ด้าน EIA รายงานว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 67 เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 13.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าในปี 2567 จะอยู่ที่ 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2568 จะอยู่ที่ 13.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่ S&P Global/Caixin รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Manufacturing Purchasing Managers ’ Index: PMI) ในเดือน ต.ค. 67 เพิ่มขึ้น 1.0 จุด MoM อยู่ที่ 50.3 จุด ทั้งนี้ ดัชนีสูงกว่า 50 จุด บ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

อีกด้านหนึ่ง กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่ายอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ในเดือน ก.ย. 67 เพิ่มขึ้น 12,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า (Reuters Poll คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 113,000 ราย จากเดือนก่อนหน้า) ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 จากผลกระทบของเฮอริเคน (เฮอริเคน Helene และ Milton) และการประท้วงของพนักงานบริษัท Boeing ในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ขณะที่อัตราว่างงาน (Unemployment Rate) คงที่จากเดือนก่อนอยู่ที่ 4.1%

สำหรับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง สำนักข่าว Press TV ของอิหร่านรายงานว่าผู้นำสูงสุดของอิหร่าน Ayatollah Ali Khamenei กล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 67 ที่กรุงเตหะรานโดยให้คำมั่นจะตอบโต้อิสราเอลและสหรัฐฯ อย่างรุนแรงหลังถูกโจมตีฐานที่มั่นทางทหารในอิหร่านเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 67 โดยจะดำเนินการในเวลาที่เหมาะสม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top