Monday, 21 April 2025
รับมือภัยพิบัติ

โหลดไว้ปลอดภัย!! Thaiwater สุดยอดสแกนภัย 'น้ำ-อากาศ' ข้อมูลรอบด้าน ช่วยคนไทยรับมือภัยพิบัติก่อนมาถึงตัว

จากสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือโดยอาศัยแนวคิดการลดความเสี่ยงตามหลักสากล คือ รู้รับ ปรับตัว ฟื้นเร็วทั่ว อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความตระหนักในการลดความเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย โดยระยะก่อนเกิดภัยการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ THE STATES TIMES ขอแนะนำเว็บไซต์ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ thaiwater.net ที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ ก่อนเกิดภัย ของ สสน. หรือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อส่งสัญญาณเตือนไปยังประชาชน จุดเด่นของ Thaiwater ให้ข้อมูลสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำได้อย่างละเอียด เช่น ระบบติดตามและแนวโน้มสถานการน้ำท่วม กล้อง CCTV ระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน สถานการณ์น้ำ กทม. หรือสามารถอธิบายผังน้ำ เพื่อวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยได้ วิธีการดูข้อมูลก็ง่าย ๆ เพียงคลิกเข้ามาในหัวข้อ ติดตามสถานการณ์น้ำ และเลือกผังน้ำ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (ย่อ) ดังแสดงในภาพที่ 1

 

ภาพที่ 1 ผังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2565 (ทำกราฟฟิกจุด (A) สถานีบางไทร, (B) จุดวัดบริเวณสะพานนวลฉวี, (C) เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)

ดร.สุรเจตส์ บุญญาอรุณเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสน. ได้อธิบายภาพผังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเปรียบเสมือนเป็นลู่ถนนของน้ำ ซึ่งไหลมาจากต้นน้ำ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเราสามารถทราบอัตราการไหลของน้ำผ่านจุดสถานีวัดต่าง ๆ ได้ ซึ่งมีหน่วยเป็น cms หรือ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เช่น...

(A) สถานีบางไทร 3,409/3,500 cms หมายถึง ปัจจุบันที่สถานีบางไทรมีอัตราการไหลของน้ำผ่านอยู่ที่ 3,409 cms ซึ่งสถานีบางไทรสามารถรองรับอัตราการไหลของน้ำได้สูงสุดที่ 3,500 cms และนอกจากนี้ยังสามารถทราบความสูงของระดับน้ำที่เทียบกับค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง (msl) 

(B) จุดวัดบริเวณสะพานนวลฉวี (CPY014) 2.75/2.50 msl อธิบายได้ว่าขณะนี้ระดับน้ำบริเวณดังกล่าวอยู่ที่ 2.75 เมตร (สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือ msl) ซึ่งสูงกว่าระดับตลิ่งหรือระดับเฝ้าระวังที่ 2.50 msl หมายถึงขณะนี้ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง (2.75 > 2.50) อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในบริเวณนั้นได้ถึง 0.25 เมตร เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถแสดงถึงปริมาณน้ำในเขื่อนว่ามีปริมาณมากน้อยอย่างไร

วิทยุทรานซิสเตอร์ ‘อุปกรณ์เอาตัวรอดยามภัยพิบัติ’ ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย เพราะหลายประเทศพัฒนาก็ใช้กัน

‘ทรานซิสเตอร์’ วิทยุพื้นฐาน ที่หลายชาติยังจัดเป็น ‘อุปกรณ์เอาตัวรอดยามภัยพิบัติ’ แม้จะเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม

แม้ ‘วิทยุทรานซิสเตอร์’ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แนะนำ จนนำมาสู่มุมมองหลายคนว่า ‘ตกยุค’ ไปแล้ว เหตุเพราะสมัยนี้การสื่อสารทุกอย่างใช้อินเทอร์เน็ตกันหมด แถมโทรศัพท์มือถือก็กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของใช้ธรรมดาสามัญไปเรียบร้อย จึงเข้าใจได้ว่าหลายคนอาจนึกไม่ออกว่าวิทยุทรานซิสเตอร์มีประโยชน์กับภัยพิบัติอย่างไร 

แต่อีกด้านหนึ่ง เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศที่เจริญแล้วหลายชาติ ก็ยังแนะนำให้ประชาชนเตรียมวิทยุแบบนี้ซึ่งใช้แบตเตอรี่พื้นฐาน (แบบที่เราเรียกว่า “ถ่านไฟฉาย”) สำรองไว้ในแผนเผชิญภัยพิบัติด้วย

>> สหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ ready.gov ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เว็บนี้ให้ความรู้กับชาวอเมริกันเรื่องการรับมือภัยพิบัตินานาประเภท โดยในหมวด “Build A Kit” หรือการเตรียมเครื่องมือเอาชีวิตรอด จะพบว่า “Battery-powered or hand crank radio and a NOAA Weather Radio with tone alert” หรือ วิทยุมือหมุนที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ และวิทยุที่มีระบบรับคลื่นสัญญาณของ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ซึ่งทำหน้าที่พยากรณ์อากาศในสหรัฐฯ (แบบเดียวกับกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย) ซึ่งเจ้า Battery-powered or hand crank radio ก็คือ “วิทยุทรานซิสเตอร์” ที่คนไทยรุ่นก่อนคุ้นเคยกันดี แถมคำแนะนำของทางการสหรัฐฯ ยังจัดให้อยู่ในหมวด “Basic Disaster Supplies Kit” หรือสิ่งของพื้นฐานที่ควรมีอีกต่างหาก

>> ประเทศอังกฤษ เว็บไซต์ redcross.org.uk ของสภากาชาดแห่งสหราชอาณาจักร (British Red Cross) เลือกหมวด “Get Help” จากนั้นไปที่หัวข้อ “how to prepare for emergencies.” และหัวข้อ “How to make an emergency kit” ซึ่งจะพบว่า หนึ่งในอุปกรณ์ที่กาชาดเมืองผู้ดีแนะนำให้ประชาชนเตรียมไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินคือ “Battery-operated radio and spare batteries, or a wind-up radio.” ก็คือวิทยุทรานซิสเตอร์ โดยมีทั้งแบบใส่แบตเตอรี่และแบบมือหมุน

>> ประเทศออสเตรเลีย เว็บไซต์ infrastructure.gov.au ของกระทรวงโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง การพัฒนาระดับภูมิภาค การสื่อสารและศิลปะ เผยแพร่บทความ ‘How travellers can prepare for emergencies or natural disasters’ แนะนำให้คนที่เดินทางท่องเที่ยวเตรียมอุปกรณ์จำเป็นเผื่อต้องเผชิญกับเหตุฉุกเฉินซึ่งรวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยหนึ่งในนั้นคือ ‘Pack a portable battery powered AM radio and a spare set of batteries. หรือก็คือ ‘วิทยุรับคลื่น AM แบบพกพาพร้อมแบตเตอรี่สำรอง’ ก็หมายถึงวิทยุทรานซิสเตอร์ แถมภาครัฐแดนจิงโจ้ยังเน้นคำว่า ‘AM radio’ อีกต่างหาก (ซึ่งก็เป็นเพราะในระบบวิทยุดั้งเดิม-อนาล็อก มี 2 ระบบ คือ AM กับ FM โดย AM เป็นคลื่นความถี่ที่ส่งไปได้ไกลกว่าเคลื่อน FM แม้คุณภาพเสียงจะด้อยกว่าคลื่น FM ก็ตามนั่นเอง โดยบทความ ‘เครื่องรับวิทยุ AM FM ดิจิทัล’ จาก บริษัท ไลท์ แอนด์ ซาวด์ บิสิเนส จำกัด ผู้รับจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ระบบแสง-สี-เสียง ระบุว่า การใช้งานคลื่นเอฟเอ็มจะใช้กับการส่งวิทยุกระจายเสียงและเครื่องรับส่งวิทยุสื่อสาร ซึ่งการส่งวิทยุระบบ FM จะให้คุณภาพเสียงดีกว่าระบบ AM กล่าวคือ ย่านความถี่ที่ใช้ในการส่งจะเป็นอิสระกับชั้นบรรยากาศและการสอดแทรกของสัญญาณรบกวน คลื่นในย่านความถี่นี้ไม่สามารถสะท้อนกับชั้นบรรยากาศได้ทำให้ระยะทางในการส่งจะใกล้กว่าระบบ AM เพราะย่านความถี่ AM สามารถจะหักเหในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ทำให้คลื่นเดินทางได้ไกลกว่า)

‘บิ๊กป้อม’ สั่งหน่วยเกี่ยวข้องรับมือ ‘ภัยพิบัติ’ ย้ำ!! ให้ชุมชนมีส่วนร่วม แนะซักซ้อมแผนทุกปี

(9 ก.พ. 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ครั้งที่ 1/2566 มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มท.เข้าร่วม

ที่ประชุมเห็นชอบปรับปรุงคณะอนุกรรมการภายใต้กรอบ กปภ.ช. 5 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุฯการจัดการความเสี่ยงจากอุทกภัย วาตภัย โคนถล่มและภัยแล้ง คณะอนุฯ การจัดการความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิ, คณะอนุฯ การประชาสัมพันธ์ด้านการจัดการสาธารณภัย ,คณะอนุฯ เทคโนโลยีสาระสนเทศและการสื่อสารเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และคณะอนุฯ การพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินตามแผน ปภ.ปี 58 ทั้งนี้

นอกจากนั้นแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ ปภ.และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดการความเสี่ยง จากสาธารณภัย โดยให้มีความรุนแรง และผลกระทบความเสียหาย ลดลง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top