Tuesday, 22 April 2025
รัฐบาลอังกฤษ

ส่องทัพ 'ลิซ ทรัสส์' นายกหญิงคนใหม่ของอังกฤษ พบลูกหลานผู้อพยพผิวสี รับตำแหน่งรมต.สำคัญเพียบ

พรรคอนุรักษ์นิยม ภายใต้การนำของ ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ได้สร้างปรากฏการณ์ แต่งตั้งผู้หญิงทำงานและลูกหลานจากครอบครัวผู้อพยพผิวสีขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงเสาหลักของอังกฤษเป็นจำนวนมาก 

เริ่มต้นจาก ควาซี กวาร์เต็ง รับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังผิวดำคนแรกของอังกฤษ มาจากครอบครัวผู้อพยพชาวกานา ที่มาศึกษาต่อในอังกฤษ ควาซี กวาร์เต็ง เคยเป็นนักเรียนทุน King's Scholar ได้เข้าเรียนใน อีตัน คอลเลจ และ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์   

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ได้รัฐมนตรีผิวดำคนแรกเช่นกัน โดย เจมส์ เคลฟเวอร์ลี ลูกครึ่งอังกฤษ-เซียรา ลีโอน ผู้ที่เคยถูกบูลลี่เรื่องความเป็นลูกครึ่งผิวสีมาตั้งแต่เด็ก แต่วันนี้ได้ก้าวขึ้นถึงตำแหน่งรัฐมนตรี หนึ่งในกระทรวงเสาหลักของอังกฤษ

ซูเอลลา เบรฟเวอแมน รัฐมนตรีมหาดไทยหญิงคนใหม่ของอังกฤษ เป็นผู้หญิงเก่งที่มีเชื้อสายจากหลากหลายเชื้อชาติ คุณพ่อเป็นชาวกัว-อินเดีย คุณแม่เป็นชาวอินเดีย เชื้อสายทมิฬ-มอริเชียส เธอได้เรียนปริญญาตรีด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัย เคมบริดจ์ และไปต่อปริญญาโทด้านกฏหมายยุโรป และฝรั่งเศสที่ Panthéon-Sorbonne University ในกรุงปารีส 

ซูเอลลา เบรฟเอแมน นับเป็นรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยคนที่ 2 ของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษ ต่อจาก พริติ พาเทล ที่มีเชื้อสายอินเดียเช่นกัน

ส่วน เธเรสซา คอฟฟีย์ ควบถึง 2 ตำแหน่งทั้งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เธอเป็น สส.หญิงแกร่งจากเมืองซัฟฟอล์ค เคยรับหน้าที่สำคัญในรัฐบาลพรรคอนุรักษ์มาแล้วหลายงาน อีกทั้งยังเป็นเพื่อนสนิทของ ลิซ ทรัสส์ ที่เป็นกำลังสำคัญในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งภายในพรรคอนุรักษ์ที่ผ่านมา 

และนอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งสำคัญอีกหลายกระทรวงที่ไม่ได้รัฐมนตรีที่เป็นคนขาว อาทิ...

- นาดิมห์ ซาฮาวี อดีตผู้ลี้ภัยชาวเคิร์ดในอิรัก รับหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักงานจัดการลงทุนทรัพย์สินส่วนพระองค์แห่งแลงคาสเตอร์

- เคมิ แบเดนอช รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ก็มีเชื้อสายไนจีเรีย 

- อโลค ชาร์มา ประธานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 เป็นชาวอินเดียแท้ๆ ที่มาจากรัฐอุตตรประเทศ ก่อนย้ายตามพ่อมาตั้งรกรากที่เมืองเรดิง ในอังกฤษ ตั้งแต่ 5 ขวบ

หากนับย้อนหลังไปหลายสิบปี คณะรัฐมนตรีของอังกฤษมักถูกครอบครองตำแหน่งโดยผู้ชายผิวขาว โดยเฉพาะตำแหน่งกระทรวงสำคัญของอังกฤษ

อังกฤษอาศัยช่วงเปลี่ยนขั้วรัฐบาล กล่าวหา 'หยาง เติ้งป๋อ' นักธุรกิจจีนเป็นสายลับให้ปักกิ่ง เอี่ยวโยงเจ้าชายแอนดรูว์

(17 ธ.ค.67) กลายเป็นเรื่องใหญ่ของสหราชอาณาจักร เมื่อมีรายงานข่าวว่า ศาลอังกฤษได้สั่งห้ามบุคคลต้องสงสัยชาวเอเชียที่ชื่อ หยาง เติ้งป๋อ เข้าประเทศ โดยอังกฤษอ้างว่านายหยางมีพฤติการณ์ต้องสงสัยแฝงตัวเป็นสายลับในคราบนักธุรกิจโปรไฟล์ดี สามารถเข้าถึงใกล้ชิดบุคคลระดับสูงทั้งในระดับรัฐบาลอังกฤษจนถึงพระราชวงศ์ระดับสูง

จากการเปิดเผยข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงอังกฤษได้กล่าวหาว่านาย หยาง เติ้งป๋อ วัย 50 ปี หรือที่รู้จักภายใต้โค้ดเนมว่า H6 เป็นสายลับจีนที่มีความใกล้ชิดต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เคยปรากฏภาพเข้าร่วมประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง อังกฤษกล่าวหาว่านายหยางมีความเกี่ยวข้องกับแนวร่วม United Front Work Department (UFWD) ซึ่งเป็นหน่วยงานลับของรัฐบาลจีนที่จัดการกับการเผยแพร่อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนในต่างประเทศ

สำหรับประวัติของ หยาง เติ้งป๋อ หรือชื่อที่รู้จักกันในนาม 'คริส หยาง' เกิดที่ประเทศจีนในปี 1974 เขามาอังกฤษครั้งแรกในปี 2002 และศึกษาที่กรุงลอนดอนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านการบริหารราชการและนโยบายสาธารณะที่มหาวิทยาลัยยอร์ก

ในปี 2005 เขาก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา Hampton Group International ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจดทะเบียนบริษัทในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าบริษัทที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในสหราชอาณาจักร 

ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2013 เขาได้รับการอนุญาตให้ถือวีซ่าพำนักถาวรในสหราชอาณาจักร ช่วงที่โควิดระบาดใหญ่เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจที่อังกฤษ กระทั่งเมื่อการระบาดเริ่มลดน้อยลง จึงเดินทางไป-มา ระหว่างลอนดอนกับประเทศจีน

6 พฤศจิกายน 2021 หยางถูกเจ้าหน้าที่ตม.อังกฤษไม่อนุญาตเข้าประเทศ พร้อมกับถูกควบคุมตัว อีกทั้งเขายังถูกยึดและตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่พกติดตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 หยางยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศ ซึ่งเขาเคยชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ต่อมาแพ้ในการอุทธรณ์

ในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์อังกฤษอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ยืนยันตามคำสั่งของกระทรวงกิจการภายในสั่งห้ามหยางเข้าประเทศ โดยชี้ว่าพบหลักฐานจากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของหยางที่มีการยึดในปี 2021 ตลอดจนเอกสารบางส่วนที่ชี้ว่าเขามีส่วนเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน โดยอัยการอังกฤษชี้ว่า หยางมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีความพยายามส่งต่อข้อมูลบางประการต่อรัฐบาลปักกิ่ง 

ในการพิจารณาคดีหยางได้ปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งยืนยันว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดใดๆ โดยว่าสหราชอาณาจักรเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเขา เขาเดินทางเข้าออกสหราชอาณาจักรมานานกว่า 20 ปีตั้งแต่เรียนหนังสือจนถึงตั้งตัวทำธุรกิจจนมีหน้ามีตาทางสังคม 

หยางปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและกล่าวว่าเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองในจีน เขายืนยันว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ ให้กับ UFWD ทั้งยังบอกว่า 'เขากลายเป็นเหยื่อของการเมืองอังกฤษ ที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคอนุรักษ์นิยมมาสู่พรรคแรงงานซึ่งมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีน เขาจึงถูกเพ่งเล็งทางการเมือง'

ด้านความเชื่อมโยงกับเจ้าชายแอนดรูว์ ฝ่ายสืบสวนของอังกฤษพบหลักฐานที่เชื่อมโยงเขากับเจ้าชาย คือจดหมายระหว่างเขากับโดมินิก แฮมป์เชียร์  ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของเจ้าชายแอนดรูว์ ซึ่งระบุว่าหยางสามารถทำหน้าที่แทนเจ้าชายในการติดต่อกับนักลงทุนชาวจีน โดยมีภาพถ่ายปรากฏเจ้าชายแอนดรูว์ดยุกแห่งยอร์กและนายหยางถูกรายงานผ่านสื่อ 

ต่อมาเลขาของเจ้าชายแอนดรูว์ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า พระองค์ทรงตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับนักธุรกิจจีนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับให้ปักกิ่งหลังได้รับคำแนะนำจากรัฐบาลอังกฤษ โดยสำนักพระราชวังกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า เจ้าชายแอนดรูว์ทรงพบกับชายผู้นี้ผ่าน 'ช่องทางการ'และไม่มีการหารือในประเด็นอ่อนไหวด้านความมั่นคง

จากการขุดคุ้ยของสื่ออังกฤษ ยังเผยอีกว่า นายหยาง เคยได้รับเชิญให้ร่วมงานเลี้ยงฉลองวันตรุษจีนในทำเนียบถนนดาวนิง ทั้งยังมีความใกล้ชิดกับ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคอนุรักษ์นิยม อีกทั้งยังเคยได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงภายในพระราชวังบักกิ้งแฮมในหลายครั้ง

นอกจากนี้หยางยังดำรงตำแหน่งระดับสูงในกลุ่มธุรกิจอังกฤษ-จีน ได้รับการยกย่องให้เป็นประธานบริหารของ China Business Council ในสหราชอาณาจักร และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมธุรกิจจีน-อังกฤษที่เรียกว่า 48 Group Club ซึ่งมีบุคคลสำคัญชาวอังกฤษหลายคนเป็นสมาชิก ทางการอังกฤษมองว่า หยางอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสำคัญของสหราชอาณาจักรกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน สามารถถูกนำไปใช้เพื่อแทรกแซงทางการเมือง จนสั่งห้ามเขาเดินทางเข้าประเทศตามรายงานข้างต้น  

อย่างไรก็ตาม ทางด้านโฆษกจากกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ออกมาตอบโต้ประเด็นนี้แล้วโดยกล่าวว่า "บางคนในอังกฤษมักจะสร้างเรื่องราว 'สายลับ' ที่ไม่มีมูลความจริงเพื่อโจมตีจีน มันไม่คุ้มค่าเลยที่จะสร้างข่าวลืออันไม่เป็นธรรมเหล่านี้เพื่อทำลายความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ" 

ทางการจีนยังตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินดดีของหยางมีความคืบหน้าผิดปกติในช่วงที่อังกฤษเปลี่ยนขั้วรัฐบาล อีกทั้งหน่วยราชการลับอังกฤษเพิ่งมาเปิดเผยรายละเอียดของหยางในช่วงที่อังกฤษมีรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคแรงงานที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อปักกิ่ง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top