Tuesday, 22 April 2025
รัฐบาลทหารเมียนมา

พม่า ปล่อยตัวนายแบบดัง ‘ไป่ ทาคน’ แล้ว หลังถูกตัดสินจำคุก จากเหตุเรียกร้องประชาธิปไตย

ไป่ ทาคน นักแสดง นักร้องและนายแบบชื่อดังชาวเมียนมา วัย 25 ปี ที่ถูกตัดสินจำคุกจากการสนับสนุนการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้ว

ทนายความของไป่ ทาคน เผยวันนี้ว่า ไป่ ทาคน ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำและเดินทางถึงบ้านพักแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาระบุในแถลงการณ์ยืนยันว่า ไป่ ทาคน ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ พร้อมกับนักแสดงชาวเมียนมารายอื่นๆ ได้แก่ ลู มิน, ปเย ติ อู และเอ็งดรา จอ ซิน เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ออกไปมีส่วนร่วมในการสร้างชาติด้วยศิลปะการแสดง

‘รัฐบาลเมียนมา’ ห้ามผู้ชายออกไปทำงานต่างแดนชั่วคราว คาด!! รักษาจำนวนเพื่อเกณฑ์ทหาร ท่ามกลางสงครามระอุ

(3 พ.ค.67) รัฐบาลทหารเมียนมา สั่งห้ามผู้ชายเดินทางไปทำงานนอกประเทศ ในขณะที่สาธารณชนวิตกกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร ท่ามกลางการต่อสู้ยืดเยื้อระหว่างฝ่ายกองทัพเมียนมาและฝ่ายต่อต้าน

นายญุน วิน ปลัดกระทรวงแรงงานเมียนมา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเรดิโอ ฟรี เอเชีย เมียนมา (RFA Burmese) เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า คำสั่งห้ามประชากรชายเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปตามความจำเป็น

อย่างไรก็ดี นายญุน วิน ระบุว่า ผู้ชายที่ลงทะเบียนขอไปทำงานต่างประเทศภายในช่วงสิ้นเดือนเม.ย. จะได้รับการยกเว้นจากคำสั่งห้ามดังกล่าว เนื่องจากมีแรงงานจำนวนเล็กน้อยที่ได้เตรียมการผ่านกรมจัดหางานระหว่างรัฐ

โดม นายญุน วิน ไม่ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับการออกคำสั่งห้ามประชากรชายออกไปทำงานในต่างประเทศ หรือเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบเวลาในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว

ด้านตัวแทนกรมจัดหางานในอำเภอทินกังยุน (Thingangyun) ของย่างกุ้ง เปิดเผยกับ เรดิโอ ฟรี เอเชีย เมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า คำสั่งห้ามผู้ชายเดินทางไปทำงานต่างประเทศ อาจเป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ประชากรชายเดินทางออกนอกประเทศในช่วงที่มีการเกณฑ์ทหาร

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประมาณการว่า มีประชากรสัญชาติเมียนมากว่า 4 ล้านคนที่ทำงานในต่างประเทศ โดยชายเมียนมาประมาณ 2 ล้านคน ทำงานอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด แต่ไม่ชัดเจนว่ามีประชากรชายทำงานในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์

ขณะที่กลุ่มศึกษากิจการและความขัดแย้งเมียนมา (Burmese Affairs and Conflict Study) ตรวจพบในเดือนเม.ย.ว่า การกำหนดให้ผู้ชายและผู้หญิงอายุระหว่าง 18-35 ปีเข้ารับใช้กองทัพเมียนมาเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลให้ประชาชนกว่า 100,000 รายหลบหนีออกจากบ้านเรือนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร

รัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเกมถลกหน้าปรปักษ์รัฐ จัดกลยุทธ์แยก 'น้ำดี-น้ำเสีย' ที่ไทยควรรู้เท่าทัน

หากใครติดตามสถานการณ์ของเมียนมาจะเห็นว่า เมียนมาเริ่มทยอยประกาศอะไรต่างๆ นานา ที่สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ประชาชนของเขา โดยเริ่มจาก...

1. การประกาศเกณฑ์ทหารทั่วประเทศโดยเกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิงที่อายุ ระหว่าง 18-35 ปี

ประกาศนี้สร้างความตระหนกให้คนพม่าจำนวนมากถึงกับหลายครอบครัวในพม่าส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ในขณะเดียวกันคนที่ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศก็จ่ายเงินให้กับสัสดีเขตเพื่อขอเลื่อนการเรียกตัวบุตรหลานเขาเข้าประจำการและสุดท้ายคือ กลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านกองทัพหลายครอบครัวเลือกที่จะหนีไปประเทศเพื่อนบ้านผ่านช่องทางธรรมชาติ

2. ประกาศระงับการเดินทางของผู้ชายออกไปทำงานต่างประเทศ แม้ประกาศนี้ไม่มีการประกาศออกมาชัดเจน แต่ก็สร้างความตระหนกให้กับคนพม่าในระดับคนทำงานอยู่พอสมควร

3. การทำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดแบบ UID หรือ Unique Identifier ซึ่งนำมาใช้แทนบัตรเดิมและบัตรนี้ ในอนาคตจะผูกพันกับการทำทุกอย่าง เช่น การทำพาสปอร์ต ซื้อตั๋วรถโดยสารระหว่างเมือง ฯลฯ และอาจจะรวมถึงนำมาใช้ในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นด้วย เพื่อป้องกันการโกงตามต่างเมืองในหมู่บ้านที่ห่างไกลในชนบทของเมียนมาที่เคยผ่านมา

แน่นอนเรื่องบัตรสมาร์ทการ์ดนี้จะเป็นอีก 1 กลยุทธ์ในการแยก 'น้ำดี-น้ำเสีย' ของฝั่งรัฐบาลพม่า เพราะนอกจากจะใชังานด้านต่างๆ แล้วบัตร UID สามารถเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรมได้ด้วย ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการตรวจสออบว่าใครคือ ปรปักษ์ของกลุ่มรัฐบาลทหารเมียนมา

กลุ่มเรียกร้องกำลังถูกบีบมาให้ถึงทางตันที่จะต้องเลือกให้เข้าร่วมและเคลียร์ตัวเองให้บริสุทธิ์หรือจะอยู่อย่างคนไร้สัญชาติคอยซ่อนตัวอยู่ในไทยและประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา

ไทยเราควรจะเริ่มกระตือรือร้นได้แล้ว เพราะตอนนี้มีผู้คนจำนวนมากจากฝั่งเมียนมาหลั่งไหลเข้ามาไทย ซึ่งตอนนี้ฝั่งเมียนมาก็เปิดธุรกิจเข้าไทยโดยวิธี Fast Track แบบไม่ต้องแสดงใบจองที่พัก เงิน หรือตั๋วเดินทางกลับพร้อมเจ้าหน้าที่ไปรับตั้งแต่ Gate จนพาออกมาพ้นจุดตรวจผ่านคนเข้าเมืองประดุจผู้ถือบัตร Elite Card ในราคาเพียงหลักพัน

สุดท้ายนี้คงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลไทยที่จะกวดขันเรื่องคอร์รัปชันในประเทศ อันจะส่งผลต่อไทยในระยะยาว แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อนายทุนของพรรคท่านนายกรัฐมนตรียังเข้ามาไทยท่ามกลางความกังขาของคนไทยส่วนใหญ่ในแผ่นดิน

‘เมียนมา’ เตรียมเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘BRICS’ เพื่อยกระดับ!! บทบาทของตน ในเวทีระดับโลก

(23 ต.ค. 67) ไม่นานมานี้มีสำนักข่าวหลายสำนักไม่ว่าจะมาจากฝั่งอินเดียหรือจีนรายงานตรงกันว่าเมียนมากำลังดำเนินการสมัครเข้าเป็นประเทศในกลุ่ม BRICS  ก่อนอื่นที่เราจะมารู้ว่าทำไมเมียนมาถึงสมัครเข้า BRICS เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า BRICS คืออะไร

BRICS เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ในปี 2009 ซึ่งเริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC โดยเป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าต้นปี 2024 จะรับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศอันได้แก่  อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และล่าสุดมี 34 ประเทศที่ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว อันได้แก่ แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ เบลารุส โบลิเวีย คิวบา ชาด สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย เมียนมา โมร็อกโก นิการากัว ไนจีเรีย ปากีสถาน เซเนกัล ซูดานใต้ ศรีลังกา ปาเลสไตน์ ซีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน เวเนซุเอลา เวียดนาม และซิมบับเว

ข้อดีของการเป็นสมาชิกใน BRICS มีหลายประการกล่าวโดยสรุปคือ

1. การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศตนในเวทีระหว่างประเทศ 

2. ทำให้ประเทศที่เป็นสมาชิกมีจุดยืนในฐานะพหุภาคีและความสมดุลระดับโลก 

3. โอกาสที่จะเข้าถึงการลงทุนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันยกระดับให้ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น

4. สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค

5. ได้รับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

เฉกเช่นเดียวกันกับไทยที่มองหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทหารเมียนมาก็แสวงหาลู่ทางในการที่จะลืมตาอ้าปากจากการถูกแซงชั่นจากประเทศตะวันตกและประเทศพันธมิตรของตะวันตกโดยมีหัวหอกเป็นอเมริกาด้วยเช่นกัน  จากที่เอย่าคาดการณ์แล้วหากเมียนมาเข้าเป็นสมาชิก BRICS ได้สำเร็จ เมียนมาจะบรรลุถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของตนไปยังตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศของ BRICS เอง  อีกทั้ง BRICS ยังเปิดโอกาสทางการค้าที่เสรีโดยไม่จำเป็นต้องค้าขายผ่านสกุลเงินใครเป็นสกุลเงินหลักแต่เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจผ่านสกุลเงินของประเทศตนเองได้โดยตรงอันจะช่วยให้ลดปัญหาการได้เปรียบหรือเสียเปรียบอันเนื่องมาจากการใช้ระบบ SWIFT

อีกอย่างเมียนมาจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนได้มากขึ้นหลังถูกโดดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหารและประเทศในกลุ่ม BRICS ก็น่าจะเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นด้วยเหตุที่ค่าแรงถูกและยังมีที่ดินเป็นจำนวนมากที่ที่สามารถพัฒนาได้

สุดท้ายหากเกิดสงครามขึ้นมาประเทศในกลุ่ม BRICS ก็จะได้รับการช่วยเหลือทางอาหารจากประเทศในกลุ่มสมาชิกที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักซึ่งนอกจากไทยแล้วเมียนมาก็เป็นอีกประเทศที่มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรในราคาถูกและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีเช่นกัน

South China Morning Post ระบุในถ้อยแถลงว่าทางรัฐบาลทหารเมียนมาแสดงความปรารถนาของเมียนมาที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะผู้สังเกตการณ์ระหว่างการเยือนมอสโคว์เมื่อไม่นานมานี้ และจากท่าทีของจีนและรัสเซียที่เป็นหัวเรือใหญ่ใน BRICS เชื่อว่าสามารถนำพาเมียนมาเข้าเป็น 1 ในสมาชิกของ BRICS ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

การที่ทางรัฐบาลเมียนมาคิดแบบนี้น่าจะเป็น 1 ในแผนระยะยาวในการสร้างเสถียรภาพของประเทศและสร้างความเจริญที่ยั่งยืนในประเทศอันจะส่งผลให้ความขัดแย้งในประเทศจบลงไวขึ้นนั่นเอง และนั่นก็รวมถึงการผลักดันผู้คิดต่างให้ออกไปอยู่นอกวงและกลายเป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top