Monday, 21 April 2025
รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

'รัดเกล้า' ไม่เห็นด้วย 'สส.ก้าวไกล' เสนอกฎหมายห้ามตีบุตรหลาน ชี้!! บริบทสังคม 'ไทย-ตะวันตก' มีความต่าง แนะ!! ให้ความรู้ผู้ปกครองดีกว่า

(12 ก.ค.67) เนเน่ รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า…

#รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี สุภาษิตไทยที่บ่งบอกให้เห็นว่าคนไทยนั้นมีความเข้าใจว่า #ตีลูก นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อถึงความรักที่มีต่อลูก ซึ่งความเชื่อนี้อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แต่ถ้าถามว่า ‘ตีลูกดีจริงไหม’ จริง ๆ แล้วปัจจุบันนี้มีงานวิจัยมากมาย ทั้งด้านจิตวิทยา ด้านครุศาสตร์ ฯลฯ ที่บ่งชี้ว่า ในกระบวนการสั่งสอนหรือโน้มน้าวสมองมนุษย์ (ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่) ให้เรียนรู้ จดจำ และทำตามได้ #แย่ที่สุด #ไร้ประสิทธิภาพที่สุด ก็คือการลงโทษ (Punishment) หรือ การตี นั่นแหละ…

การลงโทษนั้น นอกเหนือจากไม่มีประสิทธิภาพแล้วอาจจะนำไปสู่ผลที่ได้ที่ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เช่น การทำให้เด็กมีพฤติกรรมชอบโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด หรือ ความผูกพันและความสัมพันธ์อันดีที่พ่อแม่มีต่อลูกทุกบั่นทอนลง เป็นต้น

ฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงมีกระแสต้องการที่จะยกเลิก #การตีลูก โดยล่าสุด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคก้าวไกล เสนอการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะเพิ่มสาระสำคัญคือ ห้าม #ทําร้ายร่างกาย และห้าม #กลั่นแกล้งผ่านคําพูด #Bully กับบุตรหลานในการเลี้ยงดูและสั่งสอน ซึ่งฟังแล้วดูดี และต้องขอขอบคุณคุณณัฐวุฒิที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้... 

แต่คงต้องถามด้วยว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ได้ด้วยการแก้กฎหมายไหม คงต้องขออนุญาตไม่เห็นด้วย

หลักความคิดว่าการ ‘ลงโทษ’ คือการทำทารุณกรรม คือการ #บูลลี่ เป็นแนวคิดของทางตะวันตก ซึ่งแนวคิดนี้ใช่ว่าจะไม่ดี แต่หากจะแก้ปัญหาให้ประเทศไทย เราก็ต้องเข้าใจบริบทสังคมไทยด้วยว่ามันมีวิวัฒนาการมายังไง แล้วออกแบบแนวทางที่เหมาะสมให้ตัวเราเอง การคล้อยตามแนวคิดคนอื่น หยิบยกนำวิถีของเขา ยกเอากฎหมายของเขาที่เราคิดว่าดี เอามาบังคับใช้ในประเทศไทยนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับการบังคับให้คนไทยสวมใส่รองเท้าของฝรั่ง ที่ทั้งใหญ่เกินไป เดินไม่สะดวก ไม่ได้เหมาะสมกับเราเลยในหลายๆ ด้าน…

เนเน่ ขอเสนอใน 3 ประเด็นดังนี้

#หนึ่ง ขอย้ำว่าการ #แก้กฎหมายไม่ใช่ทางออก อย่างแน่นอน ร่างพระราชบัญญัติที่พรรคก้าวไกลเสนอมีความ ซ้ำซ้อนกับกฎหมายหลายฉบับ แถมอีกว่าเมื่อวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 ผ่านมานี้เอง ครม. เพิ่งเห็นชอบให้ประเทศไทยถอนข้อสงวน ข้อ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไป ซึ่งตรงนี้มีนัยยะสำคัญค่ะ ตอนที่ประเทศไทยตัดสินใจเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 เราได้สงวนไว้ถึง 3 ข้อ เพราะ ณ ตอนนั้นบริบทของสังคมไทยและกฎหมายของเรายังไม่มีความพร้อมเพียงพอ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ในวันนี้กฎหมายของไทยมีความเข้มแข็งเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเด็กในด้านต่างๆ เพียงพอแล้ว เราจึงสามารถถอนข้อสงวนข้อสุดท้ายออกได้ กล่าวคือกฎหมายของไทยตอนนี้มีมาตรฐานในระดับสากลเพียงพอแล้วค่ะ ไม่จำเป็นต้องมาแก้กฎหมายอะไรให้มันยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

#สอง สิ่งที่ขาดหายไปคือ #ความเข้าใจและการอัปเดตข้อมูล ว่าศาสตร์การสอนในโลกปัจจุบันนี้มีการศึกษาวิจัยก้าวหน้าไปถึงจุดไหน เราเจือจางความคุ้นชินกับธรรมเนียมเดิม ๆ ของคนไทยที่เชื่อว่าการเลี้ยงดูบุตรต้องมีการสั่งสอนโดยใช้ลงโทษ การตีเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่จะทำให้เด็กออกมาเป็นคนดี ถ้าทางรัฐจะต้องทำอะไร ควรจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองมากกว่าค่ะ ซึ่งในโรงพยาบาลต่างๆ มีนักจิตวิทยาเก่ง ๆ อยู่มากมาย ในขณะที่ปัจจุบันนี้ เด็กๆ ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนขั้นพื้นฐานเพื่อป้องกันเขาจากโรคต่าง ๆ เขาก็ควรที่จะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันภัยร้ายทางจิตใจด้วย ซึ่ง #วัคซีนที่ดีคือพ่อแม่ที่มีความรู้ ควรมีหลักสูตรฟรี (และบังคับเรียน) สำหรับพ่อแม่ทุกคน ให้ได้รับการอบรมเป็นระยะๆ เพื่อให้มีความรู้และศาสตร์ของการเป็นพ่อแม่ที่มีคุณภาพไปประกอบการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ โดยเนื้อหาหลักสูตรควรออกแบบให้เหมาะสมแบ่งเป็นตามช่วงวัยของเด็กค่ะ

#สาม เราต้องทำให้ #คนทำผิดโดนกฎหมายลงโทษ เราคงไม่สามารถพูดได้ว่าการลงโทษหรือการตีเด็กทุกกรณีนั้นเกิดจากความรักที่พ่อแม่มีให้เด็ก สำหรับคนที่มีจิตใจโหดร้ายทำทารุณกรรมต่อเด็ก ทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่เป็นการกระทำโดยไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหล่อหลอมให้เด็กออกมาเป็นคนดีนั้น แม้ว่ากฎหมายของประเทศไทยตอนนี้ครอบคลุมแล้ว แต่คำถามคือกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและการลงโทษผู้กระทำผิดเข้มแข็งเพียงพอหรือยัง ทางรัฐควรเพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับผู้นำระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน มีบทบาทมากขึ้น จะได้ช่วยดูแลสอดส่องความปลอดภัยให้กับเยาวชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง

ขอบคุณอีกครั้งที่ทำให้ประเด็นนี้มาเป็นความสนใจในสังคม แต่ขอชวนให้แก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธีกันดีกว่านะคะ

#ข้อมูลวิจัยที่น่าสนใจ บี.เอฟ.สกินเนอร์ (B.F. Skinner ชื่อเต็ม Burrhus Frederic Skinner) นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม ชาวอเมริกันที่โด่งดังจากเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ที่เป็นข้อสรุปมาจากการทดลองที่มีชื่อเสียงของ Skinner ชื่อ Skinner's Box ซึ่งคือกล่องจะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีคันโยก และหลอดไฟอยู่เหนือคันโยก โดยมีหนูขาวตัวเล็กๆ อยู่ในนั้น เมื่อหนูขาวหิว เขาจะวิ่งวนไปวนมา เขี่ยสิ่งต่าง ๆ ภายในกล่องเพื่อหาทางออกไป ซึ่งหากเขาเอามือไปแตะกับคันโยกในขณะหลอดไฟสีฟ้าสว่าง อาหารจะตกลงมาจากท่อจ่าย เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ เจ้าหนูขาวเรียนรู้ว่าการแตะที่คันโยกนี้อาหารจะตกลงมา เขาก็ใช้เวลาวิ่งวนอย่างไร้เป้าหมายน้อยลงเรื่อย ๆ สิ่งนี้เรียกว่าการเสริมแรง (Reinforcement) ค่ะ

กับมนุษย์ก็เป็นเช่นนั้น การเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement) เช่น การชื่นชม การให้กำลังใจ การให้รางวัล ได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่ามีประสิทธิภาพกว่า การเสริมแรงเชิงลบ (Negative Reinforcement) เช่น การตี การตำหนิ การหักคะแนน ค่ะ ในศาสตร์การสอนนั้น เมื่อนักศึกษาได้รับคำชม หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกคนชื่นชมกัน (Antecedent) ย่อมทำให้เขาตั้งใจเรียน (Behavior) และเมื่อนักศึกษาได้ผลจากการกระทำ(Consequences) คือเกรด A นั้น หากอาจารย์อยากทำให้นักศึกษาอยากได้ A อย่างต่อเนื่อง อาจารย์สามารถชมเชยให้นักศึกษาตั้งใจเรียนอย่างต่อเนื่อง จนพฤติกรรมตั้งใจเรียนกลายเป็นนิสัยของนักเรียนค่ะ

'สส.พรรคส้ม' โวย!! ถูกถอนร่างกฎหมายห้ามผู้ปกครองลงโทษบุตร อ้าง!! แปลว่าเห็นคุณค่าลูกหลานมีค่าน้อยกว่า 'วัว-ควาย' หรืออย่างไร?

(25 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... ซึ่งมีนายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ในวาระสอง

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข คือ ยกเลิก (2) ของมาตรา 1567 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน 'ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร'

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกร่วมกันอภิปรายในการแก้ไขกฎหมายไม่ตีเด็ก มีความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยพรรคประชาชนเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ส่วนฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะสส.พรรคเพื่อไทย และสส.ภูมิใจไทย เห็นว่าการบัญญัติโดยใช้ถ้อยคำกำกวมจะยากต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ที่สำคัญเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์รักลูกและลูกศิษย์ของตนเอง ไม่มีใครต้องการทำโทษรุนแรง การห้ามไม่ให้ตีเด็กถือเป็นการลิดรอนสิทธิ์ในการดูแลบุตรหลาน

นายนิพนธ์ คนขยัน สส.บึงกาฬ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำโทษลูกตนเชื่อมั่นว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีการตีลูกเลย ถ้าลูกดื้อหรือเกเรก็ตีไม่ได้เลยอย่างนี้ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร และคนต่างจังหวัดที่ต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ ลูกอยู่กับปู่ย่าตายาย ไม่มีเงินที่จะเลี้ยงลูกแบบถูกสุขลักษณะ ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปใครจะกล้าตีลูก แม้แต่ครูก็ไม่กล้าตี เก็บไม้เรียวไปได้เลย ซึ่งตนก็เห็นใจแต่ทุกคนเกิดมาไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงอยากให้กรรมาธิการฯ นำกลับไปทบทวนใหม่ แล้วเสนอมาใหม่เพื่อให้พ่อแม่มีทางออก และต้องการให้แยกให้ออกระหว่างการตีด้วยความรักกับการทารุณกรรม

น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เหตุใดต้องเขียนกฎหมายให้คลุมเครือ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหาบรรทัดฐาน ใช้ดุลยพินิจเอาเอง อีกทั้งเรามีพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอยู่แล้ว จึงอยากให้ คณะกมธ.ถอนร่าง แล้วนำกลับไปทำให้ชัดเจนขึ้น

ขณะที่น.ส.พิมพ์กาญจน์ กีรติวิราปกรณ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน (ปชน.) อภิปรายว่า การมีหลักประกันจากกฎหมายนี้จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างอุ่นใจ ความรุนแรงมีความหมายในตัว และการส่งต่อความรุนแรงในรูปแบบความรักไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร อย่างไรก็ตาม สำนวนที่ว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี นั่นแปลว่าเราเห็นลูกหลานแย่หรือมีค่าน้อยกว่าวัวกว่าควายหรือไม่ ในเมื่อวัวควายท่านบอกให้ผูก แต่ลูกหลานถึงขั้นตี เหตุใดไม่ปรับพฤติกรรมโดยการพูดคุยอย่างอ่อนโยน ให้เหตุผล ในเมื่อเชื่อว่าผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะ เหตุใดไม่เรียนรู้ที่จะส่งต่อวิธีที่ถูกต้อง หรือวิธีที่ทำให้ลูกหลานรับรู้ว่าเป็นวิธีที่ผู้ใหญ่ห่วงใย

นางศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน กล่าวว่า สภาฯ เคยผ่านกฎหมายป้องกันทารุณกรรมสัตว์แล้ว ทำไมเราถึงตั้งคำถามกับการคุ้มครองมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ฝ่ายที่คัดค้านแล้วบอกว่าใช้คำคลุมเครือนั้น ในฐานะที่ตนเป็นทนายความอยากบอกว่าทำให้กฎหมายชัดเจนละเอียดเท่าใด ไม่เปิดให้ใช้ดุลยพินิจ อันตรายมากกว่า

“สมาชิกหลายคนบอกว่าการตีทำให้พวกท่านได้ดี ทำให้ได้เข้ามายืนในสภา ดิฉันก็อยากยืนยันว่าการที่ทุกคนได้เป็นสส. เป็นผู้เป็นคนได้ เพราะมาจากความรู้ความสามาร อดทน ตั้งใจ ไม่ได้มาจากไม้เรียว ถ้าจะดูถูกตัวเองว่าไม้เรียวทำให้ได้ดี ท่านกำลังดูถูกความรู้ความสามารถความตั้งใจของตัวเองหรือเปล่า” นางศศินันท์ กล่าว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางกมธ.แก้ไขข้อความที่สภาฯ รับหลักการมา โดยตัดคำว่าทารุณกรรมออกไป เหลือเพียงคำว่า ไม่เป็นการเฆี่ยนตี สภาฯ แห่งนี้จึงยอมไม่ได้ เพราะต้องการปกป้องสิทธิผู้ปกครอง แนวโน้มร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจะถูกคว่ำ จึงอยากให้หาวิธีการดู สำหรับตนขอเสนอให้กมธ.ถอนแล้วไปปรับปรุงตัวบทใหม่ เพื่อความสมดุลระหว่างสิทธิเด็กและสิทธิผู้ปกครอง คำกำกวมอย่างคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมาชิกหลายคนถามว่าเอาอะไรมาวัด และสิ่งนี้จะทำให้ลงโทษผู้ปกครองได้ ฉะนั้นขอให้ไปปรับมาใหม่

ด้านนายสรรพสิทธิ์ ชี้แจงว่า จากที่ฟังการอภิปรายสรุปได้ว่าสมาชิกอยากได้ไม้เรียวกลับมาให้ครู อีกทั้งต้องการให้พ่อแม่เฆี่ยนตีลูกได้เพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หากต้องการให้ทางคณะกมธ.ถอน ตนก็ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไร กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ห้ามพ่อแม่เฆี่ยนตีลูก เพราะมีกฎหมายอื่นที่ห้ามอยู่แล้ว

ภายหลังพักการประชุม ประธานกมธ.วิสามัญฯ แจ้งว่าทางคณะกมธ.ขอถอนร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวออก ซึ่งที่ประชุมไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น จึงถือว่าอนุญาตให้ถอนร่างกฎหมายได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top