Tuesday, 22 April 2025
รอยยิ้ม

‘ฝรั่ง’ ทักคนเอเชียว่า ‘หนีห่าว’ อาจไม่ได้ตั้งใจจะล้อเลียน แค่ดูไม่ออกว่าเป็นเชื้อชาติไหน แต่ไม่ได้เจตนาจะด้อยค่า

(20 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Aroonsri Chaiyachatti Harrison’ ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

ช่วงนี้ดูเหมือนจะมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับการที่ฝรั่งทักคนเอเชียด้วยประโยคภาษาจีนอย่าง “หนีห่าว” กันอีกแล้ว เลยอยากมาเล่าแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวนิดนึงค่ะ

ตอนเด็ก ๆ เคยตามคุณพ่อไปอยู่ยุโรป ที่ประเทศหนึ่งในอดีตยูโกสลาเวีย สมัยนั้นชาวยุโรปแถบนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอคนเอเชียตัวจริง ๆ เท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเห็นแค่ในหนังหรือทีวี พอได้เจอกับของจริง ก็แยกไม่ค่อยออกหรอกค่ะ ว่าใครเป็นคนจีน คนไทย คนญี่ปุ่น หรือฟิลิปปินส์

จริง ๆ แม้แต่เราบางครั้ง ยังแยกไม่ออกเลยว่าฝรั่งที่เจอเป็นคนอังกฤษ อเมริกัน หรือยุโรปชาติไหน ต้องฟังสำเนียงก่อนถึงจะพอเดาได้

ย้อนกลับมาที่ประสบการณ์ตรงย้ายมานิวยอร์ก ตอนเรียนอยู่ก็ทำงานพาร์ตไทม์เป็นบาร์เทนเดอร์ ลูกค้าฝรั่งเข้ามาคุยด้วยบ่อย ๆ ถามว่าเราเป็นคนชาติไหน มีบางคน โดยเฉพาะฝรั่งรุ่นเก่า ๆ ที่ยังใช้คำว่า Oriental ซึ่งสมัยนี้ถือว่าคำนี้ไม่เหมาะสมแล้ว เพราะมันเป็นการเหมารวมคนเอเชียแบบไม่มีความเข้าใจ คล้าย ๆ กับเวลาพูดถึง Oriental rug — มันเป็นภาษาที่สะท้อนยุคสมัยที่ยังไม่เปิดกว้างทางวัฒนธรรมเท่าไหร่

สมัยนััน80s-90s คำถามที่โดนถามบ่อยมากคือ :
What kind of asain are you?
What are you made of? (อันนี้ชอบบบมากตลกดีส่วนใหญ่จะเป็นคำถามจากคนสูงอายุหน่อย เรามักจะตอบกวนๆว่า “Mom and dad of course” 
So you are an Oriental from Thailand?

สรุป :
• “Oriental” ใช้กับวัตถุได้ เช่น “Oriental rug” แต่ไม่ควรใช้กับ “คน” อีกแล้ว
• เวลาฝรั่งพูดแบบนี้ในปัจจุบันอาจโดนมองว่าไม่สุภาพ หรือ outdated มาก ๆ
นอกจากนี้ก็มีบางคนที่แค่ไม่รู้จริง ๆ หรือที่เรียกว่า ignorance ไม่ได้ตั้งใจเหยียด แต่ไม่รู้ว่าคนเอเชียมีหลายเชื้อชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรม ไม่ได้เหมารวมได้ง่าย ๆ

บางครั้งก็มีเจอแบบไม่โอเค เช่น แซวทำตาเฉียงเลียนแบบคนจีน ทั้งที่เราไม่ใช่คนจีนก็ตาม ซึ่งตรงนี้มันก็สะท้อนว่าเขายังไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลายของเอเชียดีนัก

แต่ในหลาย ๆ ครั้ง ฝรั่งที่ทักเราเป็นภาษาจีน ก็อาจจะเป็นแค่การพยายามจะเชื่อมต่อ อยากทักทายด้วยคำไม่กี่คำที่เขาพอรู้ อาจเพราะเพิ่งเคยมาเที่ยวเอเชียครั้งแรก แล้วตื่นเต้น อยากสื่อสารกับคนท้องถิ่น แม้จะผิดภาษา แต่เจตนาก็ไม่ได้มุ่งร้ายอะไร

สุดท้ายแล้ว เราว่ามันอยู่ที่ “เจตนา” ค่ะ
ถ้าไม่ได้ตั้งใจเหยียด ดูถูก หรือทำให้รู้สึกด้อยค่า ก็คงไม่จำเป็นต้องซีเรียสเกินไป

เพราะบางที แม้แต่คนไทยเองก็มีหน้าตาหลากหลาย บางคนดูเหมือนจีน บางคนดูเหมือนแขก หรืออื่น ๆ ซึ่งแม้แต่เราเองยังแยกไม่ออกในบางครั้ง แล้วจะคาดหวังให้ฝรั่งที่ไม่คุ้นชินกับความหลากหลายของเอเชียแยกออกเป๊ะ ๆ คงเป็นเรื่องยาก

แต่แน่นอนว่า ถ้ามันเลยเถิดไปจนถึงการล้อเลียนหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกด้อยค่า นั่นก็ถือเป็นปัญหาจริง ๆ และเข้าใกล้เรื่อง cultural appropriation มากขึ้น — คือการเอาวัฒนธรรมของคนอื่นมาใช้ผิดที่ผิดทาง ไม่ให้เกียรติ หรือทำให้มันดูตลกไป ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ควรถูกพูดถึงและทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นเช่นกันค่ะ

บางครั้งในชีวิตเราก็เลี่ยงไม่ได้หรอกค่ะ ที่จะต้องเจอกับคนที่มีทัศนคติไม่ดี เหยียดเชื้อชาติ หรือพูดจาไม่เหมาะสมกับเราโดยตรง ไม่ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ถ้าคุณรู้สึกว่าคำพูดหรือท่าทีของเขาเป็นการเหยียดเราจริง ๆ สิ่งที่ง่ายที่สุด และทรงพลังที่สุดที่คุณทำได้… คือ “ยิ้ม” ค่ะ

ใช่ค่ะ - แค่ยิ้ม

เพราะบางทีความสุภาพ และความสงบนิ่งของเราเองนั่นแหละ ที่จะทำให้คนที่เหยียดเรารู้สึกละอายใจในพฤติกรรมของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องลดตัวลงไปตอบโต้ด้วยความโกรธหรือความเกลียดชัง

การยิ้ม ไม่ได้แปลว่าเรายอมรับการกระทำของเขา
แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า เรา “เหนือกว่า” การเหยียดนั้นมากแค่ไหน

ในโลกที่เต็มไปด้วยความเข้าใจผิดและอคติ
การรักษาความสงบภายในใจ และตอบกลับด้วยความสุภาพ
คือการต่อสู้ที่สง่างามที่สุด

อย่าลืมสิว่าประเทศเราคือสยามเมืองยิ้ม 
ด่ากลับเป็นภาษาไทยด้วยรอยยิ้มค่ะ   ทำบ่อยมากเวิร์คทุกครั้ง ด่าสามีด้วยรอยยิ้มนางยังไม่โกรธ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top