Friday, 9 May 2025
รอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ2560

กพร. คุมเข้ม!! ‘อัคราฯ’ หลังรีสตาร์ตเหมืองแร่ทองคำ ต้องอยู่ใต้กม. พร้อมอุ้มชุมชน-ชาวบ้านกระทบทุกมิติ

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีภาคประชาชนขอให้ตรวจสอบ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) รวมถึงความบกพร่องในกระบวนการต่างๆ หลังเตรียมเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตรอีกครั้ง โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้...

1.) กรณีขาดการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและชุมชนในพื้นที่การต่ออายุประทานบัตรจำนวน < แปลงของบริษัท อัคราฯ เป็นการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในพื้นที่เดิม ไม่ได้มีการเพิ่มหรือขยายพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด แม้การต่ออายุประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ต้องจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ แต่เนื่องจาก กพร. ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น ความต้องการ และความเดือดร้อนของประชาชนบริเวณรอบพื้นที่เหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ ในรัศมี 500 เมตร และในรัศมี 500 เมตร - 3 กิโลเมตรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ในช่วงปี 2558 - 2564 รวม 5 ครั้ง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง เพื่อให้ทุกหลังคาเรือนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมเท่าๆ กัน ซึ่งผลปรากฏว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการ

นอกจากนี้ กพร. ยังได้มอบนโยบายให้บริษัท อัคราฯ ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ทั่วถึงมากขึ้น และกำชับให้บริษัทฯ ส่งเสริม ช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาชุมชน เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับมีความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

2.) การเตรียมงบประมาณเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนเพียงร้อยละ 0.1 อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ต่างประเทศ ต้องเตรียมงบฯ ดังกล่าวร้อยละ 0.9 นอกจากการดำเนินโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่บริษัทดำเนินการด้วยความสมัครใจแล้วบริษัทยังต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของทางราชการ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัท อัคราฯ ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อการฟื้นฟูพื้นที่โครงการมากกว่า 600 ล้านบาท และนำเงินเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตปีละ 10 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินคงเหลือสะสม 80 ล้านบาท และตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ 2560 และ พ.ร.บ.แร่ 2560 กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุน จำนวน 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ และกองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งบริษัทต้องนำเงินเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 21 ของค่าภาคหลวงแร่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าภาคหลวงย้อนหลัง 6 ปี (ปี 2554 - 2559) กพร. จัดเก็บค่าภาคหลวงทองคำและเงินในอัตราก้าวหน้าหรือประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าแร่ จากบริษัท อัคราฯ ได้มากกว่าปีละ 500 ล้านบาท สามารถประมาณการเงินที่บริษัทต้องนำเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท ดังนั้น เงินที่จะถูกจัดสรรไปเพื่อการพัฒนาชุมชนจึงมีมากกว่าร้อยละ 1.0 ของมูลค่าแร่ นอกจากนี้ เงินค่าภาคหลวงที่จัดเก็บได้จะถูกจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดร้อยละ 50 เพื่อใช้ในการพัฒนาชุมชนอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top