Thursday, 4 July 2024
รองอ๋อง

‘โบว์ ณัฏฐา’ ตั้งข้อสังเกต!! ‘รองอ๋อง’ ใช้งบรับรองแขกเลี้ยงหมูกระทะ ติง ‘ไม่เหมาะสม-ไม่สมเหตุสมผล’ ด้วยเหตุผลหลายประการ

(19 ส.ค. 66) ‘คุณโบว์ ณัฏฐา มหัทธนา’ ผู้ดำเนินรายการ Ringside การเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีการใช้งบรับรองแขกของรองประธานสภาฯ ไปจัดเลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภาฯ นั้น ไม่เหมาะสมและไม่สมเหตุสมผลด้วยเหตุผลหลายประการ โดยส่วนตัวมีข้อสังเกตดังนี้…

1.) วัตถุประสงค์ของงบก้อนนี้ ให้ใช้เพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมืองเป็นหลัก ในแต่ละปีจะมีคณะบุคคลหลากหลายมาขอเข้าพบประธานและรองตลอดปี เช่น คณะผู้แทนราษฎรหรือส่วนงานนิติบัญญัติจากต่างประเทศ ทูต ผู้แทนกระทรวง หรือคณะบุคคลจากรัฐบาล และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีวาระตามจุดประสงค์ของทั้งสองฝ่าย

งบก้อนนี้ไม่ใช่งบสวัสดิการพนักงาน มิฉะนั้น ประธานและรองก็สามารถเอางบนี้ พาพนักงานไปเที่ยวเล่นได้ทั้งปีโดยอ้างเหตุผลต่างๆ ได้

นี่คือการใช้งบผิดประเภท

2.) แม่บ้านจำนวนมากในสภาฯ นั้น มาจากบริษัท Outsource ที่ทางสภาฯ ทำการจัดจ้างมา และมีเงื่อนไขในการทำงานที่ตกลงกับบริษัทเอกชน หากพบว่ามีเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่สภาฯ ควรทำ คือการทบทวนสัญญากับบริษัท ให้มีความครอบคลุมถึงส่วนที่เกี่ยวกับสวัสดิการ และความเหมาะสมของเงื่อนไขในการจ้างพนักงาน (หลายคนถูกจ้างแบบรายวันต่อเนื่องเป็นปีๆ โดยไร้สวัสดิการ ซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน หากต้องการให้รัดกุม ต้องมีการปรับรายละเอียดส่วนนี้ ให้ครอบคลุมการตรวจสอบในสัญญา ซึ่งคือสิ่งที่ทำได้เลยเพราะเป็นสัญญาระยะสั้น และรองประธานควรตรวจสอบได้เอง เพราะเป็นส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างระหว่างภาครัฐกับเอกชน)

3.) สภาพแวดล้อมพื้นฐานในการทำงานของแม่บ้านสภาฯ ควรได้รับการปรับปรุงก่อน และเป็นสิ่งที่รองประธานย่อมมองเห็นได้เองอยู่แล้ว เพราะเป็นมาตรฐานที่ลูกจ้างทุกคนควรมี เช่นห้องพัก ที่เก็บของส่วนตัว และโซนรับประทานอาหารของพนักงาน เมื่อทำสิ่งเหล่านี้ หลังจากนั้น มีรายละเอียดเพิ่มเติมอะไร ก็ดำเนินการทบทวนรายละเอียด โดยส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปได้ตามปกติ

เมื่อข้อเท็จจริงมีดังที่กล่าวมานี้ อีเวนต์เลี้ยงหมูกระทะที่เกิดขึ้นจึงไม่เหมาะสม ทั้งในเรื่องการใช้งบประมาณผิดประเภท การจัดเลี้ยงลูกจ้างของบริษัทเอกชนโดยไม่ติดต่อสื่อสารกับบริษัท การสร้างประเด็นข่าวจากสิ่งที่ควรเป็นงานปรับปรุงแก้ไขตามปกติในสภาฯ

และสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นการ ‘หาเสียง’ ด้วยการสร้างภาพกับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของพรรคก้าวไกล โดยนำกลุ่มแม่บ้านสภาฯ ขึ้นมาเป็นตัวแทนประกอบฉาก ด้วยงบประมาณของรัฐฯ

‘ศรีสุวรรณ’ จ่อ ร้อง ‘ป.ป.ช.’ สอบ ‘รองอ๋อง’ ปมเลี้ยงหมูกระทะ ชี้!! ใช้งบหลวงผิดประเภท ส่อเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง

(19 ส.ค. 66) นายศรีสุวรรณ จรรยา กลุ่มองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ใช้งบรับรองแขก เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภา จากเงินภาษีของ ปชช.เพื่อหน้าตาของตนเอง ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่?”

ขณะเดียวกัน นายศรีสุวรรณ แจ้งสื่อมวลชนว่า ในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค. 66 เวลา 10.00 น. จะไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวน ตรวจสอบ รองฯอ๋อง (นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล รองประธานสภาฯ ) เพื่อวินิจฉัยว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติห้ามไว้ หรือไม่ เพราะกระทำการที่อาจขัด รธน.เกี่ยวกับผลประโยชน์ขัดกัน ประกอบมาตรฐานจริยธรรมฯ

'สำนักข่าวอิศรา' ขุดต่อ!! หุ้นใหญ่บริษัทสุราแช่ในฉะเชิงเทรา พบชื่ออดีตนายทหารยศพลเอก เป็นผู้ผลิตเบียร์ที่ 'รองอ๋อง' เชียร์

(20 ส.ค. 66) กรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จ.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ได้เผยแพร่ภาพคราฟท์เบียร์ยี่ห้อหนึ่งลงในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก และ Tik Tok แนะนำด้วยความภาคภูมิใจว่า “เอาแล้วๆๆๆๆ พิษณุโลกมีคราฟท์เบียร์ตัวแรกอย่างเป็นทางการแล้วครับ เป็นของดีพิดโลกนอกจากกล้วยตากและหมี่ซั่วครับ” กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม

สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ในเพจเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องในกับเบียร์ยี่ห้อนี้ โพสต์ข้อความเมื่อ 9 สิงหาคม ว่า “ เรารอสิ่งนี้มาโดยตลอด ‘เครื่องดื่มคราฟพิดโลก’ ‘by Phitsanulok Brewing’ เปิดตัวที่แรกที่ร้าน Girl’s don’t cry ผลิตถูกกฎหมายทุกขั้นตอน เสียภาษีเรียบร้อย พร้อมกระจายไปให้ทุกท่านได้ลองผลิตภัณฑ์แบรนด์ท้องถิ่น ที่เราฝ่าฟันกันมากับวงการคราฟเบียร์มาตลอด 7ปี”

จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า PHITSANULOK BREWING ตามที่ระบุข้างต้น คือ PHITSANULOK BREWING หรือ บริษัท พิษณุโลกบรูอิ้ง จำกัด ทะเบียนวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ทุน 1 ล้านบาท ประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่ตั้งเลขที่ 441/58 ซอย13 ถนนบรมไตรโลกนารถ 2 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายภูวดล ศิริสินเลิศ เป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ และเป็นกรรมการร่วมกับนายธนาบูรณ์ ตระกูลฤกษ์ชัย

ล่าสุด สำนักข่าวอิศราตรวจสอบรายละเอียดข้างกระป๋องเบียร์ยี่ห้อนี้มีข้อความระบุภาษาอังกฤษว่า

Produce By (ผลิตโดย-สำนักข่าวอิศรา) Thai Spirit Industry 71/25 Moo 5 Thakham Bangpakong Chachoengsao Thailand 24130

Distributed By (กระจายสินค้า-สำนักข่าวอิศรา) Phitsanulok Brewing co,Ltd. 441 /58 Baromtrilokanart 2 Rd. Nai-mueang Phitsanulok Thailand 65000

จากข้อมูลดังกล่าว สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ชื่อ Thai Spirit Industry คือ THAI SPIRIT INDUSTRY CO.,LTD. หรือ บริษัท ไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด จดทะเบียนวันที่ 1 มีนาคม 2545 ทุนปัจจุบัน 100 ล้านบาท ประกอบการ การผลิตและจำหน่าย สุราแช่ประเภทสุราผลไม้ เบียร์และอื่นๆ ที่ตั้งเลขที่ 71/25 หมู่ 5 ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา (ที่ตั้งเลขที่เดียวกันกับที่ตั้ง Thai Spirit Industry ตามที่ระบุในข้างกระป๋อง) บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันประชุม 30 เมษายน 2566 พลเอกนายหนึ่งถือหุ้น 100%

เบื้องต้น ในช่วงสายวันที่ 19 ส.ค. 66 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังบริษัทไทย สพิริท อินดัสทรี จำกัด เพื่อขอสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับกรณีที่กระป๋องเบียร์ที่มีชื่อของบริษัทไปอยู่ในวิดีโอของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา

พนักงานบริษัทที่รับสายกล่าวว่าวันนี้เป็นวันหยุด ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่อยู่ จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ได้มีพนักงานบริษัทอีกคนติดต่อมายังสำนักข่าวอิศรา เพื่อขอยืนยันข้อมูลที่สอบถาม

โดยพนักงานบริษัทกล่าวทิ้งท้ายว่ารับทราบข้อมูลแล้ว ภายในวันจันทร์ (21 ส.ค.66) จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนิ้ติดต่อมายังสำนักข่าว

ถ้ามีความคืบหน้า สำนักข่าวอิศรา จะรายงานเพิ่มเติมต่อไป

‘เพื่อไทย’ จวก!! ‘รองอ๋อง’ แต่งชุดไม่สุภาพ ใส่เสื้อคอจีน-ไม่ผูกเน็กไท ด้านเจ้าตัวแจง เป็นไปตามระเบียบ หากไม่สบายใจจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

(24 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา ระหว่างที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กำลังพิจารณารับทราบรายงานผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2564 นั้น

นายนิคม บุญวิเศษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นตำหนิการแต่งกายของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม ที่แต่งกายใส่เสื้อคอจีนและใส่เสื้อสูททับ โดยไม่ติดเน็กไท เป็นการแต่งกายไม่สุภาพ

นายนิคมกล่าวว่า ข้อบังคับการประชุมสภาฯ สส.ต้องแต่งกายเครื่องแบบรัฐสภา ชุดสากลนิยม ชุดพระราชทาน หรือชุดตามระเบียบที่สภาฯ กำหนด แต่ชุดที่ประธานฯ แต่ง เห็นแล้วไม่สบายใจ ไม่เรียบร้อย เกรงจะเป็นบรรทัดฐานให้ที่ประชุม นี่คือรัฐสภา ขอให้เป็นตัวอย่างแก่สมาชิก

ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า การแต่งกายของประธานฯ ไม่ใช่สากลนิยม ควรตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาเรื่องการแต่งกายของ สส.ให้เป็นสากลนิยม ให้ทุกคนปฏิบัติโดยพร้อมเพรียง ไม่อยากให้ประธานฯ โดนอะไรไปมากกว่านี้ มองยังไงก็ไม่ใช่ชุดสากล

ทำให้นายปดิพัทธ์ ชี้แจงว่า การแต่งกายชุดสากลนิยมเคยหารือแล้วว่า การใส่เสื้อคอจีน แล้วใส่สูททับ โดยไม่ใส่เน็กไท เป็นชุดสุภาพ ตามระเบียบสภาฯ ตนเคารพทุกคน ถ้าไม่สบายใจก็จะแต่งตัวให้ดีขึ้น แต่ยืนยันว่า แต่งกายถูกต้องตามระเบียบ วันนี้ถ้าจะยึดแบบสากลนิยมจริงๆ การแต่งกายหลายคนคงไม่ผ่าน ขอให้เดินหน้าประชุมก่อน เรื่องระเบียบต่างๆ จะนำกลับไปพิจารณา ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น

‘วิโรจน์’ ออกโรงป้อง ‘รองอ๋อง’ หลังถูกตำหนิเรื่องการแต่งกาย ยกกรณี ‘ผู้นำสิงคโปร์’ เทียบ ซัด ‘พท.’ อย่าใช้เรื่องนี้หาซีนในสภาฯ

(25 ส.ค. 66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ‘Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ถึงกรณี สส.พรรคเพื่อไทย ตำหนิการแต่งกายของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม โดยสวมเสื้อคอจีนและใส่สูททับ พร้อมกับโพสต์ภาพของผู้นำสิงคโปร์ขณะที่อยู่ในสภาฯ โดยสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวไม่ผูกเน็กไท โดยนายวิโรจน์ ระบุว่า…

“การแต่งกายด้วยชุดสุภาพสากล สามารถสวมสูท โดยไม่จำเป็นต้องผูกเน็กไทก็ได้ครับ คือ สส.คนไหนจะผูก หรือไม่ผูก ก็ถือว่าเป็นดุลพินิจในการแต่งตัวของแต่ละคน

การใส่เสื้อเชิ้ต และสวมสูททับ ก็ถือว่าเพียงพอแล้วครับ

อย่างกรณีที่สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง และ สส.ที่สิงคโปร์ เขาก็ใส่เสื้อเชิ้ตเข้าประชุมสภาฯ ตามปกติของเมืองร้อนได้เลยนะครับ

ที่สิงคโปร์เขามุ่งเน้นที่เนื้อหาสาระในการทำงาน ไม่ได้คิดเล็กคิดน้อยกับเปลือกครับ

ผมจำได้ว่าในสภาฯ ชุดที่แล้ว ก็เคยมีการประท้วงในเรื่องนี้ไปแล้ว และพรรคที่ประท้วงเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐนะครับ

ผมเองก็คิดว่า มันน่าจะจบด้วยความเข้าใจไปแล้ว ถ้าคนที่ประท้วงในเรื่องนี้ เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคพลังประชารัฐ ผมก็ยังพอเข้าใจได้

ไม่นึกไม่ฝันว่าอยู่ดีๆ พรรคเพื่อไทย จะเอาเรื่องกระพี้แบบนี้มาประท้วงเอาซีนในสภาฯ อีก

ผมจึงถือโอกาสชี้แจงให้ทุกท่านทราบอีกครั้งก็แล้วกันนะครับ จะได้เคลียร์ๆ และการประท้วงด้วยเรื่องไร้สาระแบบนี้ จะได้หมดไปจากสภาไทยเสียที ไม่อยากให้เรื่องหยุมหยิมแบบนี้รกสภาฯ ครับ”

'พี่ดี้' โพสต์แรง "จะกวนตีนประเทศก็ได้" "แต่อย่าใช้เงินทองของชาวบ้านแบบนี้"

(19 ก.ย. 66) ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Nitipong Honark’ ระบุว่า…

ท่านประธานที่เคารพ…

(หรือหมายถึงรองประธานที่ทำหน้าที่ประธานก็ได้)
ด้วยความเคารพนะครับ…

(วลี ‘ด้วยความเคารพนะครับ’..คือโปรดเตรียมรับความเคารพหนัก ๆ )
ไม่มีอะไรที่เข้าใจได้เลยว่า ทำไมจะต้องไปดูงานอะไรแบบนี้…ที่สิงคโปร์…
คือน้องจะกวนตีนประเทศก็ได้…แต่อย่าใช้เงินทองของชาวบ้านแบบนี้…
ไม่ชอบนักการเมืองรุ่นเก่าที่ทำแบบนี้…ไม่ชอบข้าราชการสติเก่าที่ทำแบบนี้….

พี่ก็ไม่ชอบว่ะ….
ไม่อยากให้ราคาน้องเลย…แต่น้องเสือกมามีตำแหน่งบ้าบอนี่…
เอาเหอะ…พูดไปก็เท่านั้น….ด้วยความเคารพ…

'รองประธาน สทท.' เทียบทริปดูงานสิงค์โปร์ 'หมออ๋อง' กับคณะ สว. พบ!! ราคาต่างกันลิบ และไม่มีการนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจ

(19 ก.ย. 66) นายสุรวัช อัครวรมาศ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Surawat Akaraworamat’ ข้อความว่า…

ระเบียบดูงานที่ต้องทำความเข้าใจ เมื่อ 18 กย.ปีที่ผ่านมา ผมได้พาคณะของกรรมาธิการท่องเที่ยวของวุฒิสภา ไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ (ดูจริง) นำโดย ปธ.กมธ งบประมาณต่อคณะท่านละ สามหมื่นบาท รวมภาษี VAT ไม่ผิดครับ 30,000 บาท 2 คืน ดูงานไปวันอาทิตย์กลับคืนอังคาร ประมาณ 12 ท่าน #ท่าน สว.ไม่ได้นั่งชั้นธุรกิจ ขอให้ข้อมูลเพิ่มจากข่าวที่ต้องใช้เงินหนึ่งล้านสามแสนกว่า กับจำนวนคนที่ใกล้เคียงกัน ภาษี…กู ระเบียบในการนั่งเครื่องต้องใช้ การบินไทย เว้นแต่ สามารถพิสูจน์ได้ว่าสายการบินอื่นมีราคาถูกว่าการบินไทย 25% เท่ากับใช้ได้ครับ

‘หมอเดชา’ เผย ตัวเลขค่าใช้จ่าย ‘นายกฯ เศรษฐา-รองฯ อ๋อง’ ลั่น!! ไม่แปลกใจ ทำไม ‘ยุคลุงตู่’ 9 ปี ฐานะการเงินมั่นคงขึ้น

(20 ก.ย. 66) นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เจ้าของสูตรน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

คนไทยเพิ่งเลือกสมาชิก​สภา​ผู้แทน​ราษฎร​ (สส.)​ และจัดตั้งรัฐบาล​ชุดใหม่ได้ไม่ถึงเดือน ก็มีข่าวทั้งจากฝ่ายรัฐบาล​ (เศรษฐา)​ และฝ่ายค้าน (หมออ๋อง)​ เรื่องการใช้จ่ายที่ดูฟุ่มเฟือย

เมื่อนำไปเปรียบกับการใช้จ่ายในงานแบบเดียวกัน​ ของนายกฯ​ คนก่อน​ (ลุงตู่)​ ยิ่งเห็นชัด

ระยะเวลา​ 9​ ปี​ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี​ของลุงตู่​ ไม่มีข่าวเช่าเหมาลำ​ เครื่องบินเดินทาง และทางด้านรัฐสภา​ ก็ไม่มีข่าวประธาน​ฯ หรือรองประธานสภาฯ​ พาลูกพรรคเดินทางดูงาน

จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจาก​ 9​ ปี​ของยุคลุงตู่​ ประเทศไทย​มีฐานะการเงินการคลังมั่นคงขึ้น

ข้อมูลตัวเลขทางการ​ บ่งบอกฐานะของประเทศไทย​ที่รัฐบาล​ชุดใหม่รับไว้ มารอดูกันว่า​ เมื่อจบหน้าที่ของรัฐบาลเศรษฐาแล้ว​ ฐานะของประเทศ​จะเป็นอย่างไร…

‘รองอ๋อง’ รับ อยากนั่งตำแหน่งสานงานต่อ เพื่อประโยชน์ของ ปชช. โบ้ยถาม ‘ก้าวไกล’ ปมเคาะเลือก ‘ผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภาฯ’

(27 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความชัดเจนในตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยังไม่ได้นัดหมายกับตนเพื่อพูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เราแค่รับทราบว่ามีการประชุมเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ตน และต้องฟังทางพรรคก่อน เพราะตนยังเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกลอยู่ เมื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีมติอย่างไรก็ต้องมีการพูดคุยกัน

เมื่อถามว่า ทางพรรคมีมติที่จะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จะกระทบกับนายปดิพัทธ์ และต้องตัดสินใจอย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แน่นอน เพราะเราไม่ได้ตัดสินใจทุกอย่างตามอำเภอใจ ทุกอย่างตัดสินใจตามมติพรรค และข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ต้องหารือกันว่าทิศทางใดดีที่สุดกับประเทศ ไม่ใช่ดีที่สุดแค่ตนเอง

“ผมบอกว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตัวผมเอง แต่เป็นการตัดสินใจด้วยการสะท้อนเสียงประชาชนให้ได้มากที่สุด และมีผลประโยชน์ให้กับประเทศให้ได้มากที่สุด” นายปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีข่าวว่าพรรคก้าวไกลจะเก็บไว้ทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยจะขับนายปดิพัทธ์ ไปอยู่อีกพรรค นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนขอฟังจากปากหัวหน้าพรรคคนใหม่ก่อน เพราะตอนนี้เรารับข้อมูลจากคนอื่น อย่างไรก็ตามการตัดใจทั้งหมดไม่ได้มีการตัดสินใจด้วยความกดดัน หรือเป็นการตัดสินใจที่ไร้ทางเลือก แต่เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานว่าเราจะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่สัญญากับประชาชนไว้อย่างไร ซึ่งคงจะมีการพูดคุยกันในเร็วๆ นี้

เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวอยากสืบทอดงานของรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ต่อหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คิดว่างานหลายอย่างเสร็จไปแล้ว แต่อีกหลายอย่างต้องใช้เวลา โดยเฉพาะต้องทำหลังจากการส่งมอบอาคารรัฐสภาเสร็จ ตนคิดว่าต้องมีงานระยะยาวที่ตนฝันไว้ว่าอยากเห็น เพื่อสามารถขับเคลื่อนให้รัฐสภาโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นของประชาชนได้ แต่ถามว่างานระยะสั้นบรรลุผลไปแล้วหรือไม่ ก็พอมี

“ส่วนตัวการได้ทำตำแหน่งนี้ เราได้เห็นพัฒนาการ ได้เห็นงานที่เราสามารถทำได้ และดีกับประเทศด้วย ซึ่งการที่ตนบอกว่า จะทำรัฐสภาให้โปร่งใสคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ตน แต่เป็นประเทศได้ประโยชน์ ถามว่าอยากอยู่ในตำแหน่งต่อหรือไม่ อยาก แต่จะทำได้หรือไม่ได้อยู่ที่ข้อจำกัดต่างๆ” นายปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า แสดงว่ายังมีเวลาตัดสินใจจนถึงสมัยประชุมสภาครั้งหน้าใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไทม์ไลน์ทั้งหมดอยู่ที่พรรคก้าวไกลอย่างไรก็ตาม ตนต้องคุยเรื่องนี้กับพรรคจริงๆ เพราะหากตนไม่ยอมตัดสินใจ ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่สามารถแต่งตั้งได้ ซึ่งเราต้องวิเคราะห์ผลดีและผลเสียให้รอบคอบ ซึ่งต้องวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกัน เมื่อถามว่า มองความกดดันจากวิปรัฐบาลไว้อย่างไรว่าต้องเลือกตำแหน่งเดียว นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีแรงกดดันมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปดิพัทธ์ได้สวมเสื้อผ้าไหมไทยสีม่วง ลายดอกปีบ จากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งก่อนหน้านี้นายปดิพัทธ์เคยถูกตำหนิเรื่องการแต่งกายไม่เรียบร้อยมาแล้ว

‘แก้วสรร’ ชี้ ‘ก้าวไกล’ ใช้สิทธิโดยไม่ชอบ กรณีมติขับ ‘หมออ๋อง’ ยัน!! ขัดข้อบังคับพรรค แนะ 2 ช่องทางส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย

(30 ก.ย. 66) อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ก้าวถอยหลัง...ของก้าวไกล’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ถาม ทำไม หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงยังไม่ได้เป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’
ตอบ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ประธานวันนอร์ก็นำชื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูล ให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งได้แล้ว เพราะบัญญัติระบุแต่เพียงว่า ‘ฝ่ายค้าน’ คือพรรคที่ไม่มีใครเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเท่านั้น แต่มารัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเติมเงื่อนไขจุกจิกขึ้นมาอีก

ถาม เติมอะไรเข้าไปอีกครับ
ตอบ เติมมาว่า ‘พรรคฝ่ายค้าน’ นอกจากจะต้องไม่มีใครไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องไม่มีใครไปเป็น ประธานสภาหรือรองประธานสภาด้วย พอบัญญัติอย่างนี้ พรรคก้าวไกล ก็เลยยังไม่เป็น ‘ฝ่ายค้าน’ เพราะมี สส.ในพรรค คือคุณปดิพัทธ์ หรือ ‘รองอ๋อง’ เป็นรองประธานสภาอยู่

วันนี้ก็เลยมีแต่ประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่เป็น ‘ฝ่ายค้าน’ และให้หัวหน้า ปชป.ขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งก็ไม่สมควรเพราะจำนวน สส.น้อยเกินไป

ถาม ถ้าพรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ต้องทำอย่างไร?
ตอบ ก็ต้องทำทางใดทางหนึ่ง คือให้ ‘รองอ๋อง’ ลาออกจากรองประธานสภา หรือให้รองอ๋องออกจากพรรคก้าวไกลไปซะ จากนั้นประธานวันนอร์ถึงจะนำชื่อหัวหน้าก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูลเป็น ผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งวันนี้เขาก็เลือกแล้วว่า ให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรคก้าวไกล

ถาม แล้วทำไมเขาใช้วิธีให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรค ด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคกับ สส. ครับ ให้ รองอ๋องยื่นใบลาออกจากพรรคเลยไม่ได้หรือ?
ตอบ ถ้าใช้วิธียื่นใบลาออก รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ‘รองอ๋อง’ ขาดสมาชิกภาพ สส.ทันที เพราะเรากำหนดให้ สส.ต้องสังกัดพรรค พรรคเป็นผู้เสนอชื่อให้ประชาชนเลือกมาแต่แรก ถ้าได้เป็น สส.แล้ว จะลาออกไม่ได้ เพราะนี่เป็นพันธะที่มีต่อประชาชน แต่ถ้าเป็นมติพรรคให้ออกจากพรรค เช่นนี้ ‘รองอ๋อง’ ก็ไม่ขาดจาก สส. แต่ต้องไปหาพรรคใหม่มาสังกัด

ถ้าทำได้อย่างนี้ ‘รองอ๋อง’ ก็ได้ทำหน้าที่ รองประธานสภาต่อไป ข้างพรรคก้าวไกลก็ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไป

ถาม แล้วอาจารย์ไปว่าก้าวไกล ‘ก้าวถอยหลัง’ ทำไม?
ตอบ มันเป็น ‘การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต’ ครับ การมีมติพรรคให้ สส.ออกจากพรรคนั้น ต้องเป็นเรื่อง สส.ทำผิดร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรค จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ ข้อบังคับพรรคก้าวไกลก็เขียนข้อนี้ไว้ชัดมาก จะมามีมติให้ออกกันดื้อๆ ง่ายๆ เพียงเพื่อเปิดทางให้ พรรคได้ตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นไม่ได้

ทำอย่างนี้ ‘รองอ๋อง’ เองก็ยังเป็นคนก้าวไกลเหมือนเดิม เพียงแต่ใส่เสื้อพรรคอื่นทับลงไปบนเสื้อก้าวไกล อีกตัวหนึ่งเท่านั้นเอง

ถาม ก้าวไกลเดินมาทางนี้ แล้วมันทำลายหลักกฎหมายที่ตรงไหน?
ตอบ หลักรัฐธรรมนูญให้ สส.สังกัดพรรคการเมือง ก็กลายเป็นเรื่องตลก หลักห้ามเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนสองพรรค ก็เป็นแค่กระดาษ หลักนิติธรรมให้ใช้สิทธิโดยสุจริตก็เลื่อนเปื้อนไปอีก ทั้งหมดกลายเป็นหลักที่เขียนไว้ให้อ่านเล่นบนประตูส้วม ระหว่างขับถ่ายเท่านั้น

ถาม ‘รองอ๋อง’ เขาว่า เขาต้องการปฏิรูปสำนักงานสภา ตามพันธะกิจที่สัญญาไว้ นี่ครับ จะให้เขาลาออกได้อย่างไร?
ตอบ ชาวบ้านเขาเลือกให้คุณเป็น สส.ก้าวไกล นั่นคือพันธะที่สำคัญที่สุด ทั้งกรรมการบริหารและ สส. จะต้องยึดตรงนี้ จะเอากฎหมายมาเล่นลวงเป็นลิเกอย่างนี้ไม่ได้

ถาม ถ้าเล่นลวงโลกกันอย่างนี้ ใครจะจัดการให้ถูกต้องได้บ้าง?
ตอบ กลุ่มแรกคือ สส.ในสภาจำนวน 50 คน ยื่นเรื่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลยว่า ‘สส.อ๋อง’ ขาดสมาชิกภาพหรือไม่ เพราะพฤติการณ์จริงที่ทำไปคือการออกจากพรรคด้วยการลาออก ไม่ใช่ด้วยมติขับออกจากพรรคตามข้อบังคับ

ถาม กลุ่มสองคือใคร ครับ?
ตอบ คือ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายใต้มติเห็นชอบของ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เองเช่นกันว่า สส.อ๋องได้ลาออกจนสิ้นสมาชิกภาพแล้วหรือไม่

ถาม แล้วปล่อยให้ กราบทูลเสนอหัวหน้าก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปก่อนหรือ?
ตอบ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ด้วยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจปฏิเสธไม่รับรู้รับรองมติก้าวไกล ที่ให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรคโดยไม่มีเหตุขัดแย้งใดๆ ได้ เพราะตรงนี้ขัดข้อบังคับชัดแจ้ง แล้วก็รายงานประธานวันนอร์ให้ทราบ ทำแค่นี้การกราบบังคมทูลเพื่อแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่เกิดขึ้น ประโยชน์จากการทำผิดก็ไม่บรรลุ ส่วนในที่สุด สส.อ๋องจะสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ ก็รอศาลตัดสินอีกที

ถาม เรื่องนี้แท้ที่จริงมันผิดกันทั้งพรรค ทั้งคณะกรรมการบริหาร และ สส.เลยนะครับ
ตอบ น่าจะทำความชัดเจนด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องสมาชิกภาพ สส.อ๋อง ก่อน ถ้าเห็นเป็นความผิดชัดเจนแล้วก็ค่อยว่ากันอีกทีดีกว่าครับ ราตรียังอีกยาวนานนัก

ขณะเดียวกัน ‘รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร’ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า…

“ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่า พรรคก้าวไกลไม่กล้าทำ นั่นคือลงมติขับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ ‘หมออ๋อง’ ออกจากพรรคเพื่อไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎรและตำแหน่งรองประธานสภาฯ มาจากพรรคเดียวกัน

ความจริงนายปดิพัทธ์มีทางเลือกอีก 2 ทาง หนึ่งคือยอมสละโดยลาออกจากตำแหน่งประธานสภาเสียเอง อีกทางเลือกหนึ่งคือลาออกจากพรรคก้าวไกล แต่ทั้งสองทางเลือกนี้ ไม่เป็นที่ปรารถนาของหมออ๋องเพราะคงไม่ต้องการสละตำแหน่งรองประธานสภาฯ และพรรคก้าวไกลก็ไม่ต้องการเสียตำแหน่งรองประธานสภาฯไปเช่นกัน และการที่หมออ๋องลาออกจากพรรคเองก็ไม่สามารถจะไปเป็นสมาชิกพรรคอื่นได้

ดังนั้น เพื่อให้สมประโยชน์ทั้งสำหรับตัวหมออ๋องและพรรคก้าวไกล จึงมีทางเดียวคือต้องขับออกจากพรรคก้าวไกลเสีย วิธีนี้รัฐธรรมนูญเปิดให้ไปสมัครเข้าพรรคใหม่ได้ และก็จะเป็นพรรคอื่นไปไม่ได้นอกจากพรรคเป็นธรรม ซึ่งจะอยู่พรรคก้าวไกลหรือพรรคเป็นธรรมในทางปฏิบัติก็ไม่แตกต่างกัน

พรรคก้าวไกลก็ยังคงเป็นพรรคก้าวไกล เห็นชัดๆ ว่าใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อให้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และตำแหน่งรองประธานสภาฯ เป็นของพรรคก้าวไกลทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ผู้นำฝ่ายค้านมีอิทธิพลต่อประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังไม่วายออกแถลงการณ์แบบหล่อๆ ความว่า…

นายปดิพัทธ์ต้องการทำหน้าที่รองประธานสภาฯ ต่อไป เพื่อผลักดันให้สภามีประสิทธิภาพโปร่งใส และยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ที่ประชุมร่วมเห็นว่า ภารกิจของนายปดิพัทธ์จะนำไปสู่การยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่ยังคงยืนยันการเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงการได้เป็น ผู้นำฝ่ายค้านของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากนายปดิพัทธ์ยังคงดำรงสถานะเดิมในฐานะรองประธานสภา จากพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องให้นายปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์

อยากได้ทั้ง 2 ตำแหน่งให้เป็นของพรรคก้าวไกล ถึงกับกล้าทำในสิ่งที่ใครๆบอกว่าเป็นการเมืองน้ำเน่า นี่ถ้าเป็นพรรคอื่นที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทำแบบเดียวกัน พรรคก้าวไกลคงดาหน้าออกมาประณามกันแบบไม่ยั้ง แต่นี่เป็นพรรคก้าวไกลทำเอง จึงกลายเป็นการทำเพื่อยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และเพื่อจะได้เป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ในขณะเดียวกัน

ความจริงหากฝากให้นายปดิพัทธ์ให้อยู่พรรคอื่นๆเช่นพรรคภูมิใจไทย นายปดิพัทธ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภา และพรรคก้าวไกลก็ยังเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ได้ไม่ใช่หรือ ทำไมต้องให้ไปอยู่พรรคเป็นธรรม

พรรคก้าวไกลก็ยังคงเป็นพรรคก้าวไกลเช่นเดิม กล่าวคือการพูดมักสวนทางกับการกระทำเสมอ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top