Wednesday, 9 July 2025
รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ

‘ธีระชัย’ ฟันธง 2 แคนดิเดตชิงผู้ว่าแบงก์ชาติยังไม่เหมาะ ชี้ ‘วิทัย’ ไร้ประสบการณ์ศก. มหภาค –‘ดร.รุ่ง’ ติดกรอบ ธปท.

(9 ก.ค. 68) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึง แคนดิเดตชิงผู้ว่าแบงก์ชาติ ว่า มีสื่อต่างประเทศถามความเห็นผมเกี่ยวกับ 2 คนสุดท้ายที่เข้าชิงตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ คือ ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ปัจจุบันรองผู้ว่าการ ธปท. กับนายวิทัย รัตนากร ปัจจุบันผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผมให้ความเห็นไปแต่ปรากฏว่าไม่นำไปเผยแพร่ ผมจึงเห็นสมควรเผยแพร่ในที่นี้

ผมชื่นชมผลงานของทั้งสองคน แต่กังวลว่าทั้งสองคนยังน่าจะยังไม่มีความเหมาะสมในบริบทของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะพาให้เศรษฐกิจไทยเผชิญความยากลำบากมากขึ้น

นายวิทัยจบการศึกษาภายในประเทศ และปริญญาโทจาก Drexel University ซึ่ง Wall Street Journal จัดคุณภาพเป็นอันดับ 54 ของมหาวิทยาลัยสหรัฐ ส่วน Forbes จัดเป็นอันดับ 146

นายวิทัยมีประสบการณ์สูงในการบริหารสถาบันการเงินภาครัฐ และได้ผ่านการประสานงานกับรัฐมนตรีคลังและภาคการเมืองมามากมาย 

แต่ขาดประสบการณ์ด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการมองภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดความกังวลต่อนักวิเคราะห์สากลในแง่ขาดความเป็นอิสระจากอิทธิพลการเมืองได้ด้วย

ดร.รุ่งจบการศึกษาจาก Harvard และ MIT ซึ่งทั้งสองแห่งคุณภาพอยู่ระดับ Top ten ของสหรัฐ จึงมีความเด่นในด้านความรู้ที่จะแสดงในทุกเวทีโลก 

ดร.รุ่งมีประสบการณ์สูงในการทำงานที่ ธปท. ด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการมองภาพรวมของประเทศ แต่ก็คงจะเดินหน้าตามแนวทางที่ ธปท. กระทำมาตลอด 

ซึ่งผมเกรงว่าอาจจะไม่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดในโจทย์ยากที่รออยู่ข้างหน้า
ผมมีความเห็นว่า ธปท. ดำเนินนโยบายสถาบันการเงินที่มีการแข่งขันน้อยเกินไป เป็นเทรดิชันมานาน 
ทำให้ขาดแรงกดดันการกระจายสินเชื่อลงไปสู่ SME และขาดแรงกดดันที่จะบีบส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับกับดอกเบี้ยจ่ายให้แคบลง

ในด้านการดำเนินนโยบายการเงิน ผมก็เห็นว่า ธปท. ทำนโยบายตึงเกินไปอันเป็นการตีกรอบแคบให้เศรษฐกิจไทย 
ปัญหาคือ ถึงแม้ ธปท. ยึดหลักนโยบายการเงินที่กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่ใช้เครื่องมือบริหารโปร่งใสเพื่อให้เข้าเป้าหมายดังกล่าวเพียงเครื่องมือเดียวคืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมิได้ถูกบังคับให้ต้องแถลงเป้าหมายปริมาณเงินที่สมควรเพิ่มในแต่ละปี 

รวมทั้งมีการบริหารค่าเงินบาทที่แข็งเกินคู่แข่งในหลายภูมิภาค
ผมอ้างอิงข้อมูลของ ส.สตีฟ แฮงคี้ ซึ่งสอนอยู่ที่ ม.จอห์น ฮอบกิ้นส์ ในสหรัฐ ซึ่งคำนวณว่า ธปท. เพิ่มปริมาณเงินในอัตราต่ำเพียง 2.86% ต่อปีเท่านั้น จึงทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำไป และอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง จึงขยับขึ้นแทบไม่ถึงกรอบขั้นต่ำ คือ 1% ต่อปี 

ทั้งนี้ กรณี ธปท. ต้องการจะให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากระดับต่ำมากในปัจจุบัน ให้ขึ้นไปจนถึง 1% ต่อปี นั้น ธปท. จะต้องเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบให้สูงกว่า 2.86% ต่อปีอีกมาก โดยคำนวณว่า จะต้องเพิ่มปริมาณเงินมากถึง 5.44% ต่อปี

ส่วนกรณี ธปท. ต้องการดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปแตะเพดานด้านสูงในกรอบ คือ 3% ต่อปี ธปท. จะต้องเพิ่มปริมาณเงินมากถึง 7.44% ต่อปี 

เป็นอันว่า อัตราเพิ่มปริมาณเงินของ ธปท. ที่ 2.86% ต่อปี นั้น ต่ำเกินไปอย่างหายห่วง
การอัดฉีดเงินเข้าระบบต่ำเช่นนี้ ถือได้ว่าช่วยให้ ธปท. ทำงานง่าย เมื่อกดอัตราเงินเฟ้อเอาไว้ต่ำ ก็คือระบบการเงินมีเสถียรภาพสูง 

แต่เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ประชาชนย่อมได้ประโยชน์จากการทำงานของ ธปท. ไม่เต็มที่
ในด้านนโยบายสถาบันการเงิน ผมเคยเรียกร้องหลายครั้งทั้งต่อกระทรวงการคลัง และ ธปท. ให้กระตุ้นให้ระบบแบงค์แข่งขันกันมากขึ้น เพื่อกดดันให้แบงค์ต้องหันไปสนใจลูกค้ารายย่อย SME 
แต่มีการดำเนินการเรื่องนี้น้อยมาก

ในด้านนโยบายการเงิน ล่าสุด ผมมีคำแนะนำ ให้ รมว.คลัง กำหนดให้ ธปท. ใช้อัตราเพิ่มประมาณเงินเป็นเครื่องมือเสริมในการบริหารนโยบายการเงิน คือใช้ควบคู่ไปกับดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง 

โดยให้ ธปท. กำหนดอัตราเพิ่มปริมาณเงิน ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปถึงระดับกึ่งกลางของกรอบ 1-3 % ต่อปี เสนอต่อ รมว.คลัง แจ้งต่อ ครม. เพื่อรับทราบ 

และกำหนดให้ ธปท. ต้องรายงานอัตราเพิ่มปริมาณเงินที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละเดือน เปรียบเทียบกับเป้าหมายดังกล่าว รวมทั้งเปิดเผยตัวเลขต่อสาธารณะ

ด้วยวิธีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะเคลื่อนเข้าสู่ระดับกึ่งกลางของกรอบ 1-3 % ต่อปี ได้อย่างชัดเจน ปริมาณเงินจะมีเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจ 

และเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงินเป็นสิ่งที่ ธปท. สามารถควบคุมได้ 100% จึงจะเป็นวิธีการประสานงานระหว่าง ธปท. กับกระทรวงการคลังที่จะเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง 

แทนที่จะเป็นดังเช่นปัจจุบัน ที่ ธปท. รายงานต่อ รมว.คลัง เพียงว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ได้ขึ้นไปถึงระดับต่ำสุด 1% ต่อปี โดย ธปท. ไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนแปลงการบริหารค่าเงินบาท จากปัจจุบันที่ ธปท. เป็นผู้ดูแลแต่เพียงองค์กรเดียว ให้เปลี่ยนเป็น ธปท. พิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง 

อันเป็นแนวทางที่ดำเนินการอยู่ในหลายประเทศ 
เพราะสำหรับ ธปท. นั้น การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น จะทำงานได้ง่าย เพราะจะมีผลดีในแง่กดให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลง เสถียรภาพดีขึ้น 

แต่ในเวลาเดียวกัน จะไม่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสภาวะปัญหาสงครามเศรษฐกิจการค้าที่กำลังเกิดขึ้น

ผมย้ำอีกครั้งว่า แคนดิเดททั้งสองคนเป็นบุคลากรคุณภาพคับแก้วชั้นนำของประเทศ แต่ยังมีข้อกังวลว่า จะไม่ตอบโจทย์ยากที่รออยู่ข้างหน้า

โจทย์ข้างหน้า ธปท. จะต้องไม่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาประจำวัน แต่จะต้องลงไปคลุกฝุ่น จะต้องช่วยกันปลุกปล้ำ เอาประเทศชาติให้รอด 

ถึงแม้จะทำให้ผู้ว่าฯ ขาดโอกาสได้รางวัลใหญ่โต ด้านรักษาเสถียรภาพการเงิน แต่ประชาชนที่ปากท้องอิ่มขึ้น จะสรรเสริญ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top