Tuesday, 22 April 2025
รองประธานสภา

‘วิษณุ’ ชี้!! หาก ‘ก้าวไกล’ จะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ‘หมออ๋อง’ ต้องไขก๊อกรองประธานสภา

(8 ส.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุห้ามไม่ให้ สส.ในพรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งดังกล่าว ว่า แม้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลจะถูกหยุดปฎิบัติหน้าที่ แต่ยังไม่ถือว่าพรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน จึงยังแต่งตั้งไม่ได้ ตอนนี้ต้องรอให้รู้ก่อนว่า พรรคไหนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลบ้าง เนื่องจากผู้นำฝ่ายค้านต้องมาจากพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาล และต้องเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในฝ่ายค้าน

เมื่อถามถึงกรณีของนายปฏิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ที่เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ เนื่องจากแย้งกับรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าจะต้องเป็นผู้นำฝ่ายค้านก็ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ

เมื่อถามว่า หากนายพิธาต้องหลุดจาก สส. พรรคก้าวไกลต้องเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่าใช่

เมื่อถามว่า การที่ยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องปีงบประมาณที่จะล่าช้าออกไป นายวิษณุ กล่าวว่า ก็น่ากังวล เพราะปกติในช่วงนี้งบประมาณปี 67 จะเข้าสภาฯ จนกระทั่งจวนจะพิจารณาเสร็จอยู่แล้ว แต่การที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ทำให้ไม่มีคนมาทำงบประมาณ และกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา สมมุติได้รัฐบาลใน ก.ย. กว่าจะทำงบประมาณได้ต้องแถลงนโยบายให้เสร็จก่อน อาจจะอยู่ในช่วงปลายก.ย.หรือต้น ต.ค. แล้วต้องใช้เวลาอีก 1 เดือนในการทำงบประมาณ ทำให้งบประมาณ ปี 67 เข้าสภาประมาณ พ.ย. - ธ.ค. แล้วต้องใช้เวลาอยู่ในสภาอีก 3 เดือน จังหวะนั้นจะพอดีกับการทำงบประมาณในปี 68 ทำให้งบประมาณสองปีซ้อนกัน เมื่อถามว่า มีการประเมินหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ประเมิน ต้องให้ภาคเอกชนเขาประเมินแล้วกัน

‘รองอ๋อง’ รับ อยากนั่งตำแหน่งสานงานต่อ เพื่อประโยชน์ของ ปชช. โบ้ยถาม ‘ก้าวไกล’ ปมเคาะเลือก ‘ผู้นำฝ่ายค้าน-รองประธานสภาฯ’

(27 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีความชัดเจนในตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ว่า ขณะนี้พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยังไม่ได้นัดหมายกับตนเพื่อพูดคุยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เราแค่รับทราบว่ามีการประชุมเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ตน และต้องฟังทางพรรคก่อน เพราะตนยังเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกลอยู่ เมื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่มีมติอย่างไรก็ต้องมีการพูดคุยกัน

เมื่อถามว่า ทางพรรคมีมติที่จะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จะกระทบกับนายปดิพัทธ์ และต้องตัดสินใจอย่างไร นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แน่นอน เพราะเราไม่ได้ตัดสินใจทุกอย่างตามอำเภอใจ ทุกอย่างตัดสินใจตามมติพรรค และข้อจำกัดทางรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น ต้องหารือกันว่าทิศทางใดดีที่สุดกับประเทศ ไม่ใช่ดีที่สุดแค่ตนเอง

“ผมบอกว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตัวผมเอง แต่เป็นการตัดสินใจด้วยการสะท้อนเสียงประชาชนให้ได้มากที่สุด และมีผลประโยชน์ให้กับประเทศให้ได้มากที่สุด” นายปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีข่าวว่าพรรคก้าวไกลจะเก็บไว้ทั้ง 2 ตำแหน่ง โดยจะขับนายปดิพัทธ์ ไปอยู่อีกพรรค นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนขอฟังจากปากหัวหน้าพรรคคนใหม่ก่อน เพราะตอนนี้เรารับข้อมูลจากคนอื่น อย่างไรก็ตามการตัดใจทั้งหมดไม่ได้มีการตัดสินใจด้วยความกดดัน หรือเป็นการตัดสินใจที่ไร้ทางเลือก แต่เป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานว่าเราจะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่สัญญากับประชาชนไว้อย่างไร ซึ่งคงจะมีการพูดคุยกันในเร็วๆ นี้

เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวอยากสืบทอดงานของรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ต่อหรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า คิดว่างานหลายอย่างเสร็จไปแล้ว แต่อีกหลายอย่างต้องใช้เวลา โดยเฉพาะต้องทำหลังจากการส่งมอบอาคารรัฐสภาเสร็จ ตนคิดว่าต้องมีงานระยะยาวที่ตนฝันไว้ว่าอยากเห็น เพื่อสามารถขับเคลื่อนให้รัฐสภาโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นของประชาชนได้ แต่ถามว่างานระยะสั้นบรรลุผลไปแล้วหรือไม่ ก็พอมี

“ส่วนตัวการได้ทำตำแหน่งนี้ เราได้เห็นพัฒนาการ ได้เห็นงานที่เราสามารถทำได้ และดีกับประเทศด้วย ซึ่งการที่ตนบอกว่า จะทำรัฐสภาให้โปร่งใสคนที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่ตน แต่เป็นประเทศได้ประโยชน์ ถามว่าอยากอยู่ในตำแหน่งต่อหรือไม่ อยาก แต่จะทำได้หรือไม่ได้อยู่ที่ข้อจำกัดต่างๆ” นายปดิพัทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า แสดงว่ายังมีเวลาตัดสินใจจนถึงสมัยประชุมสภาครั้งหน้าใช่หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ไทม์ไลน์ทั้งหมดอยู่ที่พรรคก้าวไกลอย่างไรก็ตาม ตนต้องคุยเรื่องนี้กับพรรคจริงๆ เพราะหากตนไม่ยอมตัดสินใจ ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่สามารถแต่งตั้งได้ ซึ่งเราต้องวิเคราะห์ผลดีและผลเสียให้รอบคอบ ซึ่งต้องวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกัน เมื่อถามว่า มองความกดดันจากวิปรัฐบาลไว้อย่างไรว่าต้องเลือกตำแหน่งเดียว นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังไม่มีแรงกดดันมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปดิพัทธ์ได้สวมเสื้อผ้าไหมไทยสีม่วง ลายดอกปีบ จากจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งก่อนหน้านี้นายปดิพัทธ์เคยถูกตำหนิเรื่องการแต่งกายไม่เรียบร้อยมาแล้ว

‘แก้วสรร’ ชี้ ‘ก้าวไกล’ ใช้สิทธิโดยไม่ชอบ กรณีมติขับ ‘หมออ๋อง’ ยัน!! ขัดข้อบังคับพรรค แนะ 2 ช่องทางส่งเรื่องให้ศาล รธน.วินิจฉัย

(30 ก.ย. 66) อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เผยแพร่บทความเรื่อง ‘ก้าวถอยหลัง...ของก้าวไกล’ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ถาม ทำไม หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงยังไม่ได้เป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’
ตอบ ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ประธานวันนอร์ก็นำชื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูล ให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งได้แล้ว เพราะบัญญัติระบุแต่เพียงว่า ‘ฝ่ายค้าน’ คือพรรคที่ไม่มีใครเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเท่านั้น แต่มารัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเติมเงื่อนไขจุกจิกขึ้นมาอีก

ถาม เติมอะไรเข้าไปอีกครับ
ตอบ เติมมาว่า ‘พรรคฝ่ายค้าน’ นอกจากจะต้องไม่มีใครไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องไม่มีใครไปเป็น ประธานสภาหรือรองประธานสภาด้วย พอบัญญัติอย่างนี้ พรรคก้าวไกล ก็เลยยังไม่เป็น ‘ฝ่ายค้าน’ เพราะมี สส.ในพรรค คือคุณปดิพัทธ์ หรือ ‘รองอ๋อง’ เป็นรองประธานสภาอยู่

วันนี้ก็เลยมีแต่ประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่เป็น ‘ฝ่ายค้าน’ และให้หัวหน้า ปชป.ขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งก็ไม่สมควรเพราะจำนวน สส.น้อยเกินไป

ถาม ถ้าพรรคก้าวไกลอยากได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ต้องทำอย่างไร?
ตอบ ก็ต้องทำทางใดทางหนึ่ง คือให้ ‘รองอ๋อง’ ลาออกจากรองประธานสภา หรือให้รองอ๋องออกจากพรรคก้าวไกลไปซะ จากนั้นประธานวันนอร์ถึงจะนำชื่อหัวหน้าก้าวไกลขึ้นกราบบังคมทูลเป็น ผู้นำฝ่ายค้านได้ ซึ่งวันนี้เขาก็เลือกแล้วว่า ให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรคก้าวไกล

ถาม แล้วทำไมเขาใช้วิธีให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรค ด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคกับ สส. ครับ ให้ รองอ๋องยื่นใบลาออกจากพรรคเลยไม่ได้หรือ?
ตอบ ถ้าใช้วิธียื่นใบลาออก รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ‘รองอ๋อง’ ขาดสมาชิกภาพ สส.ทันที เพราะเรากำหนดให้ สส.ต้องสังกัดพรรค พรรคเป็นผู้เสนอชื่อให้ประชาชนเลือกมาแต่แรก ถ้าได้เป็น สส.แล้ว จะลาออกไม่ได้ เพราะนี่เป็นพันธะที่มีต่อประชาชน แต่ถ้าเป็นมติพรรคให้ออกจากพรรค เช่นนี้ ‘รองอ๋อง’ ก็ไม่ขาดจาก สส. แต่ต้องไปหาพรรคใหม่มาสังกัด

ถ้าทำได้อย่างนี้ ‘รองอ๋อง’ ก็ได้ทำหน้าที่ รองประธานสภาต่อไป ข้างพรรคก้าวไกลก็ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไป

ถาม แล้วอาจารย์ไปว่าก้าวไกล ‘ก้าวถอยหลัง’ ทำไม?
ตอบ มันเป็น ‘การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต’ ครับ การมีมติพรรคให้ สส.ออกจากพรรคนั้น ต้องเป็นเรื่อง สส.ทำผิดร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรค จนอยู่ด้วยกันไม่ได้ ข้อบังคับพรรคก้าวไกลก็เขียนข้อนี้ไว้ชัดมาก จะมามีมติให้ออกกันดื้อๆ ง่ายๆ เพียงเพื่อเปิดทางให้ พรรคได้ตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งนั้นไม่ได้

ทำอย่างนี้ ‘รองอ๋อง’ เองก็ยังเป็นคนก้าวไกลเหมือนเดิม เพียงแต่ใส่เสื้อพรรคอื่นทับลงไปบนเสื้อก้าวไกล อีกตัวหนึ่งเท่านั้นเอง

ถาม ก้าวไกลเดินมาทางนี้ แล้วมันทำลายหลักกฎหมายที่ตรงไหน?
ตอบ หลักรัฐธรรมนูญให้ สส.สังกัดพรรคการเมือง ก็กลายเป็นเรื่องตลก หลักห้ามเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนสองพรรค ก็เป็นแค่กระดาษ หลักนิติธรรมให้ใช้สิทธิโดยสุจริตก็เลื่อนเปื้อนไปอีก ทั้งหมดกลายเป็นหลักที่เขียนไว้ให้อ่านเล่นบนประตูส้วม ระหว่างขับถ่ายเท่านั้น

ถาม ‘รองอ๋อง’ เขาว่า เขาต้องการปฏิรูปสำนักงานสภา ตามพันธะกิจที่สัญญาไว้ นี่ครับ จะให้เขาลาออกได้อย่างไร?
ตอบ ชาวบ้านเขาเลือกให้คุณเป็น สส.ก้าวไกล นั่นคือพันธะที่สำคัญที่สุด ทั้งกรรมการบริหารและ สส. จะต้องยึดตรงนี้ จะเอากฎหมายมาเล่นลวงเป็นลิเกอย่างนี้ไม่ได้

ถาม ถ้าเล่นลวงโลกกันอย่างนี้ ใครจะจัดการให้ถูกต้องได้บ้าง?
ตอบ กลุ่มแรกคือ สส.ในสภาจำนวน 50 คน ยื่นเรื่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลยว่า ‘สส.อ๋อง’ ขาดสมาชิกภาพหรือไม่ เพราะพฤติการณ์จริงที่ทำไปคือการออกจากพรรคด้วยการลาออก ไม่ใช่ด้วยมติขับออกจากพรรคตามข้อบังคับ

ถาม กลุ่มสองคือใคร ครับ?
ตอบ คือ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ภายใต้มติเห็นชอบของ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เองเช่นกันว่า สส.อ๋องได้ลาออกจนสิ้นสมาชิกภาพแล้วหรือไม่

ถาม แล้วปล่อยให้ กราบทูลเสนอหัวหน้าก้าวไกลเป็นผู้นำฝ่ายค้านไปก่อนหรือ?
ตอบ เลขา กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ด้วยความเห็นชอบของ กกต. มีอำนาจปฏิเสธไม่รับรู้รับรองมติก้าวไกล ที่ให้ ‘รองอ๋อง’ ออกจากพรรคโดยไม่มีเหตุขัดแย้งใดๆ ได้ เพราะตรงนี้ขัดข้อบังคับชัดแจ้ง แล้วก็รายงานประธานวันนอร์ให้ทราบ ทำแค่นี้การกราบบังคมทูลเพื่อแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านก็ไม่เกิดขึ้น ประโยชน์จากการทำผิดก็ไม่บรรลุ ส่วนในที่สุด สส.อ๋องจะสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ ก็รอศาลตัดสินอีกที

ถาม เรื่องนี้แท้ที่จริงมันผิดกันทั้งพรรค ทั้งคณะกรรมการบริหาร และ สส.เลยนะครับ
ตอบ น่าจะทำความชัดเจนด้วยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องสมาชิกภาพ สส.อ๋อง ก่อน ถ้าเห็นเป็นความผิดชัดเจนแล้วก็ค่อยว่ากันอีกทีดีกว่าครับ ราตรียังอีกยาวนานนัก

ขณะเดียวกัน ‘รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร’ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า…

“ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่า พรรคก้าวไกลไม่กล้าทำ นั่นคือลงมติขับ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ ‘หมออ๋อง’ ออกจากพรรคเพื่อไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลดำรงตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎรและตำแหน่งรองประธานสภาฯ มาจากพรรคเดียวกัน

ความจริงนายปดิพัทธ์มีทางเลือกอีก 2 ทาง หนึ่งคือยอมสละโดยลาออกจากตำแหน่งประธานสภาเสียเอง อีกทางเลือกหนึ่งคือลาออกจากพรรคก้าวไกล แต่ทั้งสองทางเลือกนี้ ไม่เป็นที่ปรารถนาของหมออ๋องเพราะคงไม่ต้องการสละตำแหน่งรองประธานสภาฯ และพรรคก้าวไกลก็ไม่ต้องการเสียตำแหน่งรองประธานสภาฯไปเช่นกัน และการที่หมออ๋องลาออกจากพรรคเองก็ไม่สามารถจะไปเป็นสมาชิกพรรคอื่นได้

ดังนั้น เพื่อให้สมประโยชน์ทั้งสำหรับตัวหมออ๋องและพรรคก้าวไกล จึงมีทางเดียวคือต้องขับออกจากพรรคก้าวไกลเสีย วิธีนี้รัฐธรรมนูญเปิดให้ไปสมัครเข้าพรรคใหม่ได้ และก็จะเป็นพรรคอื่นไปไม่ได้นอกจากพรรคเป็นธรรม ซึ่งจะอยู่พรรคก้าวไกลหรือพรรคเป็นธรรมในทางปฏิบัติก็ไม่แตกต่างกัน

พรรคก้าวไกลก็ยังคงเป็นพรรคก้าวไกล เห็นชัดๆ ว่าใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อให้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และตำแหน่งรองประธานสภาฯ เป็นของพรรคก้าวไกลทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้ผู้นำฝ่ายค้านมีอิทธิพลต่อประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังไม่วายออกแถลงการณ์แบบหล่อๆ ความว่า…

นายปดิพัทธ์ต้องการทำหน้าที่รองประธานสภาฯ ต่อไป เพื่อผลักดันให้สภามีประสิทธิภาพโปร่งใส และยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ที่ประชุมร่วมเห็นว่า ภารกิจของนายปดิพัทธ์จะนำไปสู่การยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่ยังคงยืนยันการเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงการได้เป็น ผู้นำฝ่ายค้านของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากนายปดิพัทธ์ยังคงดำรงสถานะเดิมในฐานะรองประธานสภา จากพรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องให้นายปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์

อยากได้ทั้ง 2 ตำแหน่งให้เป็นของพรรคก้าวไกล ถึงกับกล้าทำในสิ่งที่ใครๆบอกว่าเป็นการเมืองน้ำเน่า นี่ถ้าเป็นพรรคอื่นที่เป็นฝ่ายตรงข้ามทำแบบเดียวกัน พรรคก้าวไกลคงดาหน้าออกมาประณามกันแบบไม่ยั้ง แต่นี่เป็นพรรคก้าวไกลทำเอง จึงกลายเป็นการทำเพื่อยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และเพื่อจะได้เป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ในขณะเดียวกัน

ความจริงหากฝากให้นายปดิพัทธ์ให้อยู่พรรคอื่นๆเช่นพรรคภูมิใจไทย นายปดิพัทธ์ก็ยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานสภา และพรรคก้าวไกลก็ยังเป็นพรรคฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์ได้ไม่ใช่หรือ ทำไมต้องให้ไปอยู่พรรคเป็นธรรม

พรรคก้าวไกลก็ยังคงเป็นพรรคก้าวไกลเช่นเดิม กล่าวคือการพูดมักสวนทางกับการกระทำเสมอ”

ประธานวุฒิสภาให้การรับรองรองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาค สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 204 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ให้การรับรอง ดร. มาห์ยูดิน (Dr. H. Mahyudin, St., MM.) รองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาค (DPD) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทย ระหว่างวันที่ 19 - 23 สิงหาคม 2567 โดยมี พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และนางสาวนภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา ร่วมให้การรับรอง โอกาสนี้ นายระห์หมัต บูดีมัน (H.E. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย เข้าร่วมด้วย

ประธานวุฒิสภา กล่าวต้อนรับรองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาคสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของรัฐสภาต่างประเทศคณะแรกที่ได้ให้การรับรอง ที่ผ่านมาไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน ยินดีที่ปีนี้ครบรอบ 74 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน สำหรับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิด มีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันอยู่เสมอ และสำหรับความร่วมมือพหุภาคี สมาชิกรัฐสภาของทั้งสองประเทศให้การสนับสนุนและทำงานอย่างใกล้ชิดในประเด็นที่อยู่ในความสนใจสำคัญร่วมกัน เชื่อมั่นว่าการพบปะกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาทั้งสองประเทศจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประธานวุฒิสภากล่าวแสดงความยินดีกับอินโดนีเซียในการสร้างเมืองหลวงแห่งอนาคต "นูซันตารา" (Nusantara) ให้เป็นเมืองหลวงใหม่ที่ทันสมัยด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ประธานวุฒิสภาเชื่อมั่นว่าไทยและอินโดนีเซียสามารถทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน และการเปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่างกันจะทำให้ประชาชนได้มีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น 

รองประธานสภาผู้แทนระดับภูมิภาค (DPD) กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา การพบปะกันในวันนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกระชับความสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สภาผู้แทนระดับภูมิภาคมีหน้าที่และอำนาจในการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การพิจารณาพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับงบประมาณของประเทศ ภาษี การศึกษา ศาสนา  ด้วยหน้าที่และอำนาจที่มีความเป็นอิสระและมีความท้าทาย สภาผู้แทนระดับภูมิภาคของอินโดนีเซียและวุฒิสภาไทยสามารถมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นด้านนิติบัญญัติร่วมกัน เชื่อมั่นในการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับนิติบัญญัติจะนำมาซึ่งความร่วมมือ ผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนครอบคลุมและใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นต่อไป  

‘พิเชษฐ์’ ฉลุย!! นั่งตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 ฟาก ‘ภราดร-ภูมิใจไทย’ ครองรองประธานสภาคนที่ 2

(11 ก.ย. 67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม วาระเลือกตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นผู้เสนอชื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เนื่องจากไม่มีผู้เสนอชื่อแข่ง จึงถือว่านายพิเชษฐ์ได้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1

โดยนายพิเชษฐ์ แสดงวิสัยทัศน์ว่า ตนจะปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของรัฐสภาคือตรากฎหมาย ตรวจสอบหรือยกเลิกกฎหมาย, ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร, ให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหาประเทศ โดยมีนโยบายดังนี้ 

1.ทำสภาฯ ให้ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้นเพื่อให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยจัดให้รัฐสภาประจำจังหวัด ทดลองใช้อย่างน้อย 5 จังหวัด 

2.นำรัฐสภามุ่งสู่ความเป็นสมาร์ท พาลิเม็นท์ กรีน พาลิเม็นท์ ซีโร่คาร์บอน นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารองค์กรเพื่อนำไปสู่รัฐสภาดิจิทัล ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารรัฐสภาให้สมบูรณ์หลังได้รับมอบแล้ว สร้างท่าเทียบเรือฝั่งวุฒิสภา และสส. ภายในปี 2568 ทำที่จอดรถเพิ่มอีก 3,000 คัน ให้ถูกต้องตามกฎหมายของกรุงเทพมหานคร จัดให้มีความปลอดภัยในรัฐสภา เตรียมพร้อมชุดอัคคีภัยเร็วที่สุด 

3.เป็นผู้ช่วยประธานสภาฯ ดำเนินการประชุมสภาฯ ให้เรียบร้อยมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างศักยภาพสมาชิกให้มีความรู้ ประสบการณ์มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นตัวเองให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด 

4.เป็นผู้ช่วยประธานสภาฯ นำพารัฐสภาไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นรัฐสภาผู้นำของอาเซียนและรัฐสภาผู้นำของเอเซีย 

จากนั้นเป็นการเลือกตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 2 โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรค พท. เสนอชื่อนายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย

โดยนายภราดร แสดงวิสัยทัศน์ว่า ถือเป็นเกียรติและไม่ใช่เฉพาะตัวตนแต่เป็นเกียรติของคนอ่างทอง ต้องขอขอบคุณพรรค ภท. นายอนุทิน เพื่อนสมาชิกและวิปรัฐบาล ตนใช้เวลา 17 ปีที่อยู่ที่สภาฯ นับไปนับมาแล้วเกือบจะครึ่งชีวิตที่ใช้เวลาอยู่ที่นี่ ตนทำงานอยู่ที่นี่ ตนผูกพันกับองค์กรแห่งนี้ ผูกพันกับสภาฯ จึงเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของตน เมื่อที่นี่เป็นบ้านหลังที่สอง ตนก็อยากจะเห็นบ้านหลังที่สองมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเป็นที่เชื่อมั่น เป็นที่ศรัทธาของพี่น้องประชาชน การจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ไม่ใช่เกิดขึ้นจากประธานและรองประธานทั้งสองคน แต่เกิดขึ้นจากสมาชิกสภาฯ ทั้ง 493 ชีวิตที่เหลือ อยู่ในฐานะประธานและรองประธานของสภาผู้แทน พวกเรามีหน้าที่ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับเพื่อนสมาชิกในการที่จะแสดงศักยภาพของตัวเองให้สูงที่สุด และปฏิบัติหน้าที่เพื่อที่จะให้สมาชิกได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

“แม้สถานะของผมจะเหมือนกับประธานและสมาชิก คือเราเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เราปฏิเสธการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ แต่ผมให้คำมั่นสัญญาว่าผมจะไม่เป็นรองประธานสภาฯ ของพรรคภูมิใจไทย จะไม่เป็นรองประธานสภาฯ ของเพื่อนสมาชิกฝ่ายรัฐบาล แต่ผมจะเป็นรองประธานของสภาฯ แห่งนี้ของเพื่อนสมาชิกทั้ง 493 คน ผมจะทำหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ผมจะทำหน้าที่ตามที่ประธานได้มอบหมายให้ปฏิบัติอย่างเต็มกำลังความสามารถ เต็มกำลังสติปัญญา ผมจะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมจะช่วยประธานในการที่จะทำให้สภาฯ แห่งนี้เป็นสภาของพี่น้องประชาชน” นายภราดร กล่าว

นายภราดร กล่าวต่อว่า เพื่อนสมาชิกหลายท่านพูดว่าสภาแห่งนี้ไม่ใช่สภาของพวกเรา แต่เป็นสภาของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมด พวกเราจะช่วยกันทำให้สภาแห่งนี้เป็นสภาของพี่น้องประชาชน พื้นที่ทั้งในส่วนที่เป็นอาคารสถานที่ พี่น้องประชาชนจะต้องได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นลานประชาชนหรือดำริของประธานสภาฯ ที่จะทำห้องสมุด ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ 

นอกจากนั้น ในเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่พี่น้องประชาชนก็จะต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสภาได้เต็มที่ เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด และสภาจะต้องเป็นสภาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นสภาของพี่น้องประชาชน

“ผมขอย้ำกับประธานว่าผมจะไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการฉวยโอกาสสร้างประโยชน์ทางการเมืองให้กับพรรคการเมือง หรือให้กับตัวผมเอง ขอย้ำว่าผมจะไม่เป็นรองประธานสภาฯ ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง จะไม่เป็นรองประธานสภาฯ ของฝ่ายรัฐบาล แต่ผมจะเป็นรองประธานสภาฯ ของเพื่อนสมาชิกทั้ง 493 คน จากวันนี้เป็นต้นไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของการปฎิบัติหน้าที่ ผมไม่รู้ว่าจะทำหน้าที่ได้ดีหรือเป็นกลางในสายตาของใครได้มากน้อยแค่ไหน แต่ยืนยันกับประธานและเพื่อนสมาชิกว่าจะทำหน้าที่ดีที่สุด จะทำหน้าที่ร่วมกับประธานและเพื่อนสมาชิกทั้งหมด เพื่อที่จะสร้างศรัทธาสร้าง ความเชื่อมั่น และสร้างเกียรติยศให้กับสภาแห่งนี้ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของพี่น้องประชาชน” นายภราดร กล่าว 

จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จะรีบนำชื่อนายพิเชษฐ์และนายภราดรขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งการประชุมวันนี้ถือว่าเป็นบรรยากาศดีมาก ไม่เสียเวลาเรื่องต่าง ๆ ที่ได้ประโยชน์น้อย วันนี้เราได้ประโยชน์ล้วน ๆ จากนั้นได้กล่าวปิดประชุมในเวลา 11.39 น. เพื่อให้สส.เตรียมตัวอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 12-13 กันยายนนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top