Tuesday, 22 April 2025
รฟท

'รฟท.' เร่งจัดหา 'รถไฟ EV ต้นแบบ' เพิ่ม 50 คันในปี 66 ชู ระบบรางไร้มลพิษ ยกระดับการขนส่ง-คมนาคม

รถไฟ EV ต้นแบบของไทยดังไกลถึงอาเซียน 'ชาวเวียดนาม' แห่ชื่นชม รฟท.เดินหน้าทดสอบ เตรียมจัดหาอีก 50 คัน ภายในปี 66 ใช้ลากขบวนโดยสารเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ลดมลพิษ

(20 ก.พ. 66) นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่การรถไฟฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จัดทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ปรากฏว่า นอกจากจะได้รับความสนใจ และเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนคนไทยแล้ว รถจักรคันดังกล่าวยังโด่งดังไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ที่มีการแชร์เรื่องราวของรถจักรพลังงานไฟฟ้าลงในกลุ่มเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงความชื่นชมยินดีกับประเทศไทย และพูดคุยแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย

นอกจากนี้ ยังมีชาวเวียดนามบางคนมาช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และตอบคำถามในบางประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยกัน เช่น ทำไมถึงต้องใช้รถไฟแบตเตอรี่ ซึ่งประเด็นนี้ นอกจากจะใช้แบตเตอรี่เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอด โดยการยกระดับขนส่งโดยสารของเมือง และรองรับการใช้งานในระบบรถไฟฟ้ารางเบา Light Rail Transit (LRT) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนยังเห็นด้วยว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะการจะเริ่มต้นจากศูนย์ ทำเพียงคนเดียวอาจเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาได้แล้ว เทคโนโลยีนี้ก็จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไป

สำหรับรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ประเทศไทยสามารถประกอบ ติดตั้งระบบแบตเตอรี่สำหรับรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเองได้ เสร็จเมื่อปี 2565 เป็นแห่งแรกของโลก ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดมลพิษ และบรรเทาภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนน้ำมันเชื้อเพลิงในระบบขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573

ปัจจุบัน รถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ได้ดำเนินการทดสอบเดินรถในเส้นทางต่าง ๆ แล้ว รวมถึงการทดสอบลากจูงขบวนรถโดยสารขึ้นมาบนสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี ซึ่งหลังจากนี้การรถไฟฯ จะพิจารณานำไปลากจูงรถโดยสาร และรถสินค้าในโอกาสต่อไป

โดยในระยะแรก จะนำรถจักรดังกล่าวมาใช้ลากเป็นรถสับเปลี่ยน (Shunting) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดมลพิษในอาคารสถานีชั้นที่ 2 ซึ่งจากผลการทดสอบของการรถไฟฯ สามารถลากขบวนรถจากย่านสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปที่ชานชาลาสถานีที่ชั้น 2 ได้จำนวน 12 เที่ยว ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระยะเวลาการชาร์จจนแบตเตอรี่เต็มประมาณ 1 ชั่วโมง

จากนั้น ในระยะต่อไปจะทดลองวิ่งในระยะทางใกล้ เช่น ขบวนรถโดยสารชานเมือง ระยะทางประมาณ 30-50 กิโลเมตร และระยะทางที่ไกลมากขึ้น เช่น ขบวนรถข้ามจังหวัด ระยะทางประมาณ 100-200 กิโลเมตร และขบวนรถขนส่งสินค้า จาก ICD ลาดกระบัง ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น เพื่อทดสอบจนเกิดความมั่นใจและปลอดภัย

'รฟท.' จ่อลงนามไฮสปีด 'ไทย-จีน' สัญญาที่ 4-5  ยันเปิดใช้ไฮสปีดเส้นแรกของไทยตามแผนปี 71

(13 พ.ย. 66) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร (กม.) ว่า ในส่วนของงานสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาตามที่มีการแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างได้ภายใน พ.ย. 2566 ก่อนที่จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

อย่างไรก็ตามขณะที่การก่อสร้างสถานีอยุธยานั้น ขณะนี้การจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม(HIA) ของแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้ผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอรายงานไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศประมาณ 9 หน่วยงาน และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ปัญหาการก่อสร้างสถานีอยุธยายังไม่ได้ข้อยุติ รฟท. จะยังไม่ดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา แต่เมื่อ รฟท. ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว ก็จะให้ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งยังมีประเด็นปัญหาการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนผู้รับจ้าง จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2566 ทั้งนี้ ล่าสุด มีแนวโน้มว่า จะให้ รฟท. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง เพื่อไม่ให้โครงการมีความล่าช้า ทั้งนี้ จากการหารือกับเอกชนในเบื้องต้น ถึงแนวทางดังกล่าว ทางภาคเอกชนไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนงบประมาณจะมากจากแหล่งใดนั้น จะต้องมาพิจารณาคำนวนอีกครั้ง อาทิ การใช้งบประมาณบางส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรือหากจะต้องใช้เงินกู้และอาจจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อให้ รฟท. นำมาดำเนินการและการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการต่อไป โดยคาดว่า จะเสนอ ครม. ได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 นั้น คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 หรือเป็นไปตามแผนเดิมที่กำหนดไว้

รายงานข่าวแจ้งว่า วงเงินที่ใช้ในการก่อสร้างช่วงทับซ้อนของสัญญา 4-1 อยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทอย่างไรก็ตามปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท มีความคืบหน้าประมาณ 27.39% ล่าช้ากว่าแผน 48.98% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญาได้แก่ สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 42.18%

สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 35.60%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.4 กม. คืบหน้า 67.32%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง12.3 กม. คืบหน้า5.30%,

สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.24%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 21.30%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 0.85% สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.38% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า 47.22% นอกจากนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กม.

‘ร.ฟ.ท.’ นำทัพนักแสดงดัง แต่งตัวเป็นซานตาคลอส มอบของขวัญ ส่งสุขให้ ‘ผู้ใช้บริการสายสีแดง’ เนื่องในวันคริสต์มาส-ปีใหม่ 2567

เมื่อวานนี้ (25 ธ.ค. 66) นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ได้นำทัพนักแสดงช่อง 7 แต่งตัวเป็นซานตาคลอส ร่วมมอบของขวัญ เช่น น้ำอัดลมและกาแฟกระป๋อง ให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง เนื่องในวันคริสต์มาส และปีใหม่ 2567

สำหรับนักแสดงช่อง 7 ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ ได้แก่ แอนดรูว์ โคร์นิน, แอมป์ พีรวัศ, หมู ภูษณะ รวมถึง ตี๋ บุญเกียรติ วงค์ษาแจ่ม ผู้รักษาประตูจาก UTFC

เรียกได้ว่า บรรยากาศกิจกรรมอบอวลไปด้วยความสุข ความสนุกสนาน ทั้งผู้ให้และผู้รับ และหากใครอยากติดตามกิจกรรมดีๆ แบบนี้ จากรถไฟฟ้าสายสีแดง ก็สามารถติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/REDLineSRTET/ ได้เลย

ส่อง ‘สะพานรถไฟโค้ง’ แห่งแรกในไทย  อีกไฮไลต์ทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงของ’

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 67 เพจ Progressive Thailand ได้โพสต์ภาพอัฟเดต ‘สะพานรถไฟโค้งหล่อสำเร็จ’ (BEBO Arch Bridge) เทคโนโลยีจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แห่งแรกของประเทศไทย ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างที่บ้านปงป่าหวาย จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ดำเนินโครงการก่อสร้างโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

รายละเอียดโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีดังนี้

▪ ระยะทาง 323 กิโลเมตร 
▪ จำนวนสถานี 26 สถานี (4 สถานีขนาดใหญ่ 9 สถานีขนาดเล็ก และ 12 ป้ายหยุดรถไฟ)
▪ ความเร็วรองรับสูงสุด 160 กม./ชม.
▪ จำนวนจังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่, ลำปาง, พะเยา และเชียงราย
▪ ลานกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า 5 แห่ง
▪ อุโมงค์ 4 แห่ง ความยาวรวม 13.5 กิโลเมตร
▪ มูลค่าโครงการ 72,920 ล้านบาท
▪ เปิดบริการปี 2571

The first BEBO Arch Bridge in Thailand, a part of the new double-track railway line Denchai - Chiang Rai - Chiang Khong project, is under construction

The new double-track railway line  Denchai - Chiang Rai - Chiang Khong project

▪ Distance : 323 kilometers
▪ Number of station : 26 stations (4 large stations, 9 small stations, and 12 stops)
▪ Maximum supported speed : 160 km/h.
▪ Number of province : 4 provinces, Phrae, Lampang, Phayao, Chiang Rai
▪ Container yard : 5 yards
▪ 4 tunnels, total length of 13.5 kilometers
▪ Project value : 72,920 million baht
▪ Open for service in 2028

ขอบคุณภาพจาก : โครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย เชียงรายเชียงของ
เนื้อหาโดย : Progressive Thailand

‘วีริศ อัมระปาล’ จ่อนั่งผู้ว่าการรถไฟคนที่ 30 หลัง 'บอร์ด ร.ฟ.ท.' ไฟเขียว ชูงานด่วน ดัน'ไฮสปีด 3 สนามบิน-รถไฟไทยจีน-รถไฟทางคู่' ให้แล้วเสร็จ

(26 ก.ค. 67) รายงานข่าวระบุว่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.67) คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ที่มีนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย บอร์ด ร.ฟ.ท.เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ ได้เสนอผลการพิจารณาผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.

หลังให้ผู้สมัคร 2 รายเข้าแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2567 ซึ่งผลปรากฏว่า นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นผู้มีคะแนนคัดเลือกสูงสุด และพบว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามประกาศของ ร.ฟ.ท.

สำหรับขั้นตอนดำเนินการหลังจากนี้ คณะกรรมการพิจารณาผลตอบแทน จะเป็นผู้เจรจาอัตราผลตอบแทน และนำกลับมาเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท. พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ก่อนเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติโดยละเอียด

ทั้งนี้ หากพบว่าไม่มีคุณสมบัติขัดต่อข้อกำหนด ก็จะเสนอมายัง ร.ฟ.ท. เพื่อรายงานผลไปกระทรวงคมนาคม และนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นประเมินว่ากระบวนการเหล่านี้จะใช้เวลาราว 1 เดือน คาดว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในต้นเดือนก.ย.2567

สำหรับการสรรหาผู้ว่าการรถไฟฯ ครั้งนี้ นับเป็นผู้ว่าการคนที่ 30 โดยนายวีริศ อัมระปาล เปิดเผยภายหลังเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) สรรหาผู้ว่าฯ โดยระบุว่า ไม่หนักใจกับการเป็นคนนอกเข้ามาสมัคร เพราะมั่นใจว่ามีประสบการณ์บริหารองค์กรใหญ่อย่าง กนอ. ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี

อีกทั้งไม่หนักใจเกี่ยวกับกระแสข่าวที่ตนอาจขัดต่อข้อกำหนดด้านคุณสมบัติ เพราะมาจากหน่วยงานที่เป็นคู่สัญญากับ ร.ฟ.ท. โดยประเด็นนี้ได้ศึกษาข้อกำหนดมาอย่างรอบคอบแล้ว จึงเดินหน้าเข้าสมัครตำแหน่งนี้ 

อย่างไรก็ดี การแสดงวิสัยทัศน์ครั้งนี้ ได้นำเสนอไอเดียเกี่ยวกับการผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท.ให้สัมฤทธิผล โดยเชื่อว่าไอเดียนี้สามารถทำได้ และจะทำให้อนาคตของการรถไฟฯ จะเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญ และมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องหนี้สะสมของ ร.ฟ.ท. ที่มีมูลค่าหลักแสนล้าน ส่วนตัวไม่มีความกังวล เพราะทุกองค์กรก็จะมีอุปสรรคอยู่แล้ว โดยตนมองว่าหากผลักดันแผนฟื้นฟูให้เป็นรูปธรรม จะแก้ปัญหาหนี้สะสม

“เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ คือ การดำเนินงานโครงการที่ให้เอกชนร่วมลงทุน โครงการพีพีพีต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นโครงการระดับประเทศที่ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งรถไฟไทยจีน รถไฟทางคู่ เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ” นายวีริศ กล่าว

‘สุรพงษ์’ คุยลั่น!! หมดยุค ‘การรถไฟฯ’ ขาดทุน-ติดลบตัวแดง เผย!! มีแผนเพิ่มรายได้ 10 เท่า จาก 2 พันล้าน เป็น 2 หมื่นล้าน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้พบปะกับสมาชิกของ ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย นำโดย นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ฯ กล่าวถึงภารกิจสำคัญคือ การสร้างรายได้ของ รฟท. ได้ตั้งเป้าผลประกอบการหรืองบดุล จะต้องไม่มีตัวแดง หรือ EBITDA ต้องไม่ติดลบ และต้องเป็นบวก หรือมีกำไร ในปีต่อๆไป โดยให้ปรับแผนงานหารายได้เพิ่มจากธุรกิจทางตรงคือการขนส่งสินค้า เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด จาก 3% ที่มีรายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปี เป็น 30% ซึ่งรายได้จะเพิ่มเป็น 22,000 ล้านบาท/ปี

“เรื่องนี้ถือเป็นการบ้านของ รฟท. ที่จะต้องไปหาวิธีทำอย่างไรเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งด้านการขนสินค้าและผู้โดยสาร อาจหามืออาชีพด้านการตลาดมาช่วย การวางแผนจัดสร้างเส้นทางส่วนต่อขยาย เข้าไปในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีความต้องการในการขนส่งสินค้ามาก ๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ของ รฟท.” รมช.คมนาคม กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของค่าโดยสาร รฟท. ไม่ได้ปรับค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2538 หรือ 29 ปีแล้ว ซึ่งจะแบ่งผู้โดยสารเป็น 2 ส่วน คือ ด้านบริการเชิงสังคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐต้องดูแลก็ให้แยกออกมา ส่วนบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ ชั้น 2 และชั้น 3 ที่พร้อมจะซื้อตั๋วที่ราคาสูงขึ้นได้ จะทำให้สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯรฟท.ต้องไปทำข้อมูลแยกออกมาว่า มีปริมาณผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ และ ผู้โดยสารรถไฟท่องเที่ยว เพื่อกำหนดแผนได้ตรงกับความต้องการของตลาดผู้โดยสาร

นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงแผนการปรับปรุงรถไฟไทยว่า ได้ดำเนินการจัดทำรถไฟท่องเที่ยวขบวนรถหรู SRT Royal Blossom ที่จะเปิดบริการเที่ยวแรกในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 นี้ นำร่องเส้นทางท่องเที่ยว กรุงเทพฯ -กาญจนบุรี เป็นรถไฟขบวนใหม่ สไตล์ญี่ปุ่น ที่การรถไฟฯ ทำการปรับปรุง หลังได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสิ้นแล้ว 5 คัน จากจำนวนทั้งหมด 10 คัน ถูกออกแบบสำหรับใช้เดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะ มีการดีไซน์ด้วยความพิถีพิถันจากฝีมือช่างคนไทย ภายในประกอบด้วยระบบสันทนาการครบครัน เพื่อให้ผู้โดยสารสัมผัสบรรยากาศวิวสองข้างทางอย่างเต็มที่ มีการติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลงสำหรับรองรับชานชาลาสูง-ต่ำ และรถวีลแชร์ของผู้พิการตามมาตรฐาน Universal 

ขณะที่ภาพรวมการขนส่งทางราง นายสุรพงษ์ฉายภาพความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร -  นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ภาพรวมการดำเนินการก่อสร้างในปัจจุบัน มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 33.48% ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อาทิ ปัญหาที่ยังติดขัด 2 สัญญา จาก 14 สัญญา ประกอบด้วย 1.สัญญา 4-1 บางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 2571 

ส่วนความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 356 กิโลเมตร วงเงิน 3.3 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบและปรับแบบเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอมายังกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน ก.ย.นี้ และสามารถเปิดประมูลพร้อมเริ่มกระบวนการก่อสร้างภายในปี 2567 คาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2572 

ด้านการพัฒนารถทางคู่ ได้ดำเนินการก้าวหน้าตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ซึ่งสามารถเปิดใช้งานได้แล้วหลายเส้นทาง ได้แก่ โครงการช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย โครงการช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ขณะที่เส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ก็สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนเช่นกัน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดให้บริการระหว่างสถานีบ้านคูบัว จ.ราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จ.ชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร 

จากนั้นมีแผนเปิดใช้ทางคู่เพิ่ม ระหว่างสถานีโพรงมะเดื่อ-บ้านคูบัว ระยะทาง 50 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ด้านเหนือสถานีชุมพร ระยะทาง 12.80 กิโลเมตร ซึ่งตามแผนจะเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง ช่วงนครปฐม – ชุมพร รวมระยะทาง 420 กิโลเมตร ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม 2567 

นอกจากนี้ ในปลายปี 2567 จะเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบันไดม้า-คลองขนานจิตร อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระยะทาง 29.70 กม. ที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ เพื่อช่วยลดระยะเวลาเดินทางแก่ประชาชน

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ปัจจุบันก้าวหน้าไปแล้ว ร้อยละ 9.695 และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญา 1 บ้านไผ่ - หนองพอก สัญญา 2 หนองพอก - สะพานมิตรภาพ 3 ก้าวหน้าแล้วร้อยละ 2.578 อีกทั้งยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ที่เตรียมพัฒนาเพิ่มเติมอีก 7 สายทาง ได้แก่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคาก่อสร้าง ส่วนช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการรถไฟฯ ไปแล้ว อยู่ระหว่างส่งเรื่องให้กระทรวงคมนาคม เสนอขอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

21 ธันวาคม 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ เปิดทางรถไฟสายแรกในสยาม กรุงเทพฯ – นครราชสีมา

เส้นทางรถไฟสายแรกในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2434 ภายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ไปยังนครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองและทันสมัยในระดับเดียวกับชาติที่มีอารยธรรม พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างทางรถไฟเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดระยะเวลาในการเดินทาง และทำให้การตรวจราชการในหัวเมืองต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยพระราชดำริในตอนนั้นมีความว่า “…การสร้างทางรถไฟจะทำให้การเดินทางระหว่างหัวเมืองที่ไกลกันสะดวกยิ่งขึ้น ลดความยากลำบากในการขนส่งสินค้าและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการตรวจตราการบังคับบัญชาภาคราชการและบำรุงรักษาพระราชอาณาเขตให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุข…” การก่อสร้างเส้นทางรถไฟนี้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2443 ระยะทางรวมจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเป็น 265 กิโลเมตร

เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมาในปัจจุบันได้กำหนดตามพระราชกฤษฎีกาที่มีการตราขึ้นเพื่อกำหนดรายละเอียดในการก่อสร้างรถไฟ โดยมาตรา 1 ระบุว่า “…ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานกระทรวงโยธาธิการสร้างรถไฟขนาดใหญ่จากกรุงเทพฯ ไปยังบางปะอิน, กรุงเก่า, เมืองสระบุรี และเมืองนครราชสีมา…”

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อย่างเป็นทางการ และพระองค์ได้ประทับบนรถไฟพระที่นั่งเพื่อไปเยี่ยมเยียนราษฎรและตรวจราชการที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของมณฑลลาวกลาง ระหว่างวันที่ 21-25 ธันวาคม พ.ศ. 2443 จากบันทึกการเดินทางระบุว่า รถไฟพระที่นั่งออกเดินทางเวลา 07.25 น. และถึงนครราชสีมาเวลาประมาณ 16.00 น. ใช้เวลารวมการเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง โดยแวะพักที่เมืองกรุงเก่า, เมืองแก่งคอย, เมืองปากช่อง และเมืองสีคิ้วตามลำดับ ขณะที่ในปัจจุบัน รถไฟเร็วจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง หากไม่มีการหยุดพักระหว่างทาง เวลาการเดินทางก็จะใกล้เคียงกับรถไฟพระที่นั่งในสมัยก่อน

การรถไฟฯ เดินหน้าทวงคืนที่ดิน ‘เขากระโดง’ ยันทวงคืนตามสิทธิ์ไม่ใช่การก้าวล่วงประชาชน

(23 ธ.ค.67) การรถไฟฯ ยืนยันถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ย้ำมีเอกสาร – ข้อมูล และคำตัดสินของศาลเป็นที่สิ้นสุด ระบุพร้อมเดินหน้าดำเนินการทุกอย่าง เพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นของ รฟท. นำมาสู่การรักษาสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชน

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงการณ์เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง จากกรณีที่มีผู้มาพาดพิง ตามที่มีการรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดิน ได้นำอธิบดีกรมที่ดิน รองอธิบดีกรมที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สส.จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ พบกับราษฎรที่ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อยืนยันสิทธิ์การครอบครองที่ดินของราษฎร และกล่าวพาดพิงถึง รฟท. ในทำนองว่า รฟท. จะไปก้าวล่วงสิทธิของประชาชนนั้น

ทั้งนี้ รฟท. เห็นว่า การดำเนินการข้างต้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดของประชาชนต่อการดำเนินการของ รฟท. เกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ดังนั้นจึงขอชี้แจงว่า รฟท. เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ดินของ รฟท. จึงเป็นที่ดินของรัฐและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่ง รฟท. มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนกิจการของกรมรถไฟ ดังนั้นบรรดาที่ดินและทรัพย์สินที่เคยเป็นของกรมรถไฟจึงโอนมาเป็นของ รฟท.

อย่างไรก็ดี รฟท. มีหน้าที่ต้องดูแลที่ดินบริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ และติดตามเอาที่ดินของ รฟท. ที่มีการยึดถือครอบครองและออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบให้กลับคืนมาเป็นของ รฟท. อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการของ รฟท. เพื่อทวงคืนที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ที่ดินบริเวณเขากระโดงได้รับการพิสูจน์และยืนยันผ่านกระบวนการทางศาล และความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินประมาณ 5,000 ไร่เศษ บริเวณ ตำบลอิสาณ และ ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิของ รฟท.

พร้อมกันนี้ศาลปกครองได้วินิจฉัยโดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องข้างต้นแล้วสรุปว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท. นอกจากนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางยังระบุด้วยว่า กรมที่ดินมีหน้าที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการรถไฟฯ ไม่จำต้องไปฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาทุกแปลง

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของกรมที่ดินที่จะต้องดำเนินการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ซึ่งเป็นการออกโดยคลาดเคลื่อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง ไม่ได้เป็นการก้าวล่วงสิทธิของประชาชนตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่มีคำถามว่า เหตุใด รฟท. จึงไม่ยื่นเอกสารแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินชุดเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกา ซึ่งแสดงถึงเขตที่ดินของการรถไฟฯ ที่ครบถ้วน และที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ เพื่อให้คณะกรรมการสอบสวนของกรมที่ดินพิจารณานั้น ขอชี้แจงว่า รฟท. ยื่นเอกสารซึ่งแสดงถึงการได้มาของที่ดินรถไฟ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง ให้กับคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด และเป็นเอกสารชุดเดียวกันกับที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมด้วย

ทั้งนี้ปัญหาการออกเอกสารทับซ้อนที่ดินของ รฟท. นั้น หน่วยงานที่เป็นผู้ออกเอกสารสิทธิในที่ดิน คือ กรมที่ดินและสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยการดำเนินการตามขั้นตอนในการเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินทั้งหมด

พร้อมขอยืนยันว่า สิทธิในความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดง อันเป็นที่ดินของรัฐ โดยจะดำเนินการทุกอย่างภายในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนมาเป็นที่ดินของ รฟท. เพื่อสงวนไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนทุกคนต่อไป

โดยการแก้ปัญหาที่ดินเขากระโดงไม่ใช่เรื่องยาก หากกรมที่ดินซึ่งเป็นผู้ออกเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินได้ร่วมมือกับ รฟท. ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองกลาง และไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีฝ่ายใดนำเอาปัญหาที่ดินเขากระโดงไปเชื่อมโยงเพื่อเป็นประเด็นการเมือง เพียงหวังเรื่องคะแนนนิยมทางการเมือง เพราะจะทำให้การแก้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top