Wednesday, 26 June 2024
รถไฟไทยจีน

ไม่นานเกินรอ!! 'รถไฟไทย-จีน' มิติใหม่ของการท่องเที่ยว คาด!! อีก 5 ปี พร้อมเปิดให้บริการ

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ 'Bangkok I Love You' ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับรถไฟไทย-จีน ไว้อย่างน่าสนใจว่า...

"รถไฟไทย เชื่อมรถไฟโลก"

เมื่อทางรถไฟไทย - จีน (กรุงเทพ เวียงจันทน์ คุณหมิง) สร้างแล้วเสร็จ ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 4 - 5 ปี มิติใหม่ของการเดินทางท่องเที่ยวก็จะเกิดขึ้น ตลอดสองข้างทางรถไฟสายที่ยาวที่สุดในโลก 

โดยที่รถไฟสายนี้จะมีจุดเริ่มต้นที่ สถานีรถไฟ Woodlands ในประเทศสิงคโปร์ ขึ้นเหนือผ่าน สถานีรถไฟเซ็นทรัลกัวลาลัมเปอร์ เลียบชายฝั่งทะเลอันดามัน ผ่านพรมแดนประเทศไทยที่ ปาดังเบซา ผ่าน สงขลา ผ่านนครศรีธรรมราช เลียบอ่าวไทยขึ้นมา ผ่านสุราษฎร์ธานี ซึ่งสามารถต่อเรือไปเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ได้ (และในอนาคตอันใกล้ก็จะมีสะพานข้ามไปยังเกาะสมุย) ผ่านเมืองท่องเที่ยวอย่างหัวหิน ราชบุรี นครปฐม แล้วเข้าสู่ศูนย์กลางขนส่งทางรางของอาเซียนที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กรุงเทพมหานคร 
ซึ่งจากที่นี่สามารถต่อรถไฟความเร็วสูงซึ่งใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงถึงเวียงจันทน์ โดยผ่านเมืองมรดกโลกอย่าง พระนครศรีอยุธยา และมรดกทางธรรมชาติอย่างเขาใหญ่ ที่สถานีปากช่อง และข้ามแม่น้ำโขงที่ หนองคาย จากนั้นก็จะผ่านพรมแดนบริเวณท่านาแร้ง เวียงจันทน์

จากเวียงจันทน์ต่อรถไฟสาย เวียงจันทน์ คุณหมิง ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง ผ่านวังเวียง เมืองมรดกโลก หลวงพระบาง และอีกเพียงไม่เกิน 8 ชั่วโมงก็เข้าถึงคุนหมิง

จากนั้นต่อ รถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง - คุนหมิง ซึ่งเป็นทางรถไฟที่ยาวที่สุดของประเทศจีนด้วยความยาว 2,760 กิโลเมตร จะวิ่งผ่านเมืองสำคัญหลายแห่ง เช่น เมืองสือจยาจวง มณฑลเหอเป่ย, เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนัน, เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย, เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน และนครกุ้ยหยัง มณฑลกุ้ยโจว และที่สำคัญที่คุนหมิงนี่เองสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปทางรถไฟสายหลังคาโลก ต้าหลี่ ธิเบตได้ 

เมื่อถึงปักกิ่งแนะนำให้แวะเที่ยวมหานครที่ร่ำรวยวัฒนธรรมซัก 3-4 วัน โดยจุดท่องเที่ยวที่โดดเด่นเช่น พระราชวังต้องห้าม พระราชวังฤดูร้อน หอฟ้าเทียนถาน ย่านเมืองเก่าหู่ตง สนามกีฬารังนก เป็นต้น 

จากนั้นขึ้นรถไฟสายทรานส์มองโกเลีย ช่วงเส้นทางระหว่างกรุงปักกิ่ง-อูลันบาตอร์ รถไฟจะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และมุดเข้าไปอยู่ในเขตภูเขา เป็นภูเขาแนวยาวตลอดเส้นทางเลยทีเดียว ช่วงนี้จะมีอุโมงค์ที่เจาะทะลุภูเขากว่า 50-60 อุโมงค์ได้ และทุกๆ ครั้งที่รถไฟโผล่พ้นจากอุโมงค์เราก็จะพบกับโตรกผาและแม่น้ำแบบอลังการตลอดเส้นทาง และที่พลาดไม่ได้ก็คือกำแพงเมืองจีนนั่นเอง จากนั้นก็จะเข้าสู่เขตทุ่งหญ้า กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา มี Ger District หรือที่อยู่อาศัยแบบเกอร์ของคนท้องถิ่น เป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงอูลันบาตอร์

‘ทางรถไฟจีน-ไทย’ หั่นเวลาเดินทาง กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น

(15 ธ.ค. 65) สำนักข่าวซินหัว เผยเรื่องราวของ ‘ปัณรส บุญเสริม’ วัย 32 ปี นักแปลประจำโครงการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ที่เล่าเรื่องราววัยเด็กเกี่ยวกับทางรถไฟที่เชื่อมโยงบ้านของเธอในจังหวัดเชียงใหม่ กับบ้านปู่ย่าตายายในนครราชสีมา ซึ่งทำให้ครอบครัวของเธอต้องใช้เวลามากมายยามสัญจรไปมาหาสู่กันด้วยรถไฟ

ปัณรส กล่าวว่า รถไฟในไทยทำให้ผู้คนเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกลเพราะให้บริการเชื่องช้าเกินไป และหวังว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย จะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มเปิดใช้โดยเร็วที่สุด

ทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายทางรถไฟข้ามเอเชีย จะเป็นทางรถไฟความเร็วสูงรางมาตรฐานสายแรกของไทย โดยมีการคาดการณ์ว่าทางรถไฟฯ ระยะที่ 1 ที่เชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับจังหวัดนครราชสีมา จะลดระยะเวลาเดินทางจากเดิมมากกว่า 4 ชั่วโมง เหลือเพียงกว่า 1 ชั่วโมงเท่านั้น

ปัณรส มีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่หลายแห่งในจีน ขณะเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยหนานไคในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน และได้เห็นว่าทางรถไฟความเร็วสูงมีบทบาทยกระดับชีวิตคนในท้องถิ่น ทำให้เธอมองว่าทางรถไฟจีน-ไทยจะไม่เพียงอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น แต่ยังช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ โดยรอบ

ปัณรส กล่าวว่า ปกติการเดินทางด้วยรถยนต์ระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา จะกินเวลาราว 2 ชั่วโมง 30 นาที แต่การสัญจรจะสะดวกสบายและประหยัดเวลาขึ้นมาก หากโครงการทางรถไฟฯ ปัจจุบันเสร็จสิ้น ทั้งเสริมว่าการคมนาคมขนส่งสำคัญต่อการท่องเที่ยวมาก และการคมนาคมขนส่งที่ดีจะทำให้ผู้คนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางรถไฟจีน-ไทย จะเป็นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จังหวัดชายแดนอย่างหนองคาย ซึ่งจะมีสะพานเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้อนาคตสามารถเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านลาว ไปสู่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top