Monday, 1 July 2024
ยูเอ็น

'จีน' จับมือ 'รัสเซีย' ปะทะสหรัฐฯ ในคณะมนตรีฯ UN ใช้สิทธิ์ 'วีโต้' ขวางคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่ม

จีนและรัสเซียใช้อำนาจวีโต้ในฐานะสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี ปัดตกความพยายามของสหรัฐ ที่ต้องการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) อภิปรายรอบสุดท้ายและลงมติต่อร่างมติที่เสนอโดยสหรัฐ เรียกร้องให้มีการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งทดสอบขีปนาวุธแล้ว 17 ครั้ง นับตั้งแต่ต้นปีนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันเรียกร้องการแบนผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นการถาวร ลดโควตาการส่งออกน้ำมันของนานาชาติไปยังเกาหลีเหนือ และการขึ้นบัญชีดำ “ลาซารัส กรุ๊ป” ซึ่งเป็นกลุ่มแฮกเกอร์ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลเกาหลีเหนือ หรือได้รับความสนับสนุนในทางใดทางหนึ่ง และเคยปล่อยมัลแวร์โจมตีระบบการเงินทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติปรากฏว่า สมาชิก 13 ประเทศ ให้การสนับสนุนร่างมติ แต่จีนและรัสเซียใช้อำนาจวีโต้ หรือการออกเสียงคัดค้าน ซึ่งการที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกถาวรของยูเอ็นเอสซี การใช้อำนาจดังกล่าวเท่ากับเป็นการทำให้ที่ประชุมไม่สามารถรับรองร่างมติดังกล่าวได้

‘พิธา’ ร้อง ‘รัฐ-ยูเอ็น’ กดดันเผด็จการทหาร หลังตัดสินประหารนักเคลื่อนไหวในเมียนมา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงการณ์กรณีการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา ระบุว่า…

ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมรู้สึกตกใจและเศร้าเสียใจอย่างยิ่งต่อการกระทำอันโหดร้ายของศาลทหารของเผด็จการทหารเมียนมาในการประหารชีวิตผู้นำ NLD และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เช่น พโย เซยา จ่อ และ ก่อ หมิ่น ยู ผมขอร่วมกับประชาคมโลกในการประณามการกระทำนี้อย่างรุนแรงที่สุด

สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยตุลาการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอันชอบธรรม เป็นอิสระ และเป็นกลาง เป็นหนึ่งในหลักการอันล่วงละเมิดมิได้ที่บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR การทำลายสิทธิดังกล่าวถือเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามจิตสำนึกร่วมที่ดีของประชาคมโลก

เผด็จการทหารเมียนมาล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุติความรุนแรงต่อพลเรือนโดยทันที ดังนั้นผมขอสนับสนุนให้อาเซียนทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้กับเมียนมา พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งสัญญาณที่เข้มแข็งและชัดเจนต่อเผด็จการทหารเมียนมาว่า การเข่นฆ่าผู้คนอย่างไร้เหตุผลเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้องให้คืนอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็วผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เนื่องจากเมียนมาที่เป็นประชาธิปไตยและมั่งคั่ง เป็นประโยชน์ไม่เพียงต่อประเทศไทยแต่ต่อประชาคมโลกในภาพรวมด้วย

‘ยูเอ็น’ หวั่นโรคระบาดคุกคาม 'ลิเบีย' หลังเกิดเหตุน้ำท่วม จากการขาดสุขอนามัย เตรียมหาวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำสอง

(19 ก.ย. 66) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เตือนว่า เมืองเดอร์นาของลิเบียที่ถูกน้ำท่วมใหญ่และมีคนเสียชีวิตจำนวนมากเมื่อสัปดาห์ก่อน เสี่ยงเกิดโรคระบาดที่จะทำให้เกิดวิกฤติร้ายแรงซ้ำสอง

ภารกิจสนับสนุนของยูเอ็นในลิเบียแถลงว่า ทีมงานของยูเอ็น 9 หน่วยงานได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากพายุแดเนียล (Daniel) และน้ำท่วม ขณะนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หน่วยงานบรรเทาทุกข์ และองค์การอนามัยโลกกำลังวิตกเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากน้ำปนเปื้อนและการขาดสุขอนามัย ทีมงานจึงต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะจะกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงซ้ำสอง

ชาวเมืองเดอร์นาที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นหลังจากพายุพัดถล่มเมื่อวันที่ 10 กันยายน กำลังขาดแคลนน้ำสะอาด อาหาร และสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ในขณะที่เสี่ยงจะเกิดอหิวาตกโรค ท้องร่วง ภาวะขาดน้ำ และโรคขาดสารอาหาร น้ำท่วมทำให้เมืองเดอร์นาที่มีประชากร 100,000 คน เสียชีวิตราว 3,000-11,300 ราย ไร้ที่อยู่อาศัย  30,000 คน และสูญหายอยู่หลายหมื่นคน

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 78 ปีก่อน องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ จึงถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ ‘ยูเอ็น’ (United Nation: UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ นำโดยประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ลงนามให้สัตยาบันรับรอง ‘กฎบัตรสหประชาชาติ’ (United Nations Charter) ซึ่งเป็นธรรมนูญของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ 

ยูเอ็นเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพและความยุติธรรม มีความมั่นคงระหว่างประเทศ พัฒนาสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและประสานงานของชาติต่าง ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น ‘วันสหประชาชาติ’

'อิสราเอล' กดดัน 'เลขาฯ ยูเอ็น' ลาออก ถาม "คุณอาศัยอยู่ในโลกใด?" หลัง 'กุแตเรซ' บอก มีการละเมิด กม.มนุษยชน ชัดเจนในกาซา

(25 ต.ค. 66) นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ว่า การโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยกลุ่มฮามาส ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ

“ชาวปาเลสไตน์อยู่ภายใต้การยึดครองที่ทำให้พวกเขาหายใจไม่ออกมานานถึง 56 ปี พวกเขาได้เห็นดินแดนของตนถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่องจากการตั้งถิ่นฐาน และถูกรบกวนจากความรุนแรง เศรษฐกิจของพวกเขาหยุดชะงัก ผู้คนต้องพลัดถิ่น และบ้านเรือนของพวกเขาต้องพังยับเยิน ความหวังของพวกเขาที่จะหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่อชะตากรรมที่พวกเขาเผชิญก็สลายหายไปแล้วเช่นกัน” กุแตเรซกล่าว

อย่างไรก็ดี กุแตเรซย้ำว่า ความคับข้องใจของชาวปาเลสไตน์ไม่อาจนำมาเป็นเหตุผลสำหรับการโจมตีที่น่าตกใจของฮามาสได้ และการโจมตีที่น่าตกใจเหล่านั้นก็ไม่สามารถเป็นเหตุผลให้มีการลงโทษแบบเหมารวมต่อชาวปาเลสไตน์ได้ด้วยเช่นกัน

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวด้วยว่า มีการละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา การคุ้มครองพลเรือนเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสู้รบใด ๆ

“แต่การปกป้องพลเรือนไม่ได้หมายความถึงการใช้พวกเขาเป็นโล่มนุษย์ ไม่ได้หมายถึงการสั่งให้ผู้คนมากกว่าหนึ่งล้านคนอพยพไปทางใต้ ซึ่งไม่มีที่พักพิง ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ไม่มียารักษาโรค และไม่มีเชื้อเพลิง แล้วจึงทิ้งระเบิดใส่ทางตอนใต้ต่อไป” กุแตเรซกล่าว

กุแตเรซกล่าวว่า เขารู้สึกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมอย่างชัดเจนที่เราได้เห็นในฉนวนกาซา พร้อมกับย้ำให้ชัดเจนว่า ไม่มีฝ่ายใดในการขัดแย้งด้วยอาวุธที่อยู่เหนือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้เอ่ยชื่ออิสราเอลหรือฮามาสแต่อย่างใด

คำกล่าวกุแตเรซได้รับการตอบโต้กลับอย่างดุเดือดจากนายกิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรอิสราเอลประจำยูเอ็น ที่เรียกร้องให้นายกุแตเรซลาออก หลังคำกล่าวที่ว่า การโจมตีของฮามาสไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ

เออร์ดานกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลหรือประเด็นใด ๆ ในการที่จะพูดคุยกับพวกที่แสดงความเข้าใจต่อการกระทำอันเลวร้ายที่สุดต่อพลเมืองอิสราเอล ซึ่งไม่ต่างไปจากที่องค์กรก่อการร้ายได้ประกาศไป

เออร์ดานยังโพสต์ข้อความบน X ว่า “ผมขอเรียกร้องให้กุแตเรซลาออกทันที”

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลตั้งคำถามกับกุแตเรซว่า “คุณอาศัยอยู่ในโลกใด?”

ลิออร์ ฮายัต โฆษกรัฐบาลอิสราเอลให้สัมภาษณ์ในรายการ The World Tonight ทางสถานีวิทยุ BBC Radio 4 ว่า เนื้อหาคำกล่าวของกุแตเรซเป็นเพียงคำพูดไร้สาระหนึ่งนาทีเกี่ยวกับความโหดร้ายของกลุ่มผู้ก่อการร้ายฮามาส และให้เหตุผลสำหรับการก่อการร้าย

“แทนที่จะยืนเคียงข้างเหยื่อ เขากลับกล่วโทษเหยื่อสำหรับความโหดร้ายที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนนับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แทนที่จะยืนขึ้นพร้อมข้อความว่ามันต้องไม่เกิดขึ้นอีก เขากลับพูดกับผู้ก่อการร้ายว่า คุณได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น เรายอมรับการก่อการร้ายอันโหดร้ายของคุณ เพราะอิสราเอลเป็นฝ่ายที่ต้องถูกตำหนิ” ฮายัตกล่าว

143 ชาติโหวตหนุน ‘ปาเลสไตน์’ ได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในเวทียูเอ็น ย่างก้าวสำคัญสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

(11 พ.ค.67) ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ปาเลสไตน์ ในเวทียูเอ็นเมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การพิจารณาให้สมาชิกภาพเต็มรูปแบบ

กีลาด เออร์ดัน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำยูเอ็น แสดงท่าทีไม่พอใจภายหลังการโหวตซึ่งมีผลในเชิงสัญลักษณ์ ขณะที่ ริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำยูเอ็น ชี้ว่านี่คือการลงมติครั้งประวัติศาสตร์

รัฐสมาชิกยูเอ็นจำนวน 143 ประเทศ รวมถึง 'ไทย' ได้ให้การรับรองมติดังกล่าว โดยมี 9 ประเทศคัดค้าน และอีก 25 ประเทศงดออกเสียง

มติดังกล่าวมีการระบุชัดเจนว่า ปาเลสไตน์จะไม่สามารถถูกเลือกเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UNSC) หรือลงคะแนนโหวตในที่ประชุม UNGA ได้ ทว่าจะมีสิทธิยื่นข้อเสนอและแก้ไขข้อเสนอได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านประเทศอื่น ๆ อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

มตินี้ยังให้สิทธิแก่ผู้แทนปาเลสไตน์ในการนั่งอยู่ท่ามกลางรัฐสมาชิกยูเอ็น โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรด้วย

ริชาร์ด โกวาน นักวิเคราะห์จาก International Crisis Group ชี้ว่าความเคลื่อนไหวของยูเอ็นในครั้งนี้กำลังสร้างวงจรความล้มเหลวทางการทูต เพราะในขณะที่ UNGA เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ UNSC รับรองสมาชิกภาพเต็มรูปแบบแก่ปาเลสไตน์ แต่ถูกสหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต ตีตกทุกครั้งอีกเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี โกวาน ระบุว่า ผลโหวตในเชิงสัญลักษณ์นี้ มีความสำคัญ เพราะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังสหรัฐฯ และอิสราเอลว่า ประชาคมโลกเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องผลักดันการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์อย่างจริงจังเสียที

ปาเลสไตน์ได้ยื่นคำร้องซ้ำในเดือน เม.ย. เพื่อขอเข้าเป็นรัฐสมาชิกยูเอ็นเต็มรูปแบบ จากปัจจุบันที่มีฐานะเป็นเพียง ‘รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก’ (nonmember observer state)

กระบวนการดังกล่าวจะสำเร็จได้ต้องได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น รวมถึงได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสมาชิก UNGA ถึง 2 ใน 3

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง และเป็นชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอล ได้ใช้สิทธิ ‘วีโต’ ความพยายามของปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 18 เม.ย.


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top