Tuesday, 29 April 2025
ยางรถยนต์

‘พิมพ์ภัทรา’ เตือน!! ปชช. เลือกซื้อยางรถยนต์มีเครื่องหมาย มอก. หลังพบร้านค้า จ.ชลบุรี แอบขายยางไม่มีมาตรฐานกว่า 800 เส้น

(30 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้มอบนโยบายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน ภายใต้ภารกิจ ‘Quick win’ และติดตามความคืบหน้าของภารกิจ พบการยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ล่าสุด สมอ. เข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายยางรถยนต์แห่งหนึ่งในตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ที่มีการโฆษณาขายผ่านช่องทางออนไลน์ พบยางล้อรถยนต์ตกเกรดหลายขนาดที่นำมาลบยี่ห้อบนแก้มยาง จำนวน 684 เส้น และยางล้อที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. จำนวน 180 เส้น รวมทั้งสิ้น 864 เส้น มูลค่ากว่า 3.3 ล้านบาท ตนจึงสั่งการให้ สมอ. ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบการรายนี้ และเร่งตรวจสอบขยายผลไปถึงผู้กระทำความผิดรายอื่นต่อไปด้วย

นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิต ภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ยางล้อเป็นสินค้าที่ สมอ. ควบคุม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การทำ นำเข้า ต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อน รวมถึงร้านจำหน่ายต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมาย

สำหรับผู้ประกอบการรายนี้มีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ หลังจากนี้ สมอ. จะตรวจสอบเพื่อขยายผลไปถึงผู้ทำผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ฝากถึงประชาชนที่กำลังมองหายางรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือกำลังจะเปลี่ยนยางใหม่ ให้สังเกต เครื่องหมาย มอก. คู่กับ QR Code โดยท่านสามารถสแกนเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของยางเส้นนั้นได้ เช่น ผู้รับใบอนุญาต รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาต ก่อนตัดสินใจซื้อ และยังเป็นข้อมูลในการตรวจสอบหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้ นอกจากนี้ ให้สังเกตลักษณะภายนอกของยาง ต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อย ที่แก้มยางต้องไม่มีร่องรอยการลบยี่ห้อ

ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจให้เลือกซื้อจากร้านจำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านที่มีป้ายสัญลักษณ์ ‘ร้าน มอก.’ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนมั่นใจได้ เพราะผ่านการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์ของ สมอ. แล้ว และขอเตือนไปยังผู้ประกอบการที่กำลังฝ่าฝืนกฎหมาย โดยนำยางตกเกรดมาดัดแปลงโดยการลบยี่ห้อออกแล้วส่งขาย หรือนำมาประทับตรายี่ห้อใหม่ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นภัยสังคม สร้างความเสียหายให้กับประชาชนถึงแก่ชีวิต หากพบการกระทำความผิดจะส่งเรื่องดำเนินคดีเพื่อเอาผิดให้ถึงที่สุด

BOI อนุมัติ ‘คอนติเนนทอล ไทร์ส’ อัด! งบลงทุนเพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน หนุนการใช้ยางในประเทศ! เพิ่มกำลังการผลิตยางรถยนต์ 3 ล้านเส้น

(9 ต.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์และยานพาหนะอื่น ๆ (Radial Tires) ของบริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุนเพิ่มเติม 13,411 ล้านบาท โดยจะก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่และส่วนต่อขยายของโรงงานเดิม ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง เพื่อขยายกำลังการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะจากเดิม 4.8 ล้านเส้น เพิ่มอีกปีละ 3 ล้านเส้น รวมเป็นทั้งหมด 7.8 ล้านเส้นต่อปี และจะจ้างงานในพื้นที่เพิ่มเติมกว่า 600 คน เมื่อรวมกับการจ้างงานเดิม 900 คน จะเป็นทั้งหมดกว่า 1,500 คน โดยจะใช้วัตถุดิบหลักจากในประเทศทั้งสิ้น ได้แก่ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ปีละกว่า 1,700 ตัน

คอนติเนนทอลกรุ๊ป ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ได้ก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี ในปี 2566 กลุ่มธุรกิจยางรถยนต์ของบริษัท สามารถสร้างรายได้กว่า 14,000 ล้านยูโร หรือกว่า 5 แสนล้านบาท มีโรงงานผลิตยางรถยนต์ 20 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก โดยได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลา 15 ปี และได้จัดตั้งโรงงานที่จังหวัดระยองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ในเครือคอนติเนนทัล และเป็นโรงงานที่สามารถบรรลุมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับสูงที่สุด โดยใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ที่ประหยัดพลังงาน มีการใช้ระบบอัตโนมัติในการขนย้ายวัตถุดิบและสินค้า อีกทั้งได้ติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 6.7 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 13 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในโรงงาน

บริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส ตัดสินใจขยายการลงทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยโรงงานในจังหวัดระยองจะเป็นฐานการผลิตสำคัญ เพื่อจำหน่ายยางล้อให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้งานทั่วไป ทั้งในกลุ่มรถยนต์นั่ง รถบรรทุกขนาดเล็ก รถจักรยานยนต์ รวมถึงกลุ่มยางรถยนต์เกรดพรีเมียม เช่น รุ่น MaxContact MC7 และยางสมรรถนะสูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีความต้องการยางล้อสมรรถนะสูงและมีความทนทานเป็นพิเศษ เพื่อรองรับระบบส่งกำลังและอัตราเร่งที่แตกต่างจากรถยนต์สันดาปภายใน โดยราคายางรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงกว่ายางรถยนต์ทั่วไปถึง 2 - 3 เท่า 

“การขยายลงทุนครั้งใหญ่ของคอนติเนนทอล ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงระดับโลก ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามกติกาใหม่ของโลก เช่น EUDR จะต้องตรวจสอบย้อนกลับไปถึงการทำสวนยางที่ไม่ทำลายป่า เพื่อก้าวสู่วิถีเกษตรยั่งยืน โดยไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ การขยายฐานผลิตยางรถยนต์ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบยางธรรมชาติ และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยแล้ว ยังจะช่วยเสริมซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

อุตสาหกรรมยางรถยนต์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยางรถยนต์อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 – 2567) มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตยางรถยนต์ จำนวน 41 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 112,000 ล้านบาท โดยมีผู้ผลิตระดับโลกที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยแล้ว เช่น มิชลิน (ฝรั่งเศส), บริดจสโตน (ญี่ปุ่น), กู๊ดเยียร์ (สหรัฐอเมริกา), คอนติเนนทัล (เยอรมนี), ซูมิโตโม รับเบอร์ (ญี่ปุ่น), โยโกฮามา ไทร์ (ญี่ปุ่น), จงเช่อ รับเบอร์ (จีน), ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (จีน), หลิงหลง (จีน), เซนจูรี่ ไทร์ (จีน), แม็กซิส (ไต้หวัน) เป็นต้น 

กระทรวงอุตฯ พบ บริษัททุนจีน นำเข้ายางรถยนต์เก่า ไม่ผ่าน QC ลบยี่ห้อพิมพ์เพิ่ม Made in Thailand ย้อมเป็นยางรถใหม่ ออกขาย-ส่งออก

(6 เม.ย. 68) กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบบริษัททุนจีนรายใหญ่ที่ตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในประเทศไทย หลังพบพฤติกรรมต้องสงสัยหลายประการ ทั้งในด้านการผลิต การใช้แรงงาน และการนำเข้าวัตถุดิบ

เบื้องต้นพบว่า บริษัทดังกล่าวนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมดจากประเทศจีน รวมถึงใช้แรงงานฝีมือจากจีนเป็นหลัก โดยไม่จ้างแรงงานท้องถิ่นที่มีทักษะ 

พร้อมกันนี้ ยังตรวจพบว่า บริษัทมีการลักลอบนำเข้ายางรถยนต์เก่าจากจีนที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย แล้วทำการ “ลบตรา-โลโก้สินค้า” ออกจากยางเหล่านั้น ก่อนกระจายไปยังร้านยางในเครือข่ายทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังมีการพบว่า ยางรถยนต์ตกมาตรฐานบางส่วน ถูกนำไปพิมพ์ชื่อสินค้าใหม่ พร้อมติดฉลาก "Made in Thailand" ก่อนส่งออกจำหน่ายในราคาถูกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์และมาตรฐานของสินค้ายางรถยนต์ไทยอย่างรุนแรง

จากการเข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าของบริษัทดังกล่าว เจ้าหน้าที่พบยางที่ผ่านการแปลงสภาพถูกจัดวางรวมกับยางใหม่ อีกทั้งยังมีป้ายติดระบุชัดว่า “Export Only” สะท้อนให้เห็นถึงเจตนานำส่งสินค้าต่ำกว่ามาตรฐานออกนอกประเทศอย่างชัดเจน

ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการรอคำชี้แจงจากทางบริษัท เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรัดกุม และพิจารณาดำเนินคดีตามกฎหมายหากพบการกระทำความผิดจริง โดยจะนำผลสอบเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อพิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ ต่อไป

ในส่วนของสิทธิพิเศษตามโครงการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่บริษัทได้รับนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเข้าข่ายการละเมิดเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในการพิจารณา

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องผู้บริโภค และรักษาชื่อเสียงของสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่ขาดจริยธรรมและละเมิดมาตรฐานสากล


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top