Wednesday, 23 April 2025
มิจฉาชีพออนไลน์

ตร. เตือน มุกใหม่ SMS มิจฉาชีพ อ้างฉลองครบรอบ Central ให้แอดไลน์แจกเงิน

วันที่ 18 ส.ค. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าหลังจากที่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทราบถึงมุกเด็ดของ SMS มิจฉาชีพทั้ง 5 แบบ ที่มิจฉาชีพมักจะใช้ในการหลอกลวงเหยื่อให้กดลิงก์หลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล หลอกเอาทรัพย์สินจากเหยื่อ หลอกให้กู้เงินนอกระบบ หรือหลอกให้เล่นพนันออนไลน์ นั้น

ปัจจุบัน พบว่ากลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวได้เปลี่ยนแผนประทุษกรรมในการหลอกลวงผ่าน SMS จากรูปแบบเดิม เปลี่ยนมาเป็นการส่งข้อความอ้างว่า เพื่อฉลองครบรอบ Central ทางบริษัทจะแจกเงินรางวัลให้กับทุกท่าน โดยให้แอดไลน์ผ่านลิงก์ที่แนบมากับข้อความ ซึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สอบถามไปยัง บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด หรือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แล้ว ได้รับการยืนยันว่าบริษัทฯไม่ได้มีการจัดกิจกรรมแจกเงินรางวัลในลักษณะดังกล่าวแต่อย่างใด โดยกรณีดังกล่าวหากเหยื่อหลงเชื่อแอดไลน์คนร้าย ก็อาจจะถูกคนร้ายหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีธนาคาร ตลอดจนรหัสผ่านต่าง ๆ  นำไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เครือซีพี รวมพลังแฉกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ หวังต้านอาชญากรรมไซเบอร์

วันที่ 10 ก.พ. 66 เวลา 15.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้แทนลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ว่าด้วยการประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้แทนลงนาม ทั้งนี้มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมพิธีฯ 

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ สืบเนื่องจากสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันมีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่หลงกลตกเป็นเหยื่อจนได้รับความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งในบางรายถึงกับต้องสูญเสียชีวิต ซึ่งจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 – 6 ก.พ. 2566  มีการรับแจ้งความอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวนทั้งสิ้น 192,031 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 29,546,732,805 บาท สามารถติดตามอายัดบัญชี  65,872 บัญชี อายัดได้ทัน 445,265,908 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยพล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ และห่วงใยประชาชน จึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private Partnership (PPP) เพื่อร่วมเป็นเครือข่ายในการยับยั้ง ป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกัน (Cyber Vaccine) แก่ประชาชนเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพ ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินงานได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ไปยังประชาชน 

ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่อาชญากรรมไซเบอร์ได้พัฒนารูปแบบกลลวงอย่างหลากหลายและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เพราะส่งผลกระทบทั้งต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย และความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ในการประชุม World Economic Forum 2023 ได้จัดให้ 'ภัยคุกคามไซเบอร์' เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงที่สำคัญระดับโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์ จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2025 นั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มบริษัทในเครือฯ ในฐานะของผู้นำธุรกิจภาคเอกชน จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำร่องด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลโกงต่างๆ ของอาชญากรรมไซเบอร์เป็นองค์กรแรก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์วัคซีนให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งการร่วมสร้างความตื่นรู้ให้สังคมไทยในครั้งนี้ สอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯ ยึดมั่นในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ

โดยเครือฯ ได้ระดมสรรพกำลังของกลุ่มธุรกิจในเครือ เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์กลโกงของอาชญกรรมไซเบอร์ในทุกช่องทางการสื่อสารอย่างเต็มศักยภาพรวมระยะเวลา 2 ปี ทั้งจากกลุ่มโทรคมนาคมและร้านค้าปลีกค้าส่ง คือการส่ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายทรูมูฟ เอช ซึ่งมีผู้ใช้บริการรวม 37 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อภายในลักษณะต่างๆ ในร้านเซเว่น – อีเลฟเว่นกว่า 13,000 สาขาประเทศ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ 11,404,314 คนต่อวัน ในแม็คโคร 152 สาขา และโลตัสมากกว่า 2,000 สาขา การประชาสัมพันธ์รายการในสถานีข่าว TNN16 และช่อง True4U การจัดกิจกรรมแฮกกาธอนในกลุ่มเยาวชน คิดค้นไอเดียรับมือกลโกง รวมถึงการกระจายข่าวสารผ่านพนักงานกว่า 361,570 คนทั่วประเทศ ซึ่งความหลากหลายทางธุรกิจฯ ของเครือ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ข่าวสารเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง และทำให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดการเสวนา “จุดกระแส On Stage” ดำเนินรายการโดย คุณกรรชัย  กำเนิดพลอย ในหัวข้อ “แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ซึ่งมีผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์ ได้แก่ คุณมยุรา เศวตศิลา นักแสดงชื่อดัง, คุณภาณุพงศ์  หอมวันทา ยูทูปเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time,  ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมกระบวนการกลโกง Call Center  และผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อกลโกงแอพออนไลน์ดูดเงินโดยแอบอ้างสรรพากร โดยมีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าโครงการความร่วมมือครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทย เพราะความรู้ผ่านสื่อต่างๆ จะช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกมิจฉาชีพออนไลน์หลอกลวง และจากที่เคยตกอยู่ในสถานะของเหยื่อมาแล้วนั้น ทำให้มั่นใจมากว่า ถ้ารู้ทันกลโกงก่อนจะไม่ตกเป็นเหยื่ออย่างที่ผ่านมา และหวังว่าการสื่อสารประชาสัมพันธ์ถึงกลโกงผ่านช่องทางที่หลากหลาย จะเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศได้ รวมถึง “ความร่วมมือของภาคเอกชน ต้านภัยออนไลน์ด้วยวัคซีนไซเบอร์” โดย พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ยุทธศาสตร์ข้อมูลและการสื่อสาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และคุณศิริพร  เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) 

‘สส.สรรเพชญ’ ส่งเสียงหนุน พ.ร.ก.ปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ ลั่น!! ปัญหาของ ปชช. รอไม่ได้ ขอสภาฯ ให้ความเห็นชอบ

เมื่อวานนี้ (3 ส.ค. 66) ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายแสดงความเห็นต่อ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยนายสรรเพชญฯ กล่าวว่า 

"ตนเห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศมูลค่ามหาศาล อีกทั้งพระราชกำหนดฉบับนี้ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ที่กำลังประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางโลกไร้พรมแดน"

นายสรรเพชญ ได้กล่าวต่อว่า "ปัจจุบันพฤติกรรมของขบวนการนี้ มีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการในการจับกุม และสอบสวนซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมถึงใช้วิธีการต่าง ๆ ที่จะหลอกล่อ ขู่เข็ญให้ประชาชนหลงเชื่อและตกใจกลัวด้วยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลเครดิตต่าง ๆ จนหลงเชื่อและต้องสูญเสียทรัพย์สิน เมื่อมิจฉาชีพเหล่านี้ได้รับเงินจากผู้เสียหายแล้วก็จะมีการโอนต่อกันเป็นทอด ๆ ผ่านบัญชีม้า ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำงานยากมากยิ่งขึ้นซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นภัยร้ายแรงที่กำลังคุกคามสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน"

นอกจากนี้นายสรรเพชญฯ ยังได้กล่าวให้กำลังใจไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในขณะนี้ รวมถึงได้ตั้งข้อสังเกตในโครงสร้างของคณะกรรมการว่าให้ควรมีภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย รวมถึงหากเป็นไปได้อยากให้มีนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ แต่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาร่วมทำงานด้วยเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

ในตอนท้าย นายสรรเพชญฯ กล่าวว่า "ปัญหาของประชาชนในขณะนี้รอไม่ได้แล้ว การมีพระราชกำหนดฯ นี้จะเป็นเกราะป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ซึ่งหากสมาชิกท่านอื่น ๆ มีความเห็นว่าสมควรแก้ก็ค่อยยื่นร่างฉบับแก้ไขกลับเข้ามาเพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ต่อไปได้" 

‘ตำรวจสอบสวนกลาง’ เตือนภัย!! มิจฉาชีพ สาวก ‘iPhone’ ห้ามกดอนุญาตหากพบข้อความให้รีเซ็ตรหัสผ่าน Apple ID

(6 ส.ค.67) ‘มิจฉาชีพออนไลน์’ ถือเป็นภัยสังคมที่เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะในระยะหลังมานี้ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงให้โอนเงิน หรือหลอกให้คลิกลิงก์เพื่อกระทำการต่าง ๆ บนสมาร์ตโฟนของเรา สร้างความเสียหายมาแล้วมากมาย

ด้วยเหตุนี้ ‘ตำรวจสอบสวนกลาง’ ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับหนึ่งในกลวิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพออนไลน์ สำหรับผู้ใช้งาน ‘iPhone’ พร้อมระบุว่า หากมีการแจ้งเตือนในลักษณะนี้ ห้ามกดอนุญาตเด็ดขาด

โดยตำรวจสอบสวนกลาง ระบุว่า ผู้ใช้ iPhone โปรดระวัง หาก iPhone มีข้อความแจ้งเตือนว่า "รีเซ็ตรหัสผ่าน ใช้ iPhone เครื่องนี้เพื่อรีเซ็ตรหัสผ่าน Apple ID" โดยที่เราไม่ได้ดำเนินการใด ๆ กับโทรศัพท์ หรือ มีข้อความว่า "Apple ID Sign in Requested" มีการแจ้งว่ามีการเข้าระบบของ Apple โดยที่เราไม่ได้เข้าระบบ และมีการแสดงตำแหน่งแปลก ๆ ที่เราไม่เคยไป หรืออยู่ต่างประเทศ

ขอเตือนว่า อย่ากดอนุญาตโดยเด็ดขาด เพราะมีความเป็นไปได้ว่า มิจฉาชีพกำลังพยายามเข้าระบบของเรา

ทั้งนี้ เมื่อกดไม่อนุญาตแล้ว ขอแนะนำให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่าน บังคับให้ทุกเครื่องออกจากระบบ และเปิดการเข้าระบบแบบ 2 ชั้น (2FA) ในทันที

หากพบเจอมิจฉาชีพออนไลน์ ต้องการแจ้งความ หรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับมิจฉาชีพ สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนศูนย์ AOC 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง

'แบงก์ชาติ' จ่อยกร่างกฎหมายให้แบงก์พาณิชย์รับผิดชอบ 100% หากลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงินจากช่องโหว่ในระบบ

(5 ก.ย. 67) ไม่นานมานี้ น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบชำระเงิน และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ แบงก์ชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายกำหนดสถาบันการเงิน พัฒนาและออกแบบระบบ ที่สามารถปิดช่องโหว่ ป้องกันแอปพลิเคชันแปลกปลอมบนโมบายแบงก์กิ้ง รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติของสถาบันการเงินที่ชัดเจนมากขึ้น หากเกิดความเสียหายจากกรณีแอปฯ ดูดเงิน

หากแบงก์ไม่สามารถทำได้หรือมีช่องโหว่ในระบบแล้วเกิดความเสียหาย แบงก์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย คืนเงินแก่เจ้าของบัญชี 100% จากปัจจุบัน เป็นการเฉลี่ยเงินคืน ตามสัดส่วน จากเงินกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย ที่ยึดคืนจากผู้กระทำความผิด

พร้อมยกกรณีศึกษา ของสิงคโปร์ หากมีเงินโอนออกจากบัญชี โดยไม่มีข้อความ SMS แจ้งเตือนไปยังมือถือเจ้าของบัญชี ธนาคาร ต้องรับผิดชอบ ใช้เงินคืนตามจำนวน หากแต่แจ้งเตือนไปแล้ว แบงก์ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นต้น

ผู้บริหารแบงก์ชาติกล่าวอีกว่า มิจฉาชีพ ปรับตัวหลบเลี่ยงมาตรการป้องกันต่างๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเห็นว่าทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพ ส่งข้อความ SMS ถึงประชาชนได้เหมือนทุกวันนี้

‘ดีอี’ เปิดผลงานปราบมิจฉาชีพออนไลน์ ลุย ‘ปิดบัญชีม้า’ แล้วกว่า 1.1 ล้านบัญชี -  กวาดล้าง ‘ซิมผี’ กว่า 2.7 ล้านหมายเลข เผยเดือน ‘ก.ย.67’ ความเสียหายลดลงแล้วกว่า 1,500 ล้านบาท 

เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมาซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการฯ , นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สมาคมธนาคารไทย , 

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อหารือการดำเนินงานการตามนโยบายปราบปรามภัยออนไลน์ของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลดำเนินการและมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  9 เรื่องที่สำคัญ โดยสรุปได้ดังนี้ 1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนกันยายน 2567 (ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) 

ประกอบด้วย การจับกุมคดีออนไลน์รวมทุกประเภท กันยายน 2567 มีจำนวน 2,860 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน สิงหาคม 2567 ที่มีจำนวน 1,945 ราย ,  การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ กันยายน 2567 มีจำนวน 972 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน สิงหาคม 2567 ที่มีจำนวน 732 ราย และการจับกุมคดีซิมม้า บัญชีม้า กันยายน 2567 มีจำนวน 497 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือน สิงหาคม 2567 ที่มีจำนวน 122 ราย 

2. การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน โดยกระทรวงดีอี ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ที่ไม่เหมาะสม ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567  (ระยะเวลา 12 เดือน ประกอบด้วย 1) ดำเนินการปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เพจ/URLs ผิดกฎหมายโดยรวมทุกประเภท จำนวน 150,425 รายการ เพิ่มขึ้น 8.51 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 ,  2) ปิดกั้นเพจ/URLs ที่เกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จำนวน 62,213 รายการ เพิ่มขึ้น 30.22 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบ 2566 และ 3) ปิดกั้น Line ID ที่เกี่ยวข้องกับการพนันแล้ว จำนวน 2,898 รายการ

3. การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน ซึ่งผลการดำเนินงานถึง 17 ตุลาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,100,000 บัญชี แบ่งเป็น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปิด 559,843 บัญชี ธนาคาร 300,000 บัญชี และศูนย์ AOC 1441 ระงับ 324,192 บัญชี

4. การแก้ปัญหาบัญชีม้านิติบุคคล ซึ่งจากการเร่งปิดบัญชี และจับกุมบัญชีม้าอย่างเข้มข้น คนร้ายจึงใช้วิธีจดทะเบียนนิติบุคคลและทำการเปิดบัญชีเพื่อใช้ทำผิดกฎหมาย โดยคณะกรรมการฯ ได้ขอให้ กระทรวงพาณิชย์ ช่วยเร่งเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบกรรมการที่มีชื่อในนิติบุคคลว่าเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือไม่ 

5.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และ ซิมม้าที่ผูกกับ mobile banking  มีผลการดำเนินงานที่สำคัญถึง 15 ตุลาคม 2567 มีดังนี้ การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดย สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้ระงับซิมม้าแล้ว จำนวนกว่า 2.7 ล้านเลขหมาย ,  การระงับหมายเลขโทรออกเกิน 100 ครั้ง/วัน แล้ว 101,117 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย ไม่มายืนยันตัวตน 100,699 เลขหมาย , มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน Mobile Banking โดยดำเนินการตรวจสอบข้อมูล Cleansing Mobile Banking จำนวน 120.3 ล้านบัญชี มีรายละเอียด ดังนี้ กลุ่มหมายเลขบัตรประชาชน ตรงกันกับเบอร์มือถือและบัญชี Mobile Banking มีจำนวน 70.0 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 58 , กลุ่มหมายเลขบัตรประชาชน ไม่ตรงกันกับเบอร์มือถือและบัญชี Mobile Banking มีจำนวน 28.6 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 24 , กลุ่มที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่พบฐานข้อมูล มีจำนวน 21.7 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ18  

6. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยสำนักงาน กสทช. แจ้งดำเนินการรื้อถอนเสาสัญญาณ (สถานี) ในพื้นที่ 7 จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ตาก สระแก้ว จันทบุรี ระนอง บุรีรัมย์ สุรินทร์ รวม 393 สถานี คิดเป็น 100 % นอกจากนี้ยังมีการกำหนดมาตรการความปลอดภัยสำหรับการส่ง SMS แนบลิงก์ โดยใช้แนวทางการ Cleansing Sender Name โดย Sender Name ที่ประสงค์ SMS แนบลิงก์ จะต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการทุกครั้ง โดยต้องระบุรายละเอียดของข้อความและลิงก์ก่อนส่ง SMS และผู้ให้บริการต้องตรวจสอบข้อความและลิงก์ทุกครั้ง ก่อนส่ง SMS ให้กับผู้รับ

7. มาตรการการป้องกันการโทรหลอกลวง ภายใต้โครงการ DE-fence platform 
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากสายเรียกเข้า และ SMS ที่มีลักษณะก่อกวน หรือหลอกลวงของมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนในมูลค่าที่สูงมาก พร้อมทั้งการที่คนร้ายใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวง ดีอี จึงได้มีการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง เพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ในการแจ้งเตือนประชาชนก่อนจะรับสาย ช่วยในการคัดกรองสายเรียกเข้าและข้อความสั้น ภายใต้โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มป้องกันการโทรหลอกลวง “DE-fence platform” ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลว่า สายเรียกเข้าเป็นเบอร์คนร้ายโทร หรือ เบอร์ต้องสงสัย เป็นต้น เพื่อป้องกันปัญหาการโทรหลอกลวง

8.การแก้ปัญหาหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดำเนินการออก ‘ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการบริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2567 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 นั้น พบว่าได้รับความร่วมมือและการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และประชาชนผู้บริโภค โดยสามารถป้องกันปัญหาการได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามที่สั่ง หรือสินค้าที่ไม่มีคุณภาพได้ และพบว่ามีสถิติการร้องเรียนเรื่องได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งลดลงร้อยละ 10 จากก่อนหน้านี้ 

9. การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441นั้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการจัดการบัญชีม้า ซิมม้า และคนร้ายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมด้านข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ AOC 1441 และการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ พร้อมกับการบูรณาการ วิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ จัดทำสถิติ และประมวลผลข้อมูลการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้เห็นแนวโน้มสถานการณ์ ผลสำเร็จการดำเนินการมาตรการ ปัญหา อุปสรรค และนำไปสู่การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพเป็นไปตามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์มอบหมาย 

“ในภาพรวม กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อกวาดล้างอาชญากรรมออนไลน์ บัญชีม้าและซิมม้า และเร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้แก่ประชาชน ซึ่งส่งผลให้มูลค่าความเสียหายในเดือนกันยายน 2567 จากคดีออนไลน์ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเหลือจำนวน 1,974 ล้านบาท โดยแม้ตัวเลขจะยังสูงอยู่ แต่ก็ลดลงกว่า 1,500 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – มิ.ย.67) ที่มีความเสียหายเฉลี่ย 3,514 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม คกก. ได้หารือถึงการเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลของรัฐบาลต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว

จีนเข้มปราบมิจฉาชีพออนไลน์ แบล็กลิสต์ 3 ปี คุกสูงสุด 5 ปี เริ่ม 1 ธ.ค.นี้

(28 พ.ย. 67) ซินหัวของทางการจีนรายงานว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และธนาคารประชาชนจีน ร่วมออกแนวปฏิบัติใหม่ที่มีชื่อว่า “มาตรการลงโทษการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง” กำหนดเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2567 มุ่งยกระดับการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ของประเทศให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

แนวปฏิบัติดังกล่าวประกอบด้วย 18 บท มุ่งเป้าไปที่การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมลักษณะต่าง ๆ พร้อมกับกำหนดเกณฑ์ในการระบุตัวผู้กระทำผิดและกำหนดบทลงโทษตามสัดส่วนความผิด แนวปฏิบัติชี้ว่า ผู้กระทำผิดอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงิน โทรคมนาคม และเครดิตนานถึง 3 ปี ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการมีส่วนร่วม ส่วนผู้ที่กระทำผิดซ้ำอาจได้รับโทษสูงสุดถึง 5 ปี

เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า สาเหตุที่การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะเศรษฐกิจใต้ดินที่สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายดังกล่าว ผู้ประกอบการในตลาดมืดและตลาดสีเทาเหล่านี้ให้เช่าหรือขายซิมการ์ดและบัญชีธนาคาร ซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมการรับส่งข้อมูลออนไลน์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และมีส่วนร่วมในแผนการฟอกเงิน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top