Wednesday, 23 April 2025
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

‘ผู้ดูแลห้องเก็บศพ’ คณะแพทย์ฮาร์วาร์ด ถูกจับกุม เหตุ ลักลอบนำชิ้นส่วนอวัยวะผู้บริจาค ไปขาย

(16 มิ.ย. 66) กลายเป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียล โดยทาง New York Post ได้รายงานการจับกุมพนักงานรวมไปถึงหัวหน้าผู้ดูแลห้องเก็บศพในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการลักลอบขายชิ้นส่วนอวัยวะ โยงไปถึงเครือข่ายใต้ดินค้าศพมนุษย์

‘เซดริก ลอดจ์’ ในวัย 55 ปี ถูกกล่าวหาว่าขโมยศพจากห้องเก็บศพของมหาวิทยาลัยที่เขาทำงาน และขายชิ้นส่วนศพทางออนไลน์ด้วยความช่วยเหลือจาก ‘เดนิส’ ภรรยาวัย 63 ปี ให้กับเพื่อนร่วมงาน ‘คาทรีนา แมคคลีน’ วัย 44 ปี, ‘โจชัว เทย์เลอร์’ วัย 46 ปี และ ‘แมทธิว แลมปี’ วัย 52

โดยเจ้าหน้าที่ได้เสริมว่า ‘เจเรมี พอลลีย์’ คือหนึ่งในลูกค้าของ ‘แมทธิว แลมปี’ ซึ่งมีการซื้อและขายชิ้นส่วนอวัยวะมนุษย์ โดยทั้งสองแลกเปลี่ยนกันมากกว่า 100,000 ดอลลาร์ หรือเทียบเป็นเงินไทยกว่า 3,483,100 บาท

ก่อนที่ ‘เจเรมี พอลลีย์’ จะให้การในขั้นตอนสืบสวน นำนักสืบไปหา ‘แคนเดซ แชปแมน’ ผู้ถูกกล่าวหาว่าขโมยศพที่มีกำหนดเผาในลิตเติ้ลร็อก และขายให้กับ ‘พอลลีย์’ ในเพนซิลเวเนีย

อัยการยังอ้างว่า ‘เซดริก ลอดจ์’ อนุญาตให้ลูกค้าของเขาเข้าไปในห้องเก็บศพในบอสตัน เพื่อเลือกชิ้นส่วนของร่างกายที่ลูกค้าต้องการ จากนั้นเจ้าตัวจะส่งชิ้นส่วนไปทางไปรษณีย์

ในปี 2020 ‘โจชัว เทย์เลอร์’ วัย 46 ปี ถูกกล่าวหาว่าส่งเงินให้ ‘เดนิส’ จำนวน 200 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,000 บาท พร้อมบันทึกที่มีข้อความว่า ‘สมอง’

เป็นเรื่องที่น่าสลดใจอย่างยิ่งที่เหยื่อจำนวนมากบริจาคและอนุญาตให้ใช้ซากศพของพวกเขาเป็นความรู้แก่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และการรักษา แต่กลับถูกทรยศ

ย้อนดู ‘ศาลฎีกาสหรัฐฯ’ ตัดสิน ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ ขัดรัฐธรรมนูญ หลังใช้นโยบายด้านเชื้อชาติกีดกัน ‘นักศึกษาอเมริกันเชื้อสายเอเชีย’

(16 ส.ค.67) จากช่องยูทูบ ‘ดร.อธิป อัศวานันท์’ ผู้บริหารของบริษัท ทรูคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) รองประธานกิจการไอซีทีหอการค้าไทย นักเขียนชื่อดัง และอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้โพสต์คลิปวิดีโอเล่าเรื่องราวภายใต้หัวข้อ ‘มหาวิทยาลัยดังสหรัฐแพ้คดี : ต้องหยุดกีดกันเด็กเอเชีย ยกเลิกการใช้เชื้อชาติ ศาลสูงสุดตัดสิน ฮาร์วาร์ด’ ต่อกรณีมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ใช้นโยบายหนึ่งที่เรียกว่า ‘Affirmative Action’ แต่สุดท้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียกลับต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘Reverse Affirmative Action’ ซึ่งการเลือกปฏิบัติเชิงลบ หรือมาตรการลดโอกาสต่อพวกเขา โดยมีเนื้อหาดังนี้...

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ศาลฎีกาของสหรัฐฯ (Supreme Court of the United States : SCOTUS) ได้มีคําตัดสินที่สะเทือนวงการ ‘การศึกษา’ โดยระบุว่าการใช้เชื้อชาติในการรับสมัครนักศึกษา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ โดยคําตัดสินนี้เป็นผลมาจากการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยาวนานถึงเกือบ 10 ปี ซึ่งเริ่มต้นในปี 2013 เมื่อมีการฟ้องร้อง ‘ฮาร์วาร์ด’ มหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

ก่อนอื่นเราต้องทําความเข้าใจว่า เด็กเอเชียที่พูดถึงในกรณีนี้คือใคร ซึ่งพวกเขาไม่ใช่นักศึกษาต่างชาติจากเอเชีย แต่เป็น ‘ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย’ 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีกฎหมายที่แตกต่างจากประเทศอื่นตรงที่ใช้หลัก ‘สิทธิของดินแดน’ หรือมีหมายความว่า เด็กที่เกิดในดินแดนของสหรัฐฯ จะได้รับสัญชาติอเมริกันโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าพ่อหรือแม่จะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร ซึ่งนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ว่า ‘Birthright Citizenship’ ที่ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประเทศไทยใช้หลักสิทธิของ ‘สายเลือด’ ซึ่งหมายความว่าลูกของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจะได้สัญชาติไทยต่อเมื่อพ่อหรือแม่เป็นคนไทยเท่านั้น

สหรัฐอเมริกาถือเป็น ‘ประเทศแห่งผู้อพยพ’ ซึ่งเป็นแนวสําคัญในการสร้างชาติของอเมริกา โดยแนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การก่อตั้งประเทศที่เกิดขึ้นจากการอพยพของผู้คนจากทั่วโลก และยังคงเป็นส่วนสําคัญของอัตลักษณ์ของชาติอเมริกันจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ทําให้ชาวอเมริกันมีหลากหลายเชื้อชาติ โดยในวันนี้มีชาวผิวขาว 62%, ชาว Hispanic 19%, ชาวผิวดํา 12%, ชาวเอเชีย 6% และชาวอินเดียนแดง 3%

ดังนั้น หากยึดตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเชื้อชาติอะไร แต่ตราบเท่าที่คุณเป็นสัญชาติอเมริกัน คุณจะต้องมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะเป็นคนต่างด้าวหรือผู้อพยพก็ตามเพราะต้องอย่าลืมว่าอเมริกาเป็นประเทศของผู้อพยพ เชื้อชาติอเมริกันที่แท้จริงก็คือชาวอินเดียนแดงที่มีอยู่เพียง 3% ของประชากร แต่ผู้ที่อพยพมาในภายหลังซึ่งรวมไปถึงชาวผิวขาว, ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวเอเชีย มีอยู่ถึง 97% ของประชากร ซึ่งจะแตกต่างกับประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยของเรา ที่คนเชื้อชาติไทยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ 

นั่นหมายความว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็คือลูก หรือหลาน หรือเหลน ของผู้ที่อพยพมาจากเอเชีย แต่ก็นับเป็นชาวอเมริกันอย่างเต็มภาคภูมิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ และก็ไม่สามารถถูกมองได้ว่าเป็นคนต่างด้าวอีกต่อไป

ดร.อธิป กล่าวต่ออีกว่า เช่นนั้นแล้ว ‘Affirmative Action’ ในการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยคืออะไร? คําตอบก็คือนโยบายการเพิ่มโอกาสให้กับเชื้อชาติที่เสียเปรียบในการเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อที่จะช่วยให้ชาติเหล่านั้นสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น

สำหรับ Affirmative Action เริ่มต้นในทศวรรษ 1960 ในช่วงของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติในอดีต ซึ่งนโยบายนี้ไม่ได้จํากัดอยู่แค่การศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจ้างงานและการทําสัญญากับภาครัฐอีกด้วย อีกทั้งในบริบทของการศึกษา Affirmative Action ยังมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความหลากหลายในมหาวิทยาลัย และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มที่เคยถูกกีดกันในอดีต และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายในชั้นเรียน 

ทั้งนี้ เชื้อชาติที่เสียเปรียบเหล่านั้นก็คือชนกลุ่มน้อยทั้งหมด โดยยกเว้นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ซึ่งได้แก่ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวอินเดียนแดง เนื่องจากชนกลุ่มนี้มีความเสียเปรียบทั้งในเรื่องของผลการเรียนและฐานะของครอบครัวเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว ซึ่ง Affirmative Action นี้ไม่ได้ช่วยชาวผิวขาว เพราะชาวผิวขาวถือเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่ทุกเผ่าพันธุ์จะถูกเปรียบเทียบด้วย แต่ในทางกลับกัน Affirmative Action กลับทําร้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เพราะทําให้เข้ามหาวิทยาลัยได้ยากขึ้น เพราะถือว่าเป็นชนกลุ่มที่ได้เปรียบทั้งในเรื่องของผลการเรียนและฐานะของครอบครัวเมื่อเทียบกับชาวผิวขาว

สรุปก็คือ Affirmative Action ทําให้ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเข้ามหาวิทยาลัยได้ยากกว่าชาวผิวขาว แต่ก็ช่วยให้ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา และชาวอินเดียนแดง เข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายกว่าชาวผิวขาว

ดร.อธิป เสริมอีกว่า ในทางปฏิบัติการใช้ Affirmative Action ในการรับนักศึกษา มักจะถูกทําในรูปแบบของการพิจารณาแบบองค์รวม ซึ่งพิจารณาปัจจัยหลากหลายนอกเหนือจากคะแนนและเกรดเฉลี่ย อย่างเช่นประสบการณ์ชีวิต ความสามารถพิเศษ และภูมิหลังทางวัฒนธรรม โดยเชื้อชาติอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ถูกนํามาพิจารณา ซึ่งก็คือชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะต้องมีคะแนนสอบและประวัติที่สูงกว่าทุกเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมถึงชาวผิวขาวด้วย หากจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ในระดับเดียวกัน

หากอธิบายในอีกแง่มุมหนึ่งก็เปรียบได้ว่า แต่ละมหาวิทยาลัยมีโควตาสําหรับชาวอเมริกันในแต่ละเผ่าพันธุ์ ก็คือมีโควตาสําหรับชาวผิวขาว, ชาว Hispanic, ชาวผิวดํา, ชาวเอเชีย และชาวอินเดียแดง ซึ่งก็คือ ‘ชาวผิวขาว’ แข่งกับ ‘ชาวผิวขาว’ / ‘ชาว Hispanic’ แข่งกับ ‘ชาว Hispanic’ เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานของแต่ละเผ่าพันธุ์ก็จะไม่เท่ากัน และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็จะแข่งขันกันเองในลีกที่คะแนนสูงกว่าและยากกว่าทุกเผ่าพันธุ์

ดังนั้น Affirmative Action จึงเป็นนโยบายที่มีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน โดยผู้ที่สนับสนุนต่างมองว่านโยบายนี้จะช่วยแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมที่สะสมมานาน และก็เป็นการส่งเสริมความหลากหลายในมหาวิทยาลัย ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของทุกคน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนจากเผ่าพันธุ์ที่ขาดแคลนได้เข้าถึงการศึกษาระดับสูง แต่ผู้ที่คัดค้านก็ต่างมองว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และก็ไม่ได้พิจารณาความสามารถของบุคคลอย่างแท้จริง และยังทําให้เกิดการตั้งคำถามต่อความสามารถของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ 

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมี Affirmative Action หรือนโยบายการเพิ่มโอกาสให้กับเชื้อชาติที่เสียเปรียบ ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็ยังจะมีจํานวนที่สูงมากในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนํา ทั้ง ๆ ที่มีจํานวนอยู่เพียงแค่ 6% ของประชากรเท่านั้น

ทั้งนี้ ดร.อธิป ได้กลับมาพูดต่อถึงเคสที่ฟ้องร้องมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่สู้กันอยู่ 10 ปี จนกระทั่งศาลสูงสุดได้ตัดสินว่า การใช้เชื้อชาติในการรับนักศึกษาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ โดยคดีนี้เริ่มต้นเมื่อองค์กร Students for Fair Admissions หรือ SFFA ได้ฟ้องฮาร์วาร์ดในปี 2014 โดยกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

โดย SFFA อ้างว่า ฮาร์วาร์ดใช้ระบบโควตาแอบแฝงที่จํากัดจํานวนนักศึกษาเชื้อสายเอเชีย ที่มีการนําเสนอหลักฐานที่สําคัญในคดี ซึ่งเป็นข้อมูลการรับสมัครตั้งแต่ปี 2014 - 2019 และข้อมูลรวมตั้งแต่ปี 2000 - 2019 ที่อ้างว่า ผู้สมัครเชื้อสายเอเชียได้คะแนนต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในด้านคุณลักษณะส่วนบุคคลเชิงบวก และการวิเคราะห์ทางสถิติโดยนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหนึ่งก็ได้พบว่า ผู้สมัครเชื้อสายเอเชียก็ได้รับการลงโทษทางสถิติในคะแนนส่วนบุคคลและคะแนนโดยรวม นอกจากนี้ ก็มีการอ้างถึงรายงานภายในของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ได้ค้นพบการลงโทษทางสถิติต่อผู้สมัครเชื้อสายเอเซียจากการตรวจสอบภายใน ในปี 2013

อย่างไรก็ตาม ฮาร์วาร์ดก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดและอ้างว่าการพิจารณาเชื้อชาติเป็นเพียง 1 ในหลายปัจจัยเพื่อสร้างความหลากหลาย และถึงแม้ว่าฮาร์วาร์ดจะชนะในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกากลับตัดสินในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2023 ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 2 ว่า การใช้เชื้อชาติในการรับนักศึกษาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

แน่นอนว่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนคําตัดสินของศาลสูงสุดและฝ่ายที่ไม่สนับสนุน โดยฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าเป็นการยุติการเลือกปฏิบัติ และในขณะที่ฝ่ายคัดค้านกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลาย และโอกาสทางการศึกษาของกลุ่มที่เคยเสียเปรียบในอดีต

สุดท้าย ดร.อธิป ได้เน้นย้ำเพิ่มเติมว่า “Affirmative Action มีผลโดยตรงกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ชาวเอเชียที่มาจากเอเชียอย่างพวกเราจะได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Affirmative Action ในรูปแบบที่เหมือนหรือแตกต่างอย่างไร และผลของการตัดสินนี้จะเกิดเป็นผลบวกหรือลบอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ มหาวิทยาลัยทั้งสหรัฐฯ จะต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายการรับนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสัดส่วนของการรับนักศึกษา ต่างชาติด้วย ซึ่งเรื่องนี้นักศึกษาต่างชาติก็ควรติดตามการเปลี่ยนแปลงและนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยอย่างใกล้ชิด”

“ยิ่งไปกว่านั้น อรื่องนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะฉะนั้นพวกเราจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในปีต่อ ๆ ไป และท้ายที่สุดการยกเลิกกับ Affirmative Action อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกา ที่เราก็คงจะต้องติดตามดูว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถรักษาสมดุลระหว่าง ‘ความเป็นธรรม’ และ ‘ความหลากหลาย’ ในระบบการศึกษาได้อย่างไรในอนาคต”

มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ส่อแวว!! เผชิญปัญหาการเงิน ชี้!! ‘ฮาร์วาร์ด’ ก็อาจไม่รอด หากไม่รีบปรับตัว แก้ไขวิกฤต

(28 ธ.ค. 67) บรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาเรื่องเงิน ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่พวกเขาก่อขึ้นเอง ขณะวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนที่มีขนาดเล็กกว่ากำลังตัดลดพนักงานและโครงการต่าง ๆ ซึ่งจำนวนมากต้องปิดตัวลงฉับพลัน

รายงานยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีความเก่าแก่ 400 ปี เผชิญความไม่แน่นอนว่าจะอยู่รอดถึงปีที่ 500 หรือไม่ โดยปัญหาทางการเงินที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมอาจผุดโผล่ขึ้นมา หากตลาดกระทิง (bull market) หยุดชะงัก และโดยเฉพาะหากมีการประกาศใช้นโยบายที่เสนอโดยรัฐบาลภายใต้ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ริชาร์ด เอนนิส ที่ปรึกษาทางการลงทุนระดับอาวุโส มองว่าต้นทุนที่สูงและ ‘ความคิดว่าตนเหนือกว่าอันล้าสมัย’ ได้ขัดขวางความก้าวหน้าของกองทุนสะสมทรัพย์ของกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวี ลีก (Ivy League) ซึ่งอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2008 หากลงทุนในหุ้นและกองทุนผสมแบบดั้งเดิม

ส่วนสองนโยบายของรัฐบาลทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มไอวี ลีก ยิ่งขึ้น โดยนโยบายหนึ่งเป็นการเก็บภาษีเงินได้ร้อยละ 1.4 ตามกฎหมายลดหย่อนภาษีและการจ้างงาน ปี 2017 สำหรับกองทุนสะสมทรัพย์มูลค่ามากกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17 ล้านบาท) ต่อนักศึกษาในสถานศึกษาที่มีผู้เรียนมากกว่า 500 คน

รายงานเสริมว่ากฎเกณฑ์ด้านวีซ่าอาจทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นหรือไม่ดึงดูดใจนักศึกษาชาวต่างชาติมาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ โดยนักศึกษาชาวต่างชาติมักไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือ และสถานการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรกของโดนัลด์ ทรัมป์

สหรัฐฯ ขีดเส้นตาย ‘ม.ฮาร์วาร์ด’ 30 เม.ย. นี้ หากไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลวีซ่า เสี่ยงถูกตัดสิทธิ์รับนักศึกษาต่างชาติ และระงับเงินหนุน 2.7 ล้านดอลลาร์

(17 เม.ย. 68) คริสตี โนเอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอาจถูกตัดสิทธิ์ในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางเกี่ยวกับการแบ่งปันข้อมูลผู้ถือวีซ่าบางราย ซึ่งทางการอ้างว่าเกี่ยวข้องกับ “กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและรุนแรง”

โนเอมเปิดเผยว่าเธอได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยกำหนดให้ตอบกลับและยืนยันการให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ มิเช่นนั้น ฮาร์วาร์ดจะเสี่ยงต่อการสูญเสีย “สิทธิพิเศษในการรับนักศึกษาต่างชาติ” ซึ่งถือเป็นมาตรการกดดันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้ระงับเงินอุดหนุน 2 รายการที่จัดสรรให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 99.9 ล้านบาท)

“บางทีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดควรสูญเสียสถานะยกเว้นภาษีและถูกเรียกเก็บภาษีในฐานะหน่วยงานทางการเมือง หากยังคงสนับสนุนหรือส่งเสริมความผิดปกติทางการเมือง อุดมการณ์ และการก่อการร้าย จำไว้ว่าสถานะยกเว้นภาษีขึ้นอยู่กับการกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ!” ทรัมป์โพสต์บน Truth Social เมื่อวันอังคาร

ทางด้านโฆษกของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิแล้ว และยืนยันจุดยืนว่า ฮาร์วาร์ดจะไม่ยอมลดทอนความเป็นอิสระ หรือสละสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้จะเผชิญแรงกดดันทางการเมืองก็ตาม โดยจะยังคงปฏิบัติตามกฎหมายของสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด

ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ออกแถลงการณ์ว่ามหาวิทยาลัยกำลังพยายามรับมือกับกระแสต่อต้านชาวยิว รวมถึงแนวคิดอคติในรูปแบบอื่น ๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ

ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เคยประกาศแนวทางเข้มงวดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้กับการชุมนุมประท้วง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่แสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอิสราเอล โดยมองว่าการประท้วงบางส่วนมีลักษณะต่อต้านชาวยิวและสนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

ขณะที่นักเคลื่อนไหวและกลุ่มผู้ชุมนุมแย้งว่า รัฐบาลกำลังพยายามผูกโยงการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนของชาวปาเลสไตน์เข้ากับความรุนแรงหรือแนวคิดสุดโต่ง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองในสถาบันการศึกษา

สถานการณ์ดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายภายใต้การนำของทรัมป์ ที่กำลังเดินหน้ากดดันมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยเฉพาะผู้ที่มีจุดยืนและท่าทีไม่สอดคล้องกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ในบริบทของตะวันออกกลาง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top