Monday, 7 July 2025
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สนใจทำข้อตกลงความร่วมมือกับ ก.พ.ค.ตร.

วันที่ 4 ม.ค. 67 เวลา 10:30 น. นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ประธาน ก.พ.ค.ตร. และคณะกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ให้การต้อนรับ รศ.ดร.ธนภัทร  ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และคณะ ประกอบด้วย ผศ.สรศักดิ์  มั่นศิลป์ รองคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง ผศ.ดร.เบญจพร  พึงไชย ผู้ช่วยคณบดีฯ  ดร. มุทิตา  มากวิจิตร อาจารย์ประจำฯ  และ น.ส.เต็มใจ มนต์ไธสงค์  หัวหน้าสำนักงานฯ  โดยโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ให้ความสนใจที่จะร่วมมือกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.

ในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจไปเผยแพร่ทั้งในด้านวิชาการ การวิจัย และการประชาสัมพันธ์ เช่น การจัดอบรม การสัมมนาหรือเสวนาทางวิชาการ โดยในอนาคตจะมีการทำข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน เพื่อทำงานร่วมกันต่อไป จึงนับว่าเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกที่บรรลุข้อตกลงความร่วมทางวิชาการร่วมกันกับ ก.พ.ค.ตร. 

📸 ดูโพสต์นี้บน Facebook https://www.facebook.com/share/p/594qRsGKcNPuGLYT/?mibextid=7TVuMX

‘พี่ตุ๋ย พีระพันธุ์’ ให้สัมภาษณ์!! กลุ่มนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน ในวิชา ‘พรรคการเมือง-การเลือกตั้ง-รณรงค์หาเสียง’

เมื่อวานนี้ (18 เม.ย. 68) พี่ตุ๋ย-พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ให้สัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อประกอบการเรียนวิชาระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง และวิชาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง ที่ทำเนียบรัฐบาล บรรยากาศเป็นกันเอง สร้างความประทับใจให้น้องๆ นักศึกษาเป็นอย่างมาก

‘สวนดุสิตโพล’ เผย!! ปชช.มอง ‘บ้านใหญ่’ มีอิทธิพลอย่างมาก!! กับการเลือกตั้งท้องถิ่น

(18 พ.ค. 68) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ เรื่อง “ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในสายตาประชาชน” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,104 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. สรุปผลจาก 5 คำถามได้ดังนี้

ประชาชนอยากให้นายกเทศมนตรีคนใหม่ดำเนินการเรื่องใดมากที่สุด
อันดับ 1 ปราบปรามอบายมุข ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 57.25%
อันดับ 2 แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ ปัญหาฝุ่น 48.64%
อันดับ 3 พัฒนาถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปาให้ดีขึ้น 47.46%

จากการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลครั้งนี้ ประชาชนคิดว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่

อันดับ 1 น่าจะทำได้ 37.32%
อันดับ 2 ไม่น่าจะทำได้ 34.51%
อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 28.17%

ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ว่า บ้านใหญ่หรือตระกูลการเมืองท้องถิ่นยังมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในพื้นที่

อันดับ 1 เห็นด้วย 78.80%
อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 21.20%

ปัจจัยใดที่ประชาชนคิดว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บ้านใหญ่หรือตระกูลการเมืองท้องถิ่นยังคงมีอิทธิพลในพื้นที่
อันดับ 1 เข้าถึงประชาชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เช่น งานบุญ งานศพ งานประเพณี 45.13%
อันดับ 2 มีฐานเสียงที่มั่นคงและความสัมพันธ์กับชุมชนที่ยาวนาน 43.19%
อันดับ 3 มีระบบอุปถัมภ์ ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 41.89%

ประชาชนคิดว่าหากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองระดับชาติ จะมีผลต่อการบริหาร และพัฒนาพื้นที่หรือไม่

อันดับ 1 ส่งผลกระทบอยู่บ้าง แต่ยังพอบริหารจัดการภายในพื้นที่ได้ 37.50%
อันดับ 2 ส่งผลกระทบมาก เช่น โครงการหรืองบประมาณสนับสนุนจากรัฐกลางลดลง 23.82%
อันดับ 3 ไม่มีผลกระทบ เพราะสามารถพัฒนาโดยอาศัยทรัพยากรท้องถิ่น 19.93%
อันดับ 4 น่าจะเป็นผลดี เพราะจะได้ลดการแทรกแซงจากการเมืองระดับชาติ 18.75%

‘ดุสิตโพล’ ชี้!! คนไทยคาดหวัง ‘ม็อบ’ กดดันผู้นำรัฐบาล ‘ลาออก-ยุบสภา’ เปิดทางแก้ปัญหาโดยใช้ ประชาธิปไตย

(6 ก.ค. 68) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองในสายตาคนไทย 2568” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,167 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่สนใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38.39 โดยคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.93 จุดเด่นคือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 55.28 จุดด้อยคือมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ร้อยละ 48.16  ทั้งนี้เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองก็คาดหวังว่าจะมีการลาออกของผู้นำรัฐบาล ร้อยละ 58.58 ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเกิดรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย เป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 42.50

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจประชาชนมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่พึงมีแต่ไม่ได้เชื่อว่าเป็นทางออกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมามักตามมาด้วยผลเสียมากกว่าประโยชน์ของประชาชน แม้รัฐประหารเคยถูกมองว่าเป็นทางออกในบางช่วงเวลา แต่บทเรียนที่เจ็บปวดจากหลายครั้งหลายหน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบอีกต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 กิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลไทยต่อประเด็นความขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  และท่าทีของนายกรัฐมนตรีไทย  ต่อปัญหาดังกล่าว การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงออกของประชาชนสอดคล้องกับผลสำรวจที่เชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวจะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นไปตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยและต้องไม่ใช้การรัฐประหารเป็นทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top