สื่อเสรี TPBS กุเล่าเรื่องปลากุเลาเค็มตากใบ ไร้การปกป้องแหล่งข่าว-กล่าวคำขอโทษร่ำไป
การกุเล่าเรื่องปลากุเลาเค็มตากใบ โดยการไปสัมภาษณ์พ่อค้าแม่ค้าปลากุเลาเค็มตากใบแล้วไม่มีใครได้ขายให้เชฟที่ประกอบอาหารสำหรับเอเปคนั้น เป็นการทำข่าวเพื่อยืนยันอคติของนักข่าว TPBS เอง อย่างที่เรียกว่า Self-confirmation bias คือ นักข่าวมีอคติกับการจัดประชุมเอเปคและอาจจะรัฐบาลด้วย
เมื่อไปสัมภาษณ์ก็เป็นการยืนยันความเชื่อตัวเองว่าการที่โฆษณาว่าใช้ปลากุเลาเค็มตากใบประกอบอาหารรับรองการประชุมเอเปคนั้นไม่จริง แล้วทำข่าวออกไปทันที โดยไม่ทันได้ตรวจสอบว่าได้ซื้อปลากุเลาเค็มตากใบไปทำอาหารจริงหรือไม่ ทำให้เกิดการค้นหาจนพบว่าร้านป้าอ้วนที่ตากใบได้ขายปลากุเลาเค็มให้ เชฟชุมพล แจ้งไพร ไปประกอบอาหารจริง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทำให้ออร์เดอร์สั่งปลากุเลาเค็มไปแออัดล้นหลามที่ร้านป้าอ้วนอยู่ร้านเดียวไม่ได้กระจายไปร้านอื่นๆ
ต่อมาทางช่อง TPBS ได้ออกแถลงการณ์ https://www.thaipbs.or.th/news/content/321541 ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความเข้าใจผิด แต่เป็นการสะท้อนความรู้สึกและความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ ขาดความรอบด้าน มิได้ตรวจสอบตามหลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน ขออภัยในความบกพร่อง จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ผมได้อ่านแถลงการณ์แล้วมีความเห็นว่า TPBS ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบเพียงพอต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่นำเสนอข่าวผิดพลาด กลับพาดพิงว่าแหล่งข่าวให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและต้องการสะท้อนความคิดเห็นของแหล่งข่าวที่ขาดความแม่นยำ ไม่ตรงกันกับความเป็นจริง แม้ว่า TPBS จะกล่าวว่าตนไม่ได้ตรวจสอบเบื้องต้นตามหลักการพื้นฐานของสื่อมวลชน แต่ไม่ควรจะแถว่าให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงแหล่งข่าวคือพ่อค้าแม่ค้าปลากุเลาเค็มในพื้นที่ตากใบที่เข้าใจผิดและมีข้อมูลที่ผิด เพราะตนเองไม่ได้ขาย แต่ร้านอื่นได้ขาย
การทำเช่นนี้ของ TPBS ไม่ได้ปกป้องแหล่งข่าว ซ้ำยังเป็นการทำให้แหล่งข่าวเป็นแพะรับบาปโดยบิดเบือนหลักการทำข่าวว่าต้องการเสนอความคิดเห็นของแหล่งข่าวที่เข้าใจผิดในสาระสำคัญและไม่ตรงกับความจริง หรืออีกนัยหนึ่งการกระทำเช่นนี้ของ TPBS เท่ากับโยนความผิดให้กับแหล่งข่าวด้วย อันเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนที่ดีและมีจรรยาบรรณควรทำ
