Tuesday, 2 July 2024
ภาคตะวันออก

‘ตรีนุช’ นำทีมเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย เดินหน้าแก้หนี้ครูใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก

(11 มี.ค. 66) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 'Unlock a Better Life' สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 3 ในภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว 

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 'Unlock a Better Life' สร้างโอกาสใหม่เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ครั้งที่ 3 ในภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม พ.ศ. 2566 ณ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว สำหรับครูในภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก จันทบุรี ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง โดยตั้งเป้าหมายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภูมิภาคนี้กว่า 4,252 ล้านบาท เพื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วม อาทิ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว รวมถึงผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมกว่า 2,000 คน

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือนนั้น กระทรวงศึกษาธิการที่มีบทบาทในการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เร่งรัดการขับเคลื่อนตามนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเต็มที่ ด้วยกลไกเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู การปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน การจัดตั้งสถานีแก้หนี้ร่วมช่วยแก้ปัญหาลดหนี้สิน และการให้ความรู้ทางด้านวินัยการเงินและการลงทุน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับครูไทยได้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี โดยได้ดำเนินการจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในส่วนกลาง เมื่อช่วงสิ้นปี 2565 และขยายผลสู่ทั่วประเทศด้วยงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย 4 ภูมิภาค ซึ่งได้จัดขึ้นครั้งแรกที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับกลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และขอนแก่น ซึ่งสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครูแบบพุ่งเป้าที่กลุ่มลูกหนี้วิกฤติได้กว่า 784,661,570.43 บาท 

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย สำหรับครูไทยภาคตะวันออกในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือครูที่มีปัญหาหนี้สินกว่า 2,000 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 4,252 ล้านบาท โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้วิกฤติ 205 ราย จำนวนมูลหนี้ประมาณ 173.4 ล้านบาท ซึ่งจะพุ่งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้วิกฤติเป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีการจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างเต็มที่ เช่น การเจรจาขอลดดอกเบี้ยจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครูทั้งประเทศ มีการตั้งสถานีแก้หนี้ครู 558 สถานีเพื่อเป็นกลไกช่วยเหลือครูในระดับเขตพื้นที่ ฯลฯซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้เป้าหมายการแก้ไขปัญหาหนี้ครูในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤติมีจำนวนไม่มาก การจัดงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการจัดการปัญหาหนี้ในเชิงรุก ที่จะช่วยให้ครูในกลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลือสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางการเงินสำหรับครูมากยิ่งขึ้น

‘ธนาธร’ ลุยภาคตะวันออก รับฟังปัญหาชาวประมง ชาวบ้านชง!! สร้างเขื่อนกันคลื่นบนแนวชายหาด

‘ธนาธร’ ลุยช่วยหาเสียงภาคตะวันออก ประชาชนตอบรับคึกคัก เปิดวงพบชาวประมงเรือเล็ก สะท้อนปัญหาเขื่อนกันคลื่น-หาดกัดเซาะ

(20 เม.ย.66) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรมหาเสียงที่ภาคตะวันออกต่อเนื่องเป็นวันที่สอง โดยเริ่มกิจกรรมในช่วงเช้าที่ตลาดเทพจินดา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เดินตลาดหาเสียงร่วมกับ น.ส.สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ ผู้สมัคร ส.ส.ระยอง เขต 5 (เบอร์ 3) ก่อนขึ้นรถแห่หาเสียง เดินทางไปพบกลุ่มประมงเรือเล็ก ที่หาดบ้านพยูน เปิดวงพูดคุยสะท้อนปัญหาเขื่อนกันคลื่นที่กระทบวิถีชีวิตของชาวประมง

ตัวแทนกลุ่มชาวประมง กล่าวว่า ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนกันคลื่นบนแนวชายหาด ส่งผลกระทบให้เกิดการกัดเซาะชายหาดจนชายหาดธรรมชาติเดิมเสียความสมดุล ทางกลุ่มเคยหารือกันแล้วว่าสิ่งที่ชาวบ้านในกลุ่มต้องการมากกว่า คือเขื่อนกันคลื่นนอกชายหาด ที่จะช่วยให้เรือเล็กสามารถจอดได้ และสามารถนำไปสู่กิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การพานักท่องเที่ยวตกหมึกตกกุ้ง ซึ่งสอดคล้องกับวิถีของชาวประมงมากกว่า

ตัวแทนกลุ่มชาวประมง กล่าวต่อว่า การดำเนินการของภาครัฐที่ผ่านมากลับเน้นไปที่การทำเขื่อนกันคลื่นบนแนวหาด การทำ EIA ก็ไม่ครบกระบวนการและไม่ได้รับฟังเสียงชาวบ้านอย่างแท้จริง ทำให้เกิดผลกระทบตามมา ฝากถึงพรรคก้าวไกลว่าหากได้เป็นรัฐบาล ขอให้พิจารณาทบทวนรูปแบบการทำเขื่อนกันคลื่นให้เหมาะสมกับวิถีของประชาชนที่ต้องพึ่งพาอาศัยใช้ชีวิตทำกินอยู่กับทะเลด้วย

น.ส.สว่างจิตต์ ได้รับปากพร้อมเน้นย้ำถึงหลักคิดของพรรคก้าวไกลว่าการพัฒนาต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกับสิ่งที่ชุมชนต้องการ และจะต้องมีส่วนร่วมกับชุมชนเป็นสำคัญ หากได้เป็น ส.ส. ตนก็พร้อมที่จะยืนอยู่เคียงข้างประชาชนอย่างเต็มที่

‘ททท.’ จับมือพันธมิตร นำเสนอจุดเด่นการท่องเที่ยวภาคตะวันออก ผ่านซีรีส์วาย 6 เรื่อง หวังปลุกกระแสรับนทท.รุ่นใหม่ หนุนเที่ยวยั่งยืน

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย.66) นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ร่วมกับ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ฮาล์ฟ โทสท์ จำกัด เปิดตัวโครงการ ‘Y JOURNEY (STAY LIKE A LOCAL)’ ยกคอนเซปต์ ‘Amazing 5F and More’ โดยเฉพาะ F-Food และ F-Film กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ Gen X Y และ Millennial และ SDGs ถ่ายทอดผ่านมินิซีรีส์ 6 เรื่อง นำแสดงโดย 12 นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังที่จะชวนทุกคนไปสัมผัสเสน่ห์และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่การท่องเที่ยวจริง

นายอัครวิชย์ กล่าวว่า เราจะนำเสนอจุดเด่นของการท่องเที่ยวภาคตะวันออก อาทิ แหล่งท่องเที่ยว อาหาร สินค้าและกิจกรรมท่องเที่ยว ผนวกเข้ากับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการออกเดินทางท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) ตามรอยภาพยนตร์ สร้าง Meaningful Relationship รับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่าและความหมาย และนำไปสู่การกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

นายอัครวิชย์ กล่าวว่า โครงการประชาสัมพันธ์ ‘Y JOURNEY (STAY LIKE A LOCAL)’ ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฮาล์ฟ โทสท์ จำกัด เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานมินิซีรีส์ทั้ง 6 เรื่อง โดยมี 12 นักแสดงวัยรุ่นชื่อดังร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัดในภาคตะวันออก ทั้ง 6 จังหวัด โดยแต่ละเรื่องจะมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

มินิซีรีส์ 1 เรื่อง ‘เพื่อนรักแอบรักเพื่อน’ นำแสดงโดย ‘แฟรงค์-ธนัตถ์ศรันย์ ซําทองไหล’ และ ‘หล่งซื่อ ลี’ ถ่ายทอดเรื่องราวการท่องเที่ยวสายมู เส้นทางแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ วัดหงษ์ทอง วัดอโศกการาม วัดจีนประชาสโมสร ตลาดบ้านใหม่ ผสมผสานกับวัฒนธรรมอาหารถิ่น เช่น ข้าวห่อใบบัว ขนมเกสรลำเจียก ขนมเปี๊ยะสดนายเล้ง ผัดไทนายแกละ ออกอากาศเป็นตอนแรกในวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 2 เรื่อง ‘คำสารภาพ’ นำแสดงโดย ‘เน็ต-สิรภพ มานิธิคุณ’ และ ‘เจมส์-ศุภมงคล วงศ์วิสุทธิ์’ ถ่ายทอดเรื่องราวการลดขยะอาหาร Zero Food Waste ด้วยการแปรรูป ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี ชุมชนตลาดเก่าริมน้ำจันทบูร น้ำตกพลิ้ว ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย และเพ็ญทิวาทุเรียนทอด และอาหารท้องถิ่น เช่น ยำมังคุดกุ้งสด กวยจั๊บป้าไหม แกงหมูใบชะมวง ไอติมจรวด แกงมัสมั่นทุเรียน ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 3  เรื่อง ‘เฮียไม่ปลื้ม’ นำแสดงโดย ‘ฟลุ้ค-ณธัช ศิริพงษ์ธร’ และ ‘ยูโด-ธรรม์ธัช ธารินทร์ภิรมย์’ ถ่ายทอดเนื้อหาวิถีชีวิตและการจ้างงานชุมชนท้องถิ่น ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดตราด ชุมชนท่าระแนะ ประภาคารแหลมงอบ หาดตาลคู่ สะพานวัดใจ พร้อมสอดแทรกอาหารท้องถิ่น เช่น ข้าวผัดพริกเกลือ อาหารซีฟู้ด ปลาโคกหว่น ปลาทราย-ปลาซิวทอด  เป็นต้น ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 4 เรื่อง ‘คู่กัดออกทริป’ นำแสดงโดย ‘แม้ก-กรธัสส์ รุจีรัตนาวรพันธุ์’ และ ‘ณฐ-ณฐสิชณ์ เอื้อเอกสิชฌ์’ ถ่ายทอดเนื้อหาการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ผ่านเรื่องราวของเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำทรายทอง-เขาช่องลม และจังหวัดปราจีนบุรี น้ำตกเขาอีโต้-วัดพระใหญ่-ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี ผสมผสานอาหารท้องถิ่น ได้แก่ ไผ่ตงหวาน ต้มหน่อไม้ ส้มตำไผ่บงหวาน ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 5 เรื่อง ‘สมมติว่าเป็นแฟน’ นำแสดงโดย ‘มอส-ภาณุวัฒน์ โสประดิษฐ’ และ ‘แบงค์-มณฑป เหมตาล’ ถ่ายทอดเนื้อหาของการรีไซเคิลพลาสติกที่มาจากทะเล ผ่านเส้นทางท่องเที่ยวจังหวัดระยอง เขาแหลมหญ้า สะพานคู่หาดแม่รำพึง วิสาหกิจชุมชนแยกขยะวัดชากลูกหญ้า และอาหารท้องถิ่น เช่น ยำผักกระชับ แกงส้มปู แกงคั่วเล เส้นหมี่น้ำแดงโบราณ ต้มหมูชะมวง เป็นต้น  ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566

มินิซีรีส์ 6 เรื่อง ‘ตามหาความทรงจำ’ นำแสดงโดย ‘ยุ่น-ภูษณุ วงศาวณิชชากร’ และ ‘ดิว-นิติกร ปานคร้าม’ ถ่ายทอดเนื้อหาการใช้พลังงานทดแทน ผ่านเรื่องราวจังหวัดชลบุรี ในแหล่งท่องเที่ยวสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.บูรพา หาดบางแสน อ่างเก็บน้ำบางพระ แกรนด์แคนยอนชลบุรี และอาหารถิ่น เช่น ข้าวหลามหนองมน ข้าวเกรียบอ่อน ไก่ย่างบางแสน เป็นต้น ออกอากาศในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ มินิซีรีส์ดังกล่าว มีกำหนดเผยแพร่ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.00 น. เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 ผ่านช่องทาง แอปพลิเคชัน AIS PLAY, YouTube ของ AIS และ YouTube Channel : Amazing Thailand

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขยายผลความร่วมมือโครงการ อีอีซี สแควร์ (EEC2)

อีอีซี รวมพลังภาคีหน่วยงานรัฐ-เอกชน ต่อยอดผลงานเยาวชนอีอีซี สแควร์ ผลักดันแนวคิดคนรุ่นใหม่ ทำได้จริงเป็นรูปธรรม ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวพื้นที่อีอีซี อย่างยั่งยืน

(วันที่ 12 มกราคม 2567) ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา โรงเรียนบางปะกง “บวรวิทยายน” โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 โรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โรงเรียนหมอนทองวิทยา โรงเรียนบ้านสวน (จั่นอนุสรณ์) โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย โรงเรียนวัดป่าประดู่ โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนโครงการ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์ส แมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM)  ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) (TTB) มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในการขยายผลงานเยาวชนที่ส่งเข้าประกวด ภายใต้โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี สแควร์ (EEC2) ประจำปี 2566 โดยมีผู้บริหารจากทุกหน่วยงานดังกล่าว เข้าร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมคอนเฟอเร้นส์ สำนักงานอีอีซี 

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี เปิดเผยว่า สำนักงาน อีอีซี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตและได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศการลงทุน ซึ่งโครงการ อีอีซี สแควร์ จะเป็นส่วนหนึ่งให้น้องๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สามารถค้นหาเส้นทางอาชีพของน้องๆ ในอนาคตได้ ซึ่งการลงนาม MOU ในวันนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายสำคัญของอีอีซี ที่จะเกิดการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในการสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อีอีซี ที่ได้ร่วมกับ สกพอ. ในการแสดงความสามารถคิดค้น หรือพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ สร้างสรรค์ผลงานในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา หรืออีอีซี สแควร์ (EEC2) ที่มีผลงานดีเยี่ยมหลายโครงการ ให้เกิดการพัฒนา ต่อยอด หรือขยายผลให้เกิดประโยชน์สามารถนำไปใช้ได้จริงในพื้นที่หรือชุมชน และในภาคอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือในวันนี้ จะช่วยสร้างโอกาสให้ได้มีการต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนให้ผลงานจากแนวคิดของ เยาวชนอีอีซี สแควร์ นี้ ได้พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง 

สำหรับหน่วยงานที่นำผลงานเยาวชนไปขยายผล เช่น WHA นำผลงานการออกแบบ และพัฒนาถังดักไขมันในน้ำเสียเพื่อใช้ในครัวเรือน จากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้เป็นการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียในชุมชน ไปขยายผลใช้กับระบบบำบัดน้ำเสียในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการ RICE STRAW POT (กระถางจากฟางข้าว) จากโรงเรียนหมอนทองวิทยา ซึ่งเกิดจากปัญหาการเผาฟางข้าวของชาวนาในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนการขยายผลโครงการเครื่องทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร จากโรงเรียนแปลงยาวพิทยาคม โครงการภาชนะจากเปลือกกล้วยเสริมกาบกล้วย จากโรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการแก้ไขปัญหาของเหลือใช้ในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม และ IWRM สนับสนุนโครงการ CATCH ME BY THE SEA (เครื่องแยกขวดพลาสติก ฝากขวด แก้วน้ำและกระป๋อง อัตโนมัติ) และ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก (Science Park) TTB และ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จะนำผลงานทั้งหมดไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

สำหรับโครงการ อีอีซี สแควร์ ได้ดำเนินการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ อีอีซี ให้สนใจในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ และครู ทั้ง 3 จังหวัดอีอีซี ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนา อีอีซี ตลอดจนการสร้างพลเมืองรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา มีเยาวชนใน 3 จังหวัด อีอีซี เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 31 โรงเรียน มีการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ จากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ได้แสดงศักยภาพ ผ่านการประกวดการสร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นในมิติต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ พร้อมขยายผลจริงในชุมชน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ยังขยายผลสร้างความเข้าใจ อีอีซี และความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมให้แก่เพื่อน ๆ ในโรงเรียนและชุมชนรอบข้าง ได้เป็นอย่างดี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top