Saturday, 29 June 2024
ภัยคุกคาม

จีนพบยานบินลึกลับโผล่เหนือน่านฟ้า ด้านกองทัพพร้อมสอย ไม่ต้องรออ้างอิงสัญชาติ

สื่อจีนได้รายงานว่า พบยานบินปริศนาโผล่เหนือน่านฟ้าจีน บริเวณทะเลปั๋วไห่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือชายฝั่งทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจีน หนึ่งในท่าเรือขนส่งที่คับคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

หน่วยนาวิกโยธินแห่งนครชิงเต่ารายงานว่าพบยานบินปริศนาไม่ทราบสัญชาติ ลอยอยู่บนฟ้าใกล้เขตสนามบินนานาชาติรื่อจ้าว ในขณะที่กำลังทำการซ้อมรบในบริเวณช่องแคบปั๋วไห่ ที่เชื่อมต่อกับทะเลเหลือง เมื่อวันอาทิตย์ (12 ก.พ. 66) ที่ผ่านมา ด้านฝ่ายกองทัพจีนแถลงว่า พร้อมที่จะส่งเครื่องบินขับไล่ ทำลายยานบินปริศนาลำดังกล่าว ให้ตกลงที่กลางทะเลปั๋วไห่แล้ว 

โดยได้ประกาศแจ้งเตือนชาวประมงที่อยู่ในน่านน้ำทะเลปั๋วไห่ ไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่พบยานบินปริศนาลำนี้ จนกว่าจะมีการยืนยันว่าได้ทำลายยานบินลำดังกล่าวไปแล้ว และหากมีเรือประมงลำใดพบเศษซากของวัตถุปริศนาที่ตกสู่ทะเลนี้ ขอให้ถ่ายภาพ และคลิปวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะขอความร่วมมือช่วยกู้ซากนำส่งให้กับทางการจีนต่อไป

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยคุกคามที่เรียกว่า “Slut Shaming” สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญของบุคคลในการแสดงออก แต่ผู้นั้นจะต้องกระทำภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ไม่ไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งหากปราศจากขอบเขตย่อมเกิดความเสียหายต่อประชาชน หรือประเทศชาติ

Slut Shaming หรือการประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศ หรือจัดการกับร่างกายตนเองต่างจากที่สังคมส่วนใหญ่คาดหวัง ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการประณาม และตัดสินบุคคลอื่น โดยบางครั้งบุคคลที่ประณามก็เป็นผู้หญิงด้วยกันเอง ยกตัวอย่างเช่น กรณีการมองผู้หญิงที่แสดงออกถึงอารมณ์ทางเพศว่าเป็นบุคคลที่ไม่ดี ทั้งที่จริงแล้วเรื่องทางเพศก็ถือเป็นเรื่องปกติ หรือกรณีมองว่าหญิงที่แต่งกายไม่มิดชิด ไม่เรียบร้อย เป็นบุคคลที่ไม่ดี ซึ่งความคิดดังกล่าวอาจนำไปสู่ Victim Blaming หรือการโทษหญิงซึ่งเป็นผู้เสียหายว่าตนเองเป็นต้นเหตุของการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้ประกอบกับที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีเน็ตไอดอล หรือนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียง ถูกสังคมแสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวอย่างกว้างขวาง

การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ” หรือความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า คดีดังกล่าวในส่วนของการเผยแพร่ภาพ หรือคลิปในสื่อสังคมออนไลน์ พนักงานสอบสวน บก.สอท.1 ได้รับคำร้องทุกข์ และสอบสวนปากคำผู้เสียหายไว้แล้ว ทางคดียังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยยังต้องรอผลการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของกลางที่สามารถทำการตรวจยึดได้ รวมถึงการพิสูจน์ว่าผู้ใดเป็นผู้เผยแพร่ภาพ หรือคลิปดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งหากพบการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ และเผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันลามกฯ ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4), 14(5) อย่างไรก็ตามการ Slut Shaming หรือการประณามหยามเหยียดผู้หญิงที่มีพฤติกรรมทางเพศแล้ว ยังมีรูปแบบของการประณาม และการตัดสินบุคคลอื่นที่น่าสนใจอีก อาทิ Body Shaming หรือการประณาม วิจารณ์ รูปร่างหน้าตาของบุคคลอื่น Rich Shaming หรือการเสียดสี ประชดประชันบุคคลที่ร่ำรวย หรือการที่ให้ความใส่ใจกับการใช้จ่ายเงินของคนอื่นมากเป็นพิเศษ Toxic Masculinity หรือแนวคิดความเป็นชาย ซึ่งการกระทำ หรือพฤติกรรมที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ไม่ควรถูกด้อยค่า ถูกประณาม ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามทั้งนั้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อบุคคลที่ถูกกระทำ ส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนอาจพัฒนากลายเป็นโรคทางด้านจิตเวชแล้ว ยังอาจจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญาอีกด้วย

‘สหรัฐฯ’ ขายอุปกรณ์หนุน ‘ระบบสารสนเทศเชิงยุทธวิธี’ ให้ไต้หวัน มูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมความมั่นคง-รับมือภัยคุกคาม 

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 66 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อนุมัติจำหน่ายอุปกรณ์สนับสนุนระบบสารสนเทศเชิงยุทธวิธี (tactical information systems) มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ให้แก่ไต้หวัน นับเป็นความช่วยเหลือด้านการป้องกันตนเอง ล่าสุดที่อเมริกามอบให้กับไทเป ตามข้อมูลจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

สหรัฐฯ มีข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะต้องสนับสนุนให้ไต้หวันสามารถป้องกันตนเอง ซึ่งการขายอาวุธให้ไทเปในลักษณะนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง ที่ยืนยันว่าไต้หวันเป็นดินแดนในอธิปไตยของตน

สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา (Defense Security Cooperation Agency – DSCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดเพนตากอน ระบุว่า การจำหน่ายเครื่องมือในครั้งนี้ก็เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพด้านการบัญชาการ ควบคุม สื่อสาร และคอมพิวเตอร์ หรือ C4 ของไต้หวันตามวงรอบอายุการใช้งาน

การสนับสนุนนี้จะช่วยยกระดับศักยภาพของไต้หวัน ‘ในการรับมือภัยคุกคามทั้งปัจจุบันและอนาคต ด้วยการเสริมความพร้อมด้านการปฏิบัติการ’ และคงไว้ซึ่งศักยภาพ C4 ที่ช่วยให้การส่งข้อมูลทางยุทธวิธีเป็นไปอย่างปลอดภัย

ด้านกระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ จะช่วยให้ไทเปสามารถคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพของระบบบัญชาการและการควบคุมร่วม และเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในสนามรบ

“ปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนที่เกิดขึ้นรอบเกาะไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเรา” กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลง พร้อมกล่าวขอบคุณสหรัฐฯ ที่ให้ความช่วยเหลือ และเชื่อว่าการจำหน่ายยุทธภัณฑ์รอบนี้จะมีผลเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน

ด้านทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันระบุว่า ข้อตกลงขายอาวุธซึ่งถือเป็นครั้งที่ 12 แล้วภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯ นั้นให้ความสำคัญยิ่งกับการสนับสนุนศักยภาพในการป้องกันตนเองของไต้หวัน

รัฐบาลไทเปยืนยันว่า อนาคตของไต้หวันต้องให้ชาวไต้หวันเท่านั้นเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งไต้หวันก็กำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาและประธานาธิบดีในวันที่ 13 ม.ค. ปีหน้า ในความเคลื่อนไหวที่หลายฝ่ายจับตามองว่าน่าจะส่งผลกระทบไม่น้อยต่อความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top