Thursday, 8 May 2025
ฟูจิ

‘ญี่ปุ่น’ สั่งปิดเส้นทางขึ้น ‘ภูเขาไฟฟูจิ’ ชั่วคราว หลังพบปัญหา ‘นักท่องเที่ยวล้น - ขยะเกลื่อน’

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ทางการท้องถิ่นจังหวัดยามานาชิของญี่ปุ่น ประกาศปิดเส้นทางขึ้นสู่ ภูเขาไฟฟูจิ เป็นการชั่วคราวไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อหวังควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวที่แห่เดินทางที่นี่แน่นขนัด จนกลายเป็นปัญหาสภาพแวดล้อม จุดที่เป็นปัญหามากที่สุดจนต้องถูกสั่งปิด คือสถานีที่ 5 ของเส้นทางสายฟูจิซูบารุ ที่แล่นตรงจากโตเกียวสู่ภูเขาฟูจิ มีชื่อเล่นว่า ‘โกโกเมะ’ อยู่กึ่งกลางของเส้นทางจากพื้นเบื้องล่างสู่จุดสูงสุดของภูเขาฟูจิ สถานีที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลราว 2,300 เมตร เป็นจุดที่ต้องรับนักท่องเที่ยวมากที่สุด ราวร้อยละ 90% ของนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมภูเขาแห่งนี้

ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิบอกว่า ปัญหาที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือการทำความสะอาดห้องสุขาและการเก็บขยะที่ถูกทิ้งเกลื่อนกลาด จากการมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจำนวนมากจนเจ้าหน้าที่รับมือไม่ไหว ทำให้การรักษาสภาพแวดล้อมและให้ความสะดวกนักท่องเที่ยวพร้อม ๆ กัน เป็นไปด้วยความยากลำบาก

นอกจากสั่งปิดเส้นทางขึ้นภูเขาไฟฟูจิส่วนนี้เป็นการชั่วคราวแล้ว ทางการจังหวัดยามานาชิยังเสนอมาตรการอื่นๆ รวมทั้งการสั่งห้ามรถบัสและรถยนต์ที่มีผู้โดยสารขึ้นเขา โดยให้เปลี่ยนไปใช้บริการรถไฟรางเบาเพื่อขึ้นเขาแทน อีกทั้งเก็บค่าโดยสารแบบไป-กลับในราคา 10,000 เยน (ราว 2,422 บาท) เพื่อคัดกรองให้มีแต่นักท่องเที่ยวระดับคุณภาพ

พร้อมกับระบุว่า ปัญหานักท่องเที่ยวและขยะล้น รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยวดยานจำนวนมาก สร้างความกังวลแก่ทางการท้องถิ่นว่า สิ่งเหล่านี้จะทำลายเสน่ห์ของภูเขาฟูจิ ให้กลายเป็นสถานที่ที่ไม่น่ามาเที่ยวอีกต่อไป

‘ญี่ปุ่น’ ติดฉากกั้นสีดำบังวิว ‘ภูเขาไฟฟูจิ’  อวสานจุดเช็กอิน นักท่องเที่ยว ‘ไร้วินัย’

(21 พ.ค.67) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่คงจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กันว่าการได้ชมวิวภูเขาไฟฟูจิถึงจะเรียกได้ว่าเดินทางถึงญี่ปุ่นจริง ๆ และเมืองฟูจิคาวากุจิโกะก็เป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิที่ได้รับความนิยมมากจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงร้องเรียนจากคนท้องถิ่นว่าแขกผู้มาเยือนเหล่านี้มักจะทิ้งขยะเรี่ยราด รุกล้ำพื้นที่ หรือแม้กระทั่งฝ่าฝืนกฎจราจร เพื่อที่จะได้รูปในมุมที่สวยที่สุดเอาไปแชร์ลงโซเชียลมีเดีย

ชาวเมืองเล่าว่า นักท่องเที่ยวบางคนจอดรถในที่ห้ามจอด ไม่สนป้ายคำเตือนห้ามสูบบุหรี่ และไปยืนออกันอยู่บนบาทวิถี เพื่อจะถ่ายรูปกับร้านสะดวกซื้อซึ่งมีวิวยอดภูเขาไฟที่มีหิมะปกคลุมเป็นฉากหลัง

ล่าสุดวันนี้เจ้าหน้าที่ของเมืองเริ่มนำฉากตาข่ายสีดำขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 20 เมตร มาติดตั้งตรงจุดเช็กอินถ่ายรูปจนแล้วเสร็จเมื่อช่วงสาย ๆ ที่ผ่านมา ตามรายงานของผู้สื่อข่าวเอเอฟพี

“ฉันหวังว่าตาข่ายนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีใครทำกิจกรรมอันตรายบริเวณนี้อีก” มิจิเอะ โมโตโมจิ วัย 41 ปี เจ้าของร้านขนมหวานพื้นบ้านญี่ปุ่นในพื้นที่บอกกับเอเอฟพี

ด้าน คริสตินา รอยส์ นักท่องเที่ยวชาวนิวซีแลนด์ วัย 36 ปี ออกมาบ่นด้วยความเสียดายว่า “ฉันรู้สึกผิดหวังที่พวกเขาเอาตาข่ายมาติดตั้ง ตรงนี้มันเป็นจุดถ่ายรูปที่เยี่ยมมาก แต่ก็เข้าใจได้ พวกเรามาถึงตั้งแต่คืนวานนี้ และได้ถ่ายรูปเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะมีการติดตั้งฉาก และมีคนจำนวนมากที่ทำแบบเรา”

“จะว่าไปมันก็อันตรายอยู่ เพราะมีรถยนต์ขับไปมาบนถนน ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่พวกคุณสามารถถ่ายภาพกับภูเขาไฟฟูจิได้”

ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเยือนมากเป็นประวัติการณ์ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งทะลุ 3 ล้านคนต่อเดือนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และอีกครั้งในเดือน เม.ย.

นักท่องเที่ยวที่จะใช้เส้นทางยอดนิยมปีนขึ้นภูเขาไฟฟูจิในฤดูร้อนปีนี้จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2,000 เยนต่อคน โดยทางการยังได้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยววันละไม่เกิน 4,000 คนเพื่อลดปัญหาความแออัด

‘ญี่ปุ่น’ จ่อเปลี่ยนที่บังวิว จุดถ่ายรูป ‘ฟูจิ’ ตรงลอว์สันให้แข็งแรงขึ้น หลัง นทท.ไม่รามือ!! แอบเจาะตาข่ายจนพรุน หวังแชะรูปให้ได้

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ทางการเมืองฟูจิคาวากุชิโกะ ซึ่งเป็นที่ตั้งหนึ่งในจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิยอดนิยมของญี่ปุ่นในจังหวัดยามานาชิ จะทำการเปลี่ยนที่บังวิวใหม่ บริเวณจุดถ่ายรูปฮอตฮิตตรงร้านสะดวกซื้อ ‘Lawson’ ที่มีวิวด้านหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิ

โดยจะติดตั้งที่บังวิวซึ่งทำจากวัสดุที่แข็งแรงขึ้น หลังจากการใช้ตาข่ายสีดำ ขนาดสูง 2.5 เมตร และยาว 20 เมตร ติดตั้งบังวิวฟูจิจากร้านสะดวก ‘Lawson’ ไปก่อนเมื่อไม่กี่วันก่อน ปรากฏว่ายังมีนักท่องเที่ยวมือบอนมาแอบเจาะตาข่ายที่บังวิวให้เป็นรูเล็ก ๆ อย่างน้อย 10 รู ในความพยายามจะถ่ายรูปวิวภูเขาไฟฟูจิหลังร้านสะดวกซื้อแห่งดังกล่าวผ่านรูเล็ก ๆ บนที่บังวิวนั้นให้ได้

สำนักข่าวเกียวโดและสื่ออีกหลายสำนักรายงานว่า ที่บังวิวใหม่จะทำให้แข็งแรงขึ้นและอาจเปลี่ยนเป็นสีที่อ่อนลง เช่น สีฟ้าหรือสีเขียวแทน

ด้าน นายฮิเดยูกิ วาตานาเบะ นายกเทศมนตรีเมืองฟูจิคาวากุชิโกะ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนหวังจะให้มีการเปลี่ยนที่บังวิวใหม่โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนช่วงฤดูร้อนนี้

ทั้งนี้ การตัดสินใจติดตั้งที่บังวิวบริเวณจุดถ่ายรูปฮิตที่ร้านสะดวกซื้อ ‘Lawson’ แห่งนี้ มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นและการไม่เคารพกฎจราจรของนักท่องเที่ยว เช่น การข้ามถนนไปมาเพื่อที่จะถ่ายรูปซึ่งถือเป็นอันตราย ทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องจัดหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

‘บ.ญี่ปุ่น’ ยอมถอย!! จ่อรื้อถอน ‘คอนโดฯ’ สร้างใกล้เสร็จ หลังโดนคนท้องถิ่นร้องเรียน บดบังความงามของ ‘ฟูจิ’

เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานแผนการรื้อถอนคอนโดมิเนียม ความสูง 10 ชั้น ที่ก่อสร้างใกล้เสร็จสิ้นในพื้นที่ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว หลังจากผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นร้องเรียนว่ามันบดบังวิวความสวยงามของแลนด์มาร์กชื่อดังอย่างภูเขาไฟฟูจิ

รายงานระบุว่า อาคารหลังดังกล่าว (Gurandomezon Kunitachi Fujimi-dori) ตั้งอยู่ที่เขตนากาของเมืองคุนิตาจิ ซึ่งถูกประชาสัมพันธ์ทางการตลาดว่าเป็นคอนโดมิเนียมแห่งแรกบนถนนฟูจิมิ-โดริ ที่เปิดจำหน่ายในรอบทศวรรษ แต่จะไม่เสร็จสมบูรณ์เนื่องด้วยกระแสคัดค้านจากคนท้องถิ่น

เมื่อวันอังคาร (4 มิ.ย.) บริษัท เซกิซุย เฮาส์ จำกัด ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมแห่งนี้ แจ้งเจ้าหน้าที่เมืองคุนิตาจิว่าบริษัทฯ ตัดสินใจไม่ดำเนินโครงการนี้ต่อไปเพราะไม่ได้พิจารณาผลกระทบต่อพื้นที่และภูมิทัศน์โดยรอบอย่างถี่ถ้วน และกำลังอธิบายสถานการณ์แก่ผู้ซื้อในอนาคตและผู้อยู่อาศัยท้องถิ่น

อนึ่ง กระแสการคัดค้านเกิดขึ้นหลังการก่อสร้างเริ่มต้นได้เพียงไม่นาน โดยผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากตัวอาคารต่อทิวทัศน์ภูเขาไฟฟูจิและแสงอาทิตย์ที่ส่องถึงบ้านเรือนใกล้เคียง

สภาการพัฒนาเมืองสรุปว่าโครงการคอนโดมิเนียมแห่งนี้จะบดบังทิวทัศน์ภูเขาไฟฟูจิจากถนนฟูจิมิ-โดริ และชี้แนะให้ทำการเปลี่ยนแปลง เมื่อเดือนมิถุนายน 2021

แม้เซกิซุย เฮาส์ ลดจำนวนชั้นของอาคารจาก 11 เหลือ 10 ชั้น แต่ผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นยังต้องการให้ลดจำนวนชั้นเหลือ 4 ชั้น และขนาดโดยรวมเล็กลงอีก ซึ่งเซกิซุย เฮาส์ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทำกำไรของโครงการ นำสู่การตัดสินใจรื้อถอนในท้ายที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top